เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

เสียงสัมภาษณ์สุดท้าย คงสิทธิ์ กลีบบัว ก่อนถูกสังหารที่บ้านคลิตี้

ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนในปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการ “ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว” หมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ระหว่างจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่วัดคลิตี้ล่าง มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ, บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน), องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล, กรมป่าไม้, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชาวบ้านเข้าร่วม คงสิทธิ์ กลีบบัว ชาวบ้านคลิตี้บน ได้ลุกขึ้นแนะนำตัวพร้อมแสดงความเห็นวิพากษณ์วิจารณ์การฟื้นฟูลำห้วยอย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น การนำงบประมาณกว่า ๔๕๔ ล้านบาทมาใช้แล้วฟื้นฟูลำห้วยไม่สำเร็จตามคำสั่งศาล ไม่ต่างจากการนำภาษีประชาชนมาละลายลงลำห้วยคลิตี้

ที่สำคัญคือเขาตั้งคำถามกับการเร่งรัดผลักดันให้มีการนำงบประมาณมหาศาลอีกราว ๒๐๐ ล้านบาทมาใช้ฟื้นฟูระยะที่สอง

หนึ่งเดือนผ่านไป

วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ คงสิทธิ์ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตภายในร้านขายของชำในหมู่บ้านคลิตี้บน เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุเบื้องต้นว่าเป็นการทะเลาะวิวาทส่วนตัว มูลเหตุขัดแย้งเป็นเพราะผู้ตายไม่พอใจที่รถบรรทุกตะกอนตะกั่วที่วิ่งในหมู่บ้านร่วมร้อยเที่ยวต่อวัน ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งตลบอบอวลและก่อเสียงดัง

ผู้ต้องหาคือ นครินทร์ ตันติวานิช บุตรชายของ นิติพล ตันติวานิช ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคีที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต่อมาผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยวงเงินประกัน ๑ ล้านบาท ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแต่ต้องติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ความตายของคงสิทธิ์เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และทำให้บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อึมครึมไปทั้งหมู่บ้าน เกิดคำถามตามมาว่าจะมีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการฟื้นฟูอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

นอกศาลาการเปรียญวัดคลิตี้ล่าง ระหว่างการจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา คงสิทธิ์ถ่ายทอดความคิดความอ่านผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนคณะหนึ่ง

kongsit02

ผลงานที่ออกมา ผมว่ามันน่าจะใช้เงินน้อยกว่านี้”

“ผมต้องย้ำชัดเจนนะครับว่าผมเห็นด้วย เห็นด้วยจริงๆ ว่ามันต้องฟื้นฟู แต่กระบวนการ วิธีการดำเนินการฟื้นฟูอยากจะให้มันมีผลกระทบน้อยที่สุดและไม่สิ้นเปลือง เท่าที่ผมดูมาจะค่อนข้างสิ้นเปลืองเยอะ จากตัวเลขที่เห็นมา ๔๐๐ กว่าล้าน มันไม่เห็นผลอะไรเท่าไหร่

“จริงๆ ในรูปแบบผลงานที่ออกมา ผมว่ามันน่าจะใช้เงินน้อยกว่านี้”

ทำงานล่าช้าเองแล้วอ้างโควิด อ้างว่าฝนตก”

“ผมมองว่าการฟื้นฟูไม่มีประสิทธิภาพพอ เครื่องจักรอาจจะน้อยไปเลยเกิดความล่าช้า ทำให้ต้องเกิดการของบก้อนที่สอง เพียงแต่ว่ามันเกิดความล่าช้าเพราะว่าผู้รับเหมาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานล่าช้าเองแล้วอ้างโควิด อ้างว่าฝนตก

“ไม่ใช่ครับ ฝนตกก็ทำงานได้ บางปีตกหนักจริง แต่ตอนแล้งก็ไม่รีบทำ อย่างปีนี้ก็ค่อนข้างแล้ง นับวันได้ครับที่น้ำเป็นสีแดง คือมันจะเป็นเฉพาะเวลาที่ฝนตกหนักจริงๆ แล้วถึงจะขุ่น แต่ถ้าตกเป๊าะแป๊ะๆ ตกแล้วหยุด ตกแล้วหยุด น้ำไม่ขุ่นนะครับ ขอให้เข้าใจด้วย บางทีทางนั้นพูดว่าเป็นเพราะฝน มันไม่ใช่”

kongsit03

ไม่ถูกจุดมากๆ เลย มันฟุ่มเฟือย”

เรามองว่าจุดที่ทำให้สารตะกั่วรั่วไหล หลักๆ เลยจากพื้นที่ในเหมือง ซึ่งก็คือบ่อ ๒๒ ไร่ที่ว่าฝังกลบไปแล้ว เดิมชาวบ้านเข้าใจว่าสมควรขุดออก แล้วขนไปไว้บ่อฝังกลบข้างบน แต่พอถึงเวลาจริงๆ ไม่ได้มีการขุดออก แต่เป็นฝังกลบแทน

“ผมคุยกับทาง อบต. ในพื้นที่ว่า ทำไมมันสิ้นเปลืองงบจัง ตามหลักความจริงตั้งแต่แรกนะ ไม่ต้องไปยุ่งอะไรเลย หินทรายมา เทปูน ฉาบเรียบ ทำสนามกีฬา สนามฟุตบอล ลานอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่ตากมัน ตากพืชเกษตรชาวบ้านได้หมด ๒๒ ไร่ นี่ไม่ใช่น้อยๆ แล้วผมเชื่อว่ามันหมดไม่กี่บาท ส่วนขอบบ่อก็เทปูนไป เทปูนรอบขอบบ่อข้างบนให้หมด ผมว่าโอกาสที่น้ำจะซึมลงไปจะน้อยมาก อย่างตอนนี้เขาเอาหินจากข้างบนมาประกบ เสร็จมาดิน แล้วปลูกหญ้าแฝก ฝนลงยังไงน้ำก็ซึมครับ โอกาสที่สารตะกั่วจะรั่วซึมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ผมว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่ถูกจุดมากๆ เลย มันฟุ่มเฟือย

“ประเด็นที่สอง บ่อฝังกลบข้างบน ทาง ม.ขอนแก่น คำนวนว่าจะใช้พื้นที่เก็บตะกอนกากแร่ แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันไม่ใช่ดูดง่ายๆ แล้วปริมาณหางแร่ส่วนที่อยู่ในลำห้วยอาจจะไม่ได้มีเยอะอย่างตัวเลขที่เขาเขียนมา ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ไม่ได้มีเยอะอะไรขนาดนั้น กลายเป็นบ่อที่ถ้าวันนี้ขึ้นไปดู จะเห็นความว่างเปล่าเยอะมาก สุดท้ายผมดูแล้วมันจะกลายเป็นเปล่าประโยชน์”

kongsit05

บางอย่างข้ามได้ก็ข้าม พอทำแล้วกลายเป็นเกิดผลกระทบ”

“พอเกิดคดีความขึ้นมา มันก็เกิดเรื่อง หน่วยงานของรัฐเขาต้องการฟื้นฟู ทำอะไรให้มันดี เขาอาจจะไม่ผิดที่ว่าเข้ามาทำให้มันดี แต่วิธีการบางอย่างข้ามได้ก็ข้าม พอทำแล้วกลายเป็นเกิดผลกระทบ ดูดทีก็ฟุ้งกระจาย แล้วการดูดเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่าที่ดูดเนี่ย หิน ดิน ทราย มองไม่เห็นหรอกนะครับ มันเข้าไปในถุงหมดเลย ผมมองแล้วมันเสียมากกว่าได้ โดยเฉพาะริมตลิ่งด้วยตอนนี้ มีการขุดริมตลิ่งอีก มีการใช้แบคโฮขุดดินจากริมตลิ่ง โยนลงไปในน้ำ เอาเรือไปดูด แล้วบอกว่าเป็นสารตะกั่ว มันก็เลยเกิดความไม่เห็นด้วย”

kongsit06

สิทธิของชุมชนหายไปไหน สิทธิของชาวบ้านหายไป มันแย้งอะไรเขาไม่ได้เลย”

“ผมมองว่าฟื้นฟูยังไม่เสร็จ เพราะเขาทำงานกันล่าช้า จริงๆ ไม่อยากให้มีเฟสสองนะครับ ผมมองไปเฟสสองมาก็น่าจะเท่านั้น คืองบประมาณหายเปล่า เรามองจากแค่เฟสแรกก็พอแล้ว 400 กว่าล้าน ถ้าไปดูในพื้นที่ ลองกะคร่าวๆ ด้วยสายตาเลย มันใช้เงินขนาดนี้เลยเหรอ มันได้แค่นี้เองใช้มั๊ย ลองไปดูเองครับแล้วเราจะรู้สึกได้ว่า มันไม่เกิดความเข้าท่าเลย ถ้ามันดีจริง ผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่มา ไม่มีวันนี้หรอกครับ ถ้ามันดีจริง ไม่มีปัญหาจริง จะไม่มีวันที่คณะกรรมาธิการมา หรือต้องมานั่งคุยกันเรื่องใหญ่วันนี้

“พื้นที่โดนบุกรุก ทางบริษัทที่รับเหมาก็อ้างราชการว่าขอกรมป่าไม้แล้ว ชาวบ้านบางคนผมสนิทเขาก็พูดไม่ออก ไม่กล้าเถียงกับป่าไม้เพราะกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เลยเหมือนกับว่าสิทธิของชุมชนหายไปไหน สิทธิของชาวบ้านหายไป มันแย้งอะไรเขาไม่ได้เลย ทำไมรัฐทำอะไรโดยพลการทุกอย่าง”