เรื่อง : พีรภัค จรเสมอ
ภาพ : สุกฤษฎิ์ ปัจจันตดุสิต
อะไรกันเนี่ย…
ภาพถ่ายในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวตรงหน้าผมตอนนี้ ทำให้ผมต้องคิดกับตัวเองอยู่ครู่หนึ่ง เพราะมันเป็นภาพต้นไม้ธรรมดา แต่ดันไม่ธรรมดาด้วยความที่มันแตกต่างจากรูปต้นไม้ที่เคยเห็นทั่วไป ราวกับว่ามันถูกเสกให้มีชีวิตและลุกฮือขึ้นมาตะโกนใส่เราด้วยอารมณ์ว่า “ฉันโกรธ ไม่ไหวแล้วนะ!” เพราะรูปร่างของมันใหญ่โตเหมือนอสุรกายที่ยืนอยู่ในท่าทางต่างๆ ตามธรรมชาติโดยไม่ได้มีการจัดฉากขึ้นมา แต่สะดุดตาเป็นบ้า…
ภาพถ่ายแนวสตรีต (street photography) อาจอธิบายอย่างง่ายได้ว่าเป็นการถ่ายภาพที่เน้นการถ่ายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สาธารณะและไม่ได้มีการจัดฉาก แต่กลับมีอะไรบางอย่างที่พิเศษเกิดขึ้นในรูปจนผู้ชมเกิดความรู้สึกบางอย่างไปกับมัน
ภาพที่สะดุดตาและชวนคิดให้เราคำนึงถึงธรรมชาติกันมากขึ้นเหล่านี้เป็นผลงานภาพชุดที่มีชื่อว่า “สัญญาณ (Signs)” หนังสือภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ใน MoMA Library พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ชื่อดังแห่งนิวยอร์ก บันทึกภาพโดยหนิง-อัครา นักทำนา ชายหนุ่มอารมณ์ดีที่งานอดิเรกคือการเป็นช่างภาพสตรีตมักจะบอกเล่าเรื่องราวของสังคมในแง่มุมต่างๆ มาโดยตลอด จนคว้าชัยในเวทีประกวดภาพถ่ายสตรีตระดับนานาชาติมาแล้วหลายรางวัล และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สร้างเสริมไอเดียให้กับช่างภาพรุ่นใหม่อีกหลายคนจากการสร้างคอมมูนิตีของกลุ่มคนที่รักในการถ่ายภาพแนวร่วมสมัย (contemporary photography) ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ได้รับและเปิดใจ
“หนังมันเกี่ยวกับคนที่ทำงานศิลปะนี่แหละ พระเอกใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายสิ่งที่เขาเห็นในชีวิตประจำวันแล้วเอามาจัดแสดงในร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่ แล้วก็ดันมีเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ไปเจอรูปในร้านแล้วเขาสนใจก็เอางานไปแสดง แล้วพระเอกก็โด่งดัง แล้วก็ไม่มีอะไรเลยตามสไตล์หนังคอมเมดี (หัวเราะ) แต่ในความไม่มีอะไรนี่แหละมันจุดประกายเราว่า…เออ การถ่ายรูปมันสามารถทำเป็นงานศิลปะได้ด้วย?”
ในอดีตอัคราคุ้นเคยกับการใช้กล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ถ่ายรูปสินค้าลงในเว็บไซต์ แต่มุมมองของเขาได้เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Pecker (1998) ทำให้เขาสนใจภาพถ่ายในแง่ของการนำเสนอเชิงศิลปะมากขึ้น ด้วยการลองถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มพลาสติกที่มีอยู่ แต่สุดท้ายไม่รอด จึงล้มเลิกการถ่ายรูปไปหลายปี
เมื่อเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้น กล้องถ่ายรูปเองก็มีการก็พัฒนาขึ้นทั้งเรื่องความสะดวกในการใช้งาน รูปร่าง น้ำหนัก และราคา ทำให้คนสามารถเป็นเจ้าของกล้องที่ดีได้ในราคาสบายกระเป๋า อัคราจึงซื้อกล้องดิจิทัลมาใช้บ้าง แล้วเรื่องที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เขากลับมาสนใจการถ่ายภาพสตรีตอีกครั้งก็เกิดขึ้นที่ร้านขายหนังสือในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน ค.ศ. 2008
“วันหนึ่งผมไปเจอหนังสือของ Elliot Erwitt ในร้านคิโนะคูนิยะ (Kinokuniya) ที่พารากอน แล้วเจอภาพสตรีตแนวขำๆ เช่น เขาเอาหมาวางบนตักแล้วเอาหน้าของหมามาบังหน้าตัวเอง มันเลยออกมาแบบคนในหน้าหมา เราก็แบบตลก (หัวเราะ) แบบว่า เฮ้ย! มันทำให้เรารู้ว่าการถ่ายรูปมันมีหลายแบบ ก็เลยสนใจแล้วก็หาความรู้มาเรื่อยๆ”
อัคราเริ่มถ่ายรูปสตรีตมากขึ้น ไปเวิร์กช็อปหาความรู้เพิ่ม และเขาก็เริ่มได้รับรางวัลจากการถ่ายภาพในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งประสบการณ์ระหว่างทางทำให้เขามองกลับมาในสังคมและรู้สึกว่ารูปแบบภาพถ่ายแนวสตรีตที่พบเห็นในไทยยังไม่แพร่หลายพอ
สังเคราะห์ + คิด
คนมีหน้าเป็นนาฬิกาเว้ย เจ๋งเป็นบ้า
โอ้โฮ ผู้ชายฉี่เป็นนมข้น อะไรวะเนี่ย ฮ่าๆ
ผมคิดอยู่ในหัวด้วยความตื่นตาตื่นใจอีกครั้งขณะที่สายตากำลังเลื่อนดูภาพต่างๆ ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Street Photo Thailand (SPT) ที่อัคราและกลุ่มเพื่อนๆ ช่างภาพอีกหลายคนได้ร่วมกันสร้างใน ค.ศ. 2011 เพื่อโปรโมตแนวภาพถ่ายสตรีตที่ไม่ค่อยได้พบเห็นมากนักในไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ตอนแรกก็ทำเพื่อสนุกๆ แล้วก็ทำเพื่อปฏิเสธบางอย่าง street photography ยังมีแบบอื่นอีกเยอะที่ฝรั่งกำลังนิยม ก็เลยทำขึ้นมาให้เห็นว่าเราไม่ต้องถ่ายแต่ความสวยงามในไทย ความรกๆ ของเมืองไทยจริงๆ ก็ดูดีได้ เลยคิดกันขึ้นมาเป็นกลุ่มแรก”
กลุ่มในโลกออนไลน์นี้จึงเป็นเหมือนคอมมูนิตีขนาดย่อมๆ ที่เปิดให้ใครก็สามารถได้ส่งผลงานภาพถ่ายเข้ามา และทีมงานจาก SPT (ที่เป็นช่างภาพสตรีตในวงการ) ก็จะคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นน่าสนใจออกมาแสดงในกลุ่มเพื่อแชร์ภาพถ่ายไอเดียดีๆ ให้กับทุกคน นอกเหนือจากการเป็นเวทีโชว์ฝีมือแล้วในกลุ่มก็ยังมีการให้ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในอดีตที่ทำให้หลายๆ คนได้พัฒนาฝีมือการถ่ายภาพสตรีตขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างเช่นโปรเจกต์ 365
“ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากมีกิจกรรมใหม่ ‘Project 365’ ชวนกันถ่ายรูปทุกวันแล้วให้คนมาแชร์กันในกลุ่ม ปรากฏว่าผมดันทำไม่สำเร็จ (หัวเราะ) แต่มันเป็นการเรียนรู้ที่ดีทุกวัน ภายใต้แรงกดดันที่คุณต้องทำมันให้ได้”
นอกจากจะเป็นสิ่งที่ท้าทายแล้ว กิจกรรมนี้ยังทำให้สมาชิกในกลุ่มทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นได้แลกเปลี่ยนไอเดียมุมมองในการถ่ายภาพมากขึ้น และเกิดการพัฒนาตนเอง ใส่ใจและสังเกตรายละเอียดต่างๆ ในการถ่ายภาพกันมากกว่าเดิม อีกสิ่งที่น่าสนใจคือบางผลงานจากโปรเจกต์นี้จากช่างภาพหลายคน ได้รับการส่งเข้าไปประกวดในเวทีระดับโลกมาแล้ว เช่น อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล, ธนคม ใหลสกุล, ธนสรณ์ เจนการกิจ ซึ่งในปัจจุบันผู้คนเหล่านี้ก็ยังคงพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดมาและสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าศิลปินไทยก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกเช่นกัน
ขณะที่เวลาค่อยๆ ผ่านพ้นไป นักสร้างภาพสตรีตในไทยเองเริ่มเปิดกว้างเรื่องมุมมองกันมากขึ้น มุมมองต่างๆ ของอัคราก็กว้างขึ้นจากการสะสมประสบการณ์ ความคิด และเขาก็ตกตะกอนบางอย่างออกมา
ส่งต่อ
อัคราเริ่มเปิดใจให้กับศิลปะภาพถ่ายร่วมสมัยให้หลากหลายมากขึ้นกว่าการถ่ายแนวสตรีตเพียงอย่างเดียว เขาเรียนรู้การทำภาพถ่ายเชิงความคิด (conceptual photography) โดยเอาองค์ความรู้สตรีตมาต่อยอดเป็นเครื่องมือในการถ่ายสิ่งต่างๆ เพื่อเปิดความหมายของศิลปะของตนเองให้กว้างกว่าเดิมไปอีกขั้น
“ช่วงอายุของเรามันก็จะมีการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ พอเรียนรู้เสร็จก็จะกระโดดออกไปเรื่อยๆ สำหรับผมมันคือการเห็นกรอบตัวเอง แล้วก็คิดว่า เฮ้ย! เราสามารถตีกรอบตัวเองให้ได้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่วันหนึ่งผมอาจจะไปปั้นดินก็ได้นะ” (หัวเราะ)
“มันคือการแตกยอดออกไปอีก ไม่ได้จมอยู่กับการเป็นตัวเอง เรียกว่าเคารพตัวเองดีกว่า ถ่ายรูปเพื่อตัวเอง ศิลปะมันไม่ใช่แบบว่าคุณโด่งดังจากอันนี้แล้วจะอยู่แต่ในนี้ตลอดไป แต่บางครั้งก็ต้องมีเจ็บปวดบ้าง เวลาที่แบบ…บางคนบอกทำไมคุณไม่เป็นสตรีตต่อ ผมไม่เคารพคุณแล้ว คุณไม่สตรีตผมไม่ติดตามคุณแล้ว อืมก็…ก็ช่างคุณสิ” (หัวเราะดังกว่าเดิม)
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 2016 อัคราได้ให้กำเนิดเด็กสาวตัวน้อยขึ้นบนโลกแห่งความจริง ทำให้เขาต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น แต่ด้วยใจรักเลยยังอยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพบ้างในขณะที่ตนเองก็ต้องช่วยภรรยาเลี้ยงลูกด้วย ภายใต้อุปสรรคที่ทำให้ออกไปถ่ายรูปบ่อยๆ ไม่ได้ อัคราจึงทำอะไรบางอย่างขึ้นอีกครั้ง…
“CTypeMag มันเกิดขึ้นเพราะผมรู้สึกว่าพื้นที่ในการแสดงผลงานบนเว็บไซต์ของไทยมันยังน้อย มันควรต้องมีเว็บไซต์ในการให้คนที่ไม่ได้มีคอนเนกชันมากมายในการแสดงงานตามแกลเลอรีหรือเว็บไซต์อื่นๆ ก็ตามในขณะที่ต่างประเทศเขามีเยอะแยะน่ะ”
CTypeMag.com จึงกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นแกลเลอรีออนไลน์ในการโปรโมตงานภาพถ่ายร่วมสมัยที่น่าสนใจจากศิลปินโดยเน้นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจากทั่วโลก โดยอัคราได้ผันบทบาทจากช่างภาพสู่การเป็นคิวเรเตอร์ในการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นและน่าสนใจออกมาแสดงในพื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์เองด้วย
หากห้องสมุดคือคลังความรู้ของนักอ่าน CTypeMag ก็อาจจะเป็นห้องสมุดไอเดียสำหรับช่างภาพอีกหลายๆ คน เพราะผลงานภาพถ่ายต่างๆ ที่ถูกจัดแสดงในเว็บไซต์ CTypeMag มีการนำเสนอผ่านความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งภาพถ่ายแนวคอนเซปชวล (ถ่ายภาพที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่นำเสนอความคิดหรือคอนเซปต์บางอย่าง) ภาพถ่ายคอลลาจ (ภาพที่ใช้เทคนิคการตัดแปะ) รวมถึงภาพถ่ายแนวสตรีตที่โดดเด่นจากศิลปินหน้าใหม่ทั้งจากชาวต่างชาติทั่วโลกและคนไทยอีกมากมาย
อาจจะกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีนั้นทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์สบายไปซะทุกอย่างก็คงไม่ผิด เพราะมันเป็นเหมือนโลกใหม่ที่เราสามารถรับชมงานศิลปะภาพถ่ายในแกลเลอรีได้แค่เพียงปลายนิ้วด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนไกลๆ ไม่ต้องเจออากาศร้อนๆ
แต่โลกใหม่ที่แสนจะง่ายไปซะหมดนี้ก็อาจทำให้เราอาจลืมเสน่ห์ของโลกเก่าที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ รูป รส กลิ่น เสียง และความรู้สึก ทำให้ 5 ปีถัดมาอัคราจึงพาทุกคนกลับไปย้อนอดีตกันอีกครั้งด้วยการสร้างแกลเลอรีในโลกแห่งความจริง ชื่อ CTypeMag Gallery – สถานที่ที่เรากำลังสนทนากันอยู่ในตอนนี้และกำลังจะเปิดให้บริการในอีกอาทิตย์ถัดไป
“ลองมา back to basic กันหน่อยซิว่าเขาทำกันยังไง สมัยก่อนกว่าจะได้แสดงก็ต้องมาติดงาน แบบว่ามันคือความไม่สะดวกสบายน่ะ แต่ความไม่สบายนี่แหละคือประสบการณ์ มันคือการได้สัมผัส ขัดเกลาอย่างหนึ่ง ระหว่างทางมันคือการคิด คิดมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้มันเร็วมาก แป๊บเดียวผ่าน เราเลยนึกถึงคุณค่าของความไม่สะดวก มันคือการที่เราได้ใช้เวลาไปกับมันบ้าง ให้มันช้าลง 400 เมตรจากปากซอย เดินเข้ามา ร้อนหน่อยนะ (หัวเราะ)
“การได้สัมผัสจากรูปรสกลิ่นเสียงมันทำให้เกิดความเป็นมนุษย์ แต่นอกเหนือจากการตอบแบบหล่อๆ มันคือกิเลสผมด้วย (หัวเราะอีก) ผมอยากทำก่อนไม่มีโอกาส จริงๆ เรามีชีวิตหลายครั้งนะ แต่เราตายครั้งเดียว เราตื่นมาก็มีอีกชีวิตละ เวลาตายตายครั้งเดียว จะได้จำก่อนตายว่า เฮ้ย! เราได้ทำแล้วเว้ย แต่มันทำแล้วมีประโยชน์นะ”
ผลงานที่จะได้แสดงในแกลเลอรีแห่งนี้มีสองรูปแบบ แบบแรกคือการ open call ให้ศิลปินส่งผลงานเข้ามาโดยอัคราจะเป็นคนคัดเลือกมาแสดง และแบบที่ 2 คือ selected exhibition คือถ้าเจอผลงานที่สะดุดตาก็อาจจะชวนมาทำ solo exhibition หรือเป็นการแสดงงานร่วมกับศิลปินคนอื่นในสถานที่เดียวกัน
“คือผมไม่ได้ปฏิเสธความเก่าหรือความใหม่ การมีทั้งแบบออนไลน์และแบบออนกราวนด์แบบแกลเลอรีนี่ไม่มีผิดถูก แล้วแต่คนจะเลือก แต่สิ่งที่สำคัญน่ะมันต้องมีพื้นที่ให้เขาไปดูสิ ทั้งเว็บไซต์ก็ต้องมี แกลเลอรีก็ต้องมี แล้วก็ต้องเปิดใจเรื่องแนวคิดด้วย อาจจะมีงานแบบร้อยสองร้อยปีก่อนก็ได้ แต่ก็มีงานร่วมสมัยด้วยนะ”
หลังบทสนทนาจบลง ผมกลับมานั่งคิดกับตัวเองอีกครั้งและอดใจรอไม่ไหวว่าวันเปิดแกลเลอรีจะเป็นยังไงบ้าง?
ชุมชนไร้กรอบ
ตึกแถวสองชั้นสีขาวที่มีป้ายหน้าทางเข้าเขียนว่า CTypeMag ในตอนนี้ไม่ได้ถูกตกแต่งด้วยภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ผมเห็นเมื่อกลับมาอีกครั้งในวันเปิดแกลเลอรีก็คือผู้คนที่ทะลักออกมาจากแกลเลอรีจนล้นออกมาอยู่ข้างถนน
ค่ำนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในงานเปิดตัว ภายใต้แนวคิด Taking It Personal – เรื่องส่วนตัว ของอัคราและเพื่อนศิลปินอีกสองคน คือ แรมมี่ นารูล่า และ ภูดล แสงวิเชียร ด้วยการชวนทุกคนมองย้อนกลับไปสำรวจสิ่งที่ตกหล่นอยู่ภายใต้ความคิดและความหลังของแต่ละคน
พื้นที่เล็กๆ ในซอยภูมิจิตร ย่านพระโขนงแห่งนี้ถูกปกคลุมไปด้วยศิลปินช่างภาพมากฝีมือ รวมถึงช่างภาพหน้าใหม่ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ ต่างคนต่างเวียนเข้าออกชมผลงานต่างๆ ทั้งชั้นล่างและชั้นบน เป็นภาพคอมมูนิตีที่เห็นได้ชัดขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีความเป็นออนไลน์ไปซะหมด
บ้างก็สอบถามเจ้าของผลงานถึงไอเดียในการนำเสนอ บ้างก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เทคนิค วิธีการและประสบการณ์ระหว่างกันโดยที่ไม่มีเส้นอายุกั้น ยิ่งทำให้ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพวกเขาที่กำลังจะเป็นศิลปินรุ่นต่อๆ ไปอย่างไรบ้าง จึงได้โอกาสพูดคุยกับผู้ร่วมงานที่เป็นน้องๆ นักศึกษาบางคนถึงการมาที่นี่ในวันนี้…
“สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างมีอิทธิพลกับผมในด้านมุมมองการถ่ายภาพที่หลากหลายออกไป เพราะมีงานต่างๆ มากมายมาให้ได้ดู ได้ติดตาม หรือได้รู้จักศิลปินคนนั้นๆ ได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงด้านคอนเนกชันเเละในส่วนของโอกาสในการเเสดงผลงาน เเสดงตัวตนของเราออกไปด้วย ในสมัยที่โลกโซเชียลฯ มันสามารถเผยแพร่งานออกไปได้ไกลเเละรวดเร็วเเบบนี้เเล้วด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก”
“พี่หนิง-อัครา มีอิทธิพลต่อการถ่ายภาพเชิงภาพชุดสำหรับผมมาก ความรู้ในการถ่ายภาพคนที่ผมยึดถือหลักๆ ก็คือพี่หนิง-อัครา กลุ่ม Street Photo Thailand มีอิทธิพลต่อการถ่ายรูปของผม ที่สนใจวิชวลใหม่ๆ นอกจากภาพเชิงมายาคติของไทย แม้ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ชอบ street photo มากนัก แต่ยังคงใช้การนำเสนอวิชวลที่น่าสนใจแบบสตรีตควบคู่ไปกับคอนเทนต์ดีๆ ซึ่ง CTypeMag ช่วยให้ผมเห็นมุมมองใหม่ๆ มากกว่าเดิม”
“เหมือน CType เปิดประตูให้ผมได้ทำลายกรอบของตัวเองออกไปเรื่อยๆ และได้มีที่วิ่งเล่นได้กว้างขึ้น เราได้เรียนรู้ว่าภาพถ่ายมันมีอะไรมากกว่าที่เรารู้อีกเยอะ รวมถึงไอเดียใหม่ๆ มีมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา อยู่ที่เราจะสร้างสรรค์มันออกมาได้แตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน”
ข้อความที่ถูกส่งผ่านผู้คนพวกนี้ (ซึ่งบางคนเองก็เคยได้รับเลือกผลงานให้แสดงใน CTypeMag) ก็ทำให้ผมเองตกตะกอนกับตัวเองมากขึ้นอีกว่า ในยุคปัจจุบันพื้นที่ชุมชนออนไลน์นั้นก็สามารถสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เกิดผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมได้ ซึ่งการจะทำให้ชุมชนของกลุ่มคนที่มีความชอบหรือมีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายกันนั้น ก็อาจต้องมีการยอมรับกัน แลกเปลี่ยนความรู้ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีการเอาบรรทัดฐานของใครเป็นที่ตั้ง แล้วผลิตงานศิลปะร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ไปด้วยกันหรือเปล่า?
ก่อนที่วันนี้จะจบลงและวันรุ่งขึ้นผมต้องตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง คำพูดของอัคราเมื่อ 7 วันที่แล้วก็ทำให้ผมได้เห็นภาพของสังคมที่ได้ร่วมกันผลักดัน ช่วยกันสนับสนุนและขัดเกลาสังคมให้ดีขึ้นอย่างที่เขาพูดจริงๆ
“ผมว่าไอ้คำว่า community เนี่ยมันมีความหมายของมันอยู่ในระดับนึงอยู่แล้วละนะ มันคือการเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันในวงการศิลปะ โดยการแชร์ข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ในการสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่พื้นที่ในแกลเลอรีนะ พื้นที่ออนไลน์เองด้วย
“แต่การจะทำให้ชุมชนนั้น smart ขึ้น แก่นหลักของมันก็คงจะเป็นการเปิดใจ สังเคราะห์ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อในสิ่งที่เหมาะสำหรับเขาและมีประโยชน์ ค่อยๆ แตกยอดออกไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักปฏิเสธ อะไรที่เขาบอกว่ามันดีก็ต้องคิดก่อน ไม่ดีก็ไม่เห็นต้องใช้เลย ก็ไปทำอย่างอื่น เอาสิ่งที่ดีมาทำต่อ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เหมาะแก่ community นะ”