ดังได้เคยอธิบายมาแล้วว่า ภูมิศาสตร์ของ “สุเมรุจักรวาล” อันประกอบด้วยภูเขาสูงใหญ่เป็นศูนย์กลาง มีแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์เป็นทวีปอยู่ทางทิศใต้ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรนั้น เป็นตัวแบบที่จำลองภูมิศาสตร์อนุทวีปอินเดียมานั่นเอง แต่คติการนับถือภูเขาสูงว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาที่สูงส่งเหนือมนุษย์ มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะแต่ในอินเดียแห่งเดียว ว่าที่จริง ดูจะเป็นความเชื่อที่พบได้ในสังคมมนุษย์มากมายทั่วโลก แม้แต่ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ ซึ่งพรรณนาไว้ว่าบนเทือกเขาโอลิมปัสทางตะวันออกของแดนโยนก เป็นที่พำนักของเหล่าทวยเทพ

gunung ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 90

เกาะชวาอันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียปัจจุบัน เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟเงื้อมทะมึน มีทั้งที่ดับสนิทแล้ว และที่ยังคงปะทุอยู่เป็นระยะ ผู้คนย่อมต้องเคารพยำเกรงภูเขาสูงที่พ่นควันและไอร้อนอยู่เป็นนิจศีล รวมถึงพร้อมจะสำรอกเอาลาวาและเถ้าถ่านมาถล่มทลายบ้านเมืองให้ย่อยยับได้ตลอดเวลา

ดังนั้น คติการนับถือ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ในชวาจึงน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

จนเมื่อศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูเผยแผ่เข้ามา คติแบบ “สุเมรุจักรวาล” อันมีภูเขาเป็นแกนกลางจักรวาลจึงสามารถผสมผสานกับความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมได้อย่างสนิทสนมกลมกลืน จนกลายเป็นคติเรื่อง “กุนุง” (gunung) หรือภูเขาศักดิ์สิทธิ์

น่าสนใจว่าไทยเรายังรับเอาคำ“กุนุง” หรือ “กุหนุง” ที่แปลว่าภูเขา (และอีกหลายคำ) ผ่านวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชวา จนมาตกค้างอยู่ในวงศัพท์ของกวีไทยด้วย เช่นกลอนบทละคร “อิเหนา” ที่ว่า

“บัดนั้น ประสันตากุเรปันใจหาญ

เที่ยวไปในพงดงดาน ถึงสถานภูผาตะหลากัน

จึงคิดว่าบนกุหนุงนี้ เห็นจะมีดาบสเป็นแม่นมั่น

จะขึ้นไปเคารพอภิวันท์ ให้จับยามย่าหรันที่หายไป”

แม้ต่อมาภายหลัง ชวาจะกลายเป็นแว่นแคว้นที่ไปเข้ารับศาสนาอิสลามจนหมด แต่คติ “กุนุง” อันเป็นการผสมผสานคติเขาพระสุเมรุกับการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ยังทิ้งร่องรอยสำคัญไว้ตกค้างไว้ให้เห็น เช่นเมื่อก่อนจะเริ่มจับเล่น “วาหยัง” (ตัวหนังหุ่นเงาแบบหนังตะลุง) ของชวา นายหนังจะต้องเชิดรูปภูเขา“กุนุงงัน” (gunungan) ออกมาปักกลางจอเป็นประธาน เอาฤกษ์เอาชัย ทำนองเป็นศิริมงคลสำคัญเสียก่อน

รูปภูเขา “กุนุงงัน” มีโครงรอบนอกเป็นสามเหลี่ยมทรงสูง ภายในมักฉลุระบายสีเป็นภาพภูเขาซ้อนทับด้วยต้นไม้ใหญ่หรือประตู บางครั้งมีสัตว์ดุร้ายเช่นเสือกับวัวต่อสู้กันอยู่ที่เชิงเขา หรือไม่ก็มีเศียรมังกร/พญานาคโผล่ออกมาทั้งสองด้าน รวมถึงนิยมประดับรูป “หน้ากาล” ไว้ตรงกลางด้วย

ในโลกสมัยใหม่ “กุนุงงัน” ยังนับเนื่องเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ “ความเป็นชวา” ไปด้วย เช่นที่สนามบินอดิสุมารโน (Adisumarmo ขนานนามตามวีรบุรุษยุคสงครามเอกราช) ที่เมืองสุรกาตาร์ (หรือโซโล) บนเกาะชวาภาคกลาง ถึงแก่เลือกจัดผังบริเวณให้อยู่ในรูปทรงของกุนุงงัน

นอกจากนั้นแล้ว ในงานพิธีสำคัญของชวาจะมีประเพณีกินเลี้ยงที่เรียกว่า “ตุมเปิง” (tumpeng) ซึ่งจะตักข้าวสวย (หรือข้าวมันที่หุงกับกะทิ) มากองพูนเป็นทรงกรวยแหลมกลางถาดใบใหญ่ ล้อมด้วยกับข้าวนานาชนิดให้แขกเหรื่อผู้มีเกียรตินั่งล้อมวงเปิบกินร่วมกัน

มีผู้อธิบายกันว่าตุมเปิงนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับตัวหนังกุนุงงัน คือเป็นเรื่องของความเป็นศิริมงคล

อีกทางหนึ่งจึงชวนให้นึกถึง “บายศรีปากชาม” ตามคติไทยอยู่ไม่น้อยทีเดียว

บายศรีปากชามตามคติไทยถือเป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยพื้นฐานของคนไทยภาคกลางแต่โบราณ ใช้ข้าวสวยบรรจุเต็มกรวยใบตอง ตั้งไว้ในชาม เปรียบประดุจรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วย “นมแมว” คือใบตองที่พับทบไปมาเป็นปลายแหลมเรียวอีกสามอัน ซึ่งว่ากันว่ามีความหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือไม่ก็เป็นเขาตรีกูฏ ภูเขาสามเส้าที่รองรับแท่งเขาพระสุเมรุอยู่