เรื่องและภาพ : Naw Law Pee Vee Paw

“โอะฉู่โอะเคล ปูดึปูดา” คือคำอวยพรจากคนที่เดินสวนทางในภาษากะเหรี่ยงที่แปลว่า “ขอให้สุขภาพแข็งแรง รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู” และเป็นประโยคที่ทำให้ฉันเข้าใจสถานการณ์โดยคร่าวของที่นี่ได้เป็นอย่างดี

ฉันใช้วันหยุดสงกรานต์ที่จำกัดมาที่นี่ เพราะอยากรู้ว่าในวันที่หมื่อตรอของรัฐกะเหรี่ยงลุกเป็นไฟ และกระทบพลเมืองในพื้นที่กว่าสี่หมื่นคนนั้น ผู้นำที่ดูแลมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

คุยกับ 3 ผู้นำกะเหรี่ยงที่หมื่อตรอ   การอพยพที่ไม่ได้ต้องการ  และการสงครามเพื่ออิสรภาพที่ถูกเหยียบย่ำ

เราคือชนเผ่าพื้นเมือง”

ซอเทนเดอร์ ประธานอุทยานสันติภาพสาละวินและผู้ว่าจังหวัดหมื่อตรอ

คนในพื้นที่เดินนำเข้าไปในป่า เพื่อพาฉันพบกับคนสำคัญคนแรกที่กำลังทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์อยู่ตรงจุดปฐมพยาบาล และเพียงแรกพบก็ทำให้ฉันรู้สึกถึงพลังบวกในชายวัย 61 คนนี้ เขาเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นกันเอง และอบอุ่นใจเมื่อได้พูดคุยด้วย

“เราเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มายาวนาน มีวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม…เราอยู่บนพื้นที่แผ่นดินของตัวเอง และมีความต้องการที่จะดูแลปกป้องพื้นที่ทรัพยากรของเราเพื่อรักษาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์

“และเราอยากอยู่อย่างอิสระเสรี เราจึงปกป้องรักษาสิทธิ์ของเรา แต่สิ่งที่เราถูกกระทำนั้นมันไม่ถูกต้อง”

ซอเทนเดอร์ ประธานอุทยานสันติภาพสาละวิน ผู้ซึ่งเป็นผู้ว่าจังหวัดหมื่อตรอกล่าวยืนยันสิทธิ์ของ “เกอญอโพ” หรือคนปวาเกอญอของด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่จริงจังและแววตาที่อ่อนโยนแต่มุ่งมั่น

จากนั้นก็พาย้อนกลับไปยังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงว่า

“กองทัพทหารเผด็จการพม่าไม่ต้องการให้เราลงหลักปักฐาน เขาต้องการเพียงครอบครองและกดเราไว้ข้างล่าง เห็นได้ชัดเจนจากสิ่งที่กระทำกับเรา นับตั้งแต่ส่งกองกำลังบุกโจมตีฐานทหารของเราเพื่อทำให้เราอ่อนแอและล่มสลายลง

“กระทำสิ่งที่ทำให้พลเมืองเราหวาดกลัว ต้องอพยพหนีกระจัดกระจาย เจอคนฆ่าคน เจอสัตว์ฆ่าสัตว์ เจอยุ้งฉางไร่นาของชาวบ้านก็ทำลายไม่เหลือ หันหน้าไปทางไหนก็ทำลายตรงนั้น

“เขามองทุกอย่างที่เป็นของเราเท่ากับศัตรูของเขาหมด ทำให้เราเดือดร้อนไม่สามารถทำมาหากินใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขมานานหลายสิบปีแล้ว พลเมืองจำนวนมากต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงในเมืองไทย และอีกจำนวนต้องโยกย้ายไปมาในพื้นที่ตามสถานการณ์

“ชัดเจนในตอนนี้ว่ากองทัพพม่าไม่เคยเห็นอกเห็นใจเราเลย ถึงขั้นใช้เครื่องบินมาโจมตีเราครั้งแล้วครั้งเล่า

เขาไม่ได้ต้องการแค่ปกครองชนชาติเรา แต่เขาต้องการทำให้ชนชาติเราหายไป…”

อย่างน้อย 50 ปีก่อนหน้านี้ในวันที่ยังเป็นแค่เด็กชายเทนเดอร์

“…ผมจำได้ว่าเราอยู่กันอย่างสงบสุข ทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพพึ่งพิงอยู่กับป่า ในตอนนั้นไม่มีคนเชื้อสายพม่าอาศัยอยู่ในพื้นที่เราเลยแม้แต่คนเดียว แต่หลังจากนั้นมาไม่นานเกินสิบปีก็มีทหารพม่าเข้ามาพร้อมกับอาวุธ …แล้วความสงบสุขก็หายไปแต่นั้นมา”

leader07
อาคารเรียนโรงเรียนมัธยมปลายที่บ้านเดะปูโหนะ ภายหลังการถูกโจมตีโดยเครื่องบินจากกองทัพเผด็จการทหารพม่า

เล่ามาถึงตรงนี้เขาก็เงียบไปพักหนึ่ง ถอนหายใจ มองออกไปข้างหน้าแล้วเล่าต่อว่า

“เราก็แค่อยากมีชีวิตให้เหมือนกับชนชาติทั่วไปที่สามารถเลือกทางเดินของตัวเองได้ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีอิสระเสรี สามารถทำมาหากินตามสิทธิ์ที่เรามีอยู่ แต่ทั้งหมดนี้เราไม่ได้รับเลยนับตั้งแต่มีกองทัพทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่ของเรา

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องพยายามลุกขึ้นสู้ เราสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ปกป้องชีวิตของชนชาติเรา”

พอเกิดสงครามและความรุนแรง ในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง คิดว่าจะพาพลเมืองก้าวผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร?

“ความสามัคคีและความเคารพไว้ใจซึ่งกันและกันคือพลังที่จะนำเราก้าวผ่านจุดนี้ไปได้”

ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ เทนเดอร์ยืนยันว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือพลเมืองและผู้ปกครองต้องสามัคคีร่วมมือกัน และให้ตระหนักไว้ในใจเสมอว่า

“เราจะต้องอยู่บนพื้นที่แผ่นดินของเรา เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราอยู่มาแต่โบราณ และเราจะอยู่ต่อไปในอนาคต ส่งต่อสู่ลูกหลานให้จัดการดูแลต่อไป และผมหวังว่าพลเมืองเราจะอยู่ด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อไป…

“ไม่ว่าจะอยู่หรือตาย ผมจะเผชิญทุกอย่างที่เกิดขึ้นร่วมกับพลเมืองของผม ผมจะทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด เพราะนี่เป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ เพื่อชนเผ่าและลูกหลานที่กำลังจะเติบโตต่อไปในอนาคต”

เขาประกาศจุดยืนของตัวเอง ฉันมองเห็นว่าเขากำลังทำสิ่งที่พูดอยู่อย่างบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าแต่ก็พาตัวเองมาอยู่แนวหน้า ส่วนครอบครัวก็หลบอยู่ในป่าละแวกใกล้ไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป เขาไม่ได้หนีและไม่ได้ส่งครอบครัวตัวเองออกนอกพื้นที่ที่ปลอดภัย ถึงแม้จะมีสิทธิ์และมีโอกาสนั้นก็ตาม

“พื้นที่หมื่อตรอของเราเป็นที่พื้นที่ที่ระเบิดลูกแรกลง กระทบพลเมืองประมาณสี่หมื่นคนจากพลเมืองในพื้นที่ทั้งหมดแสนสองหมื่นกว่าคน ตอนนี้ไม่ใช่แค่คนที่อพยพไปตามชายแดนที่ลำบาก ชะตาของคนอยู่ในพื้นที่ที่ก็ไม่ต่างกัน

“แผนการทำงานของเราคือแบ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือพลเมืองที่อยู่ในชุมชนหรือในพื้นที่ที่มีการโจมตีที่ผ่านมาและยังคงอยู่ในพื้นที่ กลุ่มนี้เราจะเร่งเยียวยาเป็นกลุ่มแรก

“ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อยู่ในชุมชนหรือพื้นที่ที่เครื่องบินข้าศึกกำลังสำรวจและคาดว่าจะมีการปฏิบัติการโจมตีในไม่ช้า และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่อพยพข้ามพรมแดนไปฝั่งไทย เป็นกลุ่มที่เรามองว่าน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามคนทั้งสามกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างกันในแง่ของการไม่ได้อยู่อย่างปกติในที่ในทางที่เป็นของตัวเอง”

อยากกล่าวสิ่งใดเพิ่มเติมไหม?

“ขอบคุณน้ำใจของเพื่อนบ้านอย่างไทยที่ต้อนรับและช่วยเหลือพลเมืองของเรามาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ก่อนปี 1995 จนมาถึงวันนี้ที่เรายังอยู่ในสงคราม

“ผู้อพยพซึ่งเป็นพลเมืองของเรานั้นไม่ได้หนีเพราะเกียจคร้านทำงานหรือตามหาความสบาย แต่หนีเพราะเขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ที่เป็นของตัวเองได้ ผู้คนเหล่านี้ถูกทำให้หวาดผวา ถูกเผาบ้าน และพื้นที่ทำกินถูกทำลาย

“ฝากถึงเยาวชนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่หากมีโอกาสได้รับสารนี้ โปรดรับรู้ไว้ว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง หลงไปอยู่ประเทศที่สอง หรือพลัดไปอยู่ประเทศที่สาม ขอให้อยู่ด้วยความตระหนักว่าชนชาติของเรานั้นสำคัญอย่างไร ขอให้รักและสามัคคีกัน อย่านำความแตกต่างมาสร้างความแตกแยกหรือสร้างช่องว่างระหว่างกัน แต่จงนำความแตกต่างนั้นมาเป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่จะเสริมให้ชนชาติเราแข็งแรงและพัฒนาต่อไป

“สำหรับสังคมทั่วไปและสังคมโลก ผมอยากให้รับรู้ไว้ว่าถ้าค้นหาต้นสายปลายเหตุ คุณจะรู้และเข้าใจว่าทุกคนที่ต่อต้านเผด็จการทหารพม่า ทั้งเราเองและพลเมืองคนพม่าของเขา ก็แค่ต้องการสิทธิและเสรีภาพของเราคืน เราต้องความเท่าเทียมและอิสรภาพ เพื่อที่จะปกป้องรักษาความเป็นอยู่ของกลุ่มของชนชาติเรา ทั้งด้านการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพการงาน ฯลฯ และตอนนี้เรามั่นใจว่าเขามีแผนชัดเจนที่จะทำลายเราให้หายไป…

“เราคาดหวังให้คนในสังคมโลกค้นหาความจริงว่า เผด็จการทหารพม่าทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างไร เราต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปกป้องเรา ปกป้องความถูกต้อง และต่อสู้เคียงข้างเราด้วย

“เราอยากให้สังคมโลกช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมและความถูกต้อง เพื่อให้ทหารพม่าหยุดกระทำความรุนแรงต่อผู้คนและสภาพแวดล้อม เพื่อให้พลเมืองได้อยู่ในที่ในทางของตนเอง ได้ทำมาหากินตามวิถีชีวิตของตนเองภายใต้ความอิสระเสรี

“นี่คือสิ่งที่เราอยากได้ และคาดหวังให้คนนอกที่มองอยู่จะมองเห็นเราด้วย”

leader03

การปฏิวัติของเราคือการซื้อคืนคุณค่าความหมายของชนชาติเรา”

บอจ่อแฮ แม่ทัพใหญ่ KNLA

ฉันเดินทางต่อเพื่อไปยังอีกจุดหนึ่งในป่า ต่างกันตรงพื้นที่ก่อนหน้าเป็นที่ทำการของฝ่ายปกครอง แต่ที่กำลังไปนี้เป็นพื้นที่ทำการของฝ่ายความมั่นคง

บรรยากาศระหว่างทางเงียบจนรู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่ร้าง จะมีเสียงทักทายบ้างจากจุดเฝ้าระวังที่มีทหารอยู่ และเมื่อผ่านไปสักพักเสียงเครื่องบินสำรวจจากเบื้องบนก็ดังขึ้นทักทาย ทำเอาแทบหาที่หลบกันไม่ทันเลยทีเดียว

“ชาวบ้านเขาไม่กล้าอยู่ในบ้านตัวเองแล้ว เพราะเดิมทีถูกกระทำมาโดยตลอดก็มีความกลัวอยู่แล้ว แต่นี่อยู่ๆ ก็มาบึ้ม บึ้ม ก็เป็นธรรมดาที่จะกลัว ไม่กล้าอยู่ในบ้านของตัวเอง …” พี่คนนำทางอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องต้นให้ฟัง พร้อมกับเดินนำเข้าไปในป่าที่ลึกกว่าเดิม

ระหว่างทาง ในหัวฉันมีแต่เสียงของคนที่เรากำลังไปหา โดยเฉพาะข้อความที่ว่า

“เราทนกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจนทนไม่ไหว เราจึงลุกขึ้นมาต่อต้านเพื่อปฏิวัติ การปฏิวัติของเราคือการซื้อคืนคุณค่าความหมายของชนชาติเรา

“คือการซื้อคืนศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์เรา คือการซื้อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มหนึ่ง และคือการซื้อคืนคุณค่าและศักดิ์ศรีของเราเอง”

ฉันอยากรู้เหลือเกินหากได้คุยต่อหน้า เขาจะเหมือนหรือแตกต่างจากตอนที่เขาอยู่บนโพเดี้ยมมากน้อยแค่ไหน

เมื่อไปถึงฝนก็ตกพอดี แม่ทัพใหญ่ผู้ยิ่งใหญ่ของฉันก็กวักมือเรียกเข้าหลบฝนด้วยใบหน้าที่สดใสและเป็นกันเอง ทำให้ความเกร็งของฉันลดน้อยลงทันที และคิดในใจว่า จริง ๆ แล้วผู้ชายคนนี้ไม่ได้เคร่งขรึมเป็นอย่างเดียว แต่น่ารักก็เป็นด้วย

เราเริ่มต้นแลกเปลี่ยนกันด้วยคำถามพื้นฐานง่ายๆ เลยว่า ทำไมต้องทำสงคราม? เพราะถึงจะรู้คำตอบจากหลายคน แต่ก็ไม่น่าสนใจเท่ากับฟังจากปากคนที่ทำสงครามอยู่ในสนามรบอย่างเขา

เขาผงกหัวแล้วยิ้มที่มุมปากพร้อมกับตอบว่า

ทำไมนั้นหรือ แค่จะอยู่นิ่งๆ สบายๆ ก็ยังไม่ได้เล้ย!!! ชีวิตเรามันไม่มีอิสรภาพ ต้องอยู่ภายใต้ความกลัวอยู่ตลอดเวลา เราทำสงครามเพราะว่าชีวิตเราไม่มีความปลอดภัย”

จากนั้น “พือบอ” สำหรับฉัน (พือ – ปู่) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ซอบอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็พาย้อนกลับไปในห้องเรียนเมื่อครั้งที่เขายังเด็กว่า

“เครื่องบินแบบนี้ผมเห็นตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นเราเรียนอยู่ในห้องเรียนแต่เครื่องบินกลับมายิงเรา ทำให้ต้องหนีเข้าป่ากันกระจัดกระจายเลย…

“ผมเห็นบ้านที่ถูกเผาเหลือแต่ต้นเสาสีดำ… ผมเห็นความสุขที่หายไปเมื่อทหารพม่าเข้ามาในชุมชน…”

เล่ามาถึงตอนนี้เขาก็เปลี่ยนน้ำเสียงเป็นจริงจังมากขึ้นว่า

“สิ่งที่ผมทนไม่ได้จนต้องทำสงครามก็คือ ผมเห็นเด็กและชาวบ้านหลายคนกลายเป็นคนป่วยทางจิตที่ไม่สามรถมีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบปกติได้”

แม่ทัพใหญ่ผมสีดอกเลาคนนี้ เรียนรู้ ประสบพบเจอ และเผชิญร่วมอยู่ในหลายเรื่องราวตั้งแต่เด็กจนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ตั้งแต่เป็นผู้ถูกกระทำจนมาเป็นคนปกป้องผู้ถูกกระทำ และยืนยันด้วยสายตาที่มุ่งมั่นว่า

“ผมเข้ามายืนอยู่ตรงนี้เพราะใจผมพามาเอง เพราะสิ่งที่รุ่นตายายผมเผชิญ และสิ่งที่ผมเจอนั้นไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีก…สิ่งที่ผมทำในตอนนี้ก็เพื่อคนรุ่นหลัง ผมตั้งปณิธานว่าทำเพื่อคนรุ่นหลัง

“ชีวิตผมมอบให้กองทัพตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเป็นทหาร แต่การที่ผมเป็นทหารไม่ใช่เป็นเพราะสนุกสนาน หรือชอบเป็นทหาร แต่มันต้องเป็น ผมรู้ว่าผมต้องเป็น ผมจึงทำได้และทำไหว

“เราทำสงครามเพื่อสันติภาพ!!”

แล้วสงครามกับสันติภาพสัมพันธ์กันอย่างไร สิ่งใดต้องเกิดก่อนกัน?

พือบอตอบพร้อมกับหมุนข้อมือเป็นวงกลมว่า “สงครามกับสันติภาพเดินทางร่วมอยู่ในวงจรเดียวกัน”

พร้อมกับยกตัวอย่างให้ชัดว่า “เหมือนหัวเราะกับร้องไห้ เหมือนความสุขกับความทุกข์ เป็นสิ่งที่จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ บางช่วงมีสงครามและบางช่วงมีสันติภาพ บางวันมีความสุขและบางวันมีความทุกข์ บางครั้งเราอยากร้องไห้แต่บางครั้งเรากลับอยากหัวเราะ มันไม่มีเหตุผลตายตัวว่าทำไม เพราะทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องอยู่ด้วยกันและเดินทางไปด้วยกัน ง่าย ๆ เลยคือเหมือนผู้หญิงกับผู้ชายที่ไม่เหมือนกันแต่ต้องอยู่ด้วยกันจึงจะเกิดเป็นความสมบูรณ์

“ที่บอกว่าเราทำสงครามเพื่อสันติภาพนั้นหมายความว่าถึงแม้เราจะพูดคุยกันเรื่องสันติภาพ แต่เราก็มีการเตรียมตัวเพื่อทำสงครามด้วย ถึงแม้ว่าบนโต๊ะเราจะพูดคุยกันตามหลักการเมืองหรือทฤษฎีต่างๆ เพื่อให้เกิดสันติภาพ แต่ใต้โต๊ะเราก็มีการฝึกซ้อม เก็บแรง เตรียมอาวุธ เพื่อให้พร้อมทำสงครามหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยเรื่องสันติภาพ

“เป็นเรื่องจริงในสนามรบที่เราไว้ใจศัตรูไม่ได้ โดยเฉพาะศัตรูที่กระทำกับเราครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ปากทำอย่างหนึ่งมือที่อยู่ใต้โต๊ะก็ต้องทำอีกอย่างหนึ่งเป็นคู่ตรงข้าม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าไม่ซื่อตรงหรือขี้โกง แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิ์ รักษาโอกาส เพราะการพูดคุยมีความหมายเท่ากับการพักผ่อนร่างกาย เมื่อร่างกายได้ฟื้นฟูเพียงพอ เราก็จะทำสงครามเพื่อรักษาสิทธิ์ จากนั้นก็จะรบอีก รบจนเหนื่อยก็กลับมาคุยกัน พอแรงกลับมาก็กลับไปรบต่อ เช่นเดียวกับกรณีข้อตกลงหยุดยิง NCA ที่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของสงคราม

“การที่ผมทำสงคราม ไม่ใช่เพราะว่าผมอยากฆ่าทหารพม่าหรืออยากทำให้ทหารพม่าเจ็บปวด แต่ในเมื่อเขาไม่สามารถให้สิ่งที่เป็นของผมคืน ผมจึงต้องทำสงคราม

“เราทำสงครามเพื่อสันติภาพและเราพูดคุยเรื่องสันติภาพเพื่อทำสงคราม”

การเดินทางของกะเหรี่ยงบนเส้นทางแห่งสงครามกลายเป็นการเดินทางที่ยาวนานที่สุดในโลกแล้ว จึงทำให้สงสัยว่า แล้วความหวังที่จะไปถึงเป้าหมายยังมีอยู่ไหม?

“แน่นอน มีแน่นอนสิ ถ้าไม่มีก็ไม่ทำให้เสียเวลาอยู่แล้ว” เขาตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจทันทีที่จบคำถาม

leader10
เถ้าถ่านของบ้านและเศษซากระเบิด ในพื้นที่หมื่อตรอภายหลังการถูกโจมตี
leader11
ชิ้นส่วนและเศษชากระเบิดที่กองทัพเผด็จการทหารพม่าทิ้งไว้ในพื้นที่หมื่อตรอ

เราเดินอยู่บนเส้นทางนี้นานเกินครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ทำไมยังไปไม่ถึงปลายทางเสียที?

“การที่สงครามยาวนานไม่ได้เป็นเพราะทหารพม่าเก่ง แต่เป็นเพราะเราอ่อนแอ …สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงกว่าเดิม ต้องเรียนรู้ให้ความคิดเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะถ้าความคิดเราโต จิตใจเราแข็งแรงมั่นคง ถึงใครจะบังคับให้เราทะเลาะกันอย่างไรเราก็จะไม่ทะเลาะด้วย แต่เราจะอดทน ให้อภัย และมุ่งไปที่เป้าหมายร่วมที่ใหญ่กว่าเป็นสำคัญ

“ความอ่อนแอของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาวุธ แต่มันอยู่กับคน เพราะในการทำสงครามนั้นไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมากจะชนะคนจำนวนน้อยเสมอไป หรือคนถือปืนจะชนะคนถือไม้เสมอไป ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่ชนชาติเราต้องการในตอนนี้คือ “คน” คนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ชัดเจนในจุดยืน จริงจังกับการทำงาน จริงใจกับชนชาติตัวเอง และมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะนำพลเมืองไปสู่ก้าวที่มั่นคงกว่าเดิมได้”

คุยกันมาได้พักหนึ่งแล้ว แต่ฝนก็ยังไม่หยุดตก วงสนทนาของเราจึงดำเนินต่อไป

เคยมีความคิดที่เราจะไปโจมตีศัตรูก่อนไหม?

“ไม่มีอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเรา เรายังคงยึดมั่นในจุดยืนของเราว่าเรารบกับเผด็จการทหารพม่า ฉะนั้นเราจึงไม่เคยทำร้ายคนพม่าที่เป็นพลเมือง ตรงข้ามกับทหารพม่าที่เข้ามารุกล้ำและตั้งฐานในพื้นที่ สร้างความหวาดกลัวและความไม่ปลอดภัยให้พลเมืองของเราด้วยวิธีการต่าง ๆ พลเมืองของเราจึงไม่ต้อนรับเขา และเรามีหน้าที่ที่จะต้องไล่เขากลับไป หากไม่กลับเมื่อมีโอกาสเราก็ต้องทำทุกวิธีเพื่อให้ฐานตรงนั้นหายไป

“เราจำเป็นต้องทำให้ทหารพม่าออกไปจากพื้นที่ เพราะการที่เขามาเท่ากับว่าความสุขสงบของพลเมืองเราจะหายไป เอาง่าย ๆ เลยถ้าไม่มีเผด็จการทหารพม่า พวกเธอคงไม่ต้องพลัดหลงไปอยู่บนแผ่นดินอื่นเหมือนตอนนี้…”

คำตอบของเขาทำเอาภาพในใจฉันแจ่มชัด

เพราะหากไม่มีเผด็จการทหารพม่า วันนี้ฉันคงจะเป็น “เจ้าบ้าน” อยู่ที่นี่ ไม่ใช่เป็น “แขก” ผู้มาเยือน

leader05

สงครามนี้จะจบลงก็ต่อเมื่อเราถึงเป้าหมายปลายทางเท่านั้น”

ซอหมื่อแฮ ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5

เวลาของฉันจำกัด สถานการณ์ไม่แน่นอน เสียงเครื่องบินสำรวจยังดังเป็นระยะ

เราใช้โอกาสช่วงสุดท้ายไปเจอกับผู้นำสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทกับพื้นที่หมื่อตรอมายาวนานมากกว่า 50 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประสบการณ์ 51 ปี และการเกิดขึ้นของ DKBA” ฉบับภาษากะเหรี่ยง

นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้พูดคุยต่อหน้ากับเขา เช่นเดียวกับสองคนก่อนหน้า วันนี้ในวัยย่างเข้า 70 ยังดูแข็งแรงและมุ่งมั่นในอุดมการณ์กู้ชาติไม่เปลี่ยน

“การทำสงครามเพื่อปฏิวัติไม่ใช่เรื่องสนุก มันคือเรื่องของความทุกข์ยากลำบากที่มีแต่ความสูญเสีย แต่เราก็ต้องทำเพราะเราไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองและไม่มีเสรีภาพในการกำหนดตนเอง…”

คือคำพูดของพลตรี ซอหมื่อแฮ ที่ทำให้ฉันเข้าใจสถานการณ์ของคนทำสงครามที่นี่ และตื่นเต้นที่ได้เจอกับเจ้าของคำพูดตัวจริง

ซอหมื่อแฮก้าวเข้าสู่วงการทหาร KNU ในฐานะชาวบ้านธรรมดาเมื่อครั้นยังวัยเยาว์อายุไม่ถึง 20 ปี เขาไม่เคยได้เรียนหนังสือแต่มีความมุ่งมั่นและยึดมั่นในอุดมการณ์การทำงานจนสามารถไต่ระดับมาเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 ในปัจจุบัน

ด้วยอายุการทำงานที่ไม่น้อยกว่าใคร ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้มีความรู้และประสบการณ์ที่ไม่แพ้ใครด้วย

leader12
ชุมชนไร้ผู้คนในวันสงคราม
leader13
ถนนเขตหมื่อตรอในวันสงครามที่ไร้ผู้คนสัญจรไปมา

เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่า

“ถ้าผมต้องยืนในจุดที่เขา (มิง อ่อง หล่าย) อยู่ก็คงจะลำบากไม่น้อย เพราะมีศัตรูเยอะเหลือเกิน มันเหมือนว่าพ่อแม่พี่น้องหรือคนในครอบครัวหันกลับมาต่อต้านเขา และเขาเองก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ความผิดของเขาก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมมองไม่เห็นทางเลยที่เขาจะกลับมาทำให้ถูกต้องได้

“ผมพยายามมองหาความดีของกองทัพเผด็จการทหารพม่า แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ เจออยู่อย่างเดียวก็คือ ‘การฆ่าคน’ ”

จะมีวันไหนไหมที่กองทัพพม่าจะหยุดกระทำความรุนแรงกับพลเมืองตัวเองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ?

“คิดว่าไม่นะ ถ้าไม่มีคนข้างนอกยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะทางที่เผด็จการทหารพม่าเดินนั้นเขามองว่าถูกต้องแล้ว และกองทัพยึดมั่นที่จะไปให้ถึงปลายทาง เช่นเดียวกับเราที่มองว่าสิ่งที่กองทัพทำนั้นไม่ถูกต้อง เราจึงลุกขึ้นต่อต้านเพื่อปฏิวัติ และเราก็มองว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ยึดมั่นที่จะไปในทางนี้ให้ถึงปลายทางเช่นกัน”

ทำไมสงครามถึงยาวนาน ไม่ยอมจบสิ้น?

“สงครามนานไม่ใช่เพราะเรา แต่เป็นเพราะข้าศึก (เผด็จการทหารพม่า)

“ผู้นำเราพยายามเพื่อให้ได้รับความสงบโดยใช้กฎหมาย แต่พม่าไม่ยอมรับ และทำให้มีสงครามตลอดมา สงครามนี้จะจบลงก็ต่อเมื่อเราถึงเป้าหมายปลายทางเท่านั้น”

เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่แข็งแรงและมุ่งมั่น พร้อมกับขยายต่อโดยอ้างแนวคิดของ ซอบาอูจี อดีตผู้นำ KNU คนสำคัญที่สละชีพเพื่อชนชาติว่า

แนวทางที่จะไปสู่เป้าหมายได้อยู่บนแผ่นดินตัวเองอย่างถูกต้องและเป็นอิสระนั้นเป็นไปได้สามทาง ทางแรกทหารพม่าเห็นอกเห็นใจแล้วมอบให้ ทางที่สองทำสงครามจนชนะ และทางที่สามประชาคมโลกช่วยผลักดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลง”

เขาอาศัยประสบการณ์ที่ยาวนานแสดงความคิดเห็นว่า

“สองทางแรกนั้น KNU เดินผ่านมาแล้ว และเห็นแล้วว่าแทบเป็นไปไม่ได้ สู้ทำสงครามก็ไม่ชนะ จะปล่อยมือก็เป็นการยอมแพ้โดยไม่มีความหมาย ดังนั้นก็เหลือแต่ทางที่สามที่เราต้องต่อสู้เท่าที่ทำได้ ต้องต่อต้านความไม่ถูกต้องให้ถึงที่สุด ต้องขัดขวางแม้จะต้องสูญเสียมากแค่ไหน ต้องยืนหยัดแม้จะถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจนกว่าชาติอื่นจะมองเห็นความอยุติธรรมที่เราต้องแบกรับ

“เราจะต้องทนจนกว่าจะมีคนเห็นว่าเราไม่ไหวแล้ว และยื่นมือเข้ามาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยยกสิ่งหนักอึ้งที่เราแบกไว้บนหลังนั้นลง”

ทำไมแนวทางข้อที่สองถึงเป็นไปไม่ได้?

“เพราะเราหลายคนอ่อนแอ และตกอยู่ในเกมของกองทัพทหารเผด็จการ ที่ใช้เกมการสร้างความแตกแยกเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม

“นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของ DKBA ที่นำไปสู่การล่มสลายลงของมาเนอปลอว์ จนมาถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เราทำการยึดฐานพม่าเซหมื่อท่าคืน ซึ่งกองทัพเผด็จการทหารพม่าใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทางอากาศเพื่อข่มขู่และทำลายโครงสร้างพื้นที่ของเรา และแฝงนัยสร้างความเข้าใจผิดให้เขตพื้นที่อื่นกล่าวโทษเขต 5 ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เขตอื่นถูกโจมตีและได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

“เขาพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างเรา ระหว่างเขตพื้นที่แต่ละเขต ระหว่างทหารกับพลเมือง ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม”

เขาสรุปสถานการณ์ก่อนที่เราจะแยกจากกัน

leader18
แก๊งเด็กผู้ลี้ภัยบนชายแดนฝั่งไทยริมน้ำสาละวิน
leader19
ที่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยที่ได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของพี่น้องฝั่งไทย

บันทึกปิดท้าย

เวลาที่กระชั้นชิดทำให้ฉันไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้มาก แต่การได้พูดคุยแบบต่อหน้า ทำให้ฉันได้สัมผัสผู้นำทั้งสามคนว่าไม่แตกต่างกัน

พวกเขามาจากครอบครัวธรรมดา เป็นชาวบ้าน ถูกกระทำ รักความเป็นธรรม รักแผ่นดิน และเสียสละเพื่อชนชาติตัวเองเหมือนกัน

และปัจจุบันถึงแม้ทั้งสามต่างได้ชื่อว่าเป็น “ปู่” แล้ว แต่ก็ยังมอบชีวิตให้แผ่นดินเกิดและชนเผ่าตัวเองตัวเอง ยังคงมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

พวกเขาบอกฉันว่า “ตำแหน่ง” ไม่ใช่อำนาจหรือความสูงส่ง แต่คือสิ่งที่จะบอกและเตือนเราว่ามี “หน้าที่” ทำอะไร เพื่อเป้าหมายสูงสุดคืออะไร

คำพูดของทั้งสามทำให้ฉันไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมพวกเขาจึงเป็นผู้นำที่พลเมืองยอมรับนับถือและสามารถยืนหยัดในหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเนิ่นนานเกินครึ่งชีวิตกันทุกคน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 พื้นที่ปกครองของพวกเขาทั้งสามถูกโจมตีโดยเครื่องบินเป็นระลอกที่สอง ซึ่งเป็นการโจมตีต่อเนื่องติดกันมาเป็นวันที่ 5 แล้ว

พลเมืองหลายหมื่นชีวิตมีบ้านแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้าน มีพื้นที่ทำกินแต่ไม่สามารถทำกินได้

หมื่อตรอยังอยู่ในวันวิปโยคเข้าสู่เดือนที่สองแล้ว

ในวันที่เพื่อนมนุษย์ของเราถูกกระทำอย่างไร้ความเป็นธรรม เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?

หมายเหตุ

  • ซอ – คำนำหน้าผู้ชาย บางแห่งใช้ จอ ซิ
  • KNU – Karen National Union หรือ “สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง” ทำหน้าที่เป็นฝ่ายการเมืองของกลุ่มชนชาติกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมา
  • KNLA – กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ขึ้นกับ KNU ทำหน้าที่รบเพื่ออิสรภาพในการปกครองตัวเองของชนชาติกะเหรี่ยง แตกต่างจาก KNDO ที่ทำหน้าที่เสมือนฝ่ายตำรวจคอยบรรเทาทุกข์บำรุงสุขของบ้านเมือง
  • DKBA และ KNU/KNLA-PC – กลุ่มกองกำลังที่แยกออกจาก KNU
  • BGF – กลุ่มกองกำลังที่แยกออกจาก DKBA แล้วขึ้นกับกองทัพพม่า แปรสภาพเป็นกองกำลังป้องกันชายแดนพม่า