ทัศ ปริญญาคณิต / อินทัช เกตุสิงห์ : เรื่อง
ทัศ ปริญญาคณิต : ภาพ

“Sleepless Night” คอมมิวนิตีดีเจที่ไม่ยอมให้ชีวิตหลับใหลด้วยไลฟ์สตรีม
ค่ำคืนไร้นิทรากับกลุ่มดีเจรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมให้ชีวิตหลับใหลเพราะโควิด-19

18.00 .

เราไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมดีเจ (DJ) เลย

แต่ความไม่รู้กลับกวักมือเรียกให้เข้าไปในโลกที่ไม่เคยสัมผัส กระหายจะจ้องมองเพื่อเก็บไว้ในทรงจำ หากได้เคยลิ้มลองเครื่องดื่มเกือบทุกรสชาติในโลก Sleepless Night งานดนตรีแนว “อิเล็กทรอนิกส์-ดีเจ” คงเป็นเครื่องดื่มปริศนาที่เราจะปรารถนา ของเหลวที่แปลกยิ่งประหลาดขึ้นไปอีก เมื่อตัวงานจัดในรูปแบบไลฟ์สตรีมที่หลั่งรสชาติไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ตัวงานกินเวลาตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 13 มีนาคม 2564 และพาผู้ร่วมงานดื่มด่ำจนถึงเวลา 02.00 น. ของวันถัดมา

งานของกลุ่มดีเจรุ่นใหม่นี้ สะดุดตาขึ้นมาในช่วงที่ความทรงจำของโควิด-19 ยังฝังอยู่ในใจของเรา คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพิ่งผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์เท่านั้น เรามองออกไปนอกรถระหว่างเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน พบว่าการจราจรบนท้องถนนกลับมาติดขัดเช่นเดิมแล้ว แต่ภาพที่ไม่มีวันหวนคืนคงเป็นภาพคนสัญจรที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือร้านค้าบางแห่งที่ปัจจุบันต้องปิดตัวไป เพราะทนการระบาดระลอกใหม่ไม่ได้

Sleepless Night จัดโดยใช้สตูดิโอดนตรีส่วนตัวที่มีชื่อว่า สาทรซาวด์ซิสเต็ม ซึ่งมีกั้ง-เบญจฤทธิ์ นิมบุญจาช หรือ DJ GOO เป็นเจ้าของ สตูดิโอแห่งนี้รายล้อมไปด้วยกลุ่มตึกสำนักงานและคอนโดมิเนียมมากมาย ภายนอกเป็นเพียงบ้านที่ดูมีอายุทั่วไป สะดุดตาเพียงร้านกาแฟซึ่งมาเช่าพื้นที่หน้าบ้านเพื่อประกอบธุรกิจ

ดูไม่เหมือนสตูดิโอสำหรับงานดนตรีเลยสักนิด

เราแอบคิด ก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไปในบ้าน

sleepless02
กั้งนึกจ้องไปในความทรงจำอยู่เกือบ 7 วินาที ก่อนที่จะเล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มสนใจวงการดนตรีดีเจมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลังจบการศึกษาในปี 2545

19.00 .

“ดนตรีกระแสหลักจะมาหาเราถึงที่ แต่กับดนตรีใต้ดิน เรากลับต้องเป็นฝ่ายไปหา”

แฟรงก์ แซปปา (Frank Zappa) นักดนตรีชาวอเมริกัน

ที่บอกว่าเป็นฝ่ายไปหา คงรวมถึงการเข้าไปอยู่ในที่ไม่คุ้นชินด้วย เรามาหาดนตรีใต้ดินในสตูดิโอที่ไม่เป็นสตูดิโอ ห้องทำงานเก่าของกั้งบันทึกทรงจำของงานในอดีต ชั้นวางของแน่นขนัดด้วยหนังสือแนวสถาปัตย์ กลุ่มดีเจห้าหกคนคนกำลังช่วยกันติดตั้งแผงควบคุมเสียงบนโต๊ะทำงานขนาดยักษ์ เมื่อสัมผัสจะพบรอยขรุขระจากการร่างแบบ เป็นภาพแปลกตาที่คงพบเห็นได้แต่ในวงการดนตรีใต้ดิน

คนมักใช้คำว่า “ดนตรีใต้ดิน (Underground Music)” เพื่อตีกรอบความหมายให้กับกลุ่มดนตรีอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อค่ายเพลงใดๆ ทำให้สามารถสร้างผลงานได้โดยไม่ยึดติดกับความต้องการของตลาด กลุ่มดนตรีใต้ดินมีอิทธิพลต่อวงการดนตรีของประเทศอังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นอย่างมากในปี 2500-2510 จนเกิดเป็นแนวดนตรีใหม่ เช่น Psychedelic Rock, Shoegaze, Post Punk

ได้ยินคำว่าใต้ดินก็จะนึกถึงการแอบแฝง การแอบแฝงที่เกิดขึ้นได้เพราะมีสังคมเมืองเป็นแหล่งรวมตัว ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน โตเกียว หรือเบอร์ลิน กรุงเทพมหานครเองก็เป็นแหล่งรวมตัวของศิลปินดนตรีใต้ดิน เหมือนกับงานดนตรีในวันนี้ เมื่อสถานที่อยู่อาศัยกลางตัวเมืองอย่างบ้านของกั้งถูกเปลี่ยนเป็นสถานใต้ดินสำหรับงานดนตรีใต้ดิน

กั้ง-DJ GOO เป็นชายอายุ 41 ปี ไว้หนวดและปล่อยผมยาวดำประบ่า ดวงตาสะท้อนสีสันของประสบการณ์และความสนุก กั้งนึกจ้องไปในความทรงจำอยู่เกือบ 7 วินาที ก่อนที่จะเล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มสนใจวงการดนตรีดีเจมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลังจบการศึกษาในปี 2545 ก็ตั้งบริษัทสถาปนิกร่วมกับเพื่อน พร้อมๆ กับเริ่มหิ้วแผ่นเสียงไปเปิดเพลงตามบาร์เพื่อแลกกับค่าแรงไม่ถึง 100 บาท ตั้งแต่ย่านถนนข้าวสารจนถึงเกาะพะงัน ในปี 2550 ก็มีบริษัทต่างชาติสนับสนุนให้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อเปิดเพลง เกิดเป็นประสบการณ์พานพบคนมากมาย

“พอมาเจอล็อกดาวน์ก็เกิดไอเดียว่ามารวมกันทำงานดนตรีแบบไลฟ์สตรีมทุกๆ เดือน เราก็ทำมานานแล้ว แถมมีดีเจคนหนึ่งมีช่องออนไลน์ของตัวเอง เลยอยากผลักดันคอมมิวนิตีของดีเจไทย” กั้งหยุดพูดและหันหน้ามองกลุ่มดีเจรุ่นใหม่ที่กำลังเตรียมงาน เขาเล่าต่อว่าสมัยก่อนเหล่าดีเจรวมตัวกันตามร้านแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รู้จักกันเป็นกลุ่มผ่านเจ้าของร้านที่สนับสนุนวัฒนธรรมดีเจ ใครไปเปิดร้านไหนก็จะรู้จักคนที่นั่น ดีเจที่รู้จักกันก็มักไปร่วมงานของอีกคนเพื่อเสพดนตรีเป็นประจำ จนเคยมีกลุ่มรุ่นพี่รวมตัวกันเปิดรายการวิทยุที่เน้นดนตรีใต้ดิน

แต่สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องรวมตัวที่ร้านอีกต่อไป โลกดิจิทัลทำลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ไปอย่างมาก ศิลปินมีผู้ติดตามจากอีกฟากโลก โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมดีเจที่ถึงแม้จะพูดกันคนละภาษาก็สามารถเข้าใจกันได้ด้วยเสียงเพลงที่เกิดจากการมิกซ์ อีกทั้งการสตรีมมิงยังเอื้อต่อโลกในยุคโควิด-19 ที่บีบให้ศิลปินหาวิธีเผยแพร่ผลงานในรูปแบบใหม่

sleepless03
แผงควบคุม ไม่ต่างอะไรจากเครื่องดนตรีของดีเจ

20.30 .

“ความต่อต้านกระแสของดนตรีใต้ดินสามารถปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลได้ และยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะการสื่อสารแบบไร้พรมแดน”

สตีเฟน เกรแฮม (Stephen Graham) อาจารย์ดนตรี มหาวิทยาลัย Goldsmiths, London

“เริ่มไลฟ์แล้ว” หนึ่งในดีเจพูดขึ้น ภาพเคลื่อนไหวส่งตรงจากสาทรซาวนด์ซิสเต็มปรากฏบนช่อง YouTube ถ่ายโดยใช้กล้องขนาดเล็กสองตัวสลับไปมา ตัวแรกเป็นภาพมุมกว้างที่เผยให้เห็นลำตัวและใบหน้าของดีเจในไฟสีแดง ตัวที่ 2 เผยมือของดีเจที่ขยับคล่องแคล่วอย่างมีลีลาบนแผงควบคุมดนตรี วิดีโอถูกถ่ายทอดลงบนช่องของดีเจ f1rstpers0n ซึ่งมีผู้ติดตามบนอินเทอร์เน็ตกว่า 2.6 หมื่นคน เขาเป็นชายที่มีอายุดูไม่ห่างจากเรามาก เขาสวมแว่น ผิวคล้ำ และมีชื่อเล่นว่าโดนัท

ไม่ทันไรเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บรรเลงเร้าอารมณ์ผู้ฟัง ผู้ที่มาร่วมฟังสดเริ่มขยับเนื้อขยับตัวไปตามจังหวะที่ดีเจมอบให้ คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้จักดีเจสักคนหนึ่งในกลุ่มเป็นการส่วนตัว บรรยากาศในงานจึงมีความเป็นกันเอง ต่างคนต่างก็รู้ว่าพวกเรามีความชื่นชอบดนตรีแบบเดียวกัน เมื่อเราอ่านแชตจากห้องแชตในไลฟ์ก็ต้องแปลกใจที่กลุ่มผู้ร่วมรับชมทางออนไลน์ก็พบกับบรรยากาศเช่นเดียวกันนี้

————————————————————————————————-

Manos Mul : Nice…… Some great music, much needed.. thanks..

BoopyTheFox : ​Greetings from Russia

Pkt south side : Wow

Pkt south side : This is amazing

TSchwarz : สวัสดีครับทุกคน ผมเป็นฝรั่งเมียผมเขียนให้ครับผมชอบมากผมอยู่ประเทศเยอรมัน

Thunyatip Usanapong : wow

Antonio Sánchez Álvarez : Hello from Spain!

Beachjunglist : ❤️❤️😆❤️❤

Sumiron Ghosh : Love from India

————————————————————————————————-

sleepless04
“เราชอบความเป็นคอมมิวนิตี” ดีเจ Corner PPL. หรืออู๋ ที่มีลุคเรียบร้อยทั้งทรงผมและการแต่งกาย ตอบคำถามว่าทำไมตัวเองชอบการเป็นดีเจ “เพราะมันเป็นสังคมที่ทำให้พวกเรากลับมาเจอกันเรื่อยๆ เหมือนเป็นกลุ่มเพื่อนมากกว่า”

โดนัทเล่าให้เราฟังว่าช่องของเขามีอายุได้ 5-6 ปีแล้ว มีผู้ติดตามจำนวนมากเป็นชาวต่างชาติที่ชื่นชอบดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์-ดีเจ ตัวเขาเริ่มเป็นดีเจพร้อมกับการเปิดช่อง ที่ผ่านมาก็เรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอดจนเริ่มค้นพบเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้ผู้ฟังติดใจจนมาติดตาม

“มันเป็นเหมือนงานอดิเรกที่เราทำเป็นประจำ เราทำเพราะมีใจชอบในดนตรี และเราก็พร้อมเปิดรับและเรียนรู้แนวเพลงใหม่ๆ ที่เราไม่เคยฟังมาก่อนตลอด” โดนัทกล่าวขณะพิมพ์ทักทายผู้ชมจากทั่วโลกที่กำลังแชตคุยกันอย่างรื่นเริง

โดนัทตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ดนตรีใต้ดินไม่ค่อยเติบโตในประเทศไทยเท่าประเทศอื่น ก็เพราะว่าคนไทยในวัยทำงานไม่มีเวลาพอที่จะค้นหาดนตรีนอกกระแส จนทำให้คนมักเลือกฟังดนตรีแนวการตลาดซึ่งก็ยิ่งตีกรอบความเป็นเพลงจนทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงดนตรีใต้ดินยิ่งกว่าเดิม

“เราว่าเพลงมันมีหลายบริบท บางทีเพลงก็ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อร้องก็ได้ เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องก็มีมานานแล้วอย่างเช่นเพลงแบบคลาสสิก เราว่าการมีเนื้อร้องมันเป็นการสะกดมาให้เลยว่าเพลงนี้มันเกี่ยวกับอะไร ขณะที่ถ้าเป็นเพลงแบบไม่มีเนื้อร้องเช่นแบบที่พวกเราเล่น เราต้องมานั่งจินตนาการต่อว่าเพลงนี้สื่อถึงอะไร ซึ่งมันจะเป็นอะไรที่ทุกคนก็สามารถเข้าถึงได้อะ เปิดเพลงไม่มีเนื้อร้องอะไรก็ได้แล้วก็จะรู้สึกถึงอารมณ์ของเพลงนั้นได้ทันที ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใคร”

ดนตรีไร้เนื้อร้องกระชากเปลี่ยนทำนองเบาเป็นหนัก คนในสตูดิโอร้องว้าวกับสิ่งที่เกิดขึ้นออกมาเป็นเสียงเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือฝรั่งวัยรุ่นผมทองที่เป็นชาวต่างชาติคนเดียวในห้อง พร้อมเพรียงด้วยความเป็นธรรมชาติ ราวกับเป็นทุ่งหญ้าที่เอนไปในทางเดียวกันเมื่อถูกลมโบกพัดโดยไม่ต้องสื่อสาร

sleepless05
“เริ่มไลฟ์แล้ว” หนึ่งในดีเจพูดขึ้น ภาพเคลื่อนไหวส่งตรงจากสาทรซาวด์ซิสเต็มปรากฏบนช่อง YouTube ถ่ายโดยใช้กล้องขนาดเล็กสองตัวสลับไปมา

22.00 .

“เลือกเอาว่าจะลงนรกหรือจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต”

กาวิน ไพรเออร์ (Gavin Prior) นักดนตรีชาวไอร์แลนด์

แต่โลกอินเทอร์เน็ตก็ใช่ว่าจะถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดได้ คนดูทางบ้านทำได้เพียง “ดู” แต่ไม่อาจ “สัมผัส” ทั้งสตูดิโอกลายเป็นส่วนหนึ่งกับเสียงเพลง ทุกคนต่างไหลหลั่งไปกับทำนองด้วยท่วงท่าของตัวเอง แต่ละคนวิเวกไปในโลกส่วนตัวอันน้อยนิดมหาศาล กลายเป็นดวงดาวที่ส่องแสงต่างกันในจักรวาลผืนเดียวกัน ไฟสีแดงสลัวฉาบทุกซอกมุมของห้อง ตัดสลับกับเงาของดวงดาวที่พลุ่งพล่านไปมา ตรงนั้นและตรงนี้ เสียงเพลงแปรเปลี่ยนเป็นบรรยากาศที่คงไม่อาจหวนกลับมาสร้าง

“แตกต่างอยู่แล้ว” อู๋-Corner PPL. ดีเจที่มีลุคเรียบร้อยทั้งทรงผมและเสื้อผ้า พูดหลังเล่นคิวของตัวเองจบ “เวลาเล่นกับคนจริงเราจะรีแอ็กกับคนดู เวลาเล่นคนเดียวเราอาจจะติดอยู่กับความคิดตัวเอง แต่เวลามีคนดูเราต้องตามคนอื่นด้วย เหมือนเราสร้างบรรยากาศ ดีเจเป็น experience director ที่เล่นกับความรู้สึก”

“สุดท้ายแล้วมันคือประสบการณ์” ฟ้า-Pharalai ดีเจที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มเห็นด้วยกับอู๋ แว่นกันแดดสีแดงเหมือนในนวนิยายเรื่อง Lolita โดดเด่นขึ้นมาในกลุ่มคน เธอคิดว่างานดนตรีมีความเป็นเรียลไทม์ ต้องมาสัมผัสจริงถึงจะได้ประสบการณ์ “คือความรู้สึกตอนนี้มันจริง มันเกิดขึ้นได้จากคนมารวมตัวกัน ไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว เพลงอาจจะเป็นตัวตั้ง แต่รากฐานมันเกิดจากการรวมกลุ่มของคนกลุ่มหนึ่ง”

แต่ทั้งคู่ก็เห็นข้อดีของไลฟ์สตรีม การบันทึกไว้บนอินเทอร์เน็ตจะทำให้คนมารู้จักพวกเขามากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (subculture) เป็นอย่างมาก เสียดายที่คนดูบนจอไม่สามารถมาพูดคุยและทำความรู้จักกับคนอื่นได้ เพราะถึงที่สุดแล้วมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อย่างดีเจทุกคนเองก็ยังต้องมารวมตัวกันเป็นคอมมิวนิตีเพื่อไลฟ์สตรีมในคืนนี้

“เราชอบความเป็นคอมมิวนิตี” อู๋พูดถึงสิ่งที่ชอบในการเป็นดีเจ “เพราะมันเป็นสังคมที่ทำให้พวกเรากลับมาเจอกันเรื่อยๆ เหมือนเป็นกลุ่มเพื่อนมากกว่า” แต่การรวมกลุ่มจะทำให้เอกลักษณ์ในผลงานของแต่ละคนหายไปไหม? เขาส่ายหน้าเป็นคำตอบ ตัวเขาเองจะชอบเพลงซาวนด์ทั้งแบบกว้างและหนักจนให้อารมณ์เหมือนภาพยนตร์ (cinematic) แต่บางคนก็จะเป็นบีตที่มีลักษณะชวนให้เต้นมากกว่า ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากตัวตนและเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน

เอสเธอร์-Esther ดีเจอีกคนที่เพิ่งเล่นเสร็จเดินเข้ามาทักทายพวกเรา เธอเล่าถึงความสำคัญของสถานที่และเวลาในการเลือกเพลง ดีเจเป็นคนทำงานกับเพลงที่ต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม ต้องดูว่าคนดูในแต่ละครั้งต้องการเพลงจังหวะไหน เพลงบางเพลงจะไม่เหมาะกับบางที่ เวลาที่ต่างกันก็ส่งผลทำให้เล่นออกมาไม่เหมือนกัน อย่างในวันนี้คนที่เล่นตอน 20.30 น.ก็จะบอกเล่าเรื่องในอารมณ์ที่ต่างจากตอนนี้ อู๋มีความเห็นคล้ายกับเอสเธอร์ เขาเชื่อว่า “เรา (DJ) เป็นบรรยากาศ เป็นศิลปะของการเปิดเสียงบันทึก (Record Playing) ข้อดีของการเป็นดีเจคือเราเป็นคนเรียบเรียงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ออกมาเป็นสิ่งใหม่”

จักรวาลนี้มีดีเจเป็นผู้กำหนด แสงสุกสกาวและวงโคจรของดวงดาวต่างๆ ก็คงเป็นส่วนหนึ่งในท่วงทำนอง ท่วงทำนองอันเป็นกฎธรรมชาติของจักรวาลเล็กๆ ที่เรียกว่า Sleepless Night

sleepless06
วิดีโอถูกถ่ายทอดลงบนช่องของดีเจ f1rstpers0n ซึ่งมีผู้ติดตามบนอินเทอร์เน็ตกว่า 2.6 หมื่น คน f1rstpers0n เป็นชายที่มีอายุดูไม่ห่างจากเรามาก เขาสวมแว่น ผิวคล้ำ และมีชื่อเล่นว่าโดนัท

00.00 .

“ดนตรีทุกแบบมีมุมมองด้านการเมือง เพราะมันนำเสนอวิธีการดำรงอยู่ของชีวิต”

ไบรอัน อีโน (Brian Eno) นักดนตรีแนว Ambient

เสียงดนตรีไม่ยอมถูกทำให้เงียบเพียงเพราะนาฬิกาบอกเวลาเข้านอน ดีเจคนล่าสุดที่เปิดเพลงคือ ตั้กกี้-Footprints on Mars ชายผมยาวลุคเซอร์ที่เราเคยเห็นในม็อบประชาชนปลดแอก วันที่ 17 สิงหาคม 2563 มีคนถ่ายคลิปขณะที่เขากำลังเปิดเพลงท่ามกลางเสียงค้านของตำรวจ

การเปิดเพลงแบบไม่ประนีประนอมของตั้กกี้ถูกอัปโหลดลงบนเพจ “Samādhi Sound” สมาธิซาวนด์เป็นกลุ่มดีเจที่จัดตั้งบูทตามการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 ในคลิปเราจะได้ยินเสียงตำรวจพูดว่า “ปิดได้แล้วครับ พอได้แล้ว” ตั้กกี้ตอบด้วยการเพิ่มเสียงบีตให้จนกลบเสียงของตำรวจท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชน

ตั้กกี้บอกเราว่าเขาแค่เปิดเพลงเพราะไม่อยากให้ประชาชนที่มาชุมนุมเครียด เขาก็แค่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยที่ไม่ทำร้ายใคร “เราก็พยายามเปิดให้ทุกคนเอนจอยให้มากที่สุด ที่ม็อบคนหลากหลาย แต่เพลงมันเป็น universal language ทุกคนมีความสุขร่วมกันได้ การเซนเซอร์มันไม่ควรเกิดขึ้น เราอยากให้ศิลปะได้แสดงเจตนารมณ์” ตั้๊กกี้พูดพร้อมรอยยิ้ม

ตั้กกี้ลิ้มรสดนตรีแนวดีเจครั้งแรกสมัยเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่เมื่อกลับมาประเทศไทยก็พบว่าสิ่งที่ตนชอบกลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก เขาจึงตัดสินใจจัดงานดนตรีร่วมกับเพื่อน จนทำให้ได้รู้จักกับสังคมดีเจในประเทศไทย เขาพูดถึงดนตรีใต้ดินในไทยว่า “มันก็เป็นเหมือนอีกทางเลือกหนึ่งให้คนไทยนะ ไม่ต้องชอบก็ได้ แต่ขอให้รู้ว่ามันมีทางเลือกนี้อยู่ในไทย อยากให้มีพื้นที่สำหรับคนที่ชอบดนตรีแนวนี้ อย่างการรวมกลุ่มเพื่อจัดงานแบบในวันนี้ก็ดี เพราะมันจะทำให้เติบโต”

sleepless07
ฟ้า-Pharalai ดีเจที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มเห็นด้วยกับอู๋ แว่นกันแดดสีแดงเหมือนในนวนิยายเรื่อง Lolita โดดเด่นขึ้นมาในกลุ่มคน เธอเป็นคนเริ่มต้นรวบรวมกลุ่มดีเจ

02.00 .

“ดนตรีมีความเป็นคอมมิวนิตีในตัวมันเอง เพราะมันรวมคนเข้าด้วยกัน และคอมมิวนิตีเหล่านี้ก็แตกต่างกันไปตามสถานที่”

แมท เบอร์นินเกอร์ (Matt Berninger) นักดนตรีชาวอเมริกัน

“กูว่าคอมมิวนิตีคือการอยู่ด้วยกัน สนับสนุนกัน ช่วยเหลือกัน แค่นี้ก็ถือเป็นคอมมิวนิตีแล้ว” บูม-Couching Cat มองว่ากลุ่มดีเจของพวกเขาถือเป็นกลุ่มคอมมิวนิตี (community) อย่างหนึ่ง สำหรับเขาคอมมิวนิตีไม่ได้จำเป็นต้องหมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยร่วมกันในหมู่บ้านเสมอไป เพราะการรวมกลุ่มของคนที่สนใจอะไรร่วมกันก็ถือเป็นคอมมิวนิตีได้เช่นกัน และในอนาคตคอมมิวนิตีเช่นนี้ก็ควรได้รับการพูดถึงมากขึ้น

“มึงลองนึกภาพคอมมิวนิตีแบบนี้ แต่ใหญ่ขึ้น คนออกมาฟังเพลงหรือใช้เวลากับสิ่งที่ตัวเองสนใจเพื่อผ่อนคลายในแบบที่ตัวเองชอบ ทุกคนมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต มึงอาจจะมีวิธีอีกแบบ แต่กูก็มีวิธีในแบบของกู” บูมวาดฝันถึงอนาคตที่คนไทยมีเวลามาทำสิ่งที่ใจตัวเองรัก โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาชีวิตไปกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหารถติด ความยากจน การศึกษา ฯลฯ แต่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

“เพลงสุดท้ายแล้ว” โดนัทพูดขณะกำลังรับหน้าที่เป็นดีเจคนสุดท้าย สิ่งเดียวในห้องที่รู้สึกง่วงน่าจะเป็นแมวสามตัวของกั้งที่ลัดเลาะเข้าออกห้องอย่างมีอิสระ ปิ้ว แมวสีเทาที่ได้ชื่อมาจากคดียิงเสือดำในปี 2562 กำลังนั่งหลับแน่นิ่งอยู่บนเก้าอี้โดยไม่สนใจเสียงดนตรีที่ร้องโหยหวน

“จุดตั้งต้นไม่ได้มีใครอยากเป็นดีเจนะ” ฟ้าพูดขึ้นพร้อมรอยยิ้มเมื่อเล่าถึงการรวมตัวของดีเจ “แค่อยากฟัง แค่ชอบ แต่ได้โอกาสจากรุ่นพี่ที่ถามว่าเราเป็นคนที่ชอบอะไรแบบเดียวกัน ทำไมไม่ลองทำอะไรด้วยกัน ก็คือการเปิดเพลง พอฟังถึงจุดจุดหนึ่งก็เลยลองดู”

รุ่นพี่ดีเจของฟ้าสังเกตว่าวงการดนตรีใต้ดินไม่ค่อยมีการรวมตัวกัน ต่างคนต่างแยกกันอยู่ตามประสาของวงการดนตรีนอกกระแสที่ทุกคนต่างมี DNA เป็นของตัวเอง แต่การรวมกลุ่มกันอาจช่วยให้ศิลปินเติบโตขึ้นมาได้ นำมาสู่กลุ่ม CO-SOLID ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกสามคนจากแปดถึงเก้าคนในตอนแรก

และในวันนี้ CO-SOLID ร่วมจัดงานกับ Basement Recipe ซึ่งก็เป็นกลุ่มดีเจที่มีความชอบเหมือนกัน ทุกคนต่างก็อยากให้ผลงานของตัวเองเข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป เป็นสิ่งที่คนฟังไปด้วยขณะทำอย่างอื่นก็ได้ ปรารถนาไม่ต่างจากกั้ง ดีเจที่เพื่อนร่วมรุ่นทุกคนต่างเลิกราจากวงการไปนานแล้ว

กั้งเป็นดีเจคนเดียวในวันนี้ที่ยังเปิดเพลงโดยใช้แผ่นเสียง แต่ถึงอย่างไรการสตรีมมิงในวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเขาไม่ใช่คนที่ไม่ยอมปรับตัวต่อยุคสมัย เมื่อถามว่าทำไมเขาถึงช่วยให้กลุ่มดีเจรุ่นใหม่จัดงานดนตรีในวันนี้ เขาตอบแบบไม่คิดมากว่า “ไม่ใช่ช่วยหรอก แค่อยู่ด้วยกัน ทุกคนเหมือนอยู่ด้วยกันด้วยดนตรี ผมไม่รู้หรอกเรื่องรุ่นใหม่รุ่นเก่า แต่ทุกคนมีดนตรีเป็นศูนย์กลาง”

กั้งเดินไปชวนกลุ่มดีเจรุ่นใหม่ให้มาเปิดเพลงอีกในอนาคต ทุกคนตกลงกันได้ง่ายราวกับเพื่อนชวนไปกินข้าว คนนอกอาจจะมองพวกเขาในเลนส์การเคารพตามอายุ (seniority) แต่ทั้งกั้งและดีเจคนอื่นๆ คงไม่มองเช่นนั้น ดนตรีคงทำให้พวกเขาเป็นเพื่อนที่เท่าเทียมกัน

ดนตรีแบบดีเจก็อาจคล้ายกับศิลปะแบบคอลลาจ (collage) ศิลปินจะนำวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วมาประกอบสร้างเป็นสิ่งใหม่ และสิ่งเหล่านี้ก็มีรสชาติคุ้มค่าที่เราได้ลิ้มรส เรากลายเป็นหนึ่งในผู้มึนเมาจากประสบการณ์ในวันนี้ รู้สึกตัวอีกทีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลผลงานของพวกเขาเสียแล้ว

เสียงดนตรีของค่ำคืนนี้จบลงพร้อมกับแมวที่หลับใหล ทุกคนต่างเริ่มเก็บอุปกรณ์ต่างๆ “ใครลืมอะไรก็รีบเคลม ไม่งั้นไม่รู้นะ” กั้งพูดติดตลกราวกับได้ของใช้ใหม่ทุกครั้งเวลามีคนมาบ้าน ดีเจทุกคนแยกย้าย ออกจากสถานใต้ดินสำหรับดนตรีใต้ดิน สู่ท้องถนนกรุงเทพมหานครเวลาดึกดื่น เสียงของความเงียบลอยเคว้งคว้าง ดวงดาวบนท้องฟ้าริบหรี่หมดพลังหลังงานเลิก กลับสู่ความหลับใหล แต่ในใจ ความฝันยังคงบอกปัดการพักผ่อน

อ้างอิง

  • Graham, S. (2010, August 1). Where is the Underground? Retrieved March 21, 2021, from https://journalofmusic.com/focus/where-underground
  • Babcock, J. (2005, November 29). ENO: “all music has a political dimension because it suggests a way of being.” Retrieved April 09, 2021, from https://arthurmag.com/2005/11/28/eno-all-music-has-a-political-dimension-because-it-suggests-a-way-of-being/