เขียน : กุลภัสสร์ พฤกษาจารสิริ
ภาพ : พงศกร ตะเคียน

คริสเตียน - ชุมชนคริสต์ที่อบอวลไปด้วยรัก
โบสถ์ Nexus Christian Church Bangkok จัดกิจกรรมรวมตัวชาวคริสต์ขึ้นอีกครั้ง ณ ตึก KPN Tower ถนนพระรามที่ 9 กรุงเทพมหานคร มีผู้มาร่วมงานจำนวนกว่า 200 คน ผู้ร่วมพิธีแต่ละคนจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการยอมรับนับถือพระเจ้าตามความเชื่อ

เราเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในโรงเรียนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการเรียนเกี่ยวกับศาสนาอย่างจริงจัง ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเรามองว่าศาสนาเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ค่อยได้เข้าวัด ไม่ค่อยได้ทำบุญ เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด ไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่เชื่อในบาปบุญ คิดว่าศาสนาเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองด้วยซ้ำไป จนกระทั่งช่วงปลายปี 2563 มีบทสนทนาในกลุ่มเพื่อนว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ บทสนทนานั้นนำไปสู่เรื่องศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (คริสเตียน) ในแง่ความเชื่อเรื่องการพูดคุยกับพระเจ้า ความเป็น “คอมมูนิตี” ของคนในโบสถ์เดียวกัน การให้ความรัก ให้กำลังใจกัน มันทำให้เรารู้สึกสนใจมากจนเริ่มศึกษา และเมื่อได้เปิดใจทำความรู้จัก ก็พบกับเรื่องที่ทำให้รู้สึกแปลกใจและอบอุ่นหัวใจไปพร้อมๆ กัน

ช่วงเย็นของวันกลางสัปดาห์ในทุกสัปดาห์ สมาชิกที่ไปโบสถ์เดียวกันจะมีการนัดพบกันเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่เรียกว่า “กลุ่มแคร์” การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งตามอาชีพ ช่วงวัย หรือความสนใจ ทางโบสถ์จะพยายามจัดให้แต่ละกลุ่มย่อยมีสมาชิกเป็นคนที่สามารถทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ และไม่มีความแตกต่างกันมากนัก การพบปะกันเป็นกลุ่มนี้เรียกว่า “การสามัคคีธรรม” (fellowship) คนในกลุ่มจะได้มาพูดคุยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในแต่ละอาทิตย์ คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ อธิษฐานให้กันและกัน ร้องเพลงนมัสการด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการอ่านพระคัมภีร์และพูดคุยเกี่ยวกับพระคัมภีร์ กิจกรรมทั้งหมดนี้ที่จริงแล้วคล้ายกับการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ แต่แตกต่างตรงการได้พูดคุยกันภายในกลุ่มเล็กๆ ทำให้เกิดการสื่อสารสองทางมากขึ้น และช่วยเพิ่มความสนิทสนมระหว่างคนในกลุ่ม นอกจากนี้การพูดคุยภายในกลุ่มของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันไป โดยรวมบรรยากาศคล้ายการมาเจอเพื่อน นัดกินมื้อค่ำกันระหว่างสัปดาห์

ประสบการณ์การเข้าร่วมกลุ่มแคร์ครั้งแรกของเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทุกคนในกลุ่มดูสนิทและเป็นกันเองมากๆ บรรยากาศภายในกลุ่มเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและเสียงพูดคุยกันอย่างสนิทสนม มีการทักทายการหยอกล้อกัน ทำให้เราที่เพิ่งเข้าร่วมกลุ่มแคร์เป็นครั้งแรกไม่ได้รู้สึกอึดอัดเลยแม้แต่น้อย

christian02
สมาชิกโบสถ์ร่วมเล่นดนตรีเพื่อแสดงออกถึงศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ถือเป็นการยึดโยงความรู้สึกของสมาชิกทุกคนเข้าไว้ด้วยกันผ่านเสียงเพลง

กิจกรรมแรกของการสามัคคีธรรมคือให้แต่ละคนพูดคุยปัญหาของตัวเองที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้นๆ แล้วคนในกลุ่มจะช่วยกันอธิษฐานให้คนที่มีปัญหาผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นไปได้ด้วยดี ปริญญา แซ่หวัง หรือกวง หัวหน้ากลุ่มแคร์ที่เราเข้าร่วมบอกว่า การอธิษฐานจริงๆ แล้วมันไม่ใช่การขอพร แต่เป็นการพูดคุยกับพระเจ้า เพื่อให้เราสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น โดยที่จะมีหัวหน้ากลุ่มแคร์คอยนำอธิษฐาน ช่วงเวลาที่ทุกคนในกลุ่มพูดคุยกันและอธิษฐานให้กันและกัน มันเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่าได้รับความรัก รู้สึกว่าเราไม่ได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไปเพียงคนเดียว ยังมีคนที่คอยเอาใจช่วยเรา คอยสนับสนุนเรา และคอยอธิษฐานเพื่อเราอยู่ ไม่มีใครมาคอยตัดสินว่าปัญหาของเราเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ถือเป็นช่วงเวลาที่เติมพลังใจระหว่างสัปดาห์ได้ดีทีเดียว

หลังพูดคุยกันและอธิษฐานให้กันเสร็จ กิจกรรมต่อมาคือการร้องเพลงนมัสการพระเจ้า ซึ่งจะร้องประมาณสองถึงสามบทเพลง หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเพลงนมัสการพระเจ้าที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างเพลง “Amazing grace” ที่ประพันธ์โดย จอห์น นิวตัน นักบวชชาวอังกฤษ เพลงนี้ถูกเรียบเรียงทำนองใหม่อยู่หลายฉบับให้เข้ากับยุคสมัย และหลายๆ คนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ก็น่าจะเคยได้ยินเพลงนี้จากแอนิเมชันชื่อดังตลอดกาลของญี่ปุ่นอย่างเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน ที่มีการนำเพลงนี้ไปประกอบแอนิเมชัน หรืออย่างในซีรีส์เกาหลีเรื่อง The K2

เพลงนมัสการพระเจ้าทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเรากับพระเจ้าให้สื่อสารและใกล้ชิดกันมากขึ้น ให้เราได้สรรเสริญและขอบคุณความรักจากพระเจ้า นอกจากจะเป็นตัวกลางที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้าแล้ว ยังเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี ให้กำลังใจ ให้โอกาส และยกโทษให้แก่กันและกันด้วย

ถ้าถามว่าทำไมต้องใช้บทเพลงเป็นสื่อกลาง

อาจเพราะคนคริสต์เชื่อว่าดนตรีเกิดจากพระเจ้า มีคนมากมายในพระคัมภีร์ที่มีความสามารถด้านดนตรี มีคนที่ประพันธ์เพลงและแต่งตั้งนักดนตรีเพื่อสรรเสริญพระเจ้า จากข้อมูลต่างๆ ทำให้คาดเดาได้ว่าบทเพลงน่าจะเป็นตัวกลางที่เหมาะสม

christian04
สมาชิกโบสถ์ที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลจอมอนิเตอร์สำหรับนักดนตรีและพิธีกรบนเวที กำลังทำหน้าที่ของตนเองเพื่อส่งสัญญาณให้ข้อมูลแก่คนบนเวที ควบคุมลำดับเวลาและจังหวะของกิจกรรมในแต่ละช่วงให้เกิดความถูกต้องต่อเนื่อง

ปัจจุบันเพลงนมัสการในไทยมีอยู่มากที่แปลเนื้อร้องมาจากภาษาต่างประเทศ การแปลเนื้อร้องมีข้อจำกัดด้านภาษา เช่น เรื่องระบบเสียงที่แตกต่างกันของแต่ละภาษา หรือวัฒนธรรมที่ยึดโยงเข้ากับความหมายของคำ ทำให้ทำนองและเนื้อร้องที่แปลมาไม่เข้ากัน ขาดความหมายที่ลึกซึ้ง จึงเกิดการประพันธ์เพลงนมัสการโดยคนไทยขึ้นใหม่ เพื่อให้ทำนองและเนื้อร้องสอดคล้องกัน และมีความหมายลึกซึ้งในแบบที่คนไทยเข้าใจ สันนิษฐานได้ว่าการประพันธ์ใหม่ทำให้บทเพลงนมัสการเป็นไปตามสมัยนิยม

สิ้นสุดเสียงกีตาร์ในโน้ตตัวสุดท้ายของบทเพลงนมัสการแล้ว ต่อไปเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในกลุ่มจะเลือกส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ แล้วนั่งพูดคุยหรือถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหา

ในมุมมองของคนภายนอก ก่อนที่จะได้ลองทำกิจกรรมนี้คิดว่าน่าจะเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อ แต่เมื่อได้ฟังที่ทุกคนในกลุ่มถกเถียงกัน ก็รู้สึกว่าเป็นการตีความพระคัมภีร์จากความเข้าใจและเป็นไปตามสมัยนิยม เป็นการตีความใหม่ที่พยายามจะไม่เอามุมมองในอดีตมาตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่มองจากมุมปัจจุบันว่ามีอะไรที่เรายังขาด อะไรที่เรายังทำได้ไม่ดี เรียนรู้และทำความเข้าใจพระคัมภีร์ไปพร้อมๆ กับคนในกลุ่ม

บทเรียนแรกของเราในกลุ่มแคร์คือ “ความกรุณา” ในผลพระวิญญาณ จิรัฏฐ์ สำราญสุข หรือยูตะ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแคร์เล่าว่า ความกรุณาในพระคัมภีร์อาจมีลักษณะแตกต่างออกไปจากความกรุณาที่เราคุ้นเคยกัน ความกรุณาในพระคัมภีร์อาจหมายถึงการให้อภัยของพระเจ้า และการดำเนินชีวิตด้วยความรักอย่างพระคริสต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรเลียนแบบ คำสอนในพระคัมภีร์ที่โด่งดังที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับความรักในศาสนาคริสต์คือ “ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” (มัทธิว 5 : 39) ซึ่งมีการตีความไปต่างๆ นานา ในที่นี้ตีความว่าคือการสอนให้เรารักและให้อภัยแม้กระทั่งศัตรูของเรา ขนาดพระเจ้ายังทรงพระกรุณาทั้งต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว เพราะฉะนั้นเราควรจะเลียนแบบพระเจ้าด้วยการกรุณาต่อคนที่ไม่ดีกับเราหรือคนชั่ว เพราะครั้งหนึ่งเราก็เป็นคนอกตัญญูและคนชั่วเช่นกัน แต่พระเจ้าก็ยังรักเรา และรักทุกคนเท่ากันหมด แม้ว่าโลกจะตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดีก็ตาม มันดูเป็นความกรุณาที่ทำได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเรามันทำให้รู้ว่าในช่วงเวลาที่เราทำอะไรไม่ดีหรือว่าทำอะไรผิดพลาดลงไป อย่างน้อยก็ยังมีพระเจ้าที่รักเรา กรุณาเรา ทำให้เราสามารถส่งต่อพลังเหล่านี้ให้กับคนอื่นได้ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเราก็ตาม

ณิชารีย์ อโศกานันท์ หรือณิ อีกหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแคร์บอกกับเราว่า “เราก็เหมือนน้ำที่อยู่ในแก้ว การให้ความรักกับคนอื่นก็เหมือนการเทน้ำของตัวเองลงในแก้วของคนอื่น ถ้าเราเทอย่างเดียววันหนึ่งน้ำของเราก็จะหมด แต่ว่าเราก็จะมีพระเจ้าที่คอยเติมน้ำหรือให้ความรักกับเราอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราไม่เหนื่อยในการมอบความรักให้กับคนอื่น” อาจเปรียบได้กับคนที่ได้รับความรักจากเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือใครก็ตาม เหมือนมีคนมาคอยเติมพลังใจให้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทำให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ สำหรับคริสเตียนนั้นถึงแม้ว่าในวันที่ไม่เหลือใครเลยสักคนบนโลกนี้ อย่างน้อยเขาก็ยังเชื่อว่าเขาได้รับความรักจากพระเจ้า มันคงเป็นหนึ่งในพลังใจที่ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เป็นบทเรียนที่พอได้ลองฟังดูแล้วก็ทำให้รู้สึกอยากมอบความรักและกำลังใจให้กับคนอื่นๆ รอบตัว

นอกเหนือจากการพูดคุยกันกลางสัปดาห์ ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ใครหลายคนน่าจะรู้กันก็คือการไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ การไปโบสถ์วันอาทิตย์มีกิจกรรมคล้ายกับการสามัคคีธรรม แต่ว่าเป็นงานใหญ่กว่ามาก ทุกคนจากทุกๆ กลุ่มที่สะดวกจะมาโบสถ์เพื่อร้องเพลงนมัสการพระเจ้า ฟังเทศน์ กินอาหารด้วยกัน และอาจมีกิจกรรมอื่นๆ ต่อในช่วงบ่าย

สถานที่แห่งนี้อบอวลไปด้วยความรัก

คงไม่เกินจริงเลยถ้าจะใช้ประโยคนี้มาบรรยายความรู้สึกของการไปโบสถ์ครั้งแรก

christian07
สมาชิกโบสถ์จับมือกันเพื่อให้กำลังใจ อวยพร ปรับทุกข์ ด้วยความจริงใจ แม้ไม่รู้จักกัน ช่วยสร้างความแน่นแฟ้นระหว่างสมาชิก

การไปโบสถ์ครั้งแรกได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทุกคน ทุกคนทักทายและพูดคุยกันอย่างสนิทสนม บรรยากาศที่ทุกคนคุยกันดูมีความสุขเหมือนได้เจอเพื่อน ได้มาพูดคุยกันอย่างออกรส โบสถ์ที่เราไปคือคริสตจักรสานสัมพันธ์กรุงเทพ ถนนพระรามที่ 9 ครั้งแรกที่เดินเข้าไปรู้สึกประหลาดใจมาก ข้างในเป็นห้องจัดแสดงขนาดใหญ่ที่จุคนได้ประมาณ 300-400 คน บุด้วยผนังและเพดานสีดำ มีเวทีที่ถูกแต่งเติมด้วยแสงสีตั้งอยู่ด้านหน้าสุด มีเครื่องดนตรีมากมายตั้งอยู่บนเวที ส่วนด้านหลังของห้องจัดแสดงมีสตาฟคอยควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงสี ตารางเวลากิจกรรม โบสถ์ของคริสเตียนไม่มีบาทหลวง ไม่มีรูปปั้นให้สักการะ ไม่ได้เป็นโบสถ์ที่เราคุ้นตากัน จังหวะที่ดนตรีเริ่มบรรเลงและนักร้องเริ่มร้องเพลงนมัสการพระเจ้า ผู้คนต่างใคร่ครวญกับบทเพลง เพราะแต่ละบทเพลงก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป เช่น สอนเกี่ยวกับการกระทำของพระเจ้า หรือใช้เพื่อโต้ตอบกับพระเจ้า เป็นต้น ซึ่งบนเวทีนั้นก็จะมีคนที่คอยร้องเพลงและเล่นดนตรีสดๆ แบบฟูลแบนด์ (full band) ถือว่าเป็นความแปลกใหม่อีกอย่างหนึ่งของการร้องเพลงนมัสการที่เราไม่เคยเห็น จึงเกิดความสงสัยว่ากลุ่มคนเหล่านี้มารวมตัวกันได้อย่างไร

อลิษา วรรณายก หรือแหวน หนึ่งในผู้ร้องนำนมัสการของโบสถ์ตอบคำถามเราว่า การจะเข้ามาเป็นนักร้องหรือนักดนตรีในวงที่เล่นเพลงนมัสการจะต้องผ่านการออดิชันเหมือนวงดนตรีทั่วๆ ไป แต่อาจต่างกันที่ต้องเป็นคนมีใจที่จะรับใช้พระเจ้า เพราะพระเจ้าจะใช้เราที่นำเสนอบทเพลงเป็นตัวกลาง ที่แหวนมาทำงานตรงนี้เพราะรู้สึกอยากตอบแทนพระเจ้า ไม่ใช่ทำเพราะชอบ เธอบอกว่าการทำอะไรสักอย่างด้วยความชอบ สักวันหนึ่งมันจะเกิดความเบื่อและอยากเลิกทำ แหวนมองว่าการนมัสการผ่านบทเพลงนี้เป็นช่วงเวลาที่เธอจะได้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น และการใช้เพลงในการสื่อสารกับพระเจ้าก็ไม่แตกต่างจากการที่มนุษย์เราใช้คำพูดในการสื่อสารกัน

christian06
กิจกรรมรับบริจาคเงินจากสมาชิกโบสถ์ตามศรัทธาเพื่อนำมาเป็นทุนทรัพย์ในการสร้างโบสถ์ของตัวเอง แทนการใช้พื้นที่เช่าของตึก KPN ในปัจจุบัน

ส่วน จริยา มุ่งวัฒนา หรืออีฟ อีกคนหนึ่งที่ร้องเพลงนำนมัสการพระเจ้าบอกว่าก่อนที่เธอจะเปลี่ยนมานับถือคริสต์เธอเคยเป็นนักร้องนักดนตรีมาก่อน มีวงดนตรีของตัวเอง เธอทำสิ่งนี้เพราะความชอบ เพราะความถนัดของเธอ ซึ่งเห็นได้จากบนเวทีช่วงที่เธอร้องนำนมัสการ อีฟบอกว่าช่วงเวลาที่ได้ขึ้นไปร้องเพลงนั้น เหมือนเธอได้รับความสงบ ความยินดี เหมือนได้รับกำลังบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นภายในจิตใจ แน่นอนว่าการมาทำงานตรงนี้ย่อมก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ด้วยระยะเวลาที่ต้องร้องเพลง การเตรียมงานต่างๆ แต่อย่างที่กล่าวไว้ว่า เธอรู้สึกได้รับพลังใจ การมาร้องเพลงนำนมัสการยังทำให้รู้สึกว่าอุปนิสัยของตัวเองบางอย่างเปลี่ยนไป

“เพราะการนมัสการพระเจ้าคือการใกล้ชิดกับพระเจ้าอีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าเราใกล้ชิดกับใครเราจะเป็นเหมือนคนนั้น”

เธอเลยรู้สึกว่าได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ใกล้กับพระลักษณะของพระเจ้ามากขึ้น เช่น อาจจะมีความชอบธรรมมากขึ้น มีความกรุณามากขึ้น เป็นต้น

และในสิ่งที่ทั้งคู่เห็นตรงกันคือ การที่มาทำวงดนตรีหรือร้องเพลงนมัสการพระเจ้ามันเหนื่อยกาย เพราะต้องหาเวลามาซ้อมอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ แถมในวันอาทิตย์ที่ต้องร้องเพลงก็ต้องตื่นแต่เช้ามาจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย การรับหน้าที่ตรงนี้ก็เหมือนมีงานเพิ่ม แต่ความรู้สึกที่จะไม่เกิดขึ้นแน่ๆ เวลาทำงานนี้คือ ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยจนอยากเลิกทำมัน เหมือนได้พลังบางอย่างทำให้อยากทำสิ่งนี้ต่อ หรือเวลามีเรื่องเหนื่อยล้า พวกเขาก็จะใช้ช่วงเวลาเหล่านี้จัดการกับความเหนื่อยล้าเหล่านั้นให้ผ่านพ้นไป ถือว่าการเล่นเพลงนมัสการเป็นการซัปพอร์ตทางใจของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

christian09
พื้นที่ดูแลเด็กๆ ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมในหอประชุม ถูกจัดไว้บนตึกชั้น 18 เพื่อให้เด็กปลอดภัยและได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน
christian10
ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก ระหว่างพ่อแม่ของพวกเขาเข้าร่วมพิธีทางศาสนา โดยมักจะเป็นการให้ความรู้ทางด้านศาสนาและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
christian11
เด็กๆ รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันโดยมีผู้ปกครองคอยดูแล ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับ

นอกจากโบสถ์ผู้ใหญ่แล้ว ที่นี่ยังมี “โบสถ์เด็ก” อันที่จริงไม่เชิงว่าเป็นโบสถ์เด็ก แต่เป็นที่ที่คุณพ่อคุณแม่ที่มาโบสถ์จะฝากลูกไว้ ซึ่งจะมีเด็กมากมายหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็กอนุบาล เด็กประถมฯ ต้น เด็กประถมฯ ปลาย ได้รับการจัดแบ่งออกเป็นห้องๆ แต่ละห้องมีคนคอยดูแล คนที่ดูแลก็จะคอยสอนเกี่ยวกับศาสนาหรือคำสอนในพระคัมภีร์ที่ไม่ยากมาก สอนให้เด็กเข้าใจและรู้จักพระเจ้า รู้จักพระคัมภีร์มากขึ้น ถือเป็นอีกกิจกรรมทางสังคมที่จะทำให้เด็กๆ ได้มารู้จักมาสนิทกัน เป็นสังคมนอกเหนือจากโรงเรียนและครอบครัวอีกสังคมหนึ่ง

โบสถ์เหมือนชุมชนใหญ่ๆ ที่แบ่งกลุ่มย่อยออกไปเป็นกลุ่มแคร์ โบสถ์เด็ก กลุ่มนักร้องนักดนตรี กลุ่มสตาฟที่คอยดูแลจัดการเบื้องหลัง ประสานงานต่างๆ และเท่าที่ได้ไปสัมผัสมาคนที่อยู่ในชุมชนเหล่านี้ก็สนิทสนมกัน และคอยช่วยเหลือกัน และคอยช่วยเหลือคนอื่นนอกชุมชนอยู่เสมอ ถือเป็นชุมชนที่อบอวลไปด้วยความรักและได้รับการสนับสนุนที่รู้สึกได้จริงๆ ไม่ใช่แค่คำที่พูดกันว่าศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความรัก