เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : สุรศักดิ์ เทศขจร

Nature Soundmap ฟังเสียงป่าเพียงปลายนิ้ว
soundmap02

ใกล้จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่าหลายครอบครัวคงวางแผนท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยสะสมมาทั้งปี และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็น่าจะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ

นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเพื่อสัมผัสธรรมชาติและผืนป่าซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ในเมือง จากสถิติของสำนักอุทยานแห่งชาติ ประเทศไทยมีอัตรานักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนในอุทยานฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2563 เฉลี่ย 19 ล้านคนต่อปี แต่โควิด 19 ระลอกใหม่ก็พาให้แผนที่ต่างคนต่างวางไว้ต้องเปลี่ยนกะทันหัน หลายครอบครัวยกเลิกการออกไปเที่ยว ทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวอุทยานฯ ช่วงปีใหม่ปีนี้ลดน้อยลง

ยิ่งในช่วงแรกของการระบาดรอบใหม่ไม่มีทีท่าว่าการระบาดจะทุเลาลง บางสถานที่จึงต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกิน และบางที่ก็ถึงกับต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ภายใต้ความจำเป็นเช่นนี้หลายคนคงคิดถึงป่าไม้ ธรรมชาติ และสายลม ไม่มากก็น้อย

soundmap03
soundmap04

ยกเสียงธรรมชาติสู่โลกออนไลน์

“ร่างกายยังเรียกร้องหาธรรมชาติ โสตสัมผัสยังจำเสียงคลื่นกระทบหาดทรายเบาๆ แล้วสายตาก็เห็นคลื่นนั้นตีวงโค้งเป็นละอองฟองสีนวล อีกบางทีเราก็ได้สดับฟังเสียงลมบรรเลงผ่านหุบเขาในฤดูหนาว และสายลมนั้นก็พัดพาความเย็นมาอาบผิวกาย เย็นชื่นถึงจิตใจ ถ้าอย่างนั้นครั้งล่าสุดที่เราได้ยินเสียงใบไม้ร่วงหล่นในธรรมชาติคือเมื่อไรกัน”

ในสถานการณ์ที่โควิด 19 ยังระบาด หลายคนคงยังห่วงหน้าพะวงหลังกับการวางแผนออกท่องเที่ยว อีกทั้งบางพื้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เราจึงอยากเสนอวิธีที่ช่วยคลายความคิดถึงป่าและธรรมชาติอีกนานัปการ ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวฟังเสียงธรรมชาติบนโลกออนไลน์ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

เว็บไซต์ Nature Soundmap นำเสียงธรรมชาติ ทั้งเสียงสัตว์ป่าและเสียงใบไม้ รวมถึงเสียงซึ่งสื่อถึงบรรยากาศในสถานที่จริง มาบรรจุไว้

มาร์ก แอนเดอร์สัน ชาวออสเตรเลียผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นี้ เป็นนักถ่ายภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกเสียง เขารวมตัวกับกลุ่มนักอนุรักษ์ นักวิจัย และผู้ที่ชื่นชอบการเดินทาง เพื่อบันทึกสัมผัสธรรมชาติจากทุกมุมโลก

พวกเขาแยกย้ายกันออกไปบันทึกเสียงธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติในหลากหลายประเทศ และรวบรวมเสียงที่ธรรมชาติบรรเลงอย่างไพเราะเหล่านั้นมาผนวกกับแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของโลกเพื่อชี้พิกัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

soundmap05
soundmap06

ขยับมาใกล้ๆฟังเสียงอุทยานฯ ทั่วโลก

ปัจจุบันแอนเดอร์สันและผู้ร่วมกลุ่มบันทึกเสียงจากอุทยานแห่งชาติได้มากกว่า 90 แห่งทั่วโลกแล้ว และในประเทศไทยก็มีถึง 13 แหล่งเสียงด้วยกัน เช่น อุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง ฯลฯ

ในเว็บไซต์อธิบายว่า พวกเขาใช้วิธีการบันทึกเสียงแบบครบทุกมุม 360 องศาทั้งหน้าและหลัง ทำให้เวลาฟังจะรู้สึกได้ถึงตำแหน่งแหล่งที่ที่แตกต่างกันของเสียง อย่างเช่นเป็นเสียงนกจากระยะไกล เสียงใบไม้ไหวใกล้ๆ ตัว หรือไม่ก็เสียงเรไรที่ประสานกันดังกังวานตามราวป่า

ยิ่งหากฟังหลายสถานที่ เราจะยิ่งพบว่าแต่ละอุทยานฯ ต่างมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนอย่างชัดแจ้ง เช่นเสียงจากดอยอินทนนท์ ผู้บันทึกเสียงบันทึกในเวลาเย็นจนถึงช่วงตะวันโพล้เพล้ ทำให้นอกจากได้ยินเสียงแมลงกลางคืนแล้ว ยังได้ยินเสียงร้องของนกฮูกและกวางป่าที่หากินตามทุ่งโล่งและชายป่าในเวลากลางคืน (ทว่าปัจจุบันพบได้น้อยมากในบริเวณดังกล่าว กวางป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535)

อีกพื้นที่คือเสียงบรรเลงจากเกาะไหงซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ บนเกาะมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นอันเงียบสงบ มีหาดทรายขาวเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร เสียงที่เราได้ยินจากเกาะไหงจึงมีทั้งเสียงนกหลากหลายชนิดที่พักพิงในป่าและเสียงคลื่นทะเลตีฟองคลอเคลียเป็นแบ็กกราวด์ชวนให้ฟังเคลิ้มนานหลายนาที

soundmap07
soundmap08

ทักทายสัตว์หายากเฉพาะถิ่นกับชั่วโมงต้องมนต์

ความพิเศษของเสียงบันทึกใน Nature Soundmap คือมีบางจุดเป็นเสียงของสัตว์หายากเฉพาะถิ่น เช่น ในป่าดิบชื้นมีเสียงนกเงือก นกหว้า ในป่าบางแห่งก็ได้ยินเสียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือ ส่วนที่เป็นทะเลลึกก็มีเสียงของฝูงวาฬหลังค่อม หรือในเขตหมู่เกาะแอตแลนติกก็มีเสียงของนกหน้าตาน่ารักเหมือนหลุดมาจากโลกการ์ตูนอย่างเจ้านกพัฟฟิน ให้เราได้ฟังอย่างใกล้ชิด

ขอแชร์เทคนิคเล็กๆ ว่า หากอยากฟังเสียงให้รื่นรมย์ขั้นสุดแบบชั่วโมงต้องมนต์ ลองปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้นั่งในท่าที่ผ่อนคลาย หลังชิดพนักเก้าอี้ และค่อยๆ เปิดเสียงหาระดับที่เหมาะสมไม่ดังหรือเบาเกินไป ที่สำคัญคือหลับตาให้สนิท แล้วเพียงแค่ 3-5 นาทีเราก็จะเริ่มได้ยินเสียงต่างๆ เสมือนเราได้ยินได้ฟังด้วยตัวของเราเอง ณ สถานที่นั้นๆ

เสียงที่รังสรรค์โดยธรรมชาติราวกับมีวงออร์เคสตราผสานแต่ละท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์นี้ จะพาให้เรารู้สึกถึงความผ่อนคลาย สุขสงบ

ป่าอยู่ใกล้เราแค่ปลายนิ้วสัมผัส “Nature Soundmap”

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง

สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา

ชวน Park ใจ โดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง

สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา

อ้างอิง:

มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน
เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ
.
ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา