นักเรียนสัมมาสิกขา นักฟันฝ่าอุปสรรค
นักเรียนสัมมาสิกขาและชาวชุมชนราชธานีอโศกรวมตัวกันที่แปลงเกษตรท่ามกลางอากาศร้อนอ้าว
summasikka02
“สะพานมนุษย์” ลำเลียงผลิตผล (ฟักทอง) ออกจากแปลงเกษตรเพื่อขนย้ายไปยังครัวกลางของหมู่บ้าน

ท่ามกลางแดดกล้าในช่วงสาย ตรงหน้ามีเพียงแม่น้ำมูลที่ไหลเอื่อย…พอจะเป็นสิ่งที่ทำให้เย็นลงไปบ้าง

บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลนั้นเต็มไปด้วยหญ้าสูงรกเรื้อจนต้องสังเกตดีๆ จึงจะเห็นว่าเป็นแปลงฟักทอง ผู้คนผูกผ้าพันคอสีส้ม สีเหลือง เด็กวัยรุ่นชุดสีน้ำเงิน เสื้อแขนกระบอก ซึ่งเป็นนักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างแหวกเข้าไปในหญ้ารกเพื่อทำบางสิ่งร่วมกัน

ทุกคนช่วยกันทำงาน นั่นก็คือเก็บสายน้ำหยดซึ่งเป็นอุปกรณ์การให้น้ำของพืชผักในระบบน้ำหยด และเก็บฟักทองสำหรับผลผลิตรอบสุดท้าย เทคนิคการเก็บฟักทองคือการใช้เท้าเตะไปที่ขั้วของมันจนหลุด จากนั้นก็นำมากองรวมกันเป็นจุดๆ เมื่อฟักทองมีจำนวนมากผู้คนในแปลงกสิกรรมก็ได้เรียงต่อกันเป็นสะพานมนุษย์เชื่อมต่อระหว่างกองฟักทองและรถบรรทุกผลิตผล

ภาพผู้คนเคลื่อนไหวข้างหน้าเป็นดั่งนาฏกรรมในเปลวแดดที่น้อยคนนักที่อยากจะมาร่วมการแสดงบนเวทีที่มีสปอตไลต์คือแสง UV อันเข้มข้นแบบนี้ ทว่าคนเหล่านั้นต่างเต็มใจที่จะช่วยกันทำงานจนสำเร็จลุล่วง

ที่นี่…หมู่บ้านราชธานีอโศก เป็นสถานที่ที่มีการอยู่รวมกันของ “ชาวอโศก” ซึ่งประกอบไปด้วย นักบวช ชาวชุมชน เด็กนักเรียน และผู้พักค้าง หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลในตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่บริเวณนี้น้ำจะท่วมเกือบทุกปี ซึ่งเป็นทั้งโชคดี-ที่น้ำได้พัดพาเอาตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ มาทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และโชคร้าย-ที่คนในชุมชนนี้จะต้องอดปั่นจักรยานไปสักพัก

summasikka03
ฟักทองออร์แกนิก ผลิตผลของคนในชุมชนที่ช่วยกันปลูกไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์
summasikka04
ด้วยแนวคิด “อาหารเป็นหนึ่งในโลก” ชาวอโศกจึงให้ความสำคัญกับการสร้างอาหาร โดยเฉพาะการปลูกพืชผักแบบไร้สารเคมี เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคภัยที่อาจปนเปื้อนมาด้วย

-1-

“อุปสรรคสร้างคน ทำให้เราแข็งแกร่ง”

ตัวหนังสือเด่นชัดบนป้ายป้ายหนึ่งในอาคารเปิดโล่ง ต่ำลงมาจากป้ายในระดับสายตามีนักเรียนในเครื่องแบบสีน้ำเงินกลุ่มหนึ่งยืนเรียงแถวเคารพธงชาติและท่องคำปฏิญาณ

แม้จะเป็นเวลาตี 5 ที่อากาศยังคงเย็น ลมพัดมาแต่ละครั้งทำเอาเราอยากจะวิ่งกลับไปนอน แต่น้องๆ ชุดน้ำเงินเหล่านี้ก็ยังคงกล่าวคำปฏิญาณชัดถ้อยชัดคำอย่างพร้อมเพรียงกัน

“รักตัวเอง จงทำสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง

รักสถาบัน จงทำสิ่งที่ดีให้กับสถาบัน…”

คำปฏิญาณที่จะต้องกล่าวกันในทุกเช้าของนักเรียน “สัมมาสิกขาราชธานีอโศก” ภายในหมู่บ้านราชธานีอโศก

เมื่อกล่าวคำปฏิญาณเสร็จสิ้นทุกคนก็พนมมือไหว้ กล่าวคำทักทาย “เจริญธรรมครับ/ค่ะ” แทนคำว่าสวัสดี ทักทายกันเสร็จนักเรียนเหล่านั้นก็แยกย้ายไปหยิบภาชนะของตนเองที่ลักษณะคล้ายๆ กันคือเป็นภาชนะก้นลึกที่ใส่อาหารได้สารพัดประเภท จากนั้นก็ไปดื่มอาหารเสริมที่ถูกจัดเตรียมไว้ คือน้ำธัญพืชหลากสี

เด็กนักเรียนจะได้ดื่มอาหารเสริมในทุกๆ เช้าในวันปรกติ โดยหลังจากที่รวมตัวสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ฟังท่านสมณะ (นักบวชชาวอโศก) สิกขมาตุ (นักบวชหญิงชาวอโศก) ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเทศน์ย่อยธรรมมะในทุกเช้า ก่อนที่จะมีครุหรือครูมาคอยแจกแจงงานที่ทำในแต่ละวันว่าใครไปทำอะไรบ้าง

เมื่อดื่ม “น้ำถั่ว” เสร็จแล้ว ทุกคนต่างก็แยกย้ายไปทำงานตามแผนกต่างๆ ที่เรียกว่าฐานงาน เราได้ขอติดตามน้องกลุ่มหนึ่งไปทำงานที่โรงปุ๋ยที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้านซึ่งจะต้องนั่งรถไป

น้องๆ ปีนขึ้นรถด้วยความคล่องแคล่ว รถเคลื่อนไปบนถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน ผ่านโขดหินน้อยใหญ่ ผ่านต้นไม้หน้าตาประหลาดที่ชื่อ “พิลึก พิลั่น” สิ่งปลูกสร้างที่คล้ายหน้าผามีชื่อว่า “ผาแหงน” ใกล้ๆ กันเป็นที่เรียกว่า “น้ำโตน” หรือน้ำตกที่สร้างขึ้นมาให้ชาวชุมชนได้ไว้ผ่อนคลายจากการทำงาน รวมทั้งเปิดให้คนทั่วไปได้เล่นด้วยในสภาวการณ์ที่ปรกติและไม่มีโรคระบาด

แสงเงินแสงทองทอแสงตรงเส้นขอบฟ้าขับไล่สีเข้มที่หลงเหลือจากราตรีกาลให้เบาบางลง อีกไม่นานพระอาทิตย์ก็จะโผล่พ้นจากตรงนั้นเหมือนอย่างทุกวัน น้องๆ มาถึงโรงปุ๋ย แต่ประตูโรงปุ๋ยยังปิดก็ได้แต่นั่งรอ ก็มีพูดเล่นหยอกล้อกันระหว่างรอ “อาละอองนิล” ครุผู้ดูแลฐานงานมาเปิดประตู

เสียงมอเตอร์ไซค์ดังมา เด็กๆ รู้โดยทั่วกันว่าคนที่มานั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ละอองนิล อโศกตระกูล ผู้เป็นทั้งครุและแม่ฐานที่คอยแจกงานให้พวกเขา เด็กๆ วิ่งกรูมาออตรงทางเข้าระหว่างที่ “อาละอองนิล” กำลังไขกุญแจเปิดประตูโรงปุ๋ย ภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้อดคิดถึงเวลาที่ไปห้างแล้วมีของลดราคาแล้วคนเข้าไปแย่งกันซื้อ ต่างตรงที่สิ่งที่เด็กแย่งกันนั้นคือการงานที่รออยู่

เด็กที่นี่ทำงานกันอย่างกระฉับกระเฉง รู้งาน รู้หน้าที่ของตัวเอง มีคนประจำอยู่ตรงเครื่องกรอกปุ๋ยที่มีสายพานส่งกระสอบปุ๋ยไปเย็บ จากนั้นก็จะมีคนเข็นถุงปุ๋ยนั้นไปเรียงไว้เป็นกอง ด้วยกองปุ๋ยขนาดใหญ่จึงจะต้องอาศัยสายพานเพื่อพาถุงปุ๋ยขึ้นไปเรียงได้ง่ายขึ้น ซึ่งปลายสุดของสายพานก็จะมีคนรอรับถุงปุ๋ยเพื่อเรียงให้เป็นระเบียบ

ปุ๋ยเหล่านี้คือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยจุลินทรีย์ ซึ่งปราศจากสารเคมี ภายในชุมชนมีการผลิตขึ้นมาใช้เองและจำหน่ายราคาถูก เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยมีคุณภาพราคาเป็นมิตรในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย

การทำงานเป็นไปอย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ไม่มีใครพักหรือบ่นว่าเหนื่อย ตรงกันข้ามดูเหมือนน้องๆ สนุกในการทำงานเหมือนเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งเสียอีก

summasikka05
นักเรียนสัมมาสิกขาภายในโรงปุ๋ยพลังชีวิตช่วยกันนำปุ๋ยจุลินทรีย์อัดเม็ดที่แพ็กใส่ถุงเสร็จเรียบร้อย ขนย้ายขึ้นรถบรรทุกเพื่อใช้ภายในหมู่บ้านและเพื่อจำหน่าย
summasikka06
สิริมา ศรสุวรรณ และ Rauno Lantalaimen ชาวฟินแลนด์ จัดชั้นสำหรับแยกขยะ และมีอุปกรณ์ซ่อมรองเท้า เพื่อใช้สิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด

-2-

แสงสีส้มของแดดเช้าส่องเข้ามาในโรงปุ๋ยย้อมฝุ่นที่ฟุ้งอยู่ในอากาศให้เป็นสีเดียวกัน เราเดินฝ่าสีส้มนั้นไปเป็นบริเวณที่ตั้งของกองดินปลูกขนาดใหญ่ มีรถตักและรถขนอย่างละคัน มองทะลุเข้าไปในกระจกมัวขุ่นก็พบว่าคนขับเป็นเด็กนักเรียนที่นี่

“คิม” ภาคิน ทองแสวง นักเรียนสัมมาสิกขาชั้น ม.2 ความคล่องแคล่วของการขับรถตักของคิมนั้นบอกเล่าว่าผ่านการฝึกมาจนชำนาญ เราถามคิมว่าใครสอนขับ คิมบอกว่ารุ่นพี่สอนมาอีกที เราจึงถามต่อเรื่องระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่นี่

“ผมว่าดีมากเลยครับ รุ่นพี่ก็ดูแลรุ่นน้อง”

คิมกล่าวกับเราขณะกำลังพุ่งความสนใจไปที่กองดินที่กำลังจะตักข้างหน้า

เราถามท่านสมณะมือมั่น ปูรณกโร ผู้ดูแลนักเรียนสัมมาสิกขา ถึงความสำคัญของระบบรุ่นพี่รุ่นน้องว่าเป็นอย่างไร ท่านสมณะมือมั่นอธิบายว่า ขั้นแรกก็จะต้องอบรมรุ่นพี่ให้ดีก่อน ต้องเรียกมาประชุมกันอย่างจริงจังที่จะให้ไปช่วยดูแลรุ่นน้องเป็นเรื่องๆ ไป ส่วนรุ่นพี่คนไหนที่มีความประพฤติไม่ดีก็จะมีการคัดกรองไม่ให้มีบทบาท เพราะจะเป็นการไปใช้อำนาจความเป็นพี่ไปข่มรุ่นน้อง

นอกจากโรงปุ๋ยแล้ว ยังมีฐานงานหลายอย่างที่นักเรียนสัมมาสิกขาจะต้องแบ่งไปทำ แต่พอถามว่าชอบฐานงานอะไรที่สุด คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่ก็คืองานเกษตรกรรม รองลงมาคือโรงปุ๋ย และเมื่อถามว่าไม่ชอบฐานงานอะไรมากที่สุด เด็กๆ ก็จะตอบว่าอยู่โรงงาน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันน่าเบื่อ

การทำงานของเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา นอกจากทำงานแล้วการเรียนก็จะต้องควบคู่กับการขัดเกลาตัวตนของเด็กให้มีกิเลสน้อยลง โดยพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวอโศก ได้เคยกล่าวโศลกธรรมไว้ว่า “การศึกษาที่ไม่ลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้”

นอกจากนั้นท่านสมณะมือมั่นยังบอกเราถึงแนวทางการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า

“แนวทางของสัมมาสิกขาทุกๆ แห่งเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่องของศีลธรรมและเรื่องของคุณธรรม ตามคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้ที่มีศีล 5 เป็นเบื้องต้น นอกจากจะรักษาศีล 5 ก็ยังฝึกให้นักเรียนรับประทานอาหารมังสวิรัติ คืออาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ แล้วก็ลดละอบายมุขต่างๆ ที่นี่จึงมีปรัชญาโรงเรียนว่า ‘ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา’ คือภายในชุมชนเราจะมีงานต่างๆ โดยเฉพาะงานกสิกรรมธรรมชาติเป็นหลัก ก็จะให้นักเรียนไปช่วยงาน ส่วนชาญวิชาก็คือการเรียนหนังสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ”

เราถามต่อถึงสิ่งที่มุ่งหวังต่อตัวผู้เรียน สมณะมือมั่นก็ได้ให้คำตอบว่า

“ให้เด็กมีคุณธรรมศีลธรรม พึ่งตัวเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็สามารถออกไปช่วยเหลือสังคม ทำคุณค่าให้กับประเทศชาติได้ นี่คือจุดมุ่งหมายที่เราต้องการผลิตนักเรียนออกไปเช่นนั้น”

ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่พบนั้นก็จะพบว่า นักเรียนที่มานั้นหากไม่มีความเต็มใจจะเข้ามาเรียนมันก็จะลำบาก เพราะอยู่ที่นี่ต้องถือศีลและฝึกตั้งตนบนความลำบาก แม้ว่าโรงเรียนนี้จะมีนโยบายไม่รับเด็กที่ถูกบังคับมา ก่อนเข้าเรียนก็จะมีการเข้าค่ายดูตัวระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้โรงเรียนกับเด็กได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน มีการสัมภาษณ์ทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครอง แต่ก็จะมีบางกรณีที่นักเรียนบางคนที่ถูกพ่อแม่บอกว่าโรงเรียนนี้ดี แต่เจ้าตัวไม่ได้อยากมาเท่าไร แบบนี้ก็จะอยู่ลำบาก เพราะไม่ได้ตั้งใจเข้ามาฝึกฝน แต่ถ้าใครเต็มใจมาก็จะอยู่ได้ เพราะระยะทาง ม.1-ม.6 นั้นเป็นระยะทางที่เต็มไปด้วยสิ่งที่มาพิสูจน์ใจเรา ไม่ต้องแปลกใจหากเราจะพบว่าเด็ก ม.6 จะมีจำนวนน้อยกว่าเด็กชั้นอื่น เพราะว่าบางคนก็ยอมแพ้ระหว่างทาง ที่เหลือรอดถึง ม.6 ก็ต้องขอยอมรับว่านายแน่มาก

. สมณะมือมั่นยังบอกอีกว่าการศึกษาของชาวอโศกสามารถช่วยสังคมได้มากพอสมควร เนื่องจากเด็กที่มาอยู่ที่นี่ไม่ต้องเสียเงิน ทำให้คนที่ยากจนไม่มีเงินที่จะเรียนสามารถมาเรียนได้ฟรีๆ แลกกับข้อแม้ที่ต้องเป็นคนดี เพื่อที่จะมีศักยภาพที่สามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมสืบต่อไป

summasikka07
อาจารย์ไม้ร่ม และ รุ้งเริงธรรม ธรรมชาติอโศก เจ้าของงานศิลปะที่ใช้เทคนิคควันเทียน เปลวไฟ และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ในท้องถิ่น และผู้เริ่มต้นกินอาหารมังสวิรัติแบบชาวอินเดีย ที่เรียกว่า “ซาคาฮารี”
summasikka08
“ถ่วงความเจริญ” ข้อความด้านหลังเสื้อที่สะดุดตา หนึ่งในงานศิลปะของอาจารย์ไม้ร่ม

-3-

เราแอบเดินไปดู ห้องเรียนที่นี่จะกระจัดกระจายไปในหมู่บ้านตามความเหมาะสม

“โรงเต้าหู้” เป็นข้อความบนแผ่นไม้ที่แขวนอยู่ข้างหน้าอาคาร สภาพอาคารไม่ได้ทรุดโทรม แต่ก็พอรู้ว่าผ่านกาลเวลามาไม่น้อย อ่านจากป้ายก็ไม่ต้องเดาอะไรมากว่าคงถูกใช้สอยทำเป็นโรงเต้าหู้มาก่อน ขณะนี้นักเรียนกำลังเรียนหนังสืออยู่ บนกระดานดำมีการเขียนสมการเคมี เมื่อนั่งไปสักพักข้าพเจ้าจึงทราบว่าเป็นการเรียนการสอนปฏิกิริยาเคมีชั้น ม.3 สอนโดย ครุสุขแสงบุญ นาวาบุญนิยม ที่เด็กๆ และชาวชุมชนจะเรียกกันว่าป้าแมว บางครั้งเราก็จะเห็นป้าแมวทำงานที่โรงปุ๋ยด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่นี่ เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่หลายอย่างให้รับผิดชอบตามความเหมาะสม ไม่เว้นแม้แต่ป้าแมวที่มีบทบาทหลายอย่าง

เมื่อป้าแมวสอนเสร็จเราขอเข้าไปคุยด้วย แม้ป้าแมวจะทำหน้านิ่ง แต่ความเมตตาก็ฉายออกมาในแววตา

“สอนในโรงปุ๋ยมันเป็นเรื่องของการงาน ตามปรัชญาของเราคือ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา เพราะฉะนั้นเรื่องเป็นงานเราให้ 35 เปอร์เซ็นต์ เรื่องศีลเราให้ 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็วิชาการเราให้ 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าเราไม่เน้นวิชาการ แต่ว่าวิชาการเนี่ยเรามีความรู้สึกว่าในโลกของปัจจุบันเราสามารถสืบค้นข้อมูลได้มากมาย ความรู้ปัจจุบันมันทั่วถึงกันทั้งหมด เพราะว่ามีการสื่อสารออนไลน์มันเยอะใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นป้าก็เลยไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้สักเท่าไร ก็จะไม่ได้เข้มงวดอะไรมาก เพราะรู้สึกว่าเด็กเขาสามารถค้นคว้าได้ ขวนขวายได้ ก็จะไม่เคร่งมาก แต่ก็จะจัดการเรียนการสอนให้เด็กเขาเข้าใจในคอนเซปต์”

ป้าแมวยังบอกอีกว่าความรู้พวกนี้บางทีเรียนไปมันก็ลืม สิ่งที่อยากให้ติดตัวนักเรียนไปก็จะเป็นเรื่องของคุณธรรมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา เรื่องของความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต อะไรพวกนี้มันจะติดตัวเขาไปในชีวิตประจำวัน แล้วมันก็จะหล่อหลอมให้ชีวิตเขาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เราเชื่อว่าสิ่งที่ท่านสมณะและป้าแมวถ่ายทอดออกมานั้นซึมซับไปในน้องๆ ที่เรียนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเราได้ไปสัมผัสชีวิตของน้องๆ เข้าบ่อยๆ ก็พบว่าความรู้สึกนับถือที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครบ่อยๆ ก็ฉายวาบขึ้นมาในใจเราเหมือนอย่างตอนที่เราได้เจอเด็กคนหนึ่ง

น้องพุทธ-เด็กหญิงดินดอกพุทธ ดวงมณีย์ เราเจอพุทธครั้งแรกที่บ่อผำที่น้องไปช่วยทำงาน ด้วยท่าทีเอาการเอางาน อ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ แต่บางทีก็หันไปดุเพื่อนผู้ชายที่ติดสนุกไม่ต่างจากพี่ดุน้อง ก็ทำให้เรารู้สึกสนใจในตัวเด็กคนนี้ขึ้นมา

พุทธกำลังง่วนกับการตักส่วนผสมน้ำยาซักผ้าอย่างคล่องแคล่ว เราถามน้องว่าน้ำยาล้างจานกับน้ำยาซักผ้าต่างกันไหม น้องก็สามารถตอบได้อย่างคล่องแคล่วว่ามันต่างกันอย่างไร น้องผสมทุกอย่างลงในถังปั่นขนาดใหญ่

“โตขึ้นอยากทำงานอะไรคิดไว้บ้างหรือยัง”

เป็นคำถามเบสิกที่ผู้ใหญ่มักถามเด็ก

“ยังไม่รู้ค่ะ”

น้องตอบขณะกำลังก้มมองส่วนผสมเคมีต่างๆ ที่ถูกปั่นรวมกันกลายเป็นน้ำยาซักผ้า

จากที่เราเห็นการทำงานของน้องหลายๆ คน ทำให้เราคิดว่าไม่เป็นไรหรอกถ้าจะยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร เพราะอย่างน้อยเด็กที่นี่ก็ทำน้ำยาซักผ้าเอาไปขายได้ สามารถปลูกผักกินเองได้ รวมถึงทักษะจากการทำงานที่หลากหลายทั้งกระบวนการวางแผนการทำงานและทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว เราคิดว่าน่าจะเป็นต้นทุนที่ทำให้เด็กแบบนี้ไปอยู่ไหนก็ได้ และสามารถเป็นอะไรตามที่ใจต้องการได้อย่างแน่นอน

summasikka09
มาตรการควบคุมความปลอดภัยของหมู่บ้านจากโควิด-19 ที่อนุญาตให้เพียงคนภายในหมู่บ้านเข้า-ออกเท่านั้น
summasikka10
บรรยากาศของหมู่บ้านจากจุดชมวิวบริเวณ “ผาแหงน” แสดงให้เห็นถึงสายน้ำมูลที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้านราชธานีอโศก ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์

-4-

“เด็กนักเรียนสัมมาสิกขามารวมตัวกันใต้เฮือนศูนย์สูญได้แล้ว”

เสียงประกาศผ่านเสียงตามสายแทรกมาในความมืด บอกให้นักเรียนสัมมาสิกขามารวมตัวกันที่ใต้ “เฮือนศูนย์สูญ” ซึ่งเป็นอาคารใหญ่ ตั้งชื่อตามแนวคิด “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด” ที่ชาวอโศกพึงระลึกไว้เสมอในทุกการกระทำ

เสื่อผืนใหญ่ถูกปูกันความเย็นของพื้นหินอ่อนใต้เฮือนศูนย์สูญ บนเสื่อมีทั้งชาวชุมชนและเด็กนักเรียนนั่งเป็นกลุ่มสีโดยมีผ้าพันคอกันทุกคน ทุกคนออกกำลังกายก่อนที่จะแยกนั่งเป็นวงกลมตามกลุ่มสี

เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คนแก่ ผู้หญิง ผู้ชาย ต่างนั่งรวมกันเป็นกลุ่มๆ ทุกคนจะต้องทำอะไรเหมือนกันนั่นก็คือทำท่าทางประจำกลุ่มที่ต้องช่วยกันคิด สำหรับกลุ่มสีม่วงที่เราเข้าไปนั่งด้วยนั้นภารกิจคิดท่าประจำกลุ่มได้ตกไปอยู่กับเด็กนักเรียนชั้น ม.2 ที่ในกลุ่มนี้เป็นผู้หญิงทั้งหมด ด้วยวัยยังมีความซุกซน ท่าที่น้องๆ คิดก็จะน่ารักสดใส ท่าทางนี้ถูกส่งต่อให้ทุกคนในกลุ่มไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายหรือผู้สูงอายุ เป็นการละลายพฤติกรรมของทุกคนภายในกลุ่ม อีกอย่างหนึ่งเรารู้สึกว่าการที่ให้เด็กช่วยคิดก็เหมือนเป็นการให้เด็กมีบทบาทในกลุ่ม และผู้ใหญ่ต้องฟังเสียงของเด็กเป็นส่วนใหญ่ ภายในกลุ่มจึงค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แทรกคั่นด้วยเสียงหัวเราะอยู่เรื่อยๆ

ปรากฏการณ์การรวมตัวกันแบบนี้เกิดขึ้นในทุกวันจันทร์ที่ทุกคนเรียกว่า “วันบวร” ที่ผูกโยง “บ้าน”คือชาวชุมชน “วัด” คือท่านสมณะสิกขมาตุ และ “โรงเรียน” คือเด็กนักเรียน เข้าด้วยกัน แต่นี่ก็เป็นการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น เพราะคำว่าบวรที่มีบ้าน วัด โรงเรียน ได้หลอมรวมตัวกันเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก เหมือนทุกคนในกลุ่มที่เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน

ทุกกลุ่มแยกย้ายไปตามงานที่ได้จัดสรรไว้แล้ว กลุ่มมันม่วงได้ถูกส่งไปถอนหญ้าออกจากต้นมันที่ริมมูน แรกๆ เราได้แต่สังเกตการณ์อย่างเงียบเชียบโดยไม่รู้จะคุยกับใคร แต่ก็มีผู้ใหญ่ชวนคุย เมื่อรู้ว่าเราเรียนศิลปากรก็ชี้ไปทางเด็กผู้หญิงคนหนึ่งและบอกว่า

“เรียนศิลปากรเหรอ น้ำใสก็ชอบวาดรูป”

เราปฏิเสธอยู่นานว่าคณะที่เราเรียนนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการวาดรูป ก่อนที่จะเทความสนใจไปที่เด็กผู้หญิงผู้ที่ถูกกล่าวถึงเมื่อสักครู่

“น้ำใสชอบวาดรูปเหรอ”

น้ำใสพยักหน้า เราถามน้องต่อว่าถ้าจบ ม.6 อยากเรียนคณะที่เกี่ยวกับศิลปะหรือเปล่า

คราวนี้น้องสั่นศีรษะแล้วตอบว่า

“ชอบวาดรูปเวลาว่าง แต่ถ้าจบ ม.6 หนูอยากทำงานเลย กลัวเสียเวลา อยากเป็นเจ้านายตัวเอง ทำธุรกิจส่วนตัว”

เราเชื่อว่าความคิดเช่นนี้มีในตัวของเด็กที่นี่อยู่ไม่น้อย เพราะได้ปฏิบัติทดลองทำงานจริง ส่วนน้องๆ ที่จะไปทางสายวิชาการก็ต้องขวนขวายเพิ่มเติมอีกสักหน่อย

เราถามน้องๆ หลายคนว่าเป็นยังไงบ้างที่ได้มาเรียนที่นี่ คำตอบที่ได้รับก็แตกต่างกันไป แต่ก็ค่อนข้างจะไปในแนวทางเดียวกันว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

“จิน” จินตนา สมสิทธิ์ บอกว่าเมื่อตอนที่เข้ามา ม.1 แรกๆ เธอมีความขี้เกียจมาก เวลาปวดท้องนิดหน่อยก็จะไม่ไปทำงาน แต่พอเห็นว่าถ้าตนเองขาด เพื่อนที่ทำงานด้วยกันก็จะต้องรับผิดชอบฐานงานหนักขึ้น ด้วยความเห็นใจเพื่อนจินเลยปรับปรุงตัวเอง จนเป็นอีกหน่วยหนึ่งของชุมชนที่แข็งขันทำงาน

“หมิง” ฝนริน สุขส่ง บอกว่ามีความเปลี่ยนแปลงเรื่องความขี้เกียจเช่นเดียวกัน ความอดทนเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่ก็พยายามอดทนอยู่ ชอบทำเกษตร เพราะว่าที่บ้านของหมิงก็ทำสวนและอยากนำความรู้ที่ได้จากการเรียนที่นี่ไปปรับใช้ที่บ้าน

“พ่อกับแม่ก็อยากให้ทำสวนค่ะ” หมิงตอบยิ้มๆ

“แป้ง” ขวัญสุดา ราศี บอกว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้คือมีการพัฒนาการจากขี้เกียจเป็นขยันขึ้น มีความรับผิดชอบ ให้เกียรติคนอื่น และยอมรับสิ่งที่เป็น รู้สึกว่าทุกสิ่งไม่ต้องได้อย่างใจก็ได้ ได้ปล่อยวางบ้างเมื่อไม่มีอะไรเป็นไปตามความคาดหวังของเรา

เราถามแป้งว่าประทับใจอะไรในที่นี่ แป้งตอบว่าประทับใจเพื่อนๆ เพราะถ้าไม่มีเพื่อนก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร

ด้วยลักษณะการทำงานและหลายๆ สิ่งในชุมชนทำให้เด็กนักเรียนต้องอยู่ร่วมกัน เมื่อต้องอยู่ร่วมกันก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนเท่านั้น การอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนที่ทุกคนทำงานเพื่อส่วนกลางนั้นเป็นย่อมเกิดการขัดเกลากันอยู่เสมอ เพราะภายในชุมชนจะเกิดความสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อได้น้อมนำธรรมะมาปฏิบัติลดละกิเลส ให้อภัยคนอื่น พร้อมกับดื่มกินคำตำหนิให้ได้ เพราะมันจะทำให้คนที่ถูกตำหนิเจริญยิ่งๆ ขึ้นเมื่อรู้ข้อบกพร่องของตนเองและนำไปแก้ไข

การปฏิบัติขัดเกลาตนเองอยู่เสมอทำให้ชุมชนน่าอยู่ เพราะแวดล้อมด้วยคนที่ใจดี มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจจากธรรมะที่ท่านสมณะและสิกขมาตุย่อยต่อจากพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่โอบเอื้อเด็กนักเรียนให้อยู่ได้ด้วยความแจ่มใส แม้ต้องทำงานมากมายในแต่ละวัน

ความขยันขันแข็ง เบิกบานแจ่มใส เป็นความเรียบง่ายอันงดงามที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่ต้องปิดหมู่บ้าน แต่ก็ยังมีอาหารเพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน แถมยังมีมากพอที่จะช่วยเหลือชุมชนรอบข้างได้เช่นนี้ ก็ยิ่งยืนยันว่าการพึ่งตนเองให้ได้เป็นสิ่งที่การศึกษาไทยควรหันมาใส่ใจเป็นเบื้องต้น