ณัฐภูมิ ฤทธิ์นอก : เรื่อง
พิมพร อินทรแสง : ภาพ

รื้อ / ฟื้น / คืนชีวิต : บางมูลนากบนการเริ่มต้นครั้งใหม่

“เราต้องพัฒนาให้คนในชุมชนมีสำนึกร่วมกันก่อน รู้ถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเรา ว่ามีความเป็นมาจากไหน เมื่อชาวบ้านรับรู้ขึ้นมาแล้ว คนอื่นที่เขาเห็นว่าสิ่งที่เรามีมันดี เขาก็จะตามมาเอง” อภิสิทธิ์ ประวัติเมือง กรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง กล่าวกับผม

เขาอยู่ในวัยกลางคน ใส่เสื้อคอปกสีดำ นุ่งกางเกงขาสั้น สวมแว่นตาสี่เหลี่ยมกรอบดำ ท่าทางใจดีกับแววตาอันมุ่งมั่นที่มองมายังผม ยิ่งกระตุ้นให้อยากรู้ว่าชุมชนนี้มีอะไรดี

บางมูลนาก อำเภอเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร

bangmoonnak02
bangmoonnak02 1

ล้อมวงคุยกันเรื่องบางมูลนาก

ตะวันดวงกลมส้มทอแสงสีทองในยามเช้าตรู่ กระทบยอดหลังคาศาลเจ้าพ่อแก้ว เผยให้เห็นลวดลายศิลปะแบบจีนอันงดงามของเรือนศาล เบื้องหน้ามีซุ้มมังกรทองถูกจัดเตรียมไว้ เพื่อเฉลิมฉลองงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้วที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่วัน

บางมูลนากเดินทางมาง่ายโดยมีรถตู้ให้บริการจากหมอชิตวันละหลายรอบหรือใช้รถส่วนตัวก็สะดวก แต่หากอยากสัมผัสบรรยากาศดีๆ ต้องเดินทางด้วยรถไฟ มาลงที่สถานีบางมูลนากได้เลย ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง จะได้บรรยากาศการย้อนอดีตของชาวบางมูลนากที่เคยใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง ส่งลูกหลานไปเรียนในกรุงเทพฯ กระทั่งประสบความสำเร็จกันจำนวนมาก

ชุมชนบางมูลนากในอดีตเป็นย่านการค้าสำคัญของภาคเหนือตอนล่าง มีชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากจำนวนมาก ทั้งชาวจีนแต้จิ๋ว ไหหลำ แคะ และกวางตุ้ง ที่ต่างมาทำการค้าหรือมาใช้แรงงาน จนทำให้พื้นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวชั้นดี ประกอบกับการมีเส้นทางรถไฟสายเหนือที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2450 ยิ่งทำให้ชุมชนนี้คึกคักมากขึ้นเป็นลำดับ

แรกเริ่มเดิมทีที่นี่ใช้ชื่อว่าบางขี้นาค บางก็ว่าบางบุญนาค ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาเป็นบางมูลนาก และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวถึงสาเหตุที่เรียกว่าบางขี้นาค เนื่องจากมีฝูงนากน้ำจืดมาอาศัยอยู่ในลำน้ำน่านเป็นจำนวนมาก เพราะแถวนี้มีปลาชุกชุม พอกินอิ่มมันก็ถ่ายของเสียทิ้งไว้ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นที่ท่าน้ำบางมูลนาก จึงพระราชทานนามว่าบางขี้นาค และก็เรียกต่อๆ กันมานั่นเอง

บางมูลนากคือบ้านเกิดของสิทธิ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกหลานของเจ้าพ่อแก้วคนหนึ่ง ด้วยความคุ้นเคยกับชุมชนนี้เป็นอย่างดี เขาจึงเป็นผู้ที่จะนำเรามารู้จักกับชุมชนบางมูลนากแห่งนี้ และให้คำตอบกับสิ่งที่เคยตั้งข้อสงสัยกับผมได้ดี

สิทธิ์เริ่มจากการพาผมเข้าไปยังตลาดยามเช้าที่ครึกครื้นเป็นพิเศษ แม้อยู่ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ก็ยังคงมีบรรดาพ่อค้าแม่ขายพากันนำสินค้ามาวางขายจนแน่นขนัดเต็มสองข้างถนน ทั้งของสดของคาวมากมายละลานตาดูน่าซื้อ เสียงเจี๊ยวจ๊าวของผู้ขายที่กำลังเสนอสินค้าให้ลูกค้าอยู่ บ้างก็ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันอย่างสนิทสนม

เขารีบสาวเท้ามาจนสุดซอย และเดินลัดเลี้ยวเข้าไปอีกหน่อยจนไปหยุด ณ พิพิธภัณฑ์เจ้าพ่อแก้วที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศาลเจ้าพ่อแก้ว ปุนเท่ากงของชาวบางมูลนากเชื้อสายจีน ก่อนจะเชิญองค์เจ้าพ่อแก้วไปประทับที่ศาลเจ้าพ่อแก้วหลังใหม่ในปี 2550 เพราะศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเดิมคับแคบและทรุดโทรม รวมถึงย่านตลาดเก่าที่เงียบเหงาลงเช่นกัน

bangmoonnak03
bangmoonnak04

บางมูลนากที่ (เคย) หลับใหล

วันเวลาล่วงเลยผ่านมานานนับ 60 ปี บางมูลนากย่านตลาดเก่าก่อนหน้านี้ถูกปล่อยให้รกร้างทรุดโทรม สภาพบ้านไม้สีน้ำตาลเก่าคร่ำคร่า สังกะสีที่ขึ้นสนิมบ่งบอกอายุการใช้งาน แถมถูกปกคลุมไปด้วยวัชพืชขึ้นระโยงระยางเต็มไปหมด

ศาลเจ้าพ่อหลังเก่าถูกน้ำกัดเซาะผุพังไปจนเกือบหมด ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เคยรุ่งเรือง บ้านหลายหลังต่างพากันปิดกิจการขายของลงเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มย้ายออกไปทำมาหากินที่อื่น ปล่อยให้บางมูลนากอยู่อย่างโดดเดี่ยว

“ทุกครั้งที่กลับบ้านมา เรารู้สึกว่าบ้านเราบ้านไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะเดิมโซนนี้เขาจะเรียกว่าร้างเลย ที่นี่เขาจะใช้ศัพท์ว่า ‘โศกๆ’ มันจะเหมือนไม่มีชีวิตน่ะครับ” คำกล่าวของชายคนหนึ่งที่สิทธิ์นำผมมาพบ เขาเล่าพลางชี้ไม้ชี้มือไปยังบ้านเรือนไม้ที่ถูกปิดตายมาหลายปี

ชายวัยกลางคนที่สวมเสื้อลายน้องนากสีดำ นุ่งกางเกงยีน ที่กำลังพูดกับผมผู้นี้ คือ เขต เส็งพานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง เขตเป็นคนหนึ่งที่ออกไปศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพที่อื่น เขาจึงรู้ดีว่าสังคมที่นี่เริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) มากขึ้นทุกวัน

เรื่องนี้ชวนให้ผมนึกถึงตลอดเส้นทางที่เดินผ่านมาในชุมชนนี้ เมื่อมองไปตามบ้านเรือนแถบนั้นจะพบแต่อากงอาม่านั่งทำกิจวัตรประจำวันกัน บ้างก็รดน้ำต้นไม้ บ้างก็กวาดบ้าน กระทั่งนั่งมองผู้คนผ่านไปมาด้วยสายตาที่ว่างเปล่า

แต่บางมูลนากที่เคยหลับใหลกำลังจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้น จากการที่ลูกหลานเริ่มทยอยกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิด พวกเขาคิดริเริ่มที่จะพัฒนาชุมชนของตนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง!

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชนครั้งนี้ได้เขตและอภิสิทธิ์มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการระดมทุนและเสนอแนวคิด การพัฒนาเมืองบางมูลนากอย่างยั่งยืน ภายใต้คอนเซปต์ว่า

“บางมูลนาก…เมืองน่าอยู่”

bangmoonnak06

เก่าใคร…ใหม่เรา

เป็นเวลาสายหน่อยๆ ที่ดวงตะวันเริ่มเร่งแสง แต่ยังมีลมเย็นจากลำน้ำน่านพัดมาเอื่อยๆ ให้พอได้คลายร้อน เคล้ากับเสียงดนตรียุค 90s ที่เปิดจากเทปตัวเก่าสีเงิน ช่วยสร้างความครื้นเครงให้กับพื้นที่ที่เคยเงียบเหงานี้ได้บ้าง

เบื้องหน้าเป็นร้านกาแฟที่ถูกจัดหน้าร้านอย่างเรียบง่าย มีชายคนหนึ่งบรรจงเทน้ำร้อนลงบนภาชนะทรงกรวย เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่ามันคือกรรมวิธีในการดริปกาแฟ ที่ทำกันสดๆ แก้วต่อแก้ว รสชาติตามใจลูกค้า ชอบแบบเข้มๆ หรือกลมกล่อม นัทวุฒิ วีระกูล เจ้าของร้าน “ระเกะระกะคาเฟ่” คนนี้ก็รังสรรค์ให้ได้ พอทานคู่กับขนมเบเกอรีของเมย์ที่ทำมาขายแล้วยิ่งเข้ากัน

ร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านตลาดเก่าแก่ของชุมชน เป็นเสมือนที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของคนบางมูลนากและนักท่องเที่ยวให้ได้นั่งชิลล์ แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ซึ่งหากคนในชุมชนอยากจะขายสินค้าอะไรก็สามารถติดต่อแล้วมาเปิดขายได้เช่นกัน ทางคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองจะจัดสรรพื้นที่ไว้ให้โดยไม่เสียค่าเช่าที่ แต่ถ้าในอนาคตมีการเก็บค่าเช่าที่ เงินส่วนนี้ก็จะนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป

มิใช่แค่การจัดสรรพื้นที่ แต่คณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองยังรื้อฟื้นชุมชนให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง โดยยึดหัวใจสำคัญคือ การสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน ถึงความตระหนักรู้และภาคภูมิใจในบ้านเกิด นั่นคือการไม่ละทิ้งรากเหง้า แต่อนุรักษ์สิ่งที่เคยมีเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ชาวบางมูลนาก

ผมเดินไปนั่งบนเก้าอี้หน้าร้าน มองชายเจ้าของร้านกำลังชงกาแฟอย่างใจเย็น พร้อมกลับกลิ่นหอมกรุ่นๆ ของกาแฟที่ตีขึ้นจมูก สักพักก็มีเสียงรถจักรยานยนต์ของชายหนุ่มสองคนที่ขับมาจอดข้างๆ ร้าน ก่อนจะลงมาทักทายนัทวุฒิด้วยความสนิทสนม แล้วเดินไปนั่งรอกาแฟ สักพักก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมา

“นัทรู้จักเทปแบบนี้มั้ย?” สิทธิ์เอ่ยถาม ขณะที่ถือเทปสภาพเก่าเดินตรงมาหานัท

“แปดแทร็กเหรอพี่ รู้ครับ แต่สภาพนี้ไม่น่าจะเล่นได้แล้วมั้งพี่” นัทตอบอย่างเชี่ยวชาญ

“มันเป็นเพลงมั้ย?” สิทธิ์ถามต่อ

“มันเป็นเพลงครับ แต่ส่วนมากมันจะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับโฆษณาสมัยก่อน” นัทตอบ

“จะเป็นอะไรก็ตาม ถ้ามันเกี่ยวกับบางมูลนากมันก็จะมีคุณค่าเสมอ” พูดจบสิทธิ์ก็แกะดินแห้งที่เกาะตัวเทปออก

สำหรับที่นี่ ความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์ถูกรื้อฟื้นให้กลับคืนมากลายเป็นของใหม่ ด้วยการเริ่มต้นโครงการบูรณะศาลเก่าของเจ้าพ่อแก้ว จากนั้นจึงขยับขยายมาปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามตามไปด้วย เปิดบ้านเรือนที่ถูกใส่กลอนปิดตายมาหลายปี

นำรูปภาพเก่าๆ ของบางมูลนากเมื่อสมัยก่อนที่พอจะหาได้มาใส่กรอบตั้งโชว์ในชุมชน แม้กระทั่งนำถุงกระดาษใส่สินค้าที่เคยใช้เมื่อ 60 ปีก่อนมาติดไว้โดยรอบ สร้างความเก๋ไก๋ให้กับบริเวณนี้ พร้อมกับรวบรวมของที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้มาบรรจุในพิพิธภัณฑ์ตลาดริมน้ำ ทั้งหมดต่างล้วนเป็นความทรงจำที่มีค่าของชาวบางมูลนาก

นอกจากจุดนี้ยังมีการปรับปรุงสถานีรถไฟ ด้วยเป็นสถานที่แห่งวันวาน ทำให้คนให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของสถานีรถไฟสายนี้ และเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชน อย่างการสร้างสะพาน “รักชุมชน” เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรในชุมชน

“เราตั้งใจจะทำให้เป็นชุมชนโมเดลหรือเป็นชุมชนต้นแบบ โดยคนในชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคีกัน อยากจะทำบ้านเรือนของเราให้น่าอยู่ แล้วถ้าเกิดว่าทำได้ คนอื่นก็จะได้เอามาเป็นตัวอย่างได้” อภิสิทธิ์เล่าถึงแนวคิดของตน

แต่ทุกอย่างย่อมมีอุปสรรค เมื่อเสียงจากคนในชุมชนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาบางมูลนากในครั้งนี้…

bangmoonnak07

เพราะเราเข้าใจกัน

บางมูลนากเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ยังคงบ้านเรือนแบบสมัยเก่าเอาไว้ ตลอดแนวถนนจะพบป้ายสีเหลืองแขวนอยู่ด้านบน บนป้ายเขียนว่า “เจ้าพ่อแก้ว บางมูลนาก 22-24 กุมภาพันธ์ 2564” เป็นการบอกข่าวงานวันเกิดเจ้าพ่อแก้ว

ที่นี่สามารถเดินซอยโน้นทะลุซอยนี้ได้ง่าย อภิสิทธิ์จึงนำเราเดินไปดูบ้านเรือนแถบนั้น จนไปพบเข้ากับหญิงชรา เขาเอ่ยสวัสดีเธอที่กำลังกุลีกุจอกวาดบ้านอยู่ ก่อนจะเดินเข้าไปพูดคุยกัน เพื่อสอบถามความเห็นจากเธอในฐานะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการปรับปรุงพื้นที่ เธอมีชื่อว่าเจ๊เกี๊ย เป็นคนที่รับรู้เรื่องราวของทั้งสองฝ่าย นั้นคือเสียงจากฝั่งชาวบ้าน และจุดประสงค์ของคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง

“ไม่มีใครอยากเห็นบ้านเมืองไม่ดี ไม่ต้องตำหนิเรา เราก็เกิดในชุมชนนี้เหมือนกัน เราไม่เคยคิดร้ายกับชุมชนอยู่แล้ว บางคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจก็จะตำหนิว่าทำไปเพื่ออะไร” สิทธิ์กล่าวขณะยืนคุยกับเจ๊เกี๊ย

“คนที่คิดก็น่าจะน้อยลง ส่วนมากก็จะเสียดายตังค์อะ ถ้าทำกันแล้วก็บอกว่ามันจะคุ้มไหม” เสียงสะท้อนจากเจ๊เกี๊ย

“ผมก็เห็นคนที่เสียดายตังค์ ผมว่ายิ่งให้มันยิ่งได้ ยิ่งทำไปเรื่อยๆ มันก็ยิ่งได้ และสิ่งที่เราอยากจะทำก็คือเราพยายามไม่ให้มีผลประโยชน์ต่อตัวเองในพื้นที่ตรงนี้” สิทธิ์กล่าว

ภาพของสองคนที่อยู่คนละช่วงวัยกำลังสนทนากัน ทำให้ผมนึกถึงเมย์ สาววัยทำงาน ที่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดเพื่อมาดูแลพ่อแม่ และมาสานต่อกิจการในครอบครัวที่บางมูลนาก เธอมองว่าปัญหาเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง generation หากมีการพูดคุยกันหน่อย เปิดใจรับฟังกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ช่วยกันสนับสนุน ก็คงจะทำให้ชุมชนเดินหน้าต่อไปได้

ซึ่งทางคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองแก้ปัญหานี้ด้วยการเข้าไปอธิบายและให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ เมื่อทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เสียงวิจารณ์ต่างๆ ก็พลอยน้อยลงตามไปด้วย เพราะชาวบ้านเห็นว่าการจัดการชุมชนในครั้งนี้ก่อประโยชน์ให้กับพวกเขา

การจัดการชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ คือ คนในชุมชนต้องยอมรับ เข้าใจ และร่วมมือกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ทางคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองทำคือการทำแบบสอบถาม เพื่อสำรวจความคิดเห็นและผลตอบรับของชาวบ้าน ซึ่งผลตอบรับมีถึง 90% ที่เห็นด้วยกับการจัดการชุมชนในครั้งนี้

หลังจากที่สิทธิ์คุยกับเจ๊เกี๊ยจบก็นำผมไปยังสถานที่ต่อไป นั่นคือศาลเจ้าพ่อแก้ว เขาแนะนำผมให้เข้าข้างในเพื่อให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศของบางมูลนากได้มากขึ้น ผมตอบรับก่อนจะขอตัวแยกย้ายกับสิทธิ์

เบื้องหน้ามีเด็กๆ ที่ถูกคุณครูเกณฑ์มาร่วมการแสดงตอนนี้กำลังโบกมือทักทายใครบางคนจนเราเผลอโบกมือตอบ เป็นเรื่องชวนขบขันเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าเด็กๆ ไม่ได้ทักทายเรา แต่กำลังโบกมือทักทายเพื่อนๆ จากบนตึกของโรงเรียน พอเห็นภาพนี้แล้วความขบขันกลับกลายเป็นความน่ารักอย่างน่าประหลาด เห็นแบบนี้แล้วก็ชวนนึกถึงเรื่องการทำหนังสือประวัติศาสตร์บางมูลนากไว้สำหรับเด็กๆ ของเหล่าคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองขึ้นมา

“ตอนนี้พี่กำลังทำประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นหนังสือที่รวบรวมตระกูลในชุมชนของเรา ประวัติศาสตร์ของชุมชนตั้งแต่ต้น ว่าชุมชนมีความเป็นมาอย่างไร เพื่อเป็นมรดกความทรงจำให้กับลูกหลาน” อภิสิทธิ์กล่าว

การทำหนังสือได้รับความร่วมมือจากทางโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยา โดยเนื้อหาในหนังสือจะนำเสนอจุดเด่นของแต่ละตำบลในบางมูลนาก ซึ่งมีทั้งหมด 10 ตำบลเข้าไปด้วย เพื่อที่จะเป็นหนังสือเรียนนอกเวลาให้กับเด็กมัธยมฯ ไปถึงเด็กประถมฯ เป็นการปลูกฝังและให้เด็กๆ เห็นถึงคุณค่าของบางมูลนาก

กอปรกับทางกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองพยายามที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างบ้านเกิดเมืองนอนของตน นับว่าเป็นผลดีกับชุมชนที่ลูกหลานคิดริเริ่มที่จะเข้ามาพัฒนาตรงนี้ มีผู้บุกเบิกก็ย่อมต้องมีรุ่นสืบทอดเสมอ หากเด็กๆ ได้รับรู้เรื่องราวของที่นี่เขาจะมีความภูมิใจและรักบ้านเกิดเหมือนกับที่ทางคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองรัก

“พี่ว่าถ้ามีคนรุ่นใหม่ช่วยมาน่าจะดีเหมือนเรามีชุมชน มีตลาดเก่า เรามีของอยู่เเล้ว เเต่เเค่ไม่มีคนมาโชว์ด้านนี้ให้คนอื่นเห็นอะไรอย่างนี้ เเล้วเราจะทำอย่างไรให้คนข้างนอกเห็นคุณค่า ซึ่งจริงๆ ต้องคนในชุมชนเห็นคุณค่าก่อน” คำกล่าวของเมย์ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นชุมชนของตนพัฒนา

bangmoonnak08
bangmoonnak09

Smart / สามารถ / สามัคคี

smart ของบางมูลนาก

อยู่ที่การมีศูนย์รวมใจที่แข็งแกร่งร่วมกัน นั่นคือองค์เจ้าพ่อแก้ว และในฐานะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง จึงใช้พลังแห่งศรัทธาสร้างจุดยืนอย่างชัดเจน เน้นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเดิมให้กลับมา ซึ่งการจัดการชุมชนตรงนี้มีความสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะ และความร่วมมือร่วมใจกันของคนบางมูลนาก

สิ่งหนึ่งที่บางมูลนากไม่ละทิ้งไปคือการเกษตรกรรม ซึ่งต้นแบบของ smart farmer อยู่ที่นพพรฟาร์ม

สิทธิ์ขับรถออกไปนอกตัวชุมชน ห่างออกไปไม่ไกลนักจะพบกับซอยนพพร เขาเลี้ยวรถเข้าไปยังบ้านของเขตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เขตเป็นเจ้าของนพพรฟาร์ม เขาพยายามที่จะพัฒนาฟาร์มของเขาให้กลายเป็นต้นแบบฟาร์มในชุมชน โดยการไปศึกษาดูงานและนำมาปรับปรุงฟาร์มอยู่เสมอ

ฟาร์มของเขาตั้งอยู่ท่ามกลางไร่นาเขียวขจี ถัดจากทุ่งนามาจะพบกับสวนเมล่อนที่เขตปลูกไว้จำหน่ายโดยใช้โลโก้เป็นน้องนาก เพื่อเสนอถึงเอกลักษณ์ของบางมูลนาก

เขตและสิทธิ์พาผมเดินลัดเลาะทางด้านหลัง ผ่านบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดไว้เพื่อการเกษตร ตรงขอบบ่อมีมาสคอตน้องนากยืนโบกมืออยู่ ซึ่งฟาร์มของเขตมีส่วนเชื่อมโยงกับชุมชนตรงที่มีการนำผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงผ้า เสื้อ หมวก มาขายพร้อมกับเมล่อนของเขา เงินที่ได้จะนำเข้ามูลนิธิแก้วคุ้มครองเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป

จุดแข็งของที่นี่คือการมีอัตลักษณ์ชุมชนที่ชัดเจน มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ อย่างการมีมรดกทางวัฒนธรรมไทย-จีนที่หล่อหลอมคนบางมูลนากเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน มีสิ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่อดีต เช่น บ้านเรือนไม้สองชั้น ย่านตลาดเก่าแก่ อาหาร ผู้คน

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนบางมูลนากประสบความสำเร็จคือแนวคิดเรื่อง smart community ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต

“จริงๆ อันนี้ที่อยากให้เป็น smart community คือสิ่งที่กำลังจะทำ ทำยังไงให้มันอยู่ด้วยกันได้กับชีวิตแบบนี้ แต่คุณก็ทันสมัยได้นะ เป็นไปได้ไหมก่อนจะเข้ามาบางมูลนากมีไวไฟฟรีใช้ทั้งอำเภอ และเราก็ใส่ข้อมูลของเราเข้าไปแล้ว คุณก็จะได้ข้อมูลอำเภอของสิ่งต่างๆ” เขตเล่าถึงแนวคิดของเขา

ทั้งนี้ยังรวมถึงการจัดการเรื่องสภาพแวดล้อม ทั้งเรื่องขยะ สุนัขจรจัด และปัญหาโรคไข้หวัดนกที่เกิดจากนกพิราบอีกด้วย

สามารถ

คือความสามารถของคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองในการฟื้นฟูชุมชนได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะศาลเก่า ปรับปรุงพื้นที่รอบทั้งสถานีรถไฟ รีโนเวตบ้านไม้สองชั้น เพิ่มพื้นที่สาธารณะ และมีการออกแบบชุมชนควบคู่ไปด้วย

“เราได้รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาผังเมืองให้มันเป็นระบบมากกว่านี้ ทำให้เมืองไม่สะเปะสะปะ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี อันนี้ก็เลยเป็นวิชาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เรียนสถาปัตยกรรม” เขตเล่าขณะที่เปิดหนังสือที่มีเนื้อหาข้างในเกี่ยวกับการออกแบบชุมชนบางมูลนาก

การออกแบบชุมชนบางมูลนากยังคงคำนึงถึงอนาคตข้างหน้า นับจากนี้ไปอีก 5-10 ปี สังคมที่บางมูลนากจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเกือบสมบูรณ์ หากทำได้จริงก็จะสามารถรองรับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการในสังคมนี้ได้

การออกแบบชุมชนนี้ดำเนินไปได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้าจะเห็นภาพชัดขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นการทำงานแบบภาคประชาชน จึงต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งจากเทศบาลและอำเภอบางมูลนากเอง

โครงการนี้มีไว้เพื่อให้ทางภาครัฐสานต่อเจตจำนงของคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง เพราะทางมูลนิธิเองมีจำนวนเงินไม่มากพอ รายได้ส่วนใหญ่ของมูลนิธิแก้วคุ้มครองมาจากเงินบริจาคของคนในชุมชนเป็นส่วนใหญ่

โดยอาศัยการประชาสัมพันธ์ชุมชนผ่านเฟซบุ๊ก บางมูลนาก บ้านเราน่าอยู่, บางมูลนากเมืองน่าอยู่ และคนบางนาก ที่นำเสนอเสน่ห์ของชุมชนบางมูลนาก ทั้งผู้คน อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยว ให้กับคนภายนอกได้รู้จักอำเภอบางมูลนากมากขึ้น

แน่นอนว่าอุดมการณ์ย่อมมาพร้อมกับการลงมือทำ และต้องเกิดจากหลายๆ คนช่วยกัน สิ่งที่บางมูลนากมีนั่นคือ…

สามัคคี

ของคนในชุมชนที่ทำให้การพัฒนาชุมชนเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด คนในชุมชนจะทุ่มเทเพื่อให้งานออกมาดีเสมอ

อย่างงานเจ้าพ่อที่กำลังจะเกิดขึ้นเห็นได้ถึงความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งจากโรงเรียนที่เกณฑ์นักเรียนมาแสดงบนเวทีเพื่อสร้างสีสัน การจัดงานของมูลนิธิแก้วคุ้มครองที่ได้รับความสนับสนุนจากเทศบาล และประชาชนที่ร่วมบริจาคเงินให้กับศาลเจ้าพ่อแก้วในการจัดกิจกรรมต่างๆ

อย่างการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครองในครั้งนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดีเช่นกัน ทั้งการตอบแบบสอบถาม นำของที่สะสมไว้มาบริจาคเพื่อบรรจุเข้าพิพิธภัณฑ์ชุมชน กระทั่งการยกบ้านเรือนไม้ริมน้ำให้กับทางมูลนิธิได้พัฒนาเป็นแหล่งความรู้ของชุมชนโดยไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์ก็คนในชุมชนนี้แหละที่ช่วยกันถอนหญ้า ตัดต้นไม้ที่รกรุงรัง พร้อมกับนำไม้ประดับมาปลูกให้พื้นที่ตรงนี้สวยงามยิ่งขึ้น

ความสามัคคีนี้ยังสัมผัสได้ด้วยการเปิดใจของชาวบ้านต่อการพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ แม้จะมีเสียงที่เห็นต่าง แต่เมื่อได้รับรู้ถึงจุดประสงค์ที่ดี ชาวบ้านก็พร้อมสนับสนุนเพื่อให้บางมูลนากพัฒนาต่อไป

bangmoonnak10
bangmoonnak11

บางมูลนาก…เมืองน่าอยู่มาก

ปู๊นๆๆ เสียงรถไฟวิ่งผ่านสถานีบางมูลนากดังมาแต่ไกล หากลงมายังสถานีนี้จะพบกับมาสคอตน้องนากที่มายืนต้อนรับกันตั้งแต่หน้าสถานีเลย ซึ่งมาสคอตน้องนากเป็นแนวคิดของอภิสิทธิ์ ได้แรงบันดาลใจมาจากมาสคอตเจ้าหมีดำ “คุมะมง” ที่เมืองคุมาโมโตแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

จุดเด่นของบางมูลนาก คือน้องนากที่สวมคาแรกเตอร์ต่างๆ สร้างเสน่ห์และความน่ารักให้กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ได้มิน้อย อย่างที่สถานีรถไฟเองก็จะเป็นนากน้อยนายสถานีรถไฟ สวมชุดสีกากี ใส่หมวก ยืนโบกมือทักทายผู้ที่มาเยือนบางมูลนาก หรือน้องนาก ณ ศาลเจ้าพ่อแก้ว ที่สวมชุดกี่เพ้ายืนรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ข้างในด้วยความสดใส

นอกจากจุดนี้เราจะพบเห็นน้องนากวิ่งเล่นอยู่ทั่วชุมชน และได้รับความสนใจจากเด็กๆ เป็นอย่างมาก เด็กบางคนบอกว่ามันคล้ายกับแมว หากไม่สังเกตให้ดีก็คงจะเข้าใจผิดกัน จึงต้องมีใช้ศิลปะเพนต์ลายน้องนากเสมือนจริง เพื่อไขความกระจ่างให้กับคนที่พบเห็นมาสคอตน้องนาก

จุดนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ใครมาที่นี่แล้วจะต้องมาเก็บภาพสวยๆ กลับไป ไม่งั้นจะถือว่ามาไม่ถึงบางมูลนาก ซึ่งการนำศิลปะมารังสรรค์ในพื้นที่โล่งกว้างเช่นนี้ ช่วยดึงดูดเด็กๆ ให้มาเล่นในพื้นที่สว่างและปลอดภัยอีกด้วย

ส่วนการท่องเที่ยว เมืองบางมูลนากนั้นมีเสน่ห์ไม่แพ้ที่ไหน มีทั้งบ้านมรดกทางวัฒนธรรม เป็นบ้านไม้โบราณ ย่านตลาดเก่าแก่ มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่าง “สะพานรักชุมชน” ไว้ชมลำน้ำน่านยามพระอาทิตย์อัสดง มีอาหารรสชาติถูกปาก เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นไทย-จีนเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม แถมราคาย่อมเยา เรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ครบ ชม ชอป กิน เที่ยว

ความพิเศษคือ บางมูลนากเป็นพื้นที่มีขอบเขตชัดเจน จึงง่ายต่อการจดจำและพัฒนาในอนาคต และที่สำคัญบางมูลนากสามารถเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงได้

“สิ่งที่เราอยากจะทำคือการไปเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น กับอำเภออื่นที่มีอัตลักษณ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเขามาเที่ยวแล้วก็ไม่ได้มาแค่บางมูลนาก แต่อาจจะไปชุมแสง หรือไปตะพานหินซึ่งอยู่รอบๆ มาเที่ยวครั้งเดียวถือว่าคุ้ม” อภิสิทธิ์กล่าว พร้อมกับทอดสายตาไปยังสายน้ำน่านที่ระยิบระยับเมื่อต้องแสงตะวันยามเย็น

ร้านรวงแถบนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น หลังมีการพัฒนาชุมชนและการประชาสัมพันธ์ชุมชนที่ดี ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้า นับว่าเป็นผลพลอยได้ไปในตัว แม้ช่วงหลังจะโดนผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 แต่พวกเขาก็สามารถอยู่กันได้

โดยการจัดการชุมชนในครั้งนี้เป็นเพียงการจุดประกายเล็กๆ ที่ต้องอาศัยเวลา เงินทุน แรงกายและแรงใจของทุกๆ คน ทุกๆ ภาคส่วน จึงจะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

และที่ขาดไม่ได้เลยคือมาบางมูลนากต้องมาสักการะขอพรจากเจ้าพ่อแก้ว ปุนเท่ากงประจำอำเภอบางมูลนาก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ดวงอาทิตย์ดับแสง ถูกแทนที่ด้วยแสงจากศาลเจ้าพ่อแก้ว ซุ้มมังกรยามค่ำคืนเปล่งประกายไปด้วยโคมนับร้อยเรียงรายกันจนเต็มซุ้ม มีการนำโคมสีแดงตามความเชื่อของชาวจีน ที่หมายถึงความโชคดี มาประดับไว้ทั่วบริเวณศาล แสงไฟสีเหลืองนวลถูกเปิดขึ้นทำให้สว่างไสวไปทั่ว เป็นสัญญาณบอกว่าบางมูลนากได้กลับมาครึกครื้นอีกครั้งแล้ว

“เข้าไปไหว้ขอพรเจ้าพ่อสิลูก นี่เจ้าพ่อให้หวยอาม่าด้วยนะ” หญิงชราคนหนึ่งเอ่ยเชิญชวนให้เราเข้าไปข้างในด้วยรอยยิ้มละไม เราได้พูดคุยกับอาม่าสักพักก่อนจะขอตัวเข้าไปข้างในศาล

วูบแรกที่ก้าวผ่านพ้นประตูศาล เป็นความรู้สึกที่อบอวลไปด้วยพลังแห่งศรัทธา การสรรเสริญ และเฉลิมฉลอง เสียงเพลงสไตล์จีนดังมาจากตัวศาล ประชาชนต่างหลั่งไหลเข้ามาชมความงดงามของศาลเจ้าพ่อแก้วและซุ้มมังกรที่ตั้งอยู่หน้าศาล ด้านข้างจัดเป็นที่ถ่ายภาพอย่างดี เห็นเช่นนี้แล้วก็ชวนให้นึกไปว่า กว่าศาลจะสวยงามใหญ่โตโอ่อ่าได้ขนาดนี้ ต้องอาศัยพลังจากคนในชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างจนทุกอย่างสำเร็จ

ทุกคนในวันนี้ต่างมีความสุขยิ้มแย้มทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานไปรอบๆ ซุ้มมังกร เห็นภาพนี้แล้วทำให้ผมคลายความสงสัย จากที่เคยตั้งคำถามไว้อย่างไร้ข้อกังขา

“เราใช้มุมมองว่า small and beautiful ทำเมืองเล็กๆ ให้มันน่ารัก เราถึงใช้คอนเซปต์บางมูลนาก เมืองน่าอยู่ ทำยังไงคนมีอารมณ์แจ่มใสบนไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต้องไปแข่งขันอะไรกันมากมาย แต่คนอยู่ได้ด้วยความสุข”

เขตเฉลยให้เราเข้าใจถึงรอยยิ้มของชาวบ้านในชุมชน…เล็กๆ แห่งนี้

บางมูลนาก ชุมชนเก่าแก่ที่กำลังได้รับการรื้อฟื้นคืนชีวิตใหม่อีกครั้ง