ชยพล มาลานิยม : เรื่อง
มัทนา เหมรัชตานนท์ : ภาพ

งานไม้อยู่ใกล้ตัวเรา

หลายคนฟังแล้วอาจรีบส่ายหัวค้าน เพราะตัวเองกำลังอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมก่อฉาบด้วยปูนและซีเมนต์ล้วน

แต่รบกวนกวาดสายตาไปรอบกาย เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ตั่ง ตู้ ประตู หน้าต่าง วงกบ คิ้ว บัว รั้ว คาน ชั้นวางของ ชั้นหนังสือ หิ้งพระ กรอบรูป กรอบกระจก ของแกะสลัก ไปจนแผ่นป้ายหน้าประตูซึ่งมีตัวอักษรสลักเรียงเป็นเลขที่บ้าน แน่ใจหรือว่าไม่มีงานไม้อยู่เลย?

เอาเถอะ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ แต่โปรดเชื่อว่าในท่ามกลางยุคแห่งอิฐปูนเหล็กกล้าและสารพัดวัสดุสังเคราะห์ งานไม้จะค้นพบที่ทางท่ามกลางชีวิตของผู้คนจนได้ และหากพวกมันสามารถส่งเสียงพูดจา เราคงได้ฟังบรรดางานไม้เล่าขานประสบการณ์เข้มข้น เส้นทางจากป่าสู่เมือง จากท่อนซุงสู่คมเลื่อย จากแผงหน้าร้านค้าสู่ใต้ชายคาเรือน

หรือกล่าวคือ สิ่งที่ไม่ได้พบเจออย่างดาษดื่น ย่อมซ่อนเรื่องราวทรงคุณค่าอยู่ภายใน

เหมือนกับชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งขนาบข้างด้วยตอม่อสูงใหญ่ของสองสถานีรถไฟฟ้า บางโพและเตาปูน เสียงกระหึ่มของพาหนะใหญ่ขณะเคลื่อนผ่านรางลอยฟ้าเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเจริญ–ทางวัตถุของเมืองหลวง เสียงของชีวิตภายในชุมชนแห่งนั้นก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ความรุ่งโรจน์แห่งอดีตซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับโจทย์แห่งอนาคตอันท้าทาย

ซุ้มประตูสูงใหญ่ริมถนนประชาราษฎร์สาย 1 เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร สลักจากไม้ตะเคียนทอง ลงรายละเอียดชดช้อย ยังดูสง่าเหมือนใหม่ แม้จะยืนตระหง่านทานทนฝนแดดหนาวมานาน ตัวอักษรสีทองอร่ามงามสะกดเป็นคำว่า “ประชาคมประชานฤมิตร” ดูขรึมขลังดุจทางเข้าวิหารศักดิ์สิทธิ์ ที่นี่ ชุมชนประชานฤมิตร หลายชีวิตล้วนจุนเจือเกื้อกูลกัน ไม่ต่างจากแมกไม้นานาพรรณในป่าใหญ่

หากซุ้มประตูนั้นพูดได้ คงมีเรื่องราวเล่าขานให้ฟังจนเพลินใจ

ผู้คนค้าขาย แผ่นไม้เล่าเรื่อง : ประชานฤมิตร ถนนสายไม้แห่งบางโพ
prachanarumitr02
ซอยประชานฤมิตรเรียกได้ว่าเป็น “ถนนสายไม้” เนื่องจากมีการค้าขายผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนเครื่องใช้ไม้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ไม้แปรรูป ไม้พื้น ไม้บัว ประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ไปจนถึงป้ายตัวอักษรไม้

ประชาราษฎร์ร่วมสุข

ในเช้าแรกของกุมภาพันธ์ ปี 2564 ศาลเจ้าแม่ทับทิม ซอยประชานฤมิตร อันเป็นทั้งศูนย์กลางชุมชน ลานประชุม รวมถึงสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ วันนี้ได้รับบทบาทใหม่เป็นห้องเรียนเชิงปฏิบัติการชั่วคราวให้กับนิสิตจากภาควิชาการวางแผนและผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื้อความในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยู ระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน มุ่งหมายจะ “สร้างความร่วมมือระหว่างกันในลักษณะบูรณาการการเรียนรู้ การวิจัย การปฏิบัติการออกแบบควบคู่ไปกับการฟื้นฟูชุมชนทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม” เพื่อนำชุมชนไปสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายลงนามในบันทึกเมื่อ 25 ธันวาคม 2563 และในวันนี้เองที่ตัวหนังสือบนกระดาษเริ่มคืบหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม

“บ้านผมเคยอยู่แถวนี้เมื่อ 20 ปีก่อน นอกจากรถไฟฟ้าแล้ว ที่นี่ก็แทบไม่ต่างไปจากเดิม เว้นเสียแต่คนน้อยลงมาก” อาจารย์จุฬาฯ ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกต

คำว่า “คนน้อยลงมาก” จากปากคนนอก คงเป็นความจริงที่คนในรับรู้อยู่ทุกขณะจิต ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการชุมชนประชานฤมิตรจึงก้าวออกไปเคาะประตูสถานศึกษาต่างๆ เพื่อเชื้อเชิญให้เยาวชนผู้เป็นเมล็ดพันธุ์ของอนาคตมาเก็บเกี่ยวความรู้จากชุมชนที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์แห่งนี้ เช่นเมื่อพฤศจิกายน ปี 2563 คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เดินทางมาที่นี่เพื่อศึกษากระบวนการแปรรูปไม้อย่างครบวงจร ในโครงการ “จากต้นน้ำอุตสาหกรรมไม้ สู่ปลายน้ำเฟอร์นิเจอร์ไม้” ความรู้จากชุมชนได้ถ่ายทอดไปสู่ภายนอก

วันนี้ถึงคราวของเมล็ดพันธุ์จากจุฬาฯ เหล่านิสิตออกเดินสำรวจไปทั่ว เชื่อได้ว่าหลายคนเพิ่งเคยเหยียบย่างมายังประชานฤมิตรเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยซ้ำ

หากศาลเจ้าพูดได้ ก็คงจะสาธยายประวัติศาสตร์ให้พวกเขาฟังอย่างยืดยาว ทว่ามนุษย์ได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่นั้นแทนแล้ว เมื่อเครื่องกระจายเสียงเริ่มทำงาน การถ่ายทอดความรู้ระลอกใหม่ก็เริ่มต้น

“บนถนนเส้นนี้ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตร มีร้านไม้อยู่ประมาณ 200 ร้าน เรียงรายอยู่เต็มสองฝั่ง” เสียงที่ดังจากลำโพงเป็นของ สมคิด กอประเสริฐศรี หนึ่งในคณะกรรมการชุมชน และเจ้าของร้าน บ้านอินคำ ขายผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านจากไม้ ตั้งอยู่ใกล้ปากซอย

“ภาพแผนที่นี้น่าจะทำให้เห็นว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ชุมชนประชานฤมิตรหน้าตาเป็นอย่างไร และยังคงเป็นเช่นนั้นมาจนถึงทุกวันนี้” เขาย้อนความหลัง พร้อมแสดงหลักฐานภาพถ่ายเก่าแก่ขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์

เดิมทีถนนสายนี้เป็นคันดินกว้างเพียง 2 เมตรเท่านั้น ล้อมรอบด้วยลำคลองทั้งสี่ทิศ สองฝั่งถนนเคยเป็นร่องสวนปลูกไม้ผลเรียงรายเป็นแถวยาวตั้งแต่ปากซอย ก่อนจะกลายเป็นร้านค้าไม้แน่นขนัดเช่นปัจจุบัน

มีคลองบางโพเชื่อมตรงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คนเก่าแก่เล่าว่า สมัยก่อนน้ำคลองยังใสสะอาด เด็กๆ ต่างพากันลงเล่นน้ำ บ้างจับเอาปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ไปให้แม่แกงกิน บ้างปีนขึ้นต้นชมพู่แล้วกระโดดลงคลองกันสนุกสนาน

สมัยนั้นใครอยากดูโทรทัศน์ต้องไปบ้านลุงเฉลิม สุขมาก พวกเด็กๆ มักพากันไปมุงดูภาพขาวดำบนจออย่างตื่นตา

ลุงเฉลิมท่านนี้เองเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างถนนในชุมชนแห่งนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2503 ด้วยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ท่านร่วมมือกับคนในชุมชน ทั้งครูวัติ ขำสายทอง และคุณพิศ ธรรมศาสตร์สิทธิ์ ท่านเหล่านี้ลงแรงเดินตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อขอที่ดินจากเจ้าของบ้านทั้งสองฝั่ง ฝั่งละ 3 เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี จนทางคันดินเดิมขยายกว้างขึ้นเป็น 8 เมตรดังเช่นปัจจุบัน จากนั้นมีการปรับผิวถนนกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทางอำเภอมาลาดยางให้เมื่อปี 2504 พร้อมตั้งชื่อไว้ว่าซอยร่วมสุข เนื่องจากชาวบ้านทุกคนต่างร่วมแรงกายแรงใจกันพัฒนา นำมาซึ่งความสุขร่วมกัน

กระทั่งปี 2522 ทางราชการปรับปรุงถนนลาดยางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้มีความแข็งแรงรองรับรถยนต์ที่สัญจรเข้าออกได้ ทั้งยังได้เปลี่ยนชื่อเป็นซอยประชานฤมิตรนับแต่นั้นมา

“มีประชากรที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ประมาณ 1,800-2,000 คนโดยประมาณ มีส่วนผสมของประชากรเชื้อชาติต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นจีนไหหลำ สัดส่วนเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นจีนแต้จิ๋วราวร้อยละ 20 เชื้อสายไทยอีกราวร้อยละ 20 จากนั้นก็เป็นจีนแคะ และส่วนผสมอื่นๆ เล็กน้อยอีกร้อยละ 10” สมคิดสาธยายสืบเนื่องไป

คนไทยคุ้นเคยกับชาวจีนไหหลำมาช้านาน ชนชาตินี้มักประกอบกิจการเกี่ยวกับโรงเลื่อย เครื่องเรือนไม้–และแน่ละ ข้าวมันไก่ไหหลำก็เลื่องชื่อ ส่วนชาวจีนแคะหรือฮากกานั้นจะเน้นหนักเรื่องการทำประตู หน้าต่าง เป็นหลัก แม้ว่าบรรพชนจะย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยนานร่วมศตวรรษแล้ว แต่กระทั่งปัจจุบันพวกเขายังคงเลี้ยงชีพด้วยความชำนาญของชนชาติตนได้อย่างแนบสนิท

จะว่าไปก็ไม่ต่างจากต้นไม้พันธุ์ดี ไม่ว่าหยั่งลงตรงดินใดก็สามารถเติบโตงอกงาม ด้วยมีรากแก้วอันแข็งแกร่งแทงลึก

prachanarumitr03
งานไม้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะ การฝึกฝนและความชำนาญเป็นอย่างมาก ไม่ใช่งานที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายร้านที่หันไปพึ่งเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า แต่การผลิตงานไม้แบบ Handmade ก็ยังคงมีเสน่ห์ที่พิเศษเฉพาะตัว
prachanarumitr04
คุณบุญชู แก่นจันทร หรือ “น้าชู” ช่างฉลุไม้หนึ่งเดียวประจำร้าน “ณรงค์การช่าง” ทำงานที่นี่มานานกว่า 10 ปี และมีความชำนาญในการฉลุไม้มาก

จากป่าสู่เมือง

จากคันดินสู่ถนน จากสวนไม้ผลสู่ชุมทางไม้แปรรูป หากจะสรุปประวัติศาสตร์ของชุมชนประชานฤมิตรโดยรวบรัด ไม่น่ามีวลีใดเหมาะสมยิ่งกว่า—“จากป่าสู่เมือง รุ่งเรืองงามเพียงเวียงวัง

ถ้อยคำดังกล่าวถูกจารึกลงบนแผ่นไม้ กลายเป็นแผ่นป้ายที่ติดไว้สูงเด่น ต้อนรับทุกคนที่ก้าวเข้ามาสู่ร้านสิริวโร ผู้ผลิตและจำหน่ายประตู หน้าต่าง วงกบทุกชนิด ตัวอักษรสีทองสะกดสายตาจนต้องถามถึงประวัติศาสตร์ใต้เนื้อไม้

ภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล ผู้จัดการร้านสิริวโรชำเลืองมองป้ายแผ่นนั้น แล้วเอ่ยปากเล่าเรื่องราวแทนมัน

“เป็นผลงานของอาจารย์สุดสาคร ชายเสม” ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจิตรศิลป์และงานแกะสลัก–ผลงานเด่นอีกอย่างของท่านก็ซุ้มประตูไม้สูงใหญ่หน้าปากซอยนั่นปะไร ไม่เพียงถ้อยคำบนป้ายเท่านั้นที่ชวนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้ แต่เป็นทั้งร้านสิริวโรเองต่างหากที่ถือกำเนิดมาพร้อมกันกับประชาคมประชานฤมิตรเลยก็ว่าได้

เป็นอีกครั้งที่บรรดาบานประตูไม้ผู้เงียบงันต้องยืมเสียงของมนุษย์มาเล่าขานประวัติศาสตร์

“ผมเกิดในชุมชนวัดสระเกศ ครอบครัวผมอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่สมัยอากง พวกเราเป็นจีนแคะจะเรียกว่าอากุง–อากุงมาจากเมืองจีน ขายกาแฟอยู่แถววัดสระเกศ เมื่อก่อนวัดสระเกศถือเป็นแหล่งค้าไม้ ประตู หน้าต่าง เนื่องจากมีโรงเลื่อยตั้งอยู่แถวนั้น …ไม่แน่ชัดว่าปีไหน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ มีการออกคำสั่งให้ย้ายโรงเลื่อยทั้งหมดออกไปนอกเขตเมือง เมื่อก่อนมีโรงเลื่อยมากมายอยู่บริเวณวัดสระเกศ ภูเขาทอง คลองโอ่งอ่าง ถนนดำรงรักษ์ สะพานขาว ก็ต้องย้ายออกมาหมด”

ภูริสิทธิ์ย้อนความทรงจำยามเยาว์วัย ร้านทำประตูของพ่อเขาต้องอาศัยซื้อไม้จากโรงเลื่อย เขาจำได้ว่าพ่อต้องปั่นจักรยานขนส่งแผ่นไม้เป็นตั้งๆ มาจากบางโพไปจนถึงวัดสระเกศ ในที่สุดก็ทนความลำบากไม่ไหว เหล่าผู้ค้าไม้จำต้องย้ายออกมาตามโรงเลื่อย

“โรงเลื่อยย้ายออกมาอยู่ตั้งแต่สามเสน ศรีย่าน บางกระบือ เกียกกาย บางโพ ไปจนถึงวัดสร้อยทอง ด้วยความที่ท่อนซุงจำเป็นต้องขนส่งมาทางน้ำ โรงเลื่อยแทบทั้งหมดจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำ สมัยนั้นซอยนี้มีแต่ตึกเซ้ง ตึกหลังนี้เป็นตึกแรกสุดในซอย” จากร้านทำประตูไทยฝ่าฮินที่วัดสระเกศ ต้องโยกย้ายมายังซอยร่วมสุข พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นประชาการช่าง ก่อนกลายมาเป็นสิริวโรในปัจจุบัน

ด้านตะวันตกของชุมชนเป็นชัยภูมิของโรงเลื่อยไม้ อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นทางลำเลียงแพซุง แพไม้ สายหลักจากภาคเหนือ ด้วยเหตุนี้จึงได้ดึงดูดให้บรรดาช่างไม้ ตลอดจนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์และประดิษฐกรรมไม้ประเภทต่างๆ หลั่งไหลมารวมตัวกันอยู่ในซอยประชานฤมิตร กลุ่มลูกค้าประจำเองก็ส่งข่าวกันปากต่อปากและติดตามมาอุดหนุน

ภายหลังร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับการสร้างบ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สีทาบ้าน ฮาร์ดแวร์ ผ้าม่าน และอื่นๆ ก็เข้ามาเติมเต็ม จนซอยประชานฤมิตรกลายเป็นแหล่งขายสินค้าที่ครบวงจร เป็นที่รู้กันในหมู่ลูกค้าว่ามาถึงที่นี่แล้วได้ของครบ-จบในซอยเดียว เมื่อชื่อเสียงเริ่มขจรขจาย สภาพเศรษฐกิจก็ขยายตัวขึ้นตามลำดับ กลายเป็นระบบนิเวศของธุรกิจค้าไม้ที่เกื้อหนุนกันอย่างสมดุล

บางคนให้นิยามว่า ชุมชนนี้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไม้ที่ใหญ่และครบครันที่สุดในกรุงเทพฯ ไปจนถึงในไทย

กว่า 200 ร้านค้าในซอยประชานฤมิตร แบ่งตามประเภทสินค้าออกได้เป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม้แปรรูป กลุ่มไม้พื้น กลุ่มไม้คิ้ว-บัว-บันได กลุ่มประตู-หน้าต่าง-วงกบ กลุ่มไม้แกะสลัก กลุ่มหิ้งพระ-โต๊ะหมู่บูชา กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มหุ้มเบาะ กลุ่มฟิตติ้ง กลุ่มออกแบบ และกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม –ซึ่งหวังว่าวัตถุดิบหลักคงไม่ได้มาจากไม้เหมือนกัน!

บางคนอาจสงสัยว่าในซอยนี้มองมุมใดก็มีแต่ไม้เหมือนกันไปหมด? –แต่เปล่าเลย แต่ละร้านล้วนพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะด้าน และความชำนาญเฉพาะตัว จนเกิดเป็นวิถีอันหลากหลาย แล้วผู้ขายกับผู้ค้าจะหากันจนเจอในที่สุด

prachanarumitr05
คุณดวงแก้ว สุขรำมี และคุณนัฐพนธ์ โพธิ์ประทีป ผู้จัดการร้านรุ่นสอง ของร้าน “ณรงค์การช่าง”  ร้านขายป้ายตัวอักษรและรับทำงานแกะลาย ฉลุไม้
prachanarumitr06
ภายในร้านมีป้ายตัวอักษรรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามความชอบ หรือหากต้องการแบบพิเศษก็สามารถสั่งทำเฉพาะได้

ชุมชนหลากวิถี

การสำรวจประชาคมประชานฤมิตรเริ่มต้นจากท้ายซอย ฝั่งถนนกรุงเทพฯ – นนทบุรี ที่หมายแรกคือร้านณรงค์การช่าง

ณรงค์การช่างเป็นร้านขนาดไม่ใหญ่โต แต่เต็มไปด้วยสิ่งของให้มองไม่เบื่อ เอกลักษณ์ของร้านนี้คือไม้ฉลุและไม้แกะสลัก โดยเฉพาะของตกแต่งอย่างตัวอักษรไม้และป้ายนานาชนิด ตั้งแต่ป้ายประจำตำแหน่งปลัดอำเภอ ป้าย “บ้านนี้ดีอยู่แล้วรวย” ไปจนถึงป้ายร้านราเม็งที่มีรายละเอียดยิบย่อย งานไม้ทุกชิ้นในร้านนี้ฉลุด้วยมือทั้งหมด–มือของคนคนเดียวด้วย

ในห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยแผ่นไม้และละอองขี้เลื่อยแทรกตัวอยู่ในอณูอากาศ บุญชู แก่นจันทร พาร่างกะทัดรัดที่เปี่ยมด้วยวัย แทรกตัวผ่านกองไม้ไปยังเลื่อยฉลุไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่กลางห้อง ช่างฉลุมือดีแห่งยุทธภพงานไม้กำลังจะเริ่มลงกระบี่–เครื่องเดิน ใบเลื่อยหมุนคว้างด้วยความเร็วสูงดูราวเส้นลวดล่องหน พร้อมส่งเสียงหวือๆ อึงอลไปทั่วห้อง

“อันตรายครับไอ้เครื่องนี้” นัฐพนธ์ โพธิ์ประทีป ผู้จัดการร้านณรงค์การช่างคนปัจจุบันรายงาน พลางส่งท่อนไม้ขนาดเล็กซึ่งใช้ดินสอดำวาดแบบไว้ เส้นจางๆ บนแผ่นไม้พอให้มองเห็นว่าเป็นตัวอักษร ช่างฉลุรับมาแล้วยื่นมันเข้าหาใบเลื่อยอย่างไร้ความลังเล

หลังจากนั้นก็ได้ยินเพียงเสียงเครื่องยนต์คำราม ห้องสี่เหลี่ยมเล็กกลายเป็นลานประลองสมาธิระหว่างมนุษย์และจักรกล ขี้เลื่อยลอยฟุ้ง ช่างอาวุโสนิ่งไม่ไหวติง ความห่างระหว่างมือเปล่าและใบเลื่อยลดลงทุกขณะ แต่แล้วก็พลิกกลับฉวัดเฉวียน ปรับทิศทางไปตามเส้นดินสอบนผิวไม้ที่มองแทบไม่เห็น

แล้วผ่านไปเป็นครู่ ตัวอักษรก็ปรากฏขึ้นจากแผ่นไม้สี่เหลี่ยมทีละตัว ด้วยฝีมือของจิตรกรผู้มีคมเลื่อยเป็นพู่กัน

เลื่อยฉลุไฟฟ้าเงียบลง ตามด้วยเสียงถอนหายใจโล่งอกของผู้สังเกตการณ์ นัฐพนธ์ยิ้มภูมิใจกับฝีมือเอกอุของช่างฉลุอันดับ 1 ประจำร้าน–ไม่ใช่เพราะทั้งร้านมีช่างฉลุแค่คนเดียวนะ แต่เพราะแกเก่งจริง

“ต้องยอมรับว่าน้าชูแกฉลุไม้เก่งจริงๆ บางครั้งผมลองวิชาแกนะ เอาลายเล็กๆ เท่าเส้นก๋วยเตี๋ยวเนี่ย ดูซิแกจะฉลุได้ไหม แกก็ทำได้” ผู้จัดการร้านเล่า ขณะที่บุญชูหยิบตัวอักษรจากแผ่นไม้ไปทำการ “ตีมน”คือตอกมุมเหลี่ยมแหลมให้หายไป เพิ่มความงาม ลดความคม แล้วตัว ข ไข่ กับ ง งู อันชดช้อยเกลี้ยงเกลาก็เสร็จสมบูรณ์

“น้าชูแกทำมาก่อนที่ผมจะมาอยู่ร้านนี้ เขาทำมาเป็นสิบปี ร่วมกับพ่อของแฟนผม” ก็หมายถึงคุณณรงค์ ผู้ก่อตั้งณรงค์การช่าง ท่านเป็นผู้บุกเบิกงานแกะสลักตัวอักษรไม้เป็นรายแรกๆ ของซอย แต่หลังจากท่านเสียไป ช่างฝีมือดีหลายคนก็พลอยกระสานซ่านเซ็น คงเหลือแต่บุญชูซึ่งเพียรผลิตงานฉลุไม้อย่างขันแข็ง เพราะร้านนี้ทำด้วยมือเท่านั้น แม้ว่าหลายร้านจะเริ่มใช้เครื่องกลึง CNC หรือ computer numerical control–เครื่องจักรกลรุ่นใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานกลึงความละเอียดสูงได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องเอานิ้วตัวเองเข้าไปเสี่ยง

“การฉลุด้วยมือมันจะไม่เป๊ะ นี่แหละคือเสน่ห์ เป็นศิลปะ ถ้าใช้ CNC แล้วมันคมชัดจนเสน่ห์หาย มันขาดความลึก มองได้ไม่นาน” เจ้าของร้านนำป้ายที่ผ่านกรรมวิธีฉลุทั้งสองแบบมาเทียบให้ดู ความงดงามทัดเทียมกัน แต่ก็ดูออกทันทีว่าไหนตัวพิมพ์ ไหนลายมือ

“แล้วน้าชูเคยพลาดไหม?” ลองยิงคำถามไป เจ้าตัวพลันยิ้มเผล่

“พลาดบ่อย” แกเป็นคนประหยัดคำพูด ไม่ยอมอธิบาย เพียงยกมือกร้านเหมือนผิวไม้ให้ดูรอยแผลเป็นตามง่ามนิ้ว

นัฐพนธ์หัวเราะ หยอกเย้าว่า “นักรบต้องมีบาดแผล”

ดวงแก้ว สุขรำมี ลูกสาวของคุณณรงค์เสริมว่า “ในซอยนี้มีเยอะนะพวกช่างแกะป้าย แต่พวกรุ่นลูกแทบไม่มีแล้ว เหลือแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรา” สองสามีภรรยาต่างเห็นตรงกันว่าทรัพยากรมนุษย์หายากไม่แพ้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่างฝีมือดีระดับบุญชู ทุกวันนี้หากไม่ล้มหายตายจาก ก็หันไปจับงานสายอื่นที่คิดว่าได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า

“ร้านเรามีช่างคนเดียว ถ้าลูกค้าสั่งมาเยอะ ทำไม่ทัน เราก็แบ่งงานให้ร้านอื่นๆ เกื้อกูลกันไป” นัฐพนธ์เผยให้เห็นทัศนคติที่มองกันและกันเป็นคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง ซึ่งอีกหนึ่งปัจจัยสู่ความปรองดองของชุมชน ขณะเดียวกันก็สะท้อนจำนวนช่างไม้ที่น้อยลงจนน่าใจหาย

วิถีการทำงานของร้านณรงค์การช่างเป็นเสมือนการต่อลมหายใจรวยรินให้กับศาสตร์แห่งงานไม้ ฉลุ กลึง แกะสลัก ชุมชนเคยพยายามจะสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ช่างรุ่นเก่ามีพื้นที่ถ่ายทอดทักษะให้คนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะช่างบางคนยังคงหวงวิชา แม้จะถ่ายรูปก็ไม่ให้ เพราะกลัวงานศิลป์ของตนจะถูกลอกเลียน

“ต้องละลายพฤติกรรมช่างเก่าๆ เพราะความรู้พวกนี้มีค่ามาก ควรจะรักษาไว้ไม่ให้ตายไปพร้อมกับตัวคน” นัฐพนธ์ว่า

ในอีกด้านหนึ่ง วิถีของวิวัฒน์ชัยค้าไม้ในปัจจุบัน สะท้อนแนวคิด “เก่าชนใหม่” ให้เห็นอย่างชัดเจน

วริศรา หาญวิวัฒนกูล ผู้ดูแลกิจการคนปัจจุบัน คือทายาทรุ่นที่ 3 นับจากรุ่นปู่ผู้ก่อตั้งร้านขึ้นมาราวปี 2533 จากเคยจัดจำหน่ายพื้นไม้แบบดั้งเดิม ก็เริ่มเปิดรับไม้ชั้นดีจากต่างประเทศ ทุกวันนี้มีกระทั่งพื้นลามิเนตหรือไม้เทียมหลายรูปแบบให้ลูกค้าเลือกสรร ก็ด้วยพื้นลามิเนตซึ่งมีคุณภาพระดับสากลนั้น ประเมินด้วยสายตาแล้วแทบจะไม่ต่างอะไรจากไม้แท้ แต่มีความ “รักษ์โลก” มากกว่า อีกทั้งยังราคาถูกกว่าไม้แท้ ไม่ต้องวุ่นวายกับการขัดทาทำสี วริศรามองว่า ไม่ว่าไม้แท้หรือไม้เทียม ขอให้ “ตอบโจทย์ลูกค้าก็โอเค”

แต่ใช่ว่ามีของใหม่แล้วจะไล่โละของเก่า สิ่งดั้งเดิมที่มีอยู่ก็ถูกเก็บรักษาเอาไว้ เธอเดินนำเข้าไปในโกดังเก็บไม้อัด ซึ่งเป็นอาคารสูงถึงห้าชั้น และทุกชั้นมีไม้อัดซ้อนทับไล่เรียงกันจนถึงเพดาน คลังไม้นำเข้ามหาศาลเป็นกิจการจากรุ่นก่อนหน้าที่ยังรักษาไว้อย่างดี

“ลายไม้ก็เหมือนลายนิ้วมือ ต่างกันหมด” เธอยืนยัน การพาเดินชมโกดังแบบนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกลายไม้ที่พ้องพานกับความต้องการที่สุด ใครบางคนเคยกำชับว่าการเลือกไม้จะดูอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดมด้วย เพราะไม้แต่ละประเภทก็มีกลิ่นเฉพาะตัว–ยิ่งเหมือนมนุษย์เข้าไปทุกที

ความหลากหลายเป็นวิถีทางสำคัญที่ทำให้วิวัฒน์ชัยค้าไม้ยังมีลูกค้าสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับเจ้าของกิจการ ลูกค้าเองก็มีครบทั้งสามรุ่น จากการบอกต่อกันภายในครอบครัว ปู่เคยซื้อพื้นไม้สัก พ่อซื้อพื้นลามิเนตตราโครโนสวิส ลูกก็ยังตามมาอุดหนุนพื้นตราอัลลัวร์ ไม่ว่ารสนิยมจะต่างกันอย่างไร ร้านนี้ก็มีตัวเลือกไว้ให้พร้อม

สิ่งใดหากไม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาก็ยากจะอยู่รอด และหากมองประชานฤมิตรในภาพกว้าง จะเห็นความพยายามผสานสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่เข้าด้วยกันอยู่หลายประการ แม้จะไม่ถึงกับกลมกลืน แต่ยังพอมีที่ทางให้แก่กันและกัน

แก่เฒ่าชนหนุ่มสาว ไม้เทียมชนไม้แท้ มนุษย์ชนเครื่องจักร ตึกแถวชนกราฟฟิตี–ภาพสีสเปรย์พ่นบนผนังอาคารเก่า

งานศิลป์บนผนังเหล่านี้เป็นร่องรอยจากโครงการ “แต้มสีกรุงเทพฯ” ช่วงปี 2561 ที่ภาครัฐพยายามจะยัดงานประเภทสตรีตอาร์ตเข้าไปในทุกๆ ชุมชน ซอยประชานฤมิตรเองก็ไม่พ้นจากการถูกแต้มแต่งครั้งนั้น

“ตอนแรกก็คิดว่าถ้าเป็นสีพาสเทลก็คงจะสวยเหมือนเมืองแถบยุโรป แต่สีที่เขาเลือกมาใช้จริงๆ มันไม่ค่อยเหมือนที่คิดเนี่ยสิ…” เป็นความเห็นจากเจ้าของร้านฮาร์ดแวร์สูงวัยท่านหนึ่งต่อการแต้มสีชุมชน

การปะทะกันของอดีตและอนาคต แม้จะไม่ได้กลมเกลียวเป็นเนื้อเดียว แต่กลับเป็นพลวัตรที่ทำให้สนุกเมื่อได้พบเห็น

prachanarumitr07
คุณวริศรา หาญวิวัฒนกูล – ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ร้าน “วิวัฒน์ชัยค้าไม้” เผยว่าตนมีความคิดที่อยากจะพัฒนาโกดังเก็บไม้อัดนี้ให้เป็นจุดที่วัยรุ่นเข้ามา Check-in ถ่ายภาพเล่นกันได้ด้วย
prachanarumitr08
ประตูไม้แกะสลักลาย จากร้านสิริวโร

ทุกตารางเมตรมีเรื่องเล่า

แดดเที่ยงแผดเผาไม่ปรานี กายโชกเหงื่อ แต่ขายังต้องย่างเดินไม่หยุดยั้ง เพราะหากรอให้แดดร่มลมตก บรรดาร้านรวงจะพากันปิดเสียก่อน เมื่อเดินมาจนถึงกลางซอย ได้บทเรียนหนึ่งที่พึงจดจำคือ หากมีโอกาสได้เดินสำรวจเส้นทางนี้ จงหาเพื่อนร่วมทางเป็นชาวประชานฤมิตรสักคนเถิด แล้วคุณจะได้ประสบการณ์อันหาที่ใดไม่ได้ เพราะเขาหรือเธอผู้นั้นจะพาคุณเดินบนถนนสายความทรงจำ

ชาวประชานฤมิตรหลายคนยังเห็นภาพอดีตอันรุ่งโรจน์ของชุมชนซ้อนทับกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ภวรียารัส จีรัชโภคภาภัคร์ เจ้าของร้านเครื่องเรือน กีรติ ค้าไม้ คือหนึ่งในคนเหล่านั้น ที่ยังมองเห็นภาพของชุมชนในอดีตอย่างแจ่มชัด

ทุกๆ ตารางเมตรมีเรื่องราวให้เล่าขาน แต่อย่างที่ย้ำไปแล้ว ไม้นั้นได้แต่นิ่งเงียบ มนุษย์ต้องเล่าแทน และเรื่องราวแทบทั้งหมดมักจะเริ่มด้วยคำว่า “เมื่อก่อน–”

“เมื่อก่อน–” เธอเริ่ม “รถสามล้อแถวนี้ไม่รับคน รับบรรทุกแต่ไม้”

พร้อมกันนั้นเห็นรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านไป เก้าอี้ไม้ผิวมันวาววางคว่ำอยู่บนศีรษะของผู้ขับขี่ ประหนึ่งเป็นผู้โดยสารคนหนึ่ง เธอขยายความว่าในอดีตรถแต่ละคันที่เข้าออกซอยนี้ล้วนแต่มีผู้โดยสารเป็นไม้ หากรถคันไหนมีแต่คนก็คงเป็นลูกค้าต่างถิ่นแน่แท้

“ร้านใหญ่หน่อยเขาก็จะมีบริการรถรับส่งสินค้าให้ลูกค้าเลย แต่ร้านที่เล็กลงมาหน่อยก็ต้องใช้บริการรถกระบะรับจ้าง” เหตุนี้เองจึงเห็นรถกระบะจอดเรียงกันหัวชนท้ายอยู่สองฝั่งถนน ที่แท้คือ “วินกระบะ” สำหรับผู้โดยสารที่เป็นไม้ !

“เมื่อก่อน–” เธอเริ่มอีก คนฟังหูผึ่ง “ร้านแถวนี้มีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการมักจะสร้างใหม่เป็นอาคารปูน เพื่อให้มันรับน้ำหนักสินค้าจำพวกไม้อัด ไม้โครง หรือผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้ เพราะถ้าเป็นโครงสร้างไม้อย่างเดิมจะรับน้ำหนักของเหล่านี้ไม่ไหว”

บางคนเล่าว่าลักษณะของร้านจะเปลี่ยนไปตามรุ่น รุ่นแรกเป็นบ้านไม้เช่าเขาทำงาน รุ่น 2 เริ่มต่อเติมขึ้นเป็นโกดัง หรือสร้างโรงงาน ครั้นถึงรุ่น 3 ก็สร้างใหม่เป็นอาคารโดยสมบูรณ์

กระนั้นเองก็ยังมีบางร้านที่ไม่ตรงตามสูตรดังกล่าว เช่น มกเซ่ง ค้าไม้ หนึ่งในร้านเก่าแก่ที่สุดของชุมชน สภาพภายนอกยังคงเป็นบ้านไม้สองชั้นไร้การต่อเติม น่าจะคงเดิมมาตั้งแต่เมื่อแรกเปิดร้านราวปี 2505 ทว่าเจ้าของร้านกลับเป็นทายาทหญิงรุ่นที่ 3 ซึ่งมีมาดเป็นสาววัยรุ่น ดูขัดกันอย่างยิ่งกับบรรยากาศร้านอัน “คลาสสิก” ชนิดที่ว่ายังคงใช้เลื่อยสายพานแบบดั้งเดิม สอบถามทราบมาว่าอายุเครื่องปาไป 50 กว่าปีแล้ว คงมีศักดิ์เป็น “ลุง” เจ้าของร้านคนปัจจุบันได้

เมื่อเดินเข้าไปในร้านก็ตกตะลึงอีก เมื่อเห็นขี้เลื่อยกองพะเนินเทินทึก ราวกับเนินทรายในซาฮารา…

“ไม่ใช่ขี้เลื่อย นี่เรียกขี้กบ”–อ้าว อะไรแล้วนะ?

“ถ้าขี้เลื่อยจะเป็นเศษไม้จากเครื่องซอย ลักษณะจะเป็นละอองละเอียด ส่วนที่เห็นคือขี้กบ มาจากเครื่องไส จะไม่ละเอียดเท่าขี้เลื่อย จริงๆ เก็บเอาไปใส่กระถางต้นไม้ได้ หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลของโรงงานได้ แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนใหญ่ก็เผาทิ้งหมด” ภวรียารัสอธิบายความแตกต่างอย่างหมดจด–ได้ความรู้ใหม่ภายในไม่กี่วินาที ทุกตารางเมตรล้วนมีเรื่องราวจริงๆ

เราพากันออกมาทอดน่องบนท้องถนนอีกครั้ง

“เมื่อก่อน–” หนที่ 3 “สองทุ่มยังมีลูกค้ามาซื้อ เดี๋ยวนี้ 4 โมงเย็นก็เงียบแล้ว”

คำพูดนั้นลอยหายไปตามลม ไม้ระเบียงฉลุลายที่ตั้งอยู่ริมทางไม่ส่งเสียงใด แต่สัมผัสได้ว่ามันก็คงเห็นด้วยกับคำพูดนั้น

prachanarumitr09
มกเซ่ง โรงซอยไม้โครงสร้างดั้งเดิม ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า 60 ปี
prachanarumitr10
คุณภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล -ประธานชุมชนประชานฤมิตร พร้อมทั้งคณะกรรมการ และตัวแทนเจ้าของกิจการในชุมชน ร่วมแนะนำชุมชนประชานฤมิตรให้เหล่าอาจารย์และนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ ได้รู้จักมากขึ้น
prachanarumitr11
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทำให้ลูกค้าหน้าร้านน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีลูกค้าบางส่วนที่เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าถึงในซอย ทั้งนี้ เจ้าของกิจการหลายเจ้าก็ได้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของลูกค้า และโอกาสในการค้าขาย

ถนนสายไม้ใต้เงาความหวัง

ยามโพล้เพล้จวนเย็น เหงื่อเริ่มหมาดตัว จากท้ายซอยสู่ต้นซอย มองเห็นถนนประชาราษฎร์สาย 1 อยู่ไม่ไกล

จุดมุ่งหมายสุดท้ายก่อนหมดวันคือเข้าไปเยือนร้านสิริวโรอีกครั้ง มองผ่านประตูไม้สลักลายบานแล้วบานเล่า จึงเห็นโต๊ะผู้จัดการร้านอยู่ลึกเข้าไป ภูริสิทธิ์ก้มหน้าวุ่นอยู่กับกองเอกสาร และเพียงวันนี้วันเดียว มีคนเดินทางมาสัมภาษณ์เขาแล้วถึงสามหน

เนื่องด้วยเขาไม่ใช่เพียงผู้จัดการร้านสิริวโรเท่านั้น แต่ยังพ่วงตำแหน่งสำคัญยิ่ง คือประธานชุมชนประชานฤมิตร ตั้งแต่ปี 2562

เดาเอาว่าเขาคงหาวันว่างแทบไม่ได้เลยนับจากวันรับตำแหน่ง เพราะแต่ละปีที่ผ่านมาล้วนสาหัสสากรรจ์ ทั้งภัยเศรษฐกิจและพิษโรคระบาด นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดมโหฬารที่กำลังรอชุมชนแห่งนี้อยู่ในอนาคตอันใกล้

“เรากำลังจะจัดงานถนนสายไม้ขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้” ภูริสิทธิ์กล่าว

สำหรับคนในชุมชนประชานฤมิตร วาทะนี้น่าจะศักดิ์สิทธิ์พอๆ กับคำว่า “เรากำลังจะสร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมาอีกแห่ง”

ถนนสายไม้ คือตำนานที่พาให้ชื่อเสียงของประชานฤมิตรติดลมบนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผู้อำนวยการของแต่ละเขตในกรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้ฟื้นฟูชุมชนทุกระแหงซึ่งสะบักสะบอมจากสภาวะเศรษฐกิจ และก็เป็น สมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการเขตบางซื่อในเวลานั้น ที่ได้เล็งเห็นศักยภาพด้านงานไม้ของชุมชนประชานฤมิตร จึงได้มีแนวคิดริเริ่มงาน “ถนนสายไม้” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2542

ตลอด 1 กิโลเมตรของซอยกลายเป็นถนนคนเดิน เปิดให้ผู้สนใจจากทั่วสารทิศเข้ามาสำรวจกิจการค้าไม้ในซอยได้ตลอดวัน มีนิทรรศการจัดแสดงงานไม้อันงามวิจิตร ร้านค้าอาหารของดีของเด็ดเขตบางซื่อ ไปจนถึงกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการจัดถนนสายไม้ ทุกปีมีคนหลั่งไหลมาอย่างเนืองแน่น พาให้กิตติศัพท์ของแหล่งค้าไม้ประชานฤมิตรเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

“ถนนสายไม้ปีที่ 1 คนยังมาเป็นหลักหมื่น พอปีที่ 2 ถึงปีที่ 3 คนเริ่มมาเป็นหลักแสน ทั้งที่ 4 ทุ่มก็ปิดงานแล้ว คนยังอัดเข้ามาเรื่อยๆ ในซอยนี้ เบียดกันจนเดินไม่ได้ ต้องไหลไปเลย” ประธานชุมชนเล่าย้อนตำนาน

“แต่พอช่วงปีที่ 8 ปีที่ 9 มา ก็เริ่มจะมีปัญหาหลายๆ อย่าง ไม่ได้ร่วมมือกันเท่าที่ควร มีการเอาของอย่างอื่นหรือกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานไม้มาเยอะขึ้น จนกลายเป็นงานวัดไป” เจ้าของร้านสิริวโรบอกถึงสาเหตุที่ชุมชนยุติการจัดงานถนนสายไม้ลงเมื่อปี 2551 นับจากนั้นก็เว้นว่างมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว แต่ชื่อ “ถนนสายไม้” ยังคงเป็นความสำเร็จและเกียรติประวัติยิ่งใหญ่ ทั้งยังกลายเป็นเสมือนชื่อที่ 2 ของซอยประชานฤมิตรแห่งนี้ไปแล้ว

การจะฟื้นฟูถนนสายไม้ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 11 จึงเปรียบเหมือนการฝังเมล็ดพันธุ์ลงดิน โดยหวังให้มันงอกงามเป็นพฤกษาใหญ่

ทว่าหนทางก็ไม่ได้ราบรื่น หลังจากคณะกรรมการชุมชนได้จัดประชุมใหญ่ที่ลานศาลเจ้าแม่ทับทิมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ร่วมกับคณะทำงาน ส.ส. เขตบางซื่อ และทีมออร์แกไนเซอร์ระดับประเทศ ทุกคนได้ลงแรงกายใจผลักดันเพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นทันช่วงปีใหม่

ถนนสายไม้ ถนนสายใหม่ ปลายทางคือความหวัง!

ทว่ายังไม่ทันข้ามปี โควิด-19 ก็กลับมาระบาดใหญ่อีกระลอก…

ทุกคนมีประสบการณ์มาแล้วว่าการแพร่ระบาดไม่จบลงอย่างง่าย จึงขอเรียนชี้แจงมา ณ ที่นี้ และขอกราบประทานอภัยที่ทำให้ท่านต้องเสียเวลาในช่วงต้นที่ได้ดำเนินงานมาพอสมควรแล้ว” ภูริสิทธ์ระบุไว้ดังนี้ในช่วงท้ายของหนังสือแจ้งการเลื่อนจัดงานถนนสายไม้ ส่งถึงชาวชุมชนทุกคน

แต่ก็เพียงแค่เลื่อน หาใช่ล้มเลิก ชุมชนตกลงกันว่าโครงการนี้จะต้องสำเร็จลุล่วงให้จงได้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปี 2564

สำหรับภูริสิทธิ์ ความคาดหวังหลักของเขาต่องานถนนสายไม้ครั้งที่ 11 มีสามประการ คือ

กลุ่มลูกค้าใหม่ ความคิดใหม่ และแน่นอนที่ขาดไม่ได้–คนรุ่นใหม่

“เราพยายามหาคนรุ่นใหม่มาออกแบบงาน เพราะเราต้องการความคิดแบบคนรุ่นใหม่ เราเชิญอาจารย์จุฬาฯ มาช่วย มีคนทำงานในชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราเห็นศักยภาพเขา ก็เอาเขามาช่วย เราจะทำให้เกิดความยั่งยืนโดยสร้างแหล่งความรู้ในชุมชน เชิญนักศึกษามาทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีทำงาน”

แนวคิดของประธานคนปัจจุบันสะท้อนชัดถึงตัวตนของชุมชน ที่แม้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนานเหมือนฐานรากที่หยั่งลึกลงดิน แต่ขณะเดียวก็เติบโตแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปยังพรมแดนใหม่ๆ ที่เป็นไปได้เสมอ ไม่หยุดนิ่ง–ต้นไม้จะต้องโต รากยิ่งลึก ยอดยิ่งสูง

prachanarumitr12
บรรยากาศซอยประชานฤมิตร ถนนสายไม้ที่ยาวกว่า 1 กิโลเมตร และมีร้านค้าไม้กว่า 200 ร้าน
prachanarumitr13
ประชานฤมิตร…ถนนสายไม้

ได้เวลาส่ง “ไม้” ต่อ

ดวงตะวันตระเวนข้ามผืนฟ้า ล่วงเข้าสู่ยามสนธยา แต่ยังไม่สิ้นสุดบทสนทนา

ประธานชุมชนเล่าถึงความกังวลของคนในซอยประชานฤมิตร คือปัญหาทรัพยากรขาดแคลน ทั้งไม้และมนุษย์

“ซื้อไม้ไม่เหมือนซื้อทองนะ ถึงมีตังค์ก็ซื้อไม่ได้ เพราะไม่ใช่จะมีไม้ให้คุณทันที” ภูริสิทธิ์ยืนยัน

ไม้สัก คือไม้ที่เหมาะกับงานช่างที่สุด งดงาม คงทน อายุใช้งานยาวนานกว่าอายุขัยมนุษย์ เหมาะกับทั้งงานใหญ่และงานละเอียด เพราะทำงานง่าย เนื้อไม้ไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป อีกทั้งภายในยังมียาง ทำให้ขี้เลื่อยมีน้ำหนัก เวลาทำงานขี้เลื่อยจะทิ้งตัวลงพื้น เก็บกวาดง่าย ไม่ฟุ้งกระจายเช่นไม้ชนิดอื่น ถือเป็นไม้โปรดของบรรดาช่างก็ว่าได้ ในอดีตไม้สักยังหาง่าย ราคาถูก

แต่เนื่องจากไม้สักในไทยจัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2530 ซึ่งหากจะกระทำการใดๆ ต่อไม้ ต้องได้รับอนุญาตจากทางการเสียก่อน ปัจจุบันไม้สักในไทยแทบทั้งหมดจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซ้ำร้ายราคาก็สูงขึ้นตามยุคสมัย

อีกปัญหาหนึ่งคือช่างไม้ฝีมือดีซึ่งกำลังร้างราไป ภาพช่างบุญชูเดินกระย่องกระแย่งไปที่เลื่อยฉลุไฟฟ้าผุดวาบขึ้นในหัว ก็ดังที่ผู้สืบทอดร้านณรงค์การช่างว่าไว้ วิชากำลังจะตายไปพร้อมช่าง ขณะเดียวกันค่าแรงที่สวนทางกับทักษะก็ไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา

ฤๅจะต้องสิ้นไม้-ไร้ช่าง กันคราวนี้?

ถึงกระนั้นความหวังยังไม่ถึงกับอันตรธาน ดังจะเห็นได้ว่าหลากชีวิตในซอยประชานฤมิตรยังเลือกรับช่วงต่อของกิจการจากบรรพบุรุษ สืบเนื่องมาจนรุ่นลูก รุ่นหลาน

เมื่อตั้งคำถามกับภวรียารัสถึงเหตุผลของการสืบสานกิจการงานไม้ นี่คือคำตอบที่ได้

“เราเองจบบริหารธุรกิจ ไม่ได้เรียนด้านออกแบบ แต่ว่าเราเกิดและโตมากับสิ่งนี้ ค้อน ตะปู ไม้ มันคือทักษะที่ติดตัวเรามา เราเข้าใจและเรียนรู้มันได้… ส่วนช่างรุ่นใหม่ๆ ตอนนี้ยังฝึกไม่ขึ้น ด้วยถ้าไม่ได้ชอบงานช่างแล้วก็จะฝึกยาก จะให้มานั่งตัดไม้อะไรก็ยาก แต่ถ้าเราชอบอยู่แล้วก็สำเร็จไปครึ่งทาง ที่เหลือคือการพัฒนาทักษะตัวเอง ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบ เราจะหมั่นเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง”

จะว่าไปถนนสายไม้เส้นนี้ก็ผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์มานาน ได้รับทั้งรายได้และเสียงชื่นชม คงถึงเวลาคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง ซึ่งสิ่งที่ชุมชนแห่งนี้มีให้และมอบคืนได้อย่างไม่ขาดสาย คือองค์ความรู้มหาศาลที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น บันทึกไว้ใต้ผิวไม้ โดยมีคนในชุมชนทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ คอยเป็นปากเสียงถ่ายทอดแทน

ได้เวลาส่ง “ไม้” ต่อให้สังคมเรียนรู้

ณัตตยา สายบัว หนึ่งในนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่ได้มาเก็บเกี่ยวความรู้จากชุมชนประชานฤมิตรในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ ให้ความเห็นไว้ว่า

“ประทับใจการต้อนรับและให้ความรู้ของชุมชนเป็นอย่างดี ชุมชนมีความร่วมมือกันที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนา มองเห็นโอกาส จุดอ่อน และจุดแข็งของชุมชนของตน ทั้งยังพร้อมจะทำให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องไม้ ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ความร่วมมือของชุมชนนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าประทับใจที่สุด”

ดูท่าว่าเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตที่ชุมชนประชานฤมิตรเพียรหว่าน จะเริ่มผลิใบอ่อนและเติบโตสู่แสงตะวันในอีกไม่ช้า

ดวงอาทิตย์เตรียมสั่งลาผืนฟ้ากว้าง ทอแสงทาบทาซุ้มประตูไม้ใหญ่ ขณะกำลังก้าวออกมาจากซอยประชานฤมิตรพร้อมบทเรียนมากมาย ถ้อยคำหนึ่งจากประธานชุมชนยังติดเตือนอยู่ในใจ

การรักษาไม้ก็หมายถึงการรักษาป่า แต่มิใช่ว่าการรักษาไม้คือไม่ใช้ไม้เลย การใช้ไม้อย่างคุ้มค่าและถูกต้องมากที่สุดต่างหากคือการรักษาไม้ได้อย่างดี การตัดต้นไม้มิใช่ว่าจะเป็นการทำลายป่า แต่ตัดอย่างไรต่างหากถึงจะบอกได้ว่าทำลายหรือไม่” –ข้อเตือนใจที่ภูริสิทธิ์ยึดถือเป็นสรณะ พิมพ์แปะไว้อยู่บนโต๊ะทำงานของเขา ราวกับจะพูดแทนเสียงของหมู่ไม้

ประตูไม้แข็งทน สลักลายอย่างวิจิตรในร้านสิริวโร เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่า ไม้แต่ละต้นที่ล้มไปล้วนได้ออกเดินทางไปทำหน้าที่ของมันอย่างงดงามและเต็มภาคภูมิ ไม่ต่างกับงานไม้สารพัดชนิดในชุมชนแห่งนี้ ทุกชิ้นปริ่มเปี่ยมด้วยเรื่องราว กระซิบอยู่ในความเงียบ

การตัดไม้อย่างถูกต้องนั้น ควรตัดเฉพาะต้นที่ขนาดกำลังพอดี ส่วนต้นที่สูงใหญ่เหลือไว้ให้เป็นแม่คอยบดบัง ปกป้องต้นอ่อนอื่นๆ ที่จะเติบโตตามมา การตัดไม้แต่พอดีจะทำให้ป่าเติบโตหมุนเวียน เพราะหากขาดต้นแม่คอยบดบัง หน่ออ่อนก็ยากจะอยู่รอด

ภาพที่เห็นในปัจจุบัน ชุมชนประชานฤมิตรก็เป็นประหนึ่งผืนป่าที่แวดล้อมด้วยเมือง ต้นไม้สูงใหญ่อุดมด้วยประสบการณ์และความรู้คอยแผ่คาคบกิ่งก้านใบชอุ่ม ปกคลุมต้นกล้าที่กำลังแทงยอดขึ้นมา ให้เติบโตและแข็งแรง พอจะต่อสู้กับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้

และหวังว่าจะเติบโตไปเป็นผืนป่าแห่งใหม่ในสักวัน