ทุกวันนี้ ใครที่เข้าไปกราบสักการะพระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หากมีโอกาสแหงนหน้าขึ้นมองดูหน้าบัน (คือหน้าจั่วสามเหลี่ยม) ของพระอุโบสถ จะเห็นว่าเป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อันสะท้อนถึงคติหนึ่งที่นับเนื่องว่ากษัตริย์มีฐานะเป็น “พระนารายณ์อวตาร”

ดาวดึงส์ ณ วัดพระแก้ว

หน้าบันนี้มีหลักฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังที่ปรากฏเป็นภาษากวี ใน “จดหมายเหตุเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ ๓” ว่า

“มีเขบ็จบันฉลักฉลุรายเทพนมปลายกนก เป็นกนกลายกระหนาบคาบเครือวัลย์ คาบรักทาบสุพรรณนพมาศ โอภาสเหลืองเรืองอร่ามรับสลับกระจกสีประจำช่องกนกหน้าบัน ที่ศูนย์ไส้ใจกลางนั้นจำหลักเป็นบัลลังก์ช่อห้อยช่อตั้งกระจังฝังกระจกต่างสี มีรูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑสุบรรณยุดพาสุกรีตรีเศียรยืนตระหง่านเงื้อมสง่างาม…”

“รูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑสุบรรณยุดพาสุกรีตรีเศียร” แปลว่ารูปพระนารายณ์ถือจักร มีพาหนะคือครุฑยุดนาคสามเศียร

หากแต่ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนว่าหน้าบันของพระอุโบสถวัดพระแก้วจะมิได้สลักภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยนำเสนอว่า เรื่องนี้มีหลักฐานเป็นภาพลายเส้นอยู่ในหนังสือบันทึกรายวัน “Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Courts of Siam and Cochin China” (1830) ของนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd หรือที่ชาวสยามออกนามว่า “ยอน การะฝัด”) ทูตจากผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำแคว้นเบงกอล ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๘๒๑ (๒๓๖๔-๖๕)

ขณะนั้นเป็นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๔๐ ปี

ภาพที่หน้าแรกของบทที่ ๕ ในหนังสือเป็นภาพลายเส้นรูปอุโบสถหลังหนึ่ง มองจากด้านหน้า แลเห็นหน้าบันที่ตรงกลางเป็นรูปบุคคลอยู่เหนือช้างสามเศียร คำบรรยายภาพมีเพียงว่า Siamese Temple (วัดของชาวสยาม) หากแต่อาจารย์ชาตรีชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากซุ้มเสมาอันมีลักษณะเฉพาะแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นที่แห่งอื่นใดได้ นอกเสียจากพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หากเชื่อตามนี้ ย่อมหมายความว่าพระอุโบสถวัดพระแก้วที่ครอว์เฟิร์ดและผู้ติดตามชาวอังกฤษได้เห็นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ เคยมีภาพสลักหน้าบันเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาก่อนจะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นพระนารายณ์ทรงครุฑเมื่อมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระแก้วมรกตอันเป็นที่มาของนาม “กรุงรัตนโกสินทร์” นั้น มีประวัติความเป็นมาอันเนื่องด้วยพระอินทร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปูชนียสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อันเป็น “ขวัญเมือง” ของกรุงเทพฯ จะสลักภาพพระอินทร์ที่หน้าบัน ทำให้อาจตีความได้ว่า พระอุโบสถหลังนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ หลักของจักรวาล อันมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ สถิตอยู่ ณ ยอดเขา

ดังนั้น รูปครุฑยุดนาคหล่อสำริดปิดทอง จำนวน ๑๑๒ ตน ที่เรียงรายรอบฐานปัทม์เชิงผนังพระอุโบสถด้านนอก ก็อาจมีนัยความหมายพิเศษมากกว่าชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรม นั่นคือเป็นสัญลักษณ์ของแนวกึ่งกลางเขาพระสุเมรุ อันเป็น “วิมานฉิมพลี” ของพวกครุฑ ก็เป็นได้

ธรรมเนียมการประดับหน้าบันอุโบสถด้วยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทั้งแกะสลักไม้ ปิดทอง หรือปั้นปูนระบายสี อย่างที่นิยมสร้างกันทั่วไป ทั้งวัดราษฎร์วัดหลวง ล้วนสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ให้อุโบสถหลังนั้น เป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ อันมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ข้างบน

เฉกเช่นพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งมีหน้าบันประธานเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร

เฉพาะกรณีของวัดสุทัศน์ฯ ยังอาจมีความหมายซับซ้อนหลายชั้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะคำว่า “สุทัศนะ” ในชื่อวัดย่อมหมายถึง “สุทัสสนะนคร” อันเป็นนามเมืองของพระอินทร์ คืออีกนามหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ จึงเปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ ขณะที่ “ถะ” หรือเจดีย์แบบเก๋งจีนทำด้วยหิน ที่ประดับสองข้าง ก็ให้ผลทางสายตาในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่ช่างแต่โบราณนำเสนอด้วยการแบะซีกฉีกภูเขาวงแหวนออกให้กลายเป็นแท่งโขดหินสูงลดหลั่นขนาบข้างเขาพระสุเมรุตรงกลาง

ถัดออกไปทางทิศเหนือของพระวิหารหลวง คือพระอุโบสถ ซึ่งหน้าบันด้านหนึ่งเป็นภาพพระอาทิตย์ อีกด้านเป็นพระจันทร์ ดุจเดียวกับในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ โคจรรอบเขาพระสุเมรุอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์