ธนพร จิตรจำลอง : เรื่อง
มาวิน พงศ์ประยูร : ภาพ

ชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์
หลังจากเจ้าของบ้านตัดสินใจขายปลาในบ่อ เพื่อนบ้านต่างเข้ามาลงแขกช่วยกันจับปลา สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งในชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ ที่พร้อมช่วยเหลือกัน

การเริ่มต้นเป็นบททดสอบแรกสำหรับการทำตามเป้าหมายในชีวิต น้อยคนนักที่จะโยนหินไปในเส้นทางที่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก อย่างไรก็ตามถ้ามีเป้าหมายและความมุ่งมั่นย่อมก้าวผ่านบททดสอบนี้ไปได้ ทว่าระหว่างทางที่เดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับเป็นก้อนหินขรุขระและทางลูกรังที่คอยขัดขวางให้ล้มลง ไม่มีทางเลยที่จะบรรลุเป้าหมายโดยปราศจากเพื่อนร่วมทางที่คอยพยุงกันไปจนถึงปลายทางของความสำเร็จ

การมองเห็นคุณค่าของตนเองและสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อนำเอาจุดเด่นมาใช้อย่างเหมาะสมจนเกิดการพัฒนาอย่างไม่รู้จบ เป็นบทเรียนที่ฉันได้เรียนรู้จาก “วิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์”

ชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ : ชุมชนที่สร้างโอกาสจากความร่วมมือในชุมชน
มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ ศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนและโรงเรียนสอนศาสนาของเด็กๆ

มัสยิด

ฉันนั่งแท็กซี่มายังซอยพุทธบูชา 36 ในเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์ มัสยิดชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ก่อด้วยปูน บริเวณใต้ถุนถูกเทด้วยปูนกลายเป็นโถงขนาดกว้าง เมื่อขึ้นบันไดเข้ามายังตัวมัสยิดจะพบกับห้องใหญ่สองห้องที่พื้นที่ปูด้วยไม้ ซึ่งห้องแรกทางขวามือเป็นห้องสำหรับการละหมาดที่จะทำวันละห้าเวลาเป็นกิจวัตรของชาวมุสลิม ส่วนห้องที่ 2 ทางซ้ายมือเป็นห้องเรียนสำหรับเยาวชนที่จะมาเรียนศาสนาหรือวิชาฟิกฮฺและภาษาอาหรับ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-17.00 น. และวันเสาร์ ตั้งแต่ 09.00-13.00 น.

“หน้าที่อิหม่ามจะต้องจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับมัสยิด และดูแลทุกคนในชุมชนที่เป็นมุสลิม เพราะอิหม่ามแปลว่าผู้นำ” ยงยุทธ หวังนิมิน อิหม่ามกล่าว ขณะที่พาฉันเดินดูรอบๆ มัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์

ยงยุทธเล่าว่ามัสยิดนี้ก่อตั้งมานานแล้ว โดยพ่อและแม่ของเขา เมื่อก่อนไม่ได้ชื่อดารุ้ลอิบาดะฮ์ ชาวบ้านเรียกว่าสุเหร่านิ่มเจริญ แต่เมื่อไปจดทะเบียนมัสยิดจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “ดารุ้ลอิบาดะฮ์” แปลว่าสถานที่ทำนมัสการต่อพระเจ้า

สุวรรณี หวังนิมิน ภรรยาของอิหม่ามเสริมว่า มัสยิดแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 โดย ซูอิ๊บ นิ่มเจริญ พ่อสามีของเธอ ส่วนแม่สามี นางฟ้า นิ่มเจริญ และญาติ เป็นผู้บริจาคที่ดิน นอกจากนี้มัสยิดยังได้รับความช่วยเหลือจากคนในชุมชนเป็นแรงงานในการก่อสร้าง ทำให้มัสยิดแห่งนี้เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชุมชน และทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละหมาด บรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ จัดการเรียนการสอนแก่เยาวชนทั้งที่นับถืออิสลามและไม่นับถืออิสลาม จัดงานแต่งงานที่ทุกคนในชุมชนจะช่วยกันทำอาหารและเป็นสักขีพยาน ณ ที่แห่งนี้ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์

daruibada03
เมื่อถึงเวลาละหมาด ผู้คนในชุมชนเดินทางมามัสยิดเพื่อประกอบศาสนกิจร่วมกันเด็กๆ

จุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชน

ฉันเดินทางจากมัสยิดมายังวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ตามทางของสะพานด้านขวามือมาสุดปลายสะพาน จนพบกับป้ายทางเข้าของวิสาหกิจชุมชนในอีกฝั่งของถนน และเดินเข้ามาอีกเล็กน้อยตามสะพานที่มีกะลามะพร้าวทาสีแขวนไว้ และตลอดทางมีดงปรือที่ทอดยาวไปจนสุดสายตา

แดดอ่อนๆ กับสายลมอันแผ่วเบาพัดเอาความเหนื่อยล้าของฉันไปจนหมด กลิ่นของใบไม้และสายน้ำกำลังฟื้นฟูจิตใจของฉันให้เต็มอิ่มอีกครั้ง

ฉันเดินตรงเข้ามาภายในวิสาหกิจชุมชนที่ถูกมุงด้วยจากและพื้นที่ปูด้วยแผ่นไม้ มีห้องปิดสำหรับการทำโลชั่นนมแพะและสบู่นมแพะ และอีกหนึ่งห้องเปิดสำหรับการละหมาด ส่วนด้านหลังของวิสาหกิจฯ จะพบกับร่องสวน ฟาร์มแพะขนาดเล็ก และบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน

“ตอนจัดตั้งกลุ่มแรกๆ วิสาหกิจฯ อยู่ที่มัสยิด เพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ตอนปี 2559 ตอนย้ายมาอยู่แรกๆ มีแค่ห้องเล็กๆ ห้องเดียว กับร่องสวน หลังคาก็ยังไม่มี ใช้ความร่มของต้นมะขามเทศและต้นมะพร้าว และอยู่ได้แค่ครึ่งวัน ส่วนที่ประชุมก็เอาเต็นท์มากางตรงทางข้างๆ คลอง” กุสุมา อินสมะพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์เล่าถึงสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ก่อนที่จะสามารถนำพาวิสาหกิจชุมชนมาถึง ณ จุดนี้ได้

กุสุมาเล่าต่ออีกว่า ในตอนแรกก็หาอะไรทำไปเรื่อยๆ ทั้งเห็ดอบเนย น้ำยาล้างจาน น้ำสมุนไพร พอมีงานเกษตรแฟร์ที่สวนธนฯ ก็เริ่มไปออกบูท ระยะเวลาของงานมีถึง 7 วัน แต่เธอกลับขายของได้เพียง 1,200 บาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไปตั้งแต่เช้าถึง 4 ทุ่ม แม้ว่าเธอจะทุ่มสุดตัว แต่กลับคว้าน้ำเหลว

ไม่นานก็มีหน่วยงานเข้ามาสอนทำขนมไทย กุสุมาจึงเลือกทำปั้นสิบไส้ปลาช่อน เพราะปลาช่อนเป็นปลาที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้ประหยัดต้นทุนลง แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้ แม้ว่าไส้ปลาจะอร่อย แต่แป้งก็ยังแข็งไป เพราะยังไม่เชี่ยวชาญ ทำให้พอขายได้บ้าง แต่ยังไม่พอที่จะสร้างรายได้

ต่อมามีเจ้าหน้าที่มาสอนทำทองม้วนกะทิ แต่กุสุมาคิดว่าทองม้วนมีอยู่ทุกที่ทั่วไป มือใหม่อย่างเธอคงไม่สามารถไปแข่งอะไรกับคนที่ขายมาก่อนได้ เธอจึงเริ่มมองหาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนที่สามารถนำมาใช้แทนกะทิ อย่างนมแพะที่มีอยู่มากในชุมชน เมื่อทดลองทำครั้งแรก ทองม้วนที่ทอดออกมาร้อนๆ กรอบอร่อย แต่พอผ่านไปไม่นานกลับเหนียวยิ่งกว่าหนังสติ๊ก อย่างไรก็ตามกุสุมายังคงไม่หมดหวังและเก็บความคิดนี้ไว้

daruibada04
สมนึก บุญอ่อน เจ้าของสวนผลไม้ดีใจที่ได้เห็นเพื่อนเก่าและแขกมาเยี่ยม
ระหว่างกำลังเก็บเกี่ยวผลมะม่วง แบ่งผลิตผลบางส่วนให้ติดไม้ติดมือกลับไป

เติบโตได้เพราะสถานศึกษา

ความรู้และประสบการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการเติบโตของวิสาหกิจแห่งนี้ที่มีโครงการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกจนถึงปัจจุบัน

เริ่มจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาช่วยปรับปรุงสูตรทองม้วนนมแพะที่เคยล้มเหลว กลายเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาตั้งบูทขายสินค้าภายในงานของมหาวิทยาลัย เสมือนกับตลาดจำลองให้วิสาหกิจเห็นถึงผลตอบรับของลูกค้า

เมื่อวิสาหกิจชุมชนประสบความสำเร็จกับผลิตภัณฑ์แรกจากนมแพะ ทำให้กุสุมาเริ่มมองเห็นถึงการแปรรูปนมแพะไปในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับความต้องการของลูกค้าที่เรียกร้องเข้ามา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างสบู่นมแพะและโลชั่นนมแพะมาตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งรูปลักษณ์ และตั้งชื่อผลิตภัณฑ์เป็น Caramia (คารามีอา) รวมถึงการขอจดแจ้งเลขทะเบียน อย. ให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ

กุสุมาประสบความสำเร็จกับผลิตภัณฑ์จากแพะเป็นอย่างมากและแปรรูปออกมาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้นมแพะ วุ้นว่านหางจระเข้ในนมแพะ และเนื้อแพะแดดเดียว แต่เธอเชื่อว่าเอกลักษณ์ของชุมชนเธอไม่ได้มีดีแค่ “แพะ” เธอจึงหันกลับมามอง “ปลาบูดู” ที่อยู่คู่กับทุ่งครุยาวนานกว่า 130 ปี และกำลังจะสูญหายไปจากทุ่งครุ เนื่องจากขั้นตอนในการทำกินเวลานาน และตอนนี้แต่ละบ้านมีตู้เย็นกันเกือบทุกบ้าน การทำปลาบูดูจึงไม่เป็นที่นิยมเหมือนเมื่อก่อน กระทั่ง ฟาตีมะ แสงสว่าง นำปลาบูดูกลับมาทำอีกครั้ง

ฟาตีมะเล่าว่า การทำปลาบูดูของเธอไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสูตรที่ได้มาจากทวด เคล็ดลับคือการล้างปลาให้สะอาดที่สุด โดยเธอจะใช้ช้อนควักเส้นเสือดและกระดูกออกจนหมดทีละตัวๆ ก่อนนำมาหมักเกลือไว้ 3 คืน คลุกกับข้าวคั่ว แล้วอัดไหให้แน่นเป็นเวลา 1 เดือน รสชาติจะออกเปรี้ยวคล้ายกับปลาส้ม กินได้กับหลายเมนู ไม่ว่าจะนำมาทอดหรือทำหลนกินกับผักสด

เริ่มแรกที่นำมาขายกุสุมายังไม่ได้แปรรูป แค่นำมาซีลสุญญากาศไว้เท่านั้น ต่อมามหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ได้เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ กุสุมาจึงเสนอให้ทางมหาวิทยาลัยทำให้มันแห้ง เก็บได้นาน และสามารถเปิดแล้วกินได้เลย เพื่อความสะดวกและเข้ากับชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง ทำให้กลายเป็น “ปลาบูดูทรงเครื่อง” ที่นำมาปลาบูดูมาทอดจนกรอบคลุกเคล้ากับสมุนไพรอย่างพริกแห้งและใบมะกรูด อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระปุกขนาดพกพาง่าย ซึ่งเพิ่งเปิดตัวสินค้าเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา

daruibada05
‘สมเจต นุชมี ดูแลเอาใจใส่แพะในฟาร์มอรุณ-นุชมี’

ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

ชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์นับเป็นชุมชนชานเมือง มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบโล่งและแหล่งน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 100 ปี นิยมเลี้ยงแพะ วัว ประมงน้ำจืด และทำไร่ทำสวน แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจากสถานที่ต่างๆ เริ่มทยอยเข้ามาอยู่อาศัยจนเกิดการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรบริเวณโดยรอบของชุมชน แต่หมู่บ้านจัดสรรเหล่านั้นกลับสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ด้วยการปล่อยน้ำเสียที่ไม่บำบัดลงคลอง ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพและการทำเกษตรกลายเป็นอาชีพรอง

ฮาซัน อับดุลบิลามัน หนึ่งในคนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เขาเล่าว่าเมื่อก่อนที่นี่เคยเป็นสวนส้มบางมดที่ขึ้นชื่อว่าหวานอร่อย แต่ตอนนี้ได้หายไป เนื่องจากปลูกยาก และใบร่วงก่อนที่จะออกผล ส่วนเขาที่ทำประมงเลี้ยงปลา ปลาที่เลี้ยงเป็นปลาสวาย ก็โตได้ไม่เต็มที่ เพราะน้ำกร่อย และขายได้ราคาไม่สูง จึงต้องไปจับปลาในคลองมาปล่อยลงบ่อแทน

นอกจากปัญหาน้ำเค็มก็ยังมีปัญหาสัตว์รบกวน อย่าง “นาก” ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เลี้ยง ล่า ค้า ไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านทำได้แค่ไล่มันไป แต่ด้วยจำนวนของมันมีมากเกินไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก มาลงบ่อครั้งหนึ่งมากันมากกว่า 10 ตัว

จารุวรรณ แสงอรุณ พี่สาวของกุสุมาและแกนหลักของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เล่าถึงปัญหาเรื่องนากที่เธอได้มีโอกาสเข้าประชุมกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมประมงและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งนากอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ จารุวรรณจึงเสนอปัญหานี้ในที่ประชุม ในตอนแรกกรมอุทยานฯ พยายามเบี่ยงความรับผิดชอบและไล่ปัญหาต่างๆ นานา อย่าง “สมมุติว่านากมาหกตัว แล้วนากกินปลาตัวต่อตัวหกตัว มื้อเช้าหกตัว มื้อกลางวันหกตัว มันจะหมดบ่อได้อย่างไร” “เกษตรกรอยู่ในบ่อ 24 ชั่วโมงไหมถึงได้มารู้ว่านากกินปลาหมดบ่อ”

จารุวรรณลังเลใจอยู่นานว่าจะค้านดีหรือไม่ แต่ถ้าหากจารุวรรณไม่ค้านในวันนี้มันก็จะกลายเป็นมติไป ทำให้เธอลุกขึ้นค้านด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เกษตรกรไม่สามารถอยู่ในบ่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะทำเกษตรเป็นอาชีพรอง และความจริงที่ว่านากไม่ได้กินปลาตัวต่อตัว แต่นากที่มีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม สามารถกินปลาได้ถึง 18 กิโลกรัม ทำให้ท้ายที่สุดกรมอุทยานฯ ต้องส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานพันท้ายนรสิงห์เข้ามาทยอยจับนากออกไป

ส่วนปัญหาเรื่องน้ำเสียที่ปล่อยมาจากหมู่บ้านจัดสรร เธอได้เดินเรื่องไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ และปีนี้น้ำเค็มจัดมีค่า pH สูงถึง 11 และเค็มนาน เกษตรกรจึงสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย มีหน่วยงานมาบอกว่าให้เลิกเลี้ยงปลาแล้วถมที่ปลูกพืชแทน แต่เกษตรกรที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินทุนพอที่จะถมที่ อีกทั้งเกษตรกรบางคนยังเช่าที่ดิน ถ้าถมไปทำเกษตรก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่เลี้ยงปลา ปรือจะขึ้นจนเป็นที่รกร้าง

“อย่างน้อยถ้าเลี้ยงปลามันก็ยังเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ถ้าผักบุ้ง ผักกระเฉด ปลูกไม่ได้เพราะน้ำเค็ม ก็ยังมีปลาที่เราเลี้ยงไว้ ถึงแม้จะไม่ได้มากมายอะไร”

เมื่อจารุวรรณกล่าวแบบนั้น ฉันจึงเข้าใจได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจของจารุวรรณไม่ใช่แค่ประโยชน์ที่ได้รับ แต่เป็นโอกาสที่เลือกได้

daruibada06
ตั้งแต่เช้ามืดของวันจับปลา ชาวบ้านตื่นมาโดยไม่รีรอที่จะลงไปขุดทางน้ำเพื่อให้น้ำระบายออกจากบ่อเลี้ยงปลาไปที่เครื่องสูบน้ำได้ง่ายขึ้น

กัมปงในดงปรือ

กัมปงในดงปรือ เป็นความร่วมมือกันของคนในชุมชน ที่จะนำเสนอความเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตริมคลองให้แก่นักท่องเที่ยวมาพบประสบการณ์ใหม่ที่พบได้ยากในกรุงเทพฯ และไม่จำเป็นต้องไปถึงต่างจังหวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของเกษตรกรชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ภูมิใจ

“กัมปงในดงปรือ” ชื่อนี้ได้มาจากเด็กๆ ในชุมชนช่วยกันคิด เพื่อตั้งเป็นชื่องานวันเด็กในปี 2561 โดยคำว่า “กัมปง” เป็นภาษมลายู แปลว่าหมู่บ้าน เมื่อนำมารวมกันจะหมายถึงหมู่บ้านที่มีต้นปรือเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมของกัมปงในดงปรือจะจัดในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ทุกๆ ต้นเดือน โดยจะใช้เรือในการสัญจร ผ่านคลองอ้อมที่ในอดีต เป็นลำรางที่เกษตรกรเอาน้ำเข้านาได้เท่านั้น ต่อมากำนันหวัง อินสมะพันธ์ ได้ใช้งบประมาณส่วนตัวจ้างชาวบ้าน ช่างโรง ขุดลอกคลองด้วยมือไปถึงคลองสะพานควาย เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้คลองนี้สัญจรทางเรือได้

กิจกรรมของกัมปงฯ แบ่งออกเป็นสามฐานหลัก ได้แก่ ฐานที่ 1 ที่วิสาหกิจชุมชนฯ มีกิจกรรมทำอาหารพื้นบ้านและขนมไทย เพนต์กะลา สานตะกร้า สานปลาตะเพียน ฐานที่ 2 ที่ฟาร์มอรุณ-นุชมี มีกิจกรรมสอนรีดนมแพะและให้อาหารแพะและปลา และฐานสุดท้าย ที่สวนมะพร้าวน้ำหอม-สวนมะม่วง และสวนส้มบางมด

ฉันได้ตามรอยไปยังสถานที่ของแต่ละฐาน เริ่มต้นที่ฟาร์มอรุณ-นุชมี ฟาร์มแห่งแรกของทุ่งครุที่มีความเก่าแก่กว่า 80 ปี เป็นธุรกิจที่ สมเจต นุชมี สืบทอดมาจากพ่อของเขา ที่นี่มีลานกลางแจ้งขนาดใหญ่ ยังไม่รวมกับคอกแพะประมาณสามถึงสี่คอก กุสุมาเล่าว่านมแพะส่วนหนึ่งของที่นี่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ถึงที่นี่จะเป็นฟาร์มแพะ แต่ไม่ได้มีแค่แพะ ยังมีเล้าไก่แจ้ บ่อปลา และนกหลากหลายสายพันธุ์ เช่น นกยูง นกขุนทอง นกแก้ว ทำให้การมาที่นี่ได้เพลิดเพลินไปกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย

ต่อมาเป็นสวนมะพร้าวและมะม่วงที่จำเป็นต้องนั่งเรือไป ซึ่ง ฮีม ใบตานี อาสาเป็นคนขับเรือให้และคอยให้ความรู้คล้ายมัคคุเทศก์ตลอดทาง แม้อาชีพหลักของฮีมจะทำปลาแดดเดียว แต่พอว่างจากงานเมื่อไรจะมาช่วยขับเรือให้กับนักท่องเที่ยวของกัมปง

ตลอดทางก่อนเข้ามายังสวนมะพร้าวทั้งซ้ายและขวาล้วนเป็นสวนมะพร้าว กระทั่งฉันเดินจนมาถึงสวนมะพร้าวและสวนมะม่วงของ สมนึก บุญอ่อน ที่สืบทอดมาจากพ่อของเขามีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ที่เขาเป็นคนดูแลสวนเองทั้งหมด สมนึกเล่าว่าเขาเริ่มทำสวนมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งตอนนี้อายุ 58 ปี เมื่อก่อนสวนนี้เคยเป็นสวนส้มบางมด แต่ว่าน้ำเริ่มเค็ม ส้มปลูกไม่งาม จึงหันไปปลูกมะพร้าวแทน เพราะมะพร้าวทนได้ทุกสภาพดิน

สมนึกดูแลร่องน้ำในสวนด้วยการเลี้ยงปลาตะเพียน เพราะมันไม่กัดแอ่งและช่วยกินตะไคร่น้ำ ส่วนศัตรูมะพร้าวอย่างด้วง เขาได้แบ่งออกเป็นสองช่วงอายุของต้นมะพร้าว สำหรับมะพร้าวต้นเล็กๆ จะเป็นด้วงแรดที่จะมากัดเจาะ พอต้นโตขึ้นมาหน่อยจะเป็นด้วงไฟ จะมาเจาะเวลาตกลูก จึงต้องคอยฉีดยาเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ต้นมะพร้าวเสียหายได้ ด้วยความเอาใจใส่และประสบการณ์กว่า 50 ปี ทำให้มะพร้าวของสมนึกเติบโตได้อย่างดี

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจะได้นั่งเรือในร่องน้ำชมความงามของต้นมะพร้าว พร้อมกับดื่มน้ำมะพร้าวที่บรรจุอยู่ในขวดพลาสติกขนาดพอดีกิน

ส่วนสวนมะม่วง สมนึกปลูกตามคันดินรอบสวนมะพร้าว เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้และมะม่วงนวลจันทร์ ปลูกมาตั้งแต่ยังเป็นสวนส้ม ซึ่งต้นมะม่วงที่เก่าแก่ที่สุดของที่นี่มีอายุกว่า 80 ปี เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ขนาดใหญ่ ประมาณสองคนโอบ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักถ่ายรูปกับต้นนี้

“พอผมเข้ามาช่วยท่องเที่ยวชุมชน ผมก็ได้ขายของด้วย ก็ช่วยๆ กัน” สมนึกกล่าว

ระหว่างทางกลับไปยังวิสาหกิจฯ ได้แล่นเรือผ่านสวนส้มบางมดที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชนนี้ ฮีมเล่าว่าสวนส้มนี้เป็นของ สุชาติ แสงสว่าง หรือผู้ใหญ่ชาติ มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ตอนนี้หลานของสุชาติเป็นคนดูแลทั้งหมด ณ ตอนนี้อายุของสวนส้มประมาณ 40-50 ปีแล้ว แม้ว่าจะเจออุปสรรคน้ำเค็มและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของสวนส้ม แต่เจ้าของสวนแห่งนี้ยังต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้

ส้มบางมดถือเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเขตทุ่งครุ ทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนฯ จึงไม่อยู่เฉยกับการอนุรักษ์พันธุ์ส้มบางมด กุสุมาเล่าว่าที่กัมปงฯ ได้ทำโครงการอนุรักษ์มา 3 ปีแล้ว ในรูปแบบที่ไม่ใช่ไร่ส้ม แต่นำมาใส่กระถางแทน อีกทั้งส้มก็สามารถมีลูกและกินได้ และนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถซื้อพันธุ์ส้มบางมดไปปลูกเองได้ที่บ้าน และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์ ขณะนี้โครงการยังคงดำเนินอยู่ และกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม ปี 2564

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กัมปงในดงปรือ ไม่เพียงแค่สร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุนชน แต่ยังสร้างรายได้แก่เกษตรกรในชุมชน อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งได้กลายเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กภายในชุมชนและชุมชนข้างเคียง

daruibada07
แม้ชาวบ้านจะหวาดระแวงว่าอาจจะมีฝูงนากมากินปลาในบ่อ แต่ปลาที่จับได้กลับมีมากเป็นที่น่าพอใจ

พัฒนาเพื่อก้าวสู่ชุมชนอัจฉริยะ

กระทรวงพลังงานได้ให้คุณสมบัติของชุมชนอัจฉริยะไว้ว่า “ชุมชนอัจฉริยะ (smart community) ประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ”

สำหรับชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ การก้าวสู่การเป็นชุมชนอัจฉริยะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เพราะสภาพแวดล้อมบางอย่างยังไม่อำนวยต่อการพัฒนา แต่บางอย่างภายในชุมชนก็มีข้อดีที่จะช่วยส่งเสริมเช่นเดียวกัน

ในด้านของความปลอดภัย ชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์เป็นชุมชนที่ทุกคนมีความสนิทสนมและไว้เนื้อเชื่อใจกัน เมื่อคนแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่หวังดีเข้ามาในชุมชนจะคอยระแวดระวังให้แก่กัน นอกจากนี้อิหม่ามผู้เป็นแกนหลักของชุมชนในด้านศาสนาจะคอยสอดส่องดูแลและจัดการให้เกิดความเรียบร้อยในชุมชนอีกแรงหนึ่ง แต่ทว่าสวัสดิภาพและสาธารณูปโภคของชุมชนยังคงบกพร่อง

จารุวรรณเล่าว่าไฟฟ้าของที่นี่เคยดับมาเป็นปี เธอต้องเป็นคนคอยประสานงานกับฝ่ายโยธา และจากนั้นจึงให้การไฟฟ้ามาเปลี่ยนหลอด แต่หลอดที่ได้กลับไม่มีประสิทธิภาพ อยู่ได้แค่ 2 เดือน ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางเวลากลางคืนของคนในชุมชน อีกทั้งไฟทางในชุมชนยังไม่เพียงพอ ทำให้มืดจนมองไม่เห็นและจำเป็นต้องพกไฟฉาย

ด้านต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือสุขภาพ ซึ่งต้องดีทั้งกายและจิตใจ ในชุมชนนี้ร่างกายของเยาวชนมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าทำให้ต้องแยกการอยู่กับธรรมชาติ แต่ชุมชนนี้สามารถอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และยังคงรับข่าวสารและใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด ทั้งในเรื่องประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ของชุมชน แม้ในปัจจุบันหมู่บ้านจัดสรรจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชุมชน แต่คนในชุมชนก็ไม่อยู่นิ่งเฉย และผลักดันเรื่องการรักษาความสะอาดในคลองอย่างเต็มความสามารถ เช่น กิจกรรมเก็บขยะในคลองของการท่องเที่ยวกัมปงในดงปรือ เป็นต้น อีกทั้งโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข สามารถเดินทางไปใช้บริการได้อย่างสะดวกภายใน 30 นาที

ส่วนสุขภาพด้านจิตใจ เมื่อแกนนำในชุมชนมีความคิดบวก มีจุดมุ่งหมายและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ทำให้ทุกคนเกิดความสบายใจ มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต

ต่อมาเป็นส่วนที่จะทำให้เยาวชนเติบโตไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ การศึกษา เยาวชนในชุมชนสามารถเข้าถึงสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศหรือโรงเรียนโต๊ะลาเต๊ะ ที่สามารถเดินเท้าไปได้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 6 กิโลเมตร นอกจากนี้ที่มัสยิดยังเปิดการเรียนการสอนในเรื่องศาสนาและภาษาอาหรับเป็นความรู้เพิ่มเติมหลังเลิกเรียน

ด้านถัดมาคือการป้องกันภัยพิบัติเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินเอาไว้ในกรุงเทพฯ ภัยพิบัติที่เกิดมากที่สุดคืออุทกภัยหรือน้ำท่วม เพราะในอดีตกรุงเทพฯ มีทุ่งนา ป่ากก ร่องสวน เป็นที่รับน้ำ แต่ปัจจุบันพื้นที่เกือบทั้งหมดของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงเป็นบ้าน คอนโดฯ ที่อยู่ระดับสูงกว่าถนน เมื่อฝนตกลงมาน้ำทั้งหมดจึงไหลไปรวมกันที่ถนน แต่สำหรับชุมชนนี้ที่มีทั้งร่องสวน ทุ่งนา และคลอง รวมถึงการปลูกบ้านทรงไทยยกใต้ถุนสูงเหมือนในอดีต ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดน้ำท่วมได้ยาก นอกจากนี้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติได้ ทำให้มีความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์

และด้านสุดท้ายคือการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการยังไม่มีโครงการ หรือแผนในอนาคต หรือการได้รับการอบรมให้จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ในด้านนี้ยังน่าเป็นห่วง อย่างมากที่สุดจะเป็นการดูแลที่ได้รับจากครอบครัว

daruibada08
กุสุมา อินสะมะพันธ์ จัดปลาบูดูทรงเครื่อง สินค้ายอดนิยมของชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ใส่กระเช้า
daruibada09
ผู้คนในเขตทุ่งครุดูมีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ ยืนหยัดเป็นทั้งชุมชนเกษตรกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในมือถือน้ำหมักชีวภาพ EM อีกหนึ่งผลสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนและคงอยู่

นอกจากการก้าวไปสู่ชุมชนอัจฉริยะแล้ว การให้ความสำคัญกับกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็กและผู้ใหญ่ก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดความสามัคคีกันในชุมชน

ธนพล อินสมะพันธ์ อายุ 11 ขวบ หนึ่งในเยาวชนของชุมชนที่อาศัยที่นี่มาตั้งแต่เกิดเล่าว่า เขามาช่วยจับปลาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นกิจกรรมที่ชอบที่สุด ซึ่งการจับปลาของที่นี่จะจับกันทุกวันอาทิตย์ เพื่อนบ้านที่ว่างก็จะมาช่วยกัน ทำให้ฉันรู้สึกถึงความอบอุ่นเหมือนกับชุมชนสมัยก่อน ปลาที่จับมาได้มีทั้งปลานิล ปลาตะเพียน และปลาสวาย ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนนี้ได้กินปลาแทบทุกวัน ขนาดฉันที่มาอยู่ที่นี่เพียง 2 วัน ยังได้กินปลาเป็นอาหารกลางวันทั้งสองมื้อเลย

วิถีชีวิตริมคลองของชาวดารุ้ลอิบาดะฮ์เป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ต้องดำเนินไปให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและคนในชุมชน

อารีย์ แก้วผลึก ประธานชุมชนดารุ้ลอิบาดะฮ์ เล่าว่า จะมีการปรับปรุงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับนักศึกษาและนักวิจัยจากภายนอก ไปจนถึงการขยายเครือข่ายการท่องเที่ยวร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ของฝั่งธนบุรี และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เพื่อความหลากหลายและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น

ฉันเชื่อว่าชุมชนและวิสาหกิจชุมชนฯ จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และมั่นใจได้ว่าจะทำสำเร็จไปโดยตลอด จากคำพูดของกุสุมาที่ว่า

“ถ้าเราตั้งโจทย์ตั้งแต่เราเริ่มต้นทำ วันหนึ่งเราก็จะทำโจทย์ที่เราตั้งไว้จนสำเร็จ”