อินทิรา ก้อนทอง : เรื่อง
ที่พระจันทร์ ชัยชนะ : ภาพ

โรงเรียนภัทราวดี โรงเรียน-เสี้ยนหนาม-ความฝัน

ผู้หญิง
ผมสั้น
ทาปากสีแดง
ใส่แว่นสีดำ
สวมรองเท้าผ้าใบสีเหลือง
อีกทั้งถุงเท้าลายไข่ดาว
อ้อ เกือบลืมสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น
เธอคนนี้อายุ 73 ปีแล้ว
และยังเป็นคุณครูอีกด้วย

pattarawadee01
สถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน โรงเรียนประจำในสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาบนพื้นที่กว้างขวาง
pattarawadee02
งานประติมากรรมของศิลปิน “นายดี ช่างหม้อ” กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนไปโดยปริยาย ทั้งอาคารเรียนที่สร้างจากดินผสมปูนเพื่อให้ความเย็นสบาย งานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ทั้งประติมากรรมนูนต่ำ ลอยตัว หรือแม้แต่ลวดลายตามผนังและพื้นถนน ล้วนมาจากฝีมือของนายดีผู้นี้ทั้งสิ้น

มนุษย์นักเรียน

โรงเรียนชื่อดัง ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การพัฒนาศักยภาพของเด็ก หลักสูตรการเรียนอันเข้มข้น ศาสตร์-ศิลป์ทุกแขนงวิชาถูกทำให้มีความสำคัญเท่ากันหมด ทักษะชีวิตที่ต้องใช้ทุกวันเพื่ออยู่ร่วมกัน สถานที่กินนอนก็มีพร้อม ทั้งยังไม่ต้องเสียเงินเรียนด้วย แถมไม่ต้องรักษาระดับผลการเรียนอีก จะมีอะไรที่ดีไปกว่านี้สำหรับวัยกำลังคึกคะนองหรือแม้แต่ผู้ปกครองหลายคน

คุกชนชั้นสูง ฉันเรียกมันแบบนั้น ภาพลักษณ์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่นั้นดี การเป็นนักเรียนทุนมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบของความกดดันที่เราต้องเก่งกว่าคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องทุกด้าน ภาพลักษณ์เราต้องดี คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาของเราต้องมากกว่า เพราะเรามีบ่วงรัดคอที่เรียกว่าทุนเรียนฟรีจากภาษีประชาชน

“ยิ่งเรียนยิ่งโง่นี่หว่า”

ความเสียใจพุ่งแสกลงกลางอก เพียงแค่ผันคำกริยาในภาษาอังกฤษผิดไปตัวหนึ่ง ฉันโดนคำพูดที่กระแทกกลางใบหน้าเข้าอย่างจัง ภาพจำที่ไม่เคยลืม สิ่งมีชีวิตที่ใครต่อใครให้ความนับถือในฐานะ “คุณครู” เพ่งมองหน้าฉันราวกับไปเผาบ้านใครมา-ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมดีๆ ก็ยังมีคนประเภทนี้อยู่นี่นะ

ก็แล้วถ้าฉลาดจะมาเรียนทำไม แน่นอนฉันเพียงแต่คิดในใจเท่านั้นแหละ ยังไงก็ต้องอยู่กันอีกนาน…ซะที่ไหน พอหมดเทอมที่ฉันเรียน ครูคนนั้นก็เกษียณออกไปทันที ใครต่อใครต่างเสียใจ แต่คงต้องเว้นฉันไว้คนหนึ่ง…

pattarawadee03
แน่นอนว่าที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนในวิชาทั่วไปตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยจำนวนเด็กนักเรียนที่มีไม่มาก ทำให้ครูสามารถเข้าถึงเด็กทุกคนได้อย่างทั่วถึง

โรงเรียนของเราน่าอยู่ (?)

โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบมาโรงเรียน…ชอบมา ชอบมาโรงเรียน”

บทเพลงคุ้นหูที่หลายคนต้องเคยได้ฟังยามเป็นเพียงเด็กน้อยวัยกระเตาะที่เข้ามาในรั้วการศึกษา บทเพลงแรกๆ ในชีวิตที่อาจฝังหัวเรามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เราวาดฝันถึงโรงเรียนว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้เรามีความสุข ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วโรงเรียนไม่ได้มี “คุณครูใจดีทุกคน” แต่ยังมีครูไหวใจร้ายอีกด้วย และครูบางคนก็เป็นทั้งคุณครูใจดีและใจร้ายในคนคนเดียวกัน

นอกจากนี้ท่อนที่ร้องว่า “เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน” อาจไม่เป็นความจริงเท่าไรนัก นิสัยซุกซนเป็นธรรมชาติของเด็กเล็ก จนถึงแม้กระทั่งเด็กโตหรือในวัยผู้ใหญ่เองก็ยังคงมีให้เห็นกันบ้างประปราย แต่คำว่าซุกซนมักจะใช้คู่กับเด็กเป็นส่วนใหญ่ พอโตมาเสียหน่อยอาจเปลี่ยนเป็นคำว่า “อยากรู้อยากเห็นไปเสียทุกเรื่อง” แทน แต่ไม่ว่าคำไหนก็ล้วนแล้วแต่ทำร้ายจิตใจผู้ฟังกันทั้งสิ้น

ความอยากรู้อยากเห็นหรือการเล่นซุกซนของเด็กล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มา เพื่อที่พวกเราทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยในโลกใบนี้ ถ้าหากไม่รู้ไม่เห็นคงยากจะตอบได้ว่าสิ่งใดอันตรายหรือเป็นประโยชน์ ถ้าหากมนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้อยากเห็น บางทีเราอาจไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์กันมาจนถึงทุกวันนี้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเหมาะกับโรงเรียนหรือระบบการศึกษา เมื่อโรงเรียนไม่ได้น่าอยู่ตามเพลงที่ร้อง เมื่อไปโรงเรียนแล้วไม่มีความสุข ไปโรงเรียนแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือสังคม ไปโรงเรียนแล้วตกเย็นกลับต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มจนดึกดื่นจนหมดชีวิตความเป็นเด็กไป

สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นภาพส่วนใหญ่ของชีวิตนักเรียนในปัจจุบัน จึงมีคำถามมากมายเกิดตามมาว่า แล้วเราจะไปโรงเรียนกันทำไม ในเมื่อเราไปแล้วโรงเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราได้

pattarawadee04
ผลงานของเด็กนักเรียนชั้นประถมฯ ที่ประยุกต์ความรู้วิชาคณิตศาสตร์และศิลปะถ่ายทอดออกมาเป็นจิตรกรรมฝาผนังตามอาคารเรียน
pattarawadee05
ทุกๆ ปีโรงเรียนจะมีการจัดงานคอนเสิร์ตประจำปีโดยนักเรียนทั้งโรงเรียนร่วมด้วยช่วยกัน

คุณครูสอนศิลปะศาสตร์

“เล็ก” ภัทราวดี มีชูธน เจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2557 ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนในฝันของใครหลายๆ คน – โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดำเนินการสอนมาแล้วกว่า 12 ปี

“…เป็นโรงเรียนสามัญศึกษาปรกติ อนุบาลถึงมัธยมฯ 6 ที่เรียนตามหลักสูตรของกระทรวงการศึกษาครบทุกประการ เพียงแต่ว่าการเรียนการสอนมันมีมากกว่ากระทรวงที่เขาต้องการ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของเราเองที่ยินดีที่จะจ่าย…”

ภาพของโรงเรียนประถมฯ-มัธยมศึกษาตามที่เห็นได้ในโทรทัศน์แวบเข้ามา ตามต่อมาด้วยภาพของตึกห้างร้านที่มีสถาบันสอนพิเศษแขนงต่างๆ ตามที่ผู้ปกครองนิยมส่งลูกหลานเข้าไปเรียนเพื่อเพิ่มทักษะนอกเหนือไปกว่านั่งเรียนหนังสือในห้อง จากนั้นเป็นภาพของซองขาวที่ข้างในบรรจุไว้ซึ่งกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเทานับสิบใบ

“…มีทุกอย่างที่เด็กอยากเรียนค่ะ อย่างเช่น แฟชั่นดีไซน์ แอนิเมชัน คุกกิ้ง ดูดาว ดูนก ตามที่เด็กรีเควสต์…”

วิชานอกห้องเรียนที่เป็นทักษะในการดำรงชีวิตและการค้นหาตัวเองของเด็กนักเรียน ถูกนำมาประกอบเข้าเป็นหลักสูตรของทางโรงเรียนด้วย นอกเหนือจากตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมา เพื่อให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้วควรจะใช้ชีวิตไปในเส้นทางใด

“เราใช้ศิลปศาสตร์ในการพัฒนาเด็ก”

เจ้าของร่างกระฉับกระเฉงพูดพลางทำท่าทางแสดงประกอบ คำพูดของ “ครูเล็ก” กำลังบรรยายความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเขตโรงเรียน ทั้งห้องเรียนที่ถูกปั้นขึ้นจากดินปูนปลาสเตอร์ผสมทราย ตัวหุ่นปั้นต่างๆ ลานแสดงศิลปะ โรงละคร โรงเลี้ยงสัตว์ การเรียนการสอน แม้แต่ความคิดของครูในโรงเรียน ทั้งหมดนี้ศิลปศาสตร์ถูกนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้าจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ถ้าเธอจะปลูกฝังความเป็นไทยเนี่ย เธอต้องทำให้มันเป็นวิถีชีวิต”

ครูเล็กอธิบายว่าเด็กในโรงเรียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง รู้จักการทำงาน วัฒนธรรม มารยาท ทั้งไทยและสากล

ภาพของเด็กชายหญิงกำลังฝึกซ้อมการแสดงละครในโรงละครของโรงเรียนอย่างขะมักเขม้น มีบุคลิกงามสง่า พูดจาฉะฉานชัดเจน และนักเรียนที่นี่สามารถจะทักท้วงกับคุณครูได้ด้วยเหตุผล เมื่อเห็นว่าสิ่งคุณครูทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่ไม่ใช่การแสดงความก้าวร้าวออกไป

“…สแตนดาร์ดไทยแลนด์เนี่ย หนึ่ง-เขาจะใช้ระบบดุด่า สอง-ใช้ระบบบังคับขู่เข็ญ อันนี้คือสแตนดาร์ดการศึกษาของไทย…”

พาดหัวข่าวหลายฉบับที่แสดงถึงอำนาจนิยมของคุณครูที่ใช้กดทับนักเรียนปรากฏออกมาให้เห็นได้บ่อยขึ้นในทุกวัน แม้จะมีคนออกมาแก้ตัวหรืออ้างว่าทำไปเพราะเป็นระเบียบของโรงเรียนก็ไม่อาจแก้ต่างให้ฟังดูเข้าหูได้ เมื่อสิ่งที่ทำลงไปนั้นจะฝังเป็นแผลใจของเด็กไปตลอดชีวิต

ในปัจจุบันได้มีการนำเสนอข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการทำร้ายนักเรียนโดยการกระทำจากคุณครู ไม่ว่าจะเป็นการดุด่าให้เสียความมั่นใจ การดูถูกความฝัน การล้อเลียน การโบยตีจนเกินเหตุ หรือแม้กระทั่งการทำอนาจาร

“…จะขู่จะบังคับเด็กก็เติบโตด้วยความเกรงกลัว เด็กก็ไม่กล้าพูดไม่กล้าคิด แต่เด็กเนี่ยมีความคิด จะพูดก็ไม่กล้าพูดอะไร เพราะเขาไม่ให้พูด…”

สังคมไทยในปัจจุบันมีคนมากมายที่เมื่อจบการศึกษา แต่กลับไม่กล้าที่จะทำอะไรด้วยตนเอง กลายเป็นว่าระบบการศึกษาสามารถผลิตบุคลากรออกมาได้จริง แต่กลับไม่มีคุณภาพทัดเทียมหรือแข่งขันกับต่างชาติได้ ทั้งนี้อาจเพราะสังคมที่โตมาไม่อนุญาตให้พวกเขาได้ทำผิดพลาด ไม่อนุญาตให้เป็นคนที่เก่งเกินหน้าเกินตาผู้อื่น เมื่อเก่งแล้วต้องรู้จักถ่อมตัว ถ่อมจนกระทั่งถูกถมทับไม่ให้เห็นอีก

“ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนของคนของครูให้เข้ากับเด็กปัจจุบัน เพราะเด็กแต่ละยุคแต่ละสมัยมันไม่เหมือนกัน ยุคนี้สอนแบบยุคนั้นไม่ได้”

หลายคนอาจโตขึ้นมาจากการถูกโบยตีจากสิ่งที่เรียกว่า “ความหวังดี” ของพ่อแม่หรือคุณครูที่เคยพร่ำสอนตน เมื่อโตขึ้นมาจึงคิดว่าการใช้ไม้เรียวฟาดไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเด็กจะทำให้ความชั่วร้ายหายไปได้

ถ้าหากมันทำได้จริงคุกคงไม่ล้นขนาดนี้ ถ้าหากความชั่วร้ายหายไปได้จริง แล้วทำไมจึงใช้วิธีการทำร้ายร่างกายผู้อื่นในการสั่งสอนอีกเล่า

ความเจ็บปวดและไร้เรี่ยวแรงในการต่อสู้จนต้องยอมจำนนของเด็ก ทำให้พวกเขาต้องเก็บกด จดจำความเจ็บปวดนั้นไว้ เมื่อวันที่พวกเขาโตขึ้นจนมีแรงที่จะสู้กลับคนที่มาทำร้ายเขา สิ่งที่ตามมาจึงสามารถลุกลามถึงขั้นกลายเป็นอาชญากรรม

ถ้าหากจะลองไปค้นหาดูเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงหรือการฆาตกรรมจะพบว่าส่วนใหญ่พวกเขาเหล่านั้นเติบโตมาในสังคมที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสังคมรอบข้างไม่มากก็น้อย

อาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่หลายๆ คนที่คิดว่าเด็กล้วนแล้วแต่ก็เป็นเด็ก ไม่สามารถรู้อะไรไปได้มากกว่าคนเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน สิ่งนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไปกับโลกในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย ปัจจัยหลายๆ อย่างล้วนเอื้อให้แก่คนที่ต้องการ (อยาก) รู้ สามารถรู้ได้ทุกสิ่ง

“ขู่เขาก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่เชื่อแล้วมันมีอินเทอร์เน็ต เด็กเดี๋ยวนี้ฉลาดมีอะไรก็เปิดดู ถ้าไปหลอกเขาก็ไม่เชื่อละ เพราะดูมันกลายเป็นผู้ใหญ่โกหก”

ในเมื่อข้อมูลความรู้ไม่ได้ปิดกั้นเชื้อชาติ เพศ หรือวัย ขอแค่มีเพียงความสนใจใคร่รู้ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบนโลกนี้ได้ หากแต่ถ้าทำตัวเป็นคนที่ถือว่าตัวเองรู้ทุกสิ่งบนโลกก็คงยากที่จะตามทันพัฒนาการของคนในยุคปัจจุบัน

อีกหนึ่งสิ่งที่การโกหกได้ทำลายลงไปคือความน่าเชื่อถือ เมื่อความเชื่อใจถูกทำลายลงไปจากคำพูดไม่จริง ความน่าเชื่อถือในตัวคนที่พูดโกหกก็ลดลง คนที่โกหกซ้ำๆ จึงไม่สามารถทำให้ใครเชื่อใจได้อีก เหมือนกับนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะที่ต้องเสียแกะไปทั้งฝูงเนื่องจากคำพูดของตน

“ผู้ใหญ่โกหกได้เด็กก็โกหกได้ การโกหกก็เลยกลายเป็นสิ่งปรกติ”

ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนเราต่างถูกปลูกฝังว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี เราจะกลายเป็นเด็กไม่ดีถ้าหากเราโกหก แต่หลายเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นเข้ามากำลังบอกในสิ่งตรงกันข้าม

คนทำผิดโกหกจนพ้นผิด และคนทำผิดแต่ไม่โกหกถูกลงโทษ แน่นอนว่าการลงโทษคนทำผิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมาย แต่แล้วความยุติธรรมสำหรับคนทั้งสองฝ่ายที่ทำผิดเช่นเดียวกันอยู่ตรงไหนล่ะ แล้วใครกันจะเป็นผู้ตัดสินหรือทวงคืนความยุติธรรมให้กลับสู่จุดสมดุลแก่คนคนนั้น

“แต่ก่อนเราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เราก็ไล่เด็กออก ง่ายดี แต่พอเรารู้ว่าเราควรจะทำยังไง เราก็ไม่ไล่ออก เราก็เทอราปี (บำบัด) เขาให้หายจากปัญหานั้น”

ครูเล็กเล่าถึงนักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียน ในสมัยที่เด็กคนนั้นอยู่ชั้นอนุบาล ไม่มีโรงเรียนไหนในหัวหินรับเด็กเข้ามาเรียนเลย เหตุผลที่ทำให้เด็กโดนไล่ออกจากโรงเรียนเก่า เพราะชอบนำเอาดินสอไปทิ่มตาเพื่อน เมื่อหลายโรงเรียนทราบสาเหตุจึงปฏิเสธการรับเด็กคนนี้ ทำให้ครูเล็กรับเด็กเข้ามาโดยมีข้อแม้ว่าต้องมารับการบำบัดโดยใช้ศิลปะกับครูในวันหยุดสุดสัปดาห์

ในขั้นตอนการบำบัด ครูเล็กได้ให้เด็กน้อยวาดรูปครอบครัวและเล่าเรื่องให้ฟัง ภาพปรากฏเป็นผู้ชายลักษณะขยุกขยุยอยู่ตรงริมสุดของกระดาษ ตรงกลางเป็นรูปของเด็กกับผู้หญิงคนหนึ่ง พร้อมกับกรงเปล่าอยู่ใกล้ๆ เด็กชายบอกว่าแท้จริงแล้วกรงเปล่านั้นคือกรงอีกัวน่า แต่อีกัวน่าไม่อยู่ เพราะออกไปผจญภัย และจากนั้นก็ได้เล่าเรื่องการเดินทางของอีกัวน่าให้ครูเล็กฟัง

ครั้งต่อมาเด็กวาดรูปเดิมซ้ำอีกครั้ง แต่คราวนี้กรงไม่ได้ว่างเปล่าอีกต่อไปแล้ว ในนั้นมีตัวอีกัวน่าอยู่ แต่เด็กก็ยังคงเล่าเรื่องการผจญภัยใหม่อีก

ความจริงที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กคนนี้คือ เมื่อครั้งเด็กทำผิดจึงถูกลงโทษโดยพ่อได้จับเด็กขังไว้ในกรงใกล้ๆ กับกรงของอีกัวน่า เด็กจึงกลัวอีกัวน่ามากจนไม่กล้าวาดภาพมันออกมาในครั้งแรก

pattarawadee06
คอนเสิร์ตประจำปีจะกำกับงานโดย “ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงปี 2557 ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและคุณครูของโรงเรียน
pattarawadee07
รูปแบบและเรื่องราวการแสดงจะเป็นอิสระในการคิดของเด็กๆ ภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องประยุกต์เอาสิ่งที่ได้จากการเรียนการสอนมาใช้ด้วย

everyday is my best day

สำหรับใครหลายคนคงคิดว่าอายุเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความแก่ชราและเสื่อมถอยสมรรถภาพทางร่างกาย ยิ่งอายุมากเท่าไรก็ยิ่งแปลว่ายิ่งไร้กำลังมากขึ้นเท่านั้น

อาจเป็นข้อเท็จจริงที่มีความถูกต้องอยู่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนก็คงต้องแย้งว่าไม่ใช่ เพราะมีคนสูงอายุอีกมากที่ไม่ได้ทำตัวแก่ไปตามวัย แล้วแถมยังทำตัวเด่นเสียยิ่งกว่าคนเป็นวัยรุ่นอีกด้วย

“วัย 60 และ 70 ไม่เหมือนกัน เราเคยคิดว่าอายุ 60 มันแก่แล้ว แต่ตอนนี้อายุ 70 ยังเดินยังวิ่งเล่นอยู่ เด็กจะคิดคาดหวังว่าคนแก่มันแก่แล้ว แต่จริงๆ ใจมันเหมือนเดิม แต่ร่างกายมันไม่อำนวย”

ครูเล็กยังอธิบายต่ออีกว่า ถึงแม้ตัวเองจะไม่ได้ทำตัวแก่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุเท่ากันนั้นจะไม่ทำตัวแก่เหมือนตัวเอง บางคนก็ทำตัวเป็นคนแก่ เพราะเขาคิดว่าอายุเท่านั้นควรทำแบบนั้น นั่นคือสิ่งที่เขาสบายใจจะทำ

“ข้อดีของการแก่ลง ตอนเด็กๆ ถ้าโดนขู่เรื่องความตายเขาก็ไม่กลัวหรอก เพราะมันห่างไกลจากเขามาก แต่พอเราแก่เรารู้ว่าอีกไม่กี่วันมันก็ตายแล้วจึงได้เข้าใจเด็กว่าทำไมเด็กถึงได้กล้าบ้าบิ่น ไม่กลัวอะไร มันเริ่มเข้าใจคนอื่น เราเข้าใจละว่าทำไมวัยนี้ถึงเป็นแบบนี้”

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันอาจไม่ใช่กาลเวลาที่เวียนผ่านไปแล้วทำให้คนเปลี่ยนแปลง แต่อาจเป็นการผ่านประสบการณ์หลายๆ ประสบการณ์จนทำให้มนุษย์คนหนึ่งไม่เหมือนกับมนุษย์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา

มนุษย์อาจเป็นสัตว์ขี้ลืมที่มักจะลืมเสมอว่าคนอื่นไม่ได้มีความคิดเหมือนตัวเอง ลืมไปว่าแต่ละคนล้วนมีชีวิตเป็นของตัว การพยายามเข้าบังคับควบคุมอาจเป็นสิ่งแรกที่พวกเขาจะทำเมื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่การยอมรับในความผิดพลาดของตัวเองอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาเลือกจะคิด

เพราะด้วยเหตุเช่นนี้หรือเปล่า เมื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมีความผิดพลาดเกิดขึ้น การควานตัวคนทำผิดจะถูกนำมาใช้ก่อนสิ่งอื่นใด ตามต่อมาด้วยการนำคนทำผิดหรือแพะรับผิดมารับผิดชอบ

pattarawadee08
การแสดงชุดสงครามยุทธหัตถี โดยใช้การต่อตัวสร้างเงาเป็นเรื่องราว
pattarawadee09
นักเรียนที่เป็น backstage และนักแสดงที่ยังไม่ถึงคิวจะมาช่วยกันทำงานเบื้องหลัง เช่น เปลี่ยนฉากระหว่างการแสดง

“การอาบน้ำร้อนมาก่อนไม่ได้แปลว่าฉลาดไปเสียทุกอย่าง ตอนเราอายุเท่านั้น เผลอๆ เราโง่กว่าเขาอีก”

คนอายุมากมักกล่าวโทษแก่คนอายุน้อยกว่ามีให้เห็นกันได้ทั่วไป เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวไปจนถึงระดับผู้บริหารระดับสูง บางครั้งของการกล่าวโทษกลับไม่มีมูลเหตุด้วยซ้ำ การถูกกล่าวโทษต่อความผิดที่ตนไม่ได้ก่อเพียงเพราะมีคนที่สูงกว่าต้องการหาที่ลงระบายโทสะก็มีให้เห็นไม่น้อย

เหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้จะมีสติปัญญามาก ได้รับการศึกษาสูงขนาดไหน แต่หากขาดการควบคุมก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนโง่ที่ได้ผ่านประสบการณ์มามากกว่า แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่เติบโตขึ้น

“เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเด็กหรือมนุษย์แต่ละช่วงวัยถึงได้เป็นแบบนั้น มันบอกใครไม่ได้ว่าทำไมเธอถึงทำแบบนั้น เด็กอายุ 16 กับคนอายุ 70 มันคิดไม่เหมือนกัน ไม่คาดหวัง ปล่อยวาง”

ครูเล็กถือคติว่า ทุกช่วงวัยคือชีวิตที่มีความสุข ได้สนุกทุกปี เมื่อไม่ยึดติดกับอดีตก็มีความสุขกับทุกวัน มนุษย์เราเคยทำอะไร ผิดพลาดมายังไง ก็เล่าให้แก่คนรุ่นหลังฟังเป็นความรู้ให้พวกเขา

สิ่งที่จะถือเป็นความผิดพลาดหรือประสบความสำเร็จก็ขึ้นกับว่าวันนี้เจออะไร แล้วเอาตรงนี้มาทำให้มันไปต่อสำหรับวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ เพราะทุกวันคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

pattarawadee10
การแสดงประจำปีนี้เปิดให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถที่ตัวเองถนัดอย่างเต็มที่ เด็กนักเรียนจะตกลงแบ่งหน้าที่กันเองตามความถนัด
pattarawadee11
ครูเล็กได้เคยกล่าวถึงโรงเรียนแห่งนี้ว่าเปรียบเสมือน “หมู่บ้าน” ที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งครู นักเรียน และบุคลากร ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ในเวลาพักผ่อนหรือยามต้องการความช่วยเหลือ ทุกคนก็พร้อมที่จะดูแลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

หยดความฝันอันสูญสลาย

ข่าวการฆ่าตัวตายในแต่ละช่วงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากจะจำเพาะไปที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็เห็นจะมีสาเหตุมาจากการเรียนอันเคร่งเครียด หนักหน่วง การถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง และสาเหตุอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า โรคเครียด บางรายถึงกับเป็นโรคทางจิตเวช และมีอาการชักร่วมด้วย เมื่อไม่ได้เข้ารับการรักษาได้ทันก็อาจต้องเสียชีวิตหรือการทนทรมานกับความคิดตลอดชีวิต

มีคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่หลายคนที่ชอบแสดงความคิดเห็นเชิงว่า ถ้าแค่นี้ทนไม่ได้แล้วต่อไปจะทนได้ยังไง เพราะโลกการทำงานมันหนักมากกว่านี้ หรืออายุแค่นี้ก็ไม่มีความอดทนแล้วหรือ

แต่พวกเขาอาจลืมนึกไปว่า ที่พวกเขาพูดมาทั้งหมดนั่นก็คือทั้งหมดของอายุที่คนคนนั้นเคยผ่านมาแล้ว

“ผู้ใหญ่อะชอบคิดว่าเด็กอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เราไม่เคยไปถามเขาเลยอะ ไม่เคยไปคลุกคลีกับเขาจริงๆ ทุกคนอยากจะเป็น someone”

ครูเล็กเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า มีเด็กวัยรุ่นที่เคยเสพยา แต่ชอบเล่นสเกตบอร์ดมาก อยากเท่ตามวัยของเขา เด็กคนนั้นมาเล่นสเกตบอร์ดอย่างจริงจังจนเลิกติดยา เพราะการเสพยาทำให้เขาไม่สามารถทรงตัวได้ ไม่มีแรงมากพอที่จะเล่น ครูเล็กได้เข้าไปทำความรู้จักและส่งเสริมให้เด็กคนนั้นได้ไปไกลกว่าที่เขาคิด

เนื่องจากครูเล็กมองเห็นว่า ถ้าหากเด็กทุกคนได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองทำ พวกเขาก็จะทุ่มเทแรงทั้งหมดเพื่อสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ช่วงชีวิตวัยเด็กต้องการ ถ้าหากเราสามารถมอบให้กับเด็กทุกคนได้ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมาทีหลัง เพราะพวกเขาได้ถูกเติมเต็มในสิ่งที่ขาดแล้ว

สังคมเราเสียบุคลากรไปมากมาย เพราะหลายคนไม่อาจทำตามฝันได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะไม่มีทุน ไม่มีโอกาส หรือแม้แต่เรื่องการตอบแทนบุญคุณที่ทำให้เราต้องเลือกเรียนในสิ่งที่เราไม่ต้องการ

เราต่างเป็นมนุษย์ที่มีความฝัน อยากมีตัวตนในโลกที่เต็มไปด้วยมนุษย์ช่างฝัน แต่หลายความฝันก็เป็นได้เพียงความฝัน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายความฝันได้แตกดับไประหว่างทาง เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หากเรามีการศึกษาที่ดี สังคมที่ดี บุคลากรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้กับเด็กตามความต้องการจริงๆ อย่างที่ครูเล็กทำ เพลง “โรงเรียนของเราน่าอยู่” อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่บทเพลงอีกต่อไปก็ได้

“แม่เคยบอกว่าพอแก่แล้วให้ตอบแทนแผ่นดินนะ เราก็ถามว่าให้ทำอะไร ไปเป็นทหารเหรอ คงไม่ไหวมั้ง แม่ก็ว่าไม่ต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ เราทำอะไรเล็กๆ กับกลุ่มคนไม่กี่คน แต่เราทำให้คนไม่กี่คนเป็นคนดีได้ เราก็ภูมิใจละ ”