เรื่อง : ศดานันท์ เสมอวงษ์
ภาพ : พีรพัฒน์ รักแป้น

หูหนวก ≠ เป็นใบ้
หูหนวก ≠ ไม่มีภาษา
หูหนวก ≠ ไม่ต้องการมีวิชา
หูหนวก = คน

สมการในข้อสุดท้ายน่าจะเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายที่สุดในชีวิตของมนุษย์ เพราะเพียงแค่เข้าใจถึงความเป็นคนที่เท่ากัน ก็ไม่มีอะไรต้องคิดมากมายอีกต่อไป…

EDeaf : เครื่องช่วยฟังที่มีลมหายใจ
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทาง EDeaf ตัดสินใจที่จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลางในการพบปะพูดคุยถึงการทำงานเบื้องต้น เตรียมพร้อมก่อนการลงพื้นที่เวิร์กช็อปจริง

ชีวิตคนพิการในเมืองไทยทรหดแค่ไหนก็เห็นกันได้รอบตัว การโดนละเลยที่สะท้อนผ่านทางเท้าที่ผุพัง อาคารที่ไม่มีทางขึ้นสำหรับผู้พิการ สถานประกอบการที่ไม่เอื้อต่อการรับพวกเขาเข้าทำงาน และการรู้สึกสงสาร แต่ขาดความเข้าใจและให้โอกาส คือการมองข้ามปัญหาที่คนในสังคมกระทำไปโดยไร้เจตนา

คนพิการมีหลายประเภท แต่พิการแบบไหนกันที่ถ้ายืนอยู่ตรงหน้า เราจะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นคนพิการ

คนหูหนวก คือคำตอบของคำถามข้อนี้

ความคิดของใครบางคนอาจกำลังแย้งว่านี่คือข้อดีที่คนมองไม่ออกว่าพิการ แต่เบื้องหลังความเหมือนคนทั่วไปของคนกลุ่มนี้ คือความยากลำบากในการใช้ชีวิต

“เรามองว่าคนหนึ่งคนถ้าเขาบอกความต้องการของตัวเองกับคนอื่นได้ แสดงว่ามันง่าย แต่พอมาดูว่าเด็กหูหนวกจะบอกความต้องการของตัวเองเนี่ย ถ้าเราไม่เข้าใจภาษามือ แล้วเขาเขียนไม่ได้ เราก็จะไม่รู้เลย มันเป็นพิการที่มองไม่เห็น และด้วยความที่เขาดูเหมือนคนทั่วไป เขาก็ถูก push ไปข้างหลังเยอะ มากที่สุดแล้ว”

นี่คือคำตอบของนัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้ก่อตั้งองค์กร EDeaf: Education for the Deaf (เอ็ดเด็ฟ) เมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำงานร่วมกับผู้สูญเสียความสามารถทางการได้ยิน หรือที่โครงการของเขาเรียกว่าน้องหู

หนุ่มใหญ่ไฟแรงใบหน้าคมเข้มวัยเกือบเข้าเลข 3 ในเสื้อเชิ้ตสีเขียวพอดีตัวเล่าให้เราฟังถึงที่มาและการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อเด็กหูหนวก

แว่วเสียงความหลังสะท้อนหวังโลกเงียบ

ย้อนไปสมัยมัธยมฯ เมื่อปี 2551 นัทได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนที่ได้รับทุน YES ของโครงการ AFS เพื่อไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา โอกาสในครั้งนั้น หากจะเรียกว่าเป็นประตูที่เปิดโลกของเขาไปตลอดกาลก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากได้เห็นความเจริญหูเจริญตาในต่างแดนแล้ว สิ่งที่หยั่งรากและเติบโตในใจของเขาก็คือความเชื่อมั่นว่าโลกใบนี้ยังคงมีพื้นที่ให้กับความเท่าเทียมและความหลากหลาย ไม่ว่าคุณจะสมบูรณ์พร้อมทั้งรูปและฐานะ ยากดีมีจน เป็นผู้พิการ หรือมีความบกพร่องอื่นใดก็ตาม สังคมในประเทศก็พร้อมโอบรับความแตกต่างของคุณอย่างเต็มใจและเท่าเทียม

นัทเริ่มสนใจทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์และได้สะสมชั่วโมงบินในงานด้านนี้กับหลายๆ องค์กรในเวลาต่อมา รวมทั้งได้กลับเข้ามาช่วยงานบ้านหลังเก่าอย่าง AFS อีกครั้งเมื่อราว 4 ปีก่อน ในฐานะกรรมการผู้คัดเลือกนักเรียนแลกเปลี่ยนในทุนประเภทเดียวกันกับที่เขาเคยได้รับ แต่ความพิเศษในครั้งนี้คือ

นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กหูหนวกได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา

“เด็กไป AFS ปีหนึ่งเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย ภาษาอังกฤษได้ American sign ได้ คิดวิเคราะห์ได้ เขากลับมาบอกว่าอยากจะเป็นครูสอนภาษาเพื่อให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมกัน มันเกิดการหล่อหลอมจากการเรียน”

นัทกล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรและภาคภูมิใจในตัวน้องๆ ที่เขาได้สัมภาษณ์ ประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนของเด็กหูหนวกในครั้งนั้นคือเชื้อเพลิงให้ไฟแห่งหวังของนัทลุกโชนขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ชายหนุ่มเล่าต่อว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เขาเลือกที่จะทำงานกับคนหูหนวกเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดหลายๆ อย่างที่ทำให้คนทั่วไปคิดว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีอุปสรรคเหมือนคนพิการกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจว่าพวกเขาสามารถอ่านหนังสือและเข้าใจสารครบถ้วน อ่านปากได้ทุกคำ หรือเขียนหนังสือถูกต้องทั้งหมด ซึ่งความจริงแล้วมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะทำได้

อีกทั้งเหตุผลที่ไม่ค่อยมีคนทำกิจกรรมกับคนหูหนวกเป็นเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จะบอกว่าเป็นกลุ่มคนพิการที่มีค่าใช้จ่ายเยอะมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะต้องจ้างล่ามภาษามือเพื่อทำกิจกรรมเสมอ

จากความคุ้นเคยที่มีกับเด็กหูหนวก ประกอบกับการมองเห็นว่าโอกาสที่น้องๆ จะได้รับคือบัตรผ่านสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของพวกเขา รวมไปถึงความเป็นเอกลักษณ์ในการหยิบยกประเด็นหูหนวกที่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง นัทจึงตัดสินใจริเริ่มโครงการ EDeaf : Education for the Deaf ด้วยใจที่หวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพการศึกษาของน้องหูได้

เมื่อพาไปรำลึกถึงอดีตก่อนเอ็ดเด็ฟจะลืมตาดูโลกมาพอสมควร นัทก็เล่ากระบวนการทำงานและการเติบโตขององค์กรให้เราฟังต่อพร้อมกับจิบน้ำหวานเป็นพักๆ เพื่อเติมความชุ่มฉ่ำให้ลำคอที่บัดนี้ก็ยังไม่ได้พัก

การทำงานขององค์กรนั้นเป็นระบบและมีแผนการสำรองไว้ทุกครั้งเสมอ ทุกอย่างดูเรียบร้อยจนเรารู้สึกสงสัยว่าอะไรคือบ่อเกิดความปังของการวางแผนการทำงาน

เฉลย ประสบการณ์

ครั้งหนึ่งนัทเคยรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการของ Saturday School มูลนิธิการศึกษาที่มุ่งผลักดันความสามารถของเด็กๆ ผ่านการเรียนการสอนของครูอาสาสมัคร ประสบการณ์ครั้งนั้นจึงสอนให้รู้ว่าจะต้องเริ่มทำงานและสร้างทีมงานอย่างไร และนัทก็ได้นำบทเรียนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการปั้นโครงการสำหรับเด็กหูหนวก ที่มีจุดมุ่งหมายในการผลักดันการศึกษาเชิงนโยบายระยะยาว

edeaf03
นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้ก่อตั้ง EDeaf มีประสบการณ์ทำงานกับเพื่อนมนุษย์และองค์กรต่างๆ มาอย่างยาวนาน

เปิดโสตรับรู้ปัญหา ค้นคว้าแนวทางแก้ไข

กว่าเอ็ดเด็ฟจะเติบโตมาถึงซีซัน 3 หรือซีซันปัจจุบัน การทำงานในสองซีซันแรกมีความท้าทายประเดประดังเข้ามาตลอด โดยเฉพาะซีซันที่ 1 ถ้าเปรียบก็เหมือนการหักร้างถางพงที่รกชัฏตามกำลังที่มีเพื่อเตรียมกรุยทางต่อไปยังพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง

“ซีซันแรกเราเอา connection ตัวเองมาทำ เอาคนรู้ skill มาช่วย ฝ่าย consult ก็จะเป็นฝ่ายทำงานซะส่วนใหญ่ เพราะเราอยากปั้นโครงการนำร่อง ก็ดันๆ ไปก่อนให้โครงการมันเกิด จะเริ่มมาเป็นระบบตอนซีซัน 2”

แผนภาพต้นไม้องค์กรถูกวาดกลางอากาศผ่านคำพูดของหนุ่มใหญ่ เริ่มต้นที่ตัวเขาเองในฐานะผู้ก่อตั้ง ร่วมกับทีมที่ปรึกษาที่มีสมาชิกมาจากคนหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือผู้ที่เคยทำงานอาสาสมัคร มาช่วยกันวางแผนภาพรวมของงานและออกแบบฝ่ายย่อยอีกสามฝ่าย ได้แก่ Public Relation (PR), Recruit and Training (RT) และ Learning and Development (L&D)

หนุ่มมาดอบอุ่นเล่าต่อว่า แม้วัฒนธรรมของแต่ละฝ่ายจะต่างกัน แต่การทำงานนั้นเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และสืบต่อมาถึงขั้นตอนการรับสมัครครูอาสา หรือ Volunteer Teacher (VT) โดยฝ่าย L&D จะเป็นผู้ที่ได้รับโจทย์จากนัทว่าถ้าอยากได้ครูแบบนี้ พวกเขาจะต้องตั้งเกณฑ์แบบไหนมารับสมัคร เมื่อค้นคว้าหาอ่านงานวิจัยเสร็จก็จะลองทำแบบสอบถามมาเสนอ หากเกณฑ์นั้นเป็นอันใช้ได้ก็จะส่งต่อให้ฝ่าย RT นำไปใช้คัดเลือกครูอาสาโดยผ่านการประชาสัมพันธ์ของฝ่าย PR ต่อไป

นัทเสริมต่อว่าซีซัน 3 นี้มีฝ่ายงาน “Coordinator” (CO) เพิ่มมาอีกหนึ่งตำแหน่งเพื่อประสานงาน รวมทั้งจัดหาสถานที่แสดงผลงานของน้องหูซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายซีซันอันเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่เอ็ดเด็ฟจะได้กวักมือเชิญคนภายนอกให้เข้ามาชมความสามารถของน้องๆ

ความหลากหลายทะลักล้นทั้งโครงการ เพราะสมาชิกมีตั้งแต่เด็กมัธยมฯ นักสังคมสงเคราะห์ ครีเอทีฟรายการดัง ไปจนถึงที่ปรึกษาด้านบัญชี ทุกคนพร้อมนำสิ่งที่ตนเองถนัดมาแบ่งปันโดยไม่ถือหัวโขนหรือคาดสะพายตำแหน่งหน้าที่การงานมาประชันกันแต่อย่างใด

โครงการเปิด ทีมงานเป๊ะ แผนงานปั๊วะ แต่…ระหว่างทางก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการรับสมัครครูอาสานี้ ผู้สถาปนาเอ็ดเด็ฟเล่าย้อนกลับไป (อีกครั้ง) ให้เราฟังถึงช่วงเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการในซีซันแรก และแน่นอนตามพล็อตเรื่องแล้วต้องมีปัญหาการทำงาน ทั้งเรื่องเล็กเรื่องน้อยคอยกวนใจ และเรื่องใหญ่หนักกบาลจนต้องขอเอาหัวชนฝาบ้านถ่วงน้ำหนักไว้ก่อน ยกตัวอย่างเมื่อมีการเสนอชื่อโรงเรียนแห่งหนึ่ง

“ตอนที่พี่จากกระทรวงฯ ถามว่าจะทำโรงเรียนไหน เขาก็ไม่แนะนำที่นี่เลย เอ็ดเด็ฟนี่เรียกว่ากราบแทบเท้าเข้าไปเลยดีกว่า เรายอมทำขนาดนั้นเลย”

อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนอธิบายต่อว่า ที่โรงเรียนนำร่องแห่งนี้ยากต่อการทำงานนั้นเป็นเพราะว่าผู้อำนวยการล่องหนมาหลายปี พอตำแหน่งสูงสุดว่าง การจะสรรค์สร้างนโยบายหรือเนรมิตรโครงการใดๆ ก็เล่นเอาเหงื่อตกจนต้องพับเก็บไปหลายครั้ง

หาทำนะ คือคำแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวเรา ได้แต่คิดว่านี่เป็นการหาเรื่องใส่ตัวหรือเปล่า เพราะการเริ่มต้นโครงการที่แทบจะไม่เคยมีการนำร่องมาก่อนเลยนั้นก็สาหัส ซ้ำยังวิ่งเข้าหาโจทย์ที่ยากที่สุด

“ถ้าเริ่มที่ยากที่สุด อีก 20 โรงเรียนก็ทำได้” นัทกล่าวสั้นๆ และจบประโยคด้วยรอยยิ้มใจดีซิกเนเจอร์

แม้จะมีทีมงานจาก ศธ. ที่สามารถยื่นคำสั่งให้โรงเรียนเข้าร่วมได้ในทันที แต่นัทก็ปฏิเสธที่จะใช้ไม้แข็ง เขาหันไปใช้ความพยายาม เวลา และความใจเย็นเป็นเครื่องมือช่วยก่อร่างการยอมรับจากคณะครู จนในที่สุดเอ็ดเด็ฟซีซันแรกก็ได้เดบิวต์ที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ

รายวิชาที่หอบไปสอนนั้นไม่มีวิชาการ แต่เป็นวิชาสายทักษะแทน มีตั้งแต่วิชาทำสติกเกอร์ไลน์ เต้นและการแสดง ถ่ายภาพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้น้องหูมีอาชีพและเติมเต็มความฝันที่การศึกษาตามระบบให้ไม่ได้

ความรู้ ความสุข หัวเราะ โอกาส คือสิ่งที่ผุดมาในแต่ละคาบเรียนของทั้งซีซัน ทุกเช้าวันเสาร์ 9 โมงถึงเที่ยงวัน ยิงยาวตลอด 10 สัปดาห์

เสริมทักษะเพื่อสร้างอาชีพเป็นงานหลัก แต่การแก้ปัญหาการศึกษาระดับโครงสร้างและเข้ามาเป็นสื่อกลางที่ช่วยกระจายเสียงเงียบออกไปก็ไม่ใช่งานรอง

ฟังไปฟังมาเริ่มแยกไม่ออกว่าสรุปที่ออกมาคือลมปากนัทหรือหมัดฮุก เพราะหนุ่มใหญ่เล่าความล้มเหลวขั้นสูงสุดที่แทบไม่มีใครเคยรู้มาก่อนให้เราฟัง แถมไม่ได้มีเพียงหนึ่ง แต่มันคือกลุ่มก้อนอีนุงตุงนังที่แก้ไม่ออกเสียที

“หลักสูตรที่น้องเรียนแทบไม่ได้ (เรียน) อะไรเลย เรามารู้ตอนหลังว่าครูที่มาสอนคือครูที่จบครูปรกติในวิชาต่างๆ แล้วมาเรียนภาษามือเพิ่ม การ deliver ภาษามือในเชิงลึกมันเลยได้ระดับเบสิกมาก อย่างเด็กมัธยมฯ ก็จะได้การเรียนรู้ประมาณเด็กประถมฯ ทั่วไป”

แม้แจ้งทาง ศธ. ไปแล้ว แต่ก็เหมือนจะแก้อะไรไม่ได้มาก เพราะบุคลากรจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษที่ดูแลเด็กพิการนั้นมีไม่พอ หลักสูตรหะรูหะราที่ออกแบบมาให้ทัดเทียมกับเด็กทั่วไปจึงเป็นหมัน

ปัญหาเบี้ยบ้ายรายทางยังไม่หมด นอกจากปัญหาการศึกษา ครอบครัวก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก

บิดรมารดาจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ ปฏิสัมพันธ์กับลูกแทบเป็นศูนย์ บางบ้านก็ติดลบไปแล้ว พัฒนาการแก๊งหูจึงช้ากว่าที่ควร แถมพอมาอยู่ในโรงเรียนคนพิการล้วนก็เกาะกลุ่มกับเพื่อนหูหนวกด้วยกัน ปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปลดลง นำมาสู่ผลกระทบทางการศึกษา ซึ่งก็คือการเลียนแบบรุ่นพี่ เด็กๆ ไม่มีไอดอลหรือแรงบันดาลใจ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเอ็ดเด็ฟจึงอยากให้โลกของคนหูดีกับคนหูหนวกมาบรรจบกัน

“ช่วงหนึ่งที่เด็กอยากเรียนถ่ายภาพก็แห่กันไป อาชีพที่อยากเป็นก็ตามรุ่นพี่ เห็นเลยว่าตัวแบบของหูหนวกค่อนข้างน้อย เอ็ดเด็ฟก็เลยเอาครูอาสาที่มีอาชีพหลากหลายมาเป็น role model เพื่อให้มันเกิดการคุยกันว่าพี่เขาทำอาชีพอะไร ทำให้น้องได้เปิดบ้าง”

นัทเสริมต่อว่าจริงๆ มันก็ดีแหละที่สามารถแยกเด็กพิการออกมาเรียนได้ตามความต้องการเฉพาะ แต่ปัญหาคือคุณภาพต่างหากที่ไปไม่รอด เขาก็เลยคิดว่าจะดีกว่าหรือเปล่าถ้าเด็กปรกติได้เรียนร่วมกับเด็กพิการ เพราะเด็กเองก็จะได้เข้าใจความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะเกื้อกูลกันในที่สุด

ความคิดนี้จึงนำมาสู่ซีซันที่ 3 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก สถานศึกษาสังกัดมูลนิธิคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย ที่มีการเรียนร่วมระหว่างกลุ่มหูดีและแก๊งหูหนวก

การเตรียมความพร้อมสำหรับดอนบอสโกเริ่มขึ้นผ่านทาง Zoom ครูอาสาและทีมงานได้พบกันครั้งแรกผ่านจอสี่เหลี่ยมขนาดต่างกันไป การพูดคุยดำเนินไปเรื่อยๆ ตามแบบฉบับประชุมออนไลน์ ส่วนของการประชุมที่ดูจะได้ซีนมากที่สุดก็คือข้อควรปฏิบัติต่อน้องหู ไม่ว่าจะเป็นการไม่เรียกน้องว่าคนใบ้ ข้อจำกัดด้านการเขียนอ่าน รวมไปถึงวิธีการเรียนที่เน้นการเลียนแบบและดูภาพเป็นหลัก ทุกคนตั้งอกตั้งใจฟัง บางคนก็เอาแชตที่เคยคุยกับน้องหูมาแบ่งปันให้ทีมงานคนอื่นๆ ได้ดูและเข้าใจภาษาไทยเขียนของเด็กหูหนวกมากขึ้น

พรุ่งนี้แล้วสอบ กำลังใจสู้จ้ะ เพราะอ่านก็สอบอยู่

เข้าใจละ น่าจะเป็นคำที่กระเด้งขึ้นมาในหัวเราและอาจจะอีกหลายๆ หัวหลังจากเห็นประโยคข้างต้น ถ้าเคยเข้าใจผิด ก็ได้เข้าใจใหม่แล้ว ว่าเด็กหูหนวกไม่ได้เขียนภาษาไทยได้แข็งแรง ทั้งไวยากรณ์ภาษามือซึ่งเป็นภาษาแรกก็ทำให้ภาษาเขียนเรียงสลับไป จะเปรียบก็คงไม่ต่างจากเราๆ ที่บางครั้งก็อาจจะไม่เข้าใจคำศัพท์หรือรูปประโยคของภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษทั้งหมด การอ่านจึงไม่ใช่วิธีการเรียนหลัก หากแต่เป็นการมองและทำตามเสียมากกว่า

จบช่วงทำความเข้าใจเด็กหูหนวก 101 สิ่งต่อมาที่ดูจะดึงความ (ต้อง) สนใจอยู่ไม่น้อยก็คือ Child Protection หรือเอกสารคุ้มครองเด็ก

“เราบังคับทุกคนเซ็น จากที่เราทำยูเอ็นมาก็รู้สึกว่ามันเป็นการป้องกันเด็กและอาสา ครอบคลุมตั้งแต่ media release การไม่อยู่กับน้องสองต่อสอง คือเวลาทำงานอาสาเราไม่รู้หรอกใครเป็นใคร ไม่ใช่ไม่ไว้ใจ แต่บางทีขอบเขตมันไม่มี ก็อยากให้เซ็นตรงนี้เพื่อป้องกันไว้ก่อน ป้องกันน้องด้วย ทีมงาน ครูอาสาด้วย” เรานึกถึงครั้งแรกที่ได้คุยกับนัทเรื่องนี้

ทางทีมงานได้อธิบายเอกสารที่เป็นเหมือนเครื่องมือรับประกันความปลอดภัยนี้ให้กับสมาชิกทุกคนฟังในลักษณะคล้ายกัน

นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ถ้าถามว่าเอ็ดเด็ฟต่างจากองค์กรอื่นอย่างไร เราก็ตอบได้ทันทีว่าคือการพยายามยกระดับมาตรฐานการทำงานทุกอย่างให้ขึ้นแล้วขึ้นอีกไปพร้อมๆ กับการทำงานสอน ซึ่งตัวนัทเองก็มีจุดมุ่งหมายที่อยากจะให้งานอาสาทุกที่เป็นแบบนี้

สามชั่วโมงผ่านไปไวแบบไม่ได้โกหก เมื่อประชุมเลิก สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือการเตรียมพร้อมและรอวัน training day หรือวันทดลองสอนที่นั่งรออยู่ที่ดอนบอสโกในเสาร์ถัดไป

edeaf04
กิจกรรมในการพบกันครั้งแรกของครูอาสาและนักเรียนจะเน้นไปที่การละลายพฤติกรรม เพื่อให้ครูอาสาได้ปรับตัวเข้ากับวิธีการสื่อสารที่แปลกแตกต่างไปจากที่ตนคุ้นชิน
edeaf07
การรับข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้การเรียนรู้ด้วยภาพกลายเป็นลักษณะเด่นของคนหูหนวก

อุ่นเครื่องเพื่อความปัง

เช้าวันเสาร์อากาศเย็นสบาย ลมพัดโชยแบบแกล้งๆ พอให้ได้แอบเย็นบ้าง ครูอาสาและทีมงานมากันพร้อมแล้วที่ตึก Bosco เพื่อลงทะเบียนและรับป้ายชื่อ พิธีเปิดแบบสบายๆ ในห้องประชุมแอร์เย็นฉ่ำโดยการกล่าวต้อนรับจากนัท เริ่มและจบในไม่กี่นาที ต่อคิวด้วยการอบรมการสอนจากวิทยากรด้านการศึกษา ตามติดด้วยการนำเสนอแผนการสอนของแต่ละวิชา พ่วงด้วยการให้คำแนะนำจากทีมงานเพื่อให้พร้อมสำหรับการเรียนการสอนจริงที่จะเกิดขึ้นในเสาร์ถัดไป บางวิชาผ่านฉลุย บางวิชาต้องฮึบอีกหน่อย

ในตอนบ่าย มิสหนิง หรืออาจารย์อณุภา คงปราโมทย์ หัวหน้างานการศึกษาพิเศษ หญิงร่างเล็กพร้อมเปียเท่ติดหนังศีรษะ ในชุดสบายๆ ตามฉบับวันหยุด เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบ ได้พาน้องหู 21 ชีวิตมาเข้าร่วมการทดลองสอน

แก๊งหูพากันเข้าไปนั่งรอในห้องประชุมเดิมกับที่ใช้ช่วงเช้า เสียงต้อนรับจากพิธีกรแผดขึ้น พร้อมกับล่ามที่วาดภาษามือกลางอากาศอยู่ข้างๆ น้องหูได้กระจายกันไปเข้ากลุ่มโดยวิธีสุ่มเพื่อพบกับครูอาสาและพูดคุยกันผ่านการช่วยเหลือของอาสาสมัครบางคนที่พอจะรู้ภาษามือบ้าง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นอยู่ไม่ขาดราวกับเป็นเพลงประกอบหนังชีวิตที่ฉายอยู่ตลอดเวลา

เมื่อได้เวลาปล่อยคิวช่วงแนะนำตัว ครูอาสาดูตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะกำลังจะมีชื่อภาษามือของตัวเองเป็นครั้งแรก และคนที่จะมาตัดสายสะดือพาเข้าวงการภาษามือก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นน้องหูที่ช่วยคิดชื่อให้ตามฉบับเจ้าของภาษา บางคนก็ได้ชื่อจากเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างผมหน้าม้า บางคนที่ชื่อยากก็จะได้ชื่อเป็นอักษรนำหน้าแทน

หัวเราะและเมาท์มอยทั้งมีและไร้เสียงฟุ้งตลบไปทั่วห้อง การพูดยังจำเป็นอยู่ เพราะแม้ชื่อกิจกรรมจะเป็นไปเพื่อเด็กหูหนวก แต่ก็มีเด็กหูตึง รวมไปถึงเด็ก LD (learning disability) ที่เป็นผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หูหนวก มาเรียนร่วมด้วย ความสุขทะลักจนเอนดอร์ฟินเบือนหน้าหนี เพราะหมดแรงจะหลั่ง

จบการอุ่นเครื่อง คาบทดลองสอนก็เข้ามาฉวยพื้นที่ น้องๆ ได้เข้าร่วมเรียนทั้งห้าวิชา ได้แก่ เต้นและการแสดง ถ่ายภาพ ออกแบบขั้นพื้นฐาน ตัดต่อวิดีโอ และทำอาหาร บางวิชาก็ผ่านไปได้อย่างคล่องแคล่ว บางวิชาก็ปาดเหงื่อหน่อย เพราะเนื้อหาค่อนข้างนามธรรม เลยต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่ท้ายที่สุดแต่ละวิชาก็ผ่านไปได้

สิ้นสุดการทดลองเรียน น้องหูก็ได้ให้คำแนะนำกับพี่อาสา เช่น อยากให้เนื้อหาเป็นภาพมากกว่า บางวิชาพี่ก็ออกมาเยอะเกิน ไม่รู้ว่าต้องฟังคนไหนสื่อสาร อาสาสมัครแต่ละวิชาจดข้อติชมกันไปอย่างมันมือ ทั้งสีหน้าก็ตัดสลับเป็นโหมดจริงจังเมื่อรู้ว่าครั้งต่อไปจะต้องดีกว่านี้

edeaf08
หลังการเรียนการสอนเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่โครงการและครูอาสาจะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาหรือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา
edeaf09
เมื่อมีวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง ผลงานการเต้นของคนหูหนวกก็สามารถแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ และเสียงก็จะไม่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่เกินตัวอีกต่อไป

เจอกันวันจริง

เสาร์แรกแห่งการเรียนรู้เดินทางมาถึงที่วิทยาลัย อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าเปิดรับความพร้อมและความสนุกสนานที่รออยู่ นาฬิกาบอกเวลา 9 โมงตรง น้องหูแยกย้ายกันเข้าห้องเรียนที่ตัวเองลงชื่อไว้ บางวิชาน้องๆ มาครบตรงเวลาพร้อมยิ้มเล็กๆ ที่เก็บไม่มิดบอกความตื่นเต้นต่อการเรียนรูปแบบใหม่ แต่ร่างกายก็อาจงอแงบ้างผ่านการหาวหวอดที่ปรากฏเป็นครั้งคราว บางห้องอาจจะยังมาไม่ครบ เพราะวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นธรรมดาที่อาจจะต้องยื้อยุดฉุดกระชากเอาตัวเองออกจากเตียงนานเสียหน่อย

การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสบายๆ แต่ละวิชาเริ่มต้นด้วยการแนะนำชื่อเสียงเรียงนามที่ต่างกันไป ทั้งลุกแนะนำตัวด้วยภาษามือ หรือเล่นเกมจำชื่อก็มี เด็กๆ และครูอาสาแลกเปลี่ยนภาษามือกันอย่างสนุกสนาน ครูอาสาบางคนยังเก้ๆ กังๆ เพราะยังใช้ภาษาใหม่ไม่คล่อง แต่ก็ได้สายตาและเสียงปรบมือของน้องหูช่วยเจือจางความเขินไว้ได้ เสียงปรบมือที่เกิดจากการเขย่ามือทั้งสองข้างราวเขย่าพู่เชียร์นั้นเงียบสนิท แต่ก็ส่งแรงใจได้ไม่แพ้เสียงปรบมือ แปะๆ ที่เราเคยได้ยินมา

เมื่อเริ่มคุ้นชินและความเขินอายค่อยๆ เบาบางลง การเรียนการสอนก็เริ่มออกตัว

คาบเรียนวิชาเต้นและการแสดงเริ่มต้นด้วยการเปิดคลิปประเภทการแสดงแต่ละแบบให้น้องๆ ดูเพื่อปูพื้นฐานสำหรับการเรียนในสัปดาห์ต่อๆ ไป ระหว่างเรียนจะมีครูล่ามจากทางวิทยาลัยคอยช่วยเหลือด้านภาษามือเมื่อเนื้อหาซับซ้อน แต่ส่วนใหญ่แล้วน้องหูที่เข้าใจก่อนเพื่อนจะช่วยอธิบายให้เพื่อนที่เหลือฟังโดยอัตโนมัติจนเป็นสัญชาตญาณไปแล้ว จากนั้นจึงจะสอนคำศัพท์ภาษามือให้ครูอาสาอีกที

ฟากคาบเรียนถ่ายภาพไม่ได้ดื่มดำกับทฤษฎีมาก แต่ให้ลงมือกดชัตเตอร์จริงเพื่อกระตุ้นเลือดช่างภาพเลย เด็กๆ ได้รับโจทย์ให้เก็บภาพสิ่งที่ตัวเองชอบในโรงเรียนมาส่ง ทุกคนย้ายตัวออกจากห้องแล้วเดินไปตามบริเวณโรงเรียน ส่วนใหญ่จะมากองกันที่บริเวณสนามหญ้าใหญ่และโดมยักษ์ แต่ละคนบรรจงงัดฝีมือการถ่ายรูปและโชว์แพสชันอาชีพในฝันกันอย่างเต็มสูบ ด้านคุณครูอาสาก็คอยประกบน้องๆ แบบตัวต่อตัวดุจมือขวาเพื่อให้แน่ใจว่าถ้าน้องต้องการความช่วยเหลือ จะสามารถช่วยแนะแนวได้ทันที

โป๊งเป๊ง หมุนเคว้งกลางอากาศส่งเสียงดังมาจากไกลๆ เดาไม่ยากว่าเป็นเสียงเครื่องครัววิ่งชนกันไปมา ทั้งยังเคล้ากับเสียงหัวเราะที่รวมกันเป็นบัตรเชิญให้แขกอย่างเราเข้าไปมีส่วนร่วม

ก่อนจะหอบตัวเองไปถึงที่หมาย สิ่งที่นำมาก่อนหน้านั้นแล้วคือกลิ่นหอมเนยที่ส่งเสียง “ฉ่า ฉ่า” แข่งกับเสียงขำอยู่ในกระทะ แต่เนยเจ้ากรรมก็ต้องสิโรราบให้ความบันเทิงในวิชานี้อยู่ดี

วิธีปีนบันไดสู่ดาวด้านการทำอาหารจะเริ่มจากการให้น้องหูดูก่อนว่าอาหารที่จะทำนั้นรูปลักษณ์เป็นอย่างไร อย่างวันนี้เป็นคิวแซนด์วิช ก็จะได้ดูคลิปสาธิต ต่อมาด้วยครูอาสาวาดลวดลายปลายจวักให้ดูจริง

คาบเรียนนี้จะมีหัวเราะก๊ากออกมาวิ่งเล่นมากเป็นพิเศษ เพราะน้องๆ จะต้องคอยอธิบายคำศัพท์ภาษามือให้ครูอาสา ซึ่งเรื่องฮาคงไม่ระเบิดออกมาถ้าเกิดแต่ละคนบอกตรงกัน อย่างคำว่า “เนย” ก็กลายเป็นว่ามีหลากหลายกระบวนท่าให้ออกลวดลาย บางคนทำท่าปาดมือไปมา บางคนทำมือเป็นก้อน ทำให้เราได้ เข้าใจละ อีกรอบ ว่าภาษามือเป็นการตกลงกันเอง บางคำใช้กันทั่วไป บางคำเปลี่ยนไปตามแวดล้อมและสังคม ความซับซ้อนจึงไม่ใช่ของแปลก และเมื่อเถียงกันมากเข้าก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งยอมพร้อมทำหน้าละเหี่ยใจและปัดมือแบบ เออๆ เอาเถอะ กับความดึงดันของอีกฝ่าย เสียงหัวเราะจึงออกมาหิวแสงอยู่บ่อยๆ

ส่วนด้านวิชากราฟิกและวิชาวิดีโอที่อยู่บนอาคาร Mary จะต่างจากพวก เพราะส่วนใหญ่น้องหูจะนั่งกันที่หน้าจอคอมพ์ ฟังเนื้อหาและปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งห้อง เริ่มด้วยการเรียนออกแบบเบื้องต้นง่ายๆ พอให้คุ้นโปรแกรม ส่วนคาบวิดีโอก็เริ่มสอนตั้งแต่วิธีถ่ายทำ มุมกล้องที่ใช้ เพื่อนำไปสร้างเป็นเรื่องราวในคาบเรียนถัดไป

ความท้าทายของทั้งสองวิชานี้คือคำศัพท์แสงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อย่างในคาบวิดีโอมีคำว่า “storyboard” ครูอาสาก็ต้องแปลเป็นไทยที่ให้ใจง่าย แล้วจึงกำหนดเป็นภาษามือว่า “กระดาษเล่าเรื่อง”

เมื่อการเรียนหมดคิว น้องหูจากทุกห้องจะมารวมกันที่โดมเพื่อร่วมเติมพุงด้วยอาหารกลางวันจากผู้สนับสนุนใจดี แต่ความพิเศษคือ ปรกติแล้วเราคงได้เป็นพยานว่าร้านอาหารจะมาส่งเสบียงแล้วจากไป แต่สำหรับเอ็ดเด็ฟ สปอนเซอร์ทุกเจ้าจะต้องเข้ามาดูน้องหูเรียนและทำกิจกรรม เพราะจุดประสงค์นั้นไม่ใช่แค่ให้ท้องอิ่ม แต่ต้องการให้เหล่าผู้ใหญ่ได้เข้ามาเห็นเองว่าเด็กๆ มีความสามารถ เพื่อที่ว่าในภายหลังหากมีองค์กรหรือใครก็ตามที่อยากร่วมงานกับน้องหู จะได้เห็นว่าช่องทางนั้นกรุยมาให้พร้อมแล้ว และเอ็ดเด็ฟก็ยินดีอย่างที่สุดที่จะประสานงานให้ ความพิถีพิถันจึงยืนเคียงข้างการคัดสปอนเซอร์เสมอ

ไม่ไกลศูนย์บรรเทาความหิว หญิงร่างเล็กที่เราคุ้นเคยกำลังยืนมองเรื่องราวตรงหน้าและยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ มิสหนิงคอยสังเกตการณ์อยู่ตลอด เธอจะคอยปั่นจักรยานจากตึกนู้นมาตึกนี้เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย และคอยเอาใจช่วยลูกๆ ของเธอตามฐานะแม่คนที่ 2 ที่เรามอบให้อย่างลับๆ

“ทุกโครงการที่เข้ามาติดต่อกับเรา แล้วเรามองว่าเด็กได้ประโยชน์ก็จะรับหมดค่ะ”

เสียงใสปรากฏเมื่อถูกถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะร่วมงานกับเอ็ดเด็ฟ

เธอเล่าว่าคาบเรียนในวิทยาลัยที่มีจำกัดทำให้นักเรียนของเธอได้เรียนรู้น้อย ไม่ได้เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร แต่หลักสูตรเอ็ดเด็ฟนั้นเป็นแบบระยะสั้นและเป้าหมายชัดเจนว่าปลายอุโมงค์เด็กจะได้เห็นอะไร จึงทำให้พวกเขามีจุดมุ่งหมาย ทั้งยังได้ความรู้มาใช้ร่วมกับวิชาการพิมพ์ของทางวิทยาลัย อย่างวิชาตัดต่อวิดีโอก็สามารถนำมาทำโครงการจบการศึกษาได้

เสาร์สุขสันต์ผ่านไปเรื่อยๆ การเรียนการสอนเข้มข้นขึ้นทุกสัปดาห์ ปรอทความท้าทายของแต่ละวิชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และดูไม่มีทีท่าว่าจะยอมหยุด และตอนนี้โครงการเอ็ดเด็ฟก็ได้เดินทางมาเกือบครึ่งซีซันแล้ว

หลังจากเดินเข้าออกตัวตึกอยู่นาน จุดสุดท้ายที่เรียกให้เรามานั่งพักตากเหงื่อคือคาบเรียนทำอาหาร ด้วยพื้นที่เปิด และลมพัดเบาๆ กอปรกับกลิ่นอาหารที่กวักนิ้วเรียกจมูก วิชานี้จึงเป็นเหมือนที่ให้เราสงบขาและปล่อยใจไปกับกลิ่นอาหารที่เร้าให้กระเพาะส่งเสียงขอความเมตตาให้เติมอาหารให้มันเสียที กลิ่นผงกะหรี่คลุ้งไปทั่วในคาบเรียนทำอาหาร เมนูข้าวผัดสับปะรดที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนทำให้คิ้วน้องหูและครูอาสาผูกโบแบบไม่ทันรู้ตัว

“เมนูนี้น้องโหวตกันเองค่ะ วัตถุดิบจะไม่หนีกจากสัปดาห์ก่อนมาก จะค่อยๆ เพิ่มความยากเข้าไปค่ะ” หนึ่งในครูอาสาคาบทำอาหารบอกกับเราด้วยเสียงสดใสพลางหันไปกำกับลูกศิษย์

ฟิรดาวส์ เจ๊ะปูต๊ะ หรือดาว ครูอาสาวัย 22 ปี ในผ้าคลุมฮิญาบสีดำปักลูกปัดเล่นแสงหลากสีพร้อมผ้ากันเปื้อน หนึ่งในทีมสอนวิชาทำอาหาร หันมาเล่าที่มาของข้าวผัดสับปะรดให้เราฟัง เธอบอกว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ได้หัวเราะอยู่ตลอด ไม่ทันขาดคำเธอก็หันไปหัวเราะเพื่อนอาสาที่กำลังขำอยู่กับน้องหูอีกคนหนึ่ง

ดาวเล่าให้ฟังว่าเธอตัดสินใจมาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยหวังว่าจะได้หิ้วประสบการณ์การทำอาหารร่วมกับเด็กหูหนวกไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เธอสังกัดอยู่

การทำงานในสัปดาห์แรกสำหรับดาวนั้นออกจะยากอยู่ (ไม่) หน่อย เพราะเธอยังไม่คุ้นกับภาษาใหม่ แต่ก็ได้ทีมงาน มิสหนิง และครูท่านอื่นๆ ช่วยเหลืออยู่ไม่ขาด คุณครูจะคอยบอกว่าพื้นฐานเด็กเป็นอย่างไร ช้าเร็วแค่ไหน ทางทีมงานก็ช่วยแบกเต็มที่ น้องหูเองก็พยายามสุดแรงเกิด สมาธิที่มีก็นิ่งแบบไม่มีอะไรมากั้น

“ตอนนั้นเป็นคลาสทอด แล้วทีนี้เราจะให้รีบพลิกไข่ เราก็ถามว่าพลิกเลยไหม น้องก็ไม่พลิก เราเลยถามน้องอีกว่าพลิกไหม สุดท้ายน้องหันมาทำท่าลูบขึ้นลงที่หน้าอก บอกให้พี่ใจเย็นๆ พี่อย่ารีบ เราก็แบบเคๆ พี่จะใจเย็นๆ พี่จะไม่พูดแล้ว (หัวเราะดัง)” เธอเล่าให้ฟังเมื่อครั้งกลัวไข่จะไหม้พร้อมคำรามเสียงหัวเราะ

สาวใต้ตาคมยังบอกกับเราอีกว่าในฐานะคนที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ทำให้เธอได้เห็นว่าการใช้ชีวิตกับคนหูหนวกนั้นไม่ได้ยากเย็นอย่างที่จินตนาการของเธอเคยบอกไว้

“เราสามารถเข้าใจชีวิตของคนหูหนวกได้ เลยรู้สึกว่าถ้าใครสามารถสละเวลามาเข้าร่วมได้ก็ควรจะมานะถ้ามีโอกาส จะได้เห็นว่ามันไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายเสมอ (หัวเราะอีกครั้ง) ต้องเรียนรู้กันและกัน”

โป๊ง เป๊ง ป๊อก โป๊ก ใกล้ๆ กันนั้นมีเสียงกระบวยตีกระทะดังสนั่นหวั่นไหวมาจากน้องหูกลุ่มหนึ่งแย่งความสนใจ เด็กชายร่างใหญ่ในเสื้อสีเทา กางเกงวอร์ม พร้อมผ้ากันเปื้อนและหมวกคุลมผมกำลังเคาะข้าวที่ติดกระบวยให้เด้งลงไปอยู่ในกระทะแต่โดยดี ตะหลิวที่วางข้างๆ นอนแน่นิ่งไม่ไหวติง เพราะใหญ่เกินจะเอามาใช้

แกร๊ก มือข้างหนึ่งปิดเตาแก๊ส ตัวหมุน 180 องศา แล้วย่ำเท้าไปคว้าช้อนในตะกร้ามาชิมข้าวผัดสีผงกะหรี่

นิ้วโป้งอีกข้างที่ว่างของเด็กหนุ่มชูขึ้นรัวๆ ส่งสัญญาณชมผลงานอาหารของกลุ่มตัวว่าโอชะเหลือขนาด เพื่อนๆ ร่วมทีมต่างรีบไปหยิบช้อนแล้วเดินมาชิม ครูอาสาไม่น้อยหน้า จ้วงข้าวผัดสับปะรดกันทันควัน

“หืมมม กระทะนี้อร่อยอะ พี่มาชิมเร็ว”

กระทะของน้องคิวแอนด์เดอะแก๊งอีกสองคนโดดเด่นจนครูอาสาตะโกนเรียกครูผู้นำสอนหลักประจำสัปดาห์ให้มาชิม ทุกคนลงความเห็นเดียวกันว่าข้าวผัดกระทะนี้อร่อยและใกล้เคียงต้นฉบับยิ่ง

คิวกวักมือเรียกเราที่ยืนอมยิ้มซ่อนหิว แล้วทำท่าตักข้าวเข้าปากเป็นการเชื้อเชิญ ทั้งยังไม่ลืมที่จะยกนิ้วโป้งทำท่าเยี่ยมอีกครั้งเพื่อการันตีว่าอร่อยจริงๆ ราวกับพูดว่า พี่มากินสิ อร่อยมากนะครับ

ข้าวผัดสีเหลืองหอมกลิ่นผงกะหรี่ เนื้อไก่เต็มคำ และสับปะรดปริมาณกำลังพอดี พร้อมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เรียงตัวสวย รสชาติหวานมันเค็มลงตัว เมล็ดข้าวไม่เละ แม้จะผ่านแรงผัดพายุหมุนจากเด็กหนุ่ม

ทุกครั้งที่ครูอาสาหรือเพื่อนกลุ่มอื่นเข้ามาชิม เราเห็นสายตาที่เฝ้ารอคำตอบอย่างไม่กะพริบพร้อมภาษามือที่ตามมาว่า อร่อยไหม จากเด็กชายแบบอัตโนมัติราวเซตโปรแกรมไว้

คำตอบที่ได้ทำเขายิ้มร่าจนฟันเกือบครบ 32 ซี่ได้ออกมาปะทะลมทั้งหมด เด็กหนุ่มกอดอกภูมิใจกับอาหารตรงหน้าราวกับว่านี่คืออาหารติดดาวมิชลินสาขาดอนบอสโก

เมื่อเสร็จคาบก็ถึงเวลาอาหารกลางวันพอดี ข้าวผัดเชฟหูและอาหารจากสปอนเซอร์ก็ถูกเขมือบจนเรียบ

ยากไหม เราเขียนใส่กระดาษถามคิว

ง่ายๆ เด็กหนุ่มเขียนตอบแล้วส่งให้เราอย่างไว พร้อมยักคิ้วหลิ่วตาทีท่าอหังการ หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือขิง

คิว-สิรดนัย แปลกประจิตร นักเรียนชั้น ปวช. 1 หรือดาวเด่นคาบทำอาหารที่เราแอบมอบมงให้ในใจ มักคอยช่วยเหลือเพื่อนๆ ตลอดเวลาการเรียน เขาดูเอาจริงเอาจังกับทุกเมนู และคาดหวังเสมอว่าอาหารของเขาจะออกมาอร่อยและทำให้คนทานอิ่มความสุข ด้วยท่าทางเป็นมิตรและออกจะกวนไม่น้อย ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปสนทนากับเขาโดยมีมิสหนิงเป็นล่ามภาษามือให้

เด็กหนุ่มในชุดลำลองที่ถอดผ้ากันเปื้อนและหมวกออกแล้วกระแอมหัวเราะออกมาทีหนึ่ง ก่อนจะเอามือมาแตะที่หัวใจแล้วขยับมือเข้าออกรัวๆ เป็นสัญญาณว่าใจเต้น

“ผมกลัวจะตอบไม่ได้ ตื่นเต้น” มิสหนิงล่าม

สบายๆ เราเขียนแล้วส่งให้คิว

เขาพยักหน้ารับ

“ผมรู้สึกว่าสนุกครับ มีครูอาสาคอยช่วย ได้ประสบการณ์จากการทำอาหารเยอะเลยครับ” มิสหนิงล่ามคำตอบให้เมื่อเราถามคิวว่าวิชาที่เรียนเป็นอย่างไรบ้าง

คิวอธิบายต่อว่าวิชาที่เรียนนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ได้ครูอาสาช่วยบอก ก็ทำให้เขาเข้าใจและสามารถทำได้ อีกสิ่งที่คิวดีใจและเล่าไปยิ้มไปก็คือ ถ้าเขาทำไม่อร่อยในครั้งแรกก็เอาใหม่ แต่ครั้งที่ 2 จะต้องทำให้อร่อย มันก็ทำให้เขามีกำลังใจว่าถึงจะทำผิดพลาด โอกาสก็ยังมีให้เขาได้แก้ตัว

“ครูอะ ช่วยสอนสอน แล้วเราอะ ให้อะไร คิวช่วยอะไร แลกเปลี่ยนอะ” มิสหนิงส่งเสียงและขยับปากช้าๆ พร้อมภาษามือที่ทำไปควบคู่กันเพื่อล่ามคำถามว่า นอกจากเป็นผู้รับแล้ว คิวได้ให้อะไรกับครูอาสาบ้าง

คิวยิ้มไม่พูด ส่ายหน้าไปมา หัวเราะแล้วหัวเราะอีกเพราะเขินที่ถูกเพื่อนๆ มอง มิสหนิงบอกว่าคิวตื่นเต้นมาก เขาไม่เคยถูกเลือกให้สัมภาษณ์มาก่อน

“มั่นใจสิ ต้องหน้าหนาไว้ก่อน” มิสหนิงพูดกับเด็กหนุ่มอย่างเป็นกันเอง ครูและศิษย์หัวเราะกันคิกคัก

คิวสูดหายใจลึกจนล้นปอด

ผมสงบสติอารมณ์ตัวเองได้ครับ ผมจะพยายามตอบครับ ก็มีช่วยสอนภาษามือด้วยครับ คิวตอบพลางสู้กับหัวใจที่เต้นเร็วแบบไม่ไว้หน้าร่างกาย เขายิ้มอย่างเหนียมอายขัดกับทีท่าที่ขิงเราไว้ก่อนหน้านี้

เด็กหนุ่มเล่าต่อว่าไม่อยากให้โครงการจบ อยากจะให้มีอีกเรื่อยๆ เพราะรุ่นน้องต่อไปก็จะได้เรียนด้วย ตัวเขาเองก็บอกว่าอยากจะเรียนจนฝีมือฉกาจและสามารถเป็นเชฟได้เลย

มิสหนิงเสริมว่าแม้วิชาทำอาหารจะไม่สามารถนำไปประยุกต์กับสิ่งที่เรียนได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ รักและเลือกจะทำ อีกทั้งเด็กที่ทำงานพาร์ตไทม์หรือขายของออนไลน์ ก็สามารถเอาวิชาที่ได้ไปทำอาหารขาย หรือบางคนที่เคยทำงานในร้านอาหารแล้วได้ทำแค่ตำแหน่งทำความสะอาดก็จะมีความมั่นใจในการทำอาหารมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากโอกาสเดินทางมาปรากฏตัว พวกเขาก็อาจจะได้ทำงานในตำแหน่งที่หลากหลายกว่าเดิม

“ขอบคุณนะครับ พี่ๆ มีน้ำใจมาช่วยสอน พี่ๆ ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้ม คุยก็ดีครับ เริ่มแรกภาษามือไม่เข้าใจ แต่พอหลังๆ เราจะสื่อสารภาษามือกันเข้าใจมากขึ้น” มิสหนิงช่วยล่ามสิ่งที่คิวอยากบอกกับครูอาสา

ชอบอะไร เราเขียนแล้วยื่นให้คิว

เขายังคงยิ้มและมือไม้สั่นเล็กๆ คิวตื่นเต้นราวดาราหน้าใหม่โดนสื่อรุมสัมภาษณ์

ชอบสนุก ช่วยน้ำใจ ช่วยเพื่อนกัน คิวเขียน

มิสหนิงถามให้คิวช่วยขยายความเมื่อเห็นเราทำหน้างง เธอบอกว่าคิวรู้สึกสนุกมาก พี่ๆ มีน้ำใจมาช่วยสอนเขา วิชาที่เรียนก็เรียนเป็นกลุ่มกับเพื่อน เลยได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ผลงานตรงตามโจทย์

ก่อนจบการสัมภาษณ์เขย่าขวัญสั่นประสาท คิวแบมือขอกระดาษเราไปเขียนแล้วยื่นกลับมา

ให้ตั้งใจทำได้ดี ขอบคุณครับเด็กชายพนมมือขอบคุณแล้ววิ่งไปเล่นกับเพื่อนกลางโดม เป็นการทิ้งท้ายคำคมกระแทกจิต คำคมที่เราคงได้ยินกันมาหลายต่อหลายครั้ง ถ้าตั้งใจทำอะไร เราก็จะทำได้ดี

มิสหนิงหันมาบอกว่าเธอรู้สึกขอบคุณเอ็ดเด็ฟที่เข้ามาพูดคุยขอทำโครงการในวันนั้น บรรดาลูกนอกไส้ของเธอจึงได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่ภาระของสังคม

“เราก็อยากให้สังคมปฏิบัติกับเขาเหมือนคนทั่วไปเลยค่ะ เพียงแค่ยืดหยุ่นบางเรื่อง อย่างการสื่อสาร บางคนบอกว่าคุยไม่รู้เรื่อง แต่คุณยังไม่ได้ลองสื่อสารกับเขาเลย ส่วนเรื่องของการทำงาน อยากให้เขาเท่ากับคนทั่วไป ไม่ได้อยากให้สงสาร เขาอาจจะด้อยกว่าคนอื่นในแง่การสื่อสาร แต่ถ้าปรับเปลี่ยนให้เหมาะเขาก็สามารถทำงานได้ พอทำแล้วมีความสุขเขาก็จะเต็มที่”

ครูสาวบอกกับเราพลางทอดสายตามองไปที่ลูกศิษย์ของเธอที่อยู่รอบโดมหลังใหญ่ เธอไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษให้เด็กๆ แต่เธอต้องการพื้นที่ให้ศักยภาพในตัวพวกเขาได้ฉายออกมา ต้องการให้เด็กหูหนวกหลุดพ้นจากสถานภาพพลเมืองชั้นสอง และหวังว่าสังคมจะเลิกหยิบยื่นให้แต่ความสงสารหรือข้าวของบริจาค แล้วทิ้งพวกเขาไว้ด้านหลังแบบที่เป็นมาราวกับว่าเขาเกิดมาเพื่อขอเพียงเท่านั้น

edeaf11
edeaf13

เครื่องช่วยฟัง (กันหน่อยเถอะ)

จากเราที่ได้เป็นสักขีพยานในแต่ละเหตุการณ์ แผนงานที่นัทวางไว้ การสอนเด็กหู การสร้างแรงบันดาลใจ การทำโครงการเพื่อแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เพื่อมาให้อย่างเดียว ก็เป็นไปตามที่เขาหวังไว้ตั้งแต่แรก อาจมีปัญหาโผล่มาให้ตกใจเล่นบ้างกรุบกริบ ตอนนี้ก็คงต้องมาเฝ้ารอผลของการทำงานที่จะสะท้อนผ่านฝีมือของน้องหูในวันแสดงผลงานที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

เราเชื่ออยู่แล้วว่าเด็กพวกนี้มีความสามารถเหมือนคนทั่วไป แล้วเขาก็จะทำงานออกมาได้ดี หรือถ้าหากจะผิดพลาดมันก็ผิดพลาดเพราะเขาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพราะหูไม่ได้ยิน

ในท้ายที่สุด ความสำเร็จคงไม่ใช่ว่าน้องหูที่ดอนบอสโกหรือที่โรงเรียนโสตฯ มีสกิลล์นอกห้องเรียนเท่านั้น แต่คงเป็นการปูทางไปให้เด็กหูทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ โอกาสในการเรียนวิชาพิเศษ โอกาสในการได้รับการศึกษาที่สวยทั้งเปลือกนอกและภายใน โอกาสที่จะได้รับมากกว่าความสงสาร และโอกาสที่วันหนึ่งจะได้ขึ้นมารันวงการเหล่านี้ด้วยตัวเขาเอง เพื่อคนกลุ่มเดียวกันและคนทั่วไป

เครื่องช่วยฟังแบบเอ็ดเด็ฟยังเป็นของหายากหรือ “แรร์ไอเท็ม” ที่มีไม่กี่ชิ้นในประเทศไทย แล้วเครื่องช่วยฟังอันเดียวจะฟังทั้งประเทศก็คงไม่ไหว หรือต่อให้มีเครื่องช่วยฟังอีกเป็นร้อยอันก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาจะคลี่คลาย เพราะถ้าเสียงที่ได้ยินส่งไปไม่ถึงผู้รับสาร การสื่อสารก็ล้มเหลว จุดประสงค์ของโครงการเอ็ดเด็ฟจึงไม่ใช่แค่การทำงานของคนกลุ่มเดียว หากแต่เป็นตัวกลางให้คนทั้งประเทศลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับคนหูหนวกในฐานะพลเมืองของสังคมอย่างเท่าเทียม

การแก้ไขปัญหาอีนุงตุงนังยืดเยื้อยาวนานด้านการศึกษาในแบบเอ็ดเด็ฟที่มุ่งเพิ่มความรู้และรายงานข้อบกพร่องให้กระทรวงศึกษาธิการรับทราบ เพื่อเป็นแนวทางออกแบบนโยบายการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนหูหนวก จึงไม่สามารถทำได้โดยพวกเขาเพียงกลุ่มเดียว แต่สังคมและชุมชนรอบข้างต้องทุ่มเทไปด้วยกัน ครอบครัวต้องเข้าใจลูกหลาน ครูอาจารย์ต้องปรับการสอนให้เข้ากับเด็ก ภาคเอกชนต้องให้การสนับสนุน และภาครัฐต้องสะสางปัญหาตั้งแต่ต้นตอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชายขอบให้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมให้ได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดมามีรูปลักษณ์แบบใด พื้นฐานสถานะทางสังคมแบบไหน ก็ต้องได้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและตามเงื่อนไขของชีวิตที่มี ดังที่ EDeaf : Education for the Deaf ได้ประกาศกร้าวไว้ในวัตถุประสงค์ของโครงการว่า

เด็กไทยได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือในการพัฒนาศักยภาพตนเองโดยปราศจากข้อจำกัดทางร่างกาย เศรษฐกิจ และสังคม และได้หลักสูตรในการพัฒนาทักษะของนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

ให้ความต้องการที่ไม่มีเสียงได้กระจายไปทั่วทั้งประเทศ และไม่ได้จบแค่ที่ดอนบอสโก