เรื่องและภาพ : ญาดา คงเดชาเลิศ

อาศรมศิลป์-จากใจผู้อยู่อาศัยสู่การออกแบบที่ตอบโจทย์

ท่ามกลางชุมชนซึ่งประกอบไปด้วยอาคารห้องแถวเรียงรายกันไปตามถนนคอนกรีตภายในซอยขนาดเล็ก ฉันได้ยินเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ อยู่ลึกเข้าไปจึงเดินตามแนวรถยนต์ที่จอดต่อกันเป็นแนวยาวบริเวณหน้าที่อยู่อาศัย และได้พบพื้นที่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างถูกล้อมด้วยถนนสามด้านและแปลงผักสวนครัวอีกด้านหนึ่ง

ฉันทราบทันทีว่าบริเวณนี้คือพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน

เด็กน้อยจำนวนหนึ่งใช้เวลาหลังเลิกเรียนเพื่อมารวมตัวกันที่นี่ พวกเขาวิ่งขึ้นบันไดเครื่องเล่นสนามขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางลานก่อนไถลลงกระดานลื่นอย่างสนุกสนาน บ้างผลัดกันนั่ง-ไกวชิงช้า บ้างขี่จักรยานไล่จับกันรอบๆ บริเวณ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ตั้งเครื่องออกกำลังกายทิ้งไว้จนสนิมเกรอะกรังและมีฝุ่นเกาะบนพื้นผิวราวกับไม่ถูกใช้งาน

ขณะเดียวกันที่ชุดเก้าอี้ม้าหินทรงจัตุรัสใต้ต้นมะม่วงตรงมุมพื้นที่ ตัวแทนสถาปนิกชุมชนและตัวแทนชุมชนกำลังนั่งลงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะ

“ตรงนี้น่ะเป็นสวนอยู่แล้ว แต่ที่นี่เป็นสนามเด็กเล่น คนแก่เลยไม่มีที่ให้มานั่ง ส่วนมากเขาเลยต้องนั่งอยู่หน้าบ้านตัวเอง” หญิงวัยกลางคน หนึ่งในอาสาสมัครชุมชนอธิบายปัญหาให้ฉันฟัง “ป้าเป็นประธานหมู่บ้าน มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก็เลยเป็นผู้ประสานงานนี้ไปด้วย อาศรมศิลป์เขาเข้ามาทำงานเกือบครึ่งปีแล้ว มาดูว่ามีผู้สูงอายุกี่คน อยู่บ้านหลังไหนบ้าง ถามกันว่าใครเป็นยังไง มีโรคประจำตัวอะไรกันบ้าง ต้องการอะไรบ้าง ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดีเวลามีประชุม แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนเก็บข้อมูลเลยยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเท่าไร”

“คิดว่าถ้างานส่วนนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วผู้สูงอายุจะออกมาใช้งานมากขึ้นไหมคะ” ฉันถามถึงเป้าหมายในอนาคต

“มากขึ้นนะ” ความหวังเต็มเปี่ยมในน้ำเสียงและแววตาของอาสาสมัครท่านนี้ “ป้าล่ะอยากจะปรับสนามใหม่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อย่างใครปวดเท้าปวดอะไร เขาไม่มีกำลัง มือเท้าชา ถ้าเห็นว่ามีที่ดีๆ ให้นั่ง ให้ใช้ช่วยบรรเทาอาการน่ะต้องเดินมาออกกำลังกายแน่นอน”

หลังจากนั้นจึงเป็นการเริ่มบทสนทนาระหว่างสถาปนิกชุมชนและคุณป้าอาสาสมัคร ถกกันเรื่องผลลัพธ์จากการลงมือแก้ปัญหาครั้งก่อนหน้าและไถ่ถามความต้องการกับปัญหาเพิ่มเติมภายในชุมชน

ฉันนั่งลงบนเก้าอี้ไม่ใกล้ไม่ไกลจากม้าหินเพื่อร่วมฟังบทสนทนานั้น และนั่นทำให้ฉันได้สัมผัสกับกระบวนการมีส่วนร่วมของสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ที่เคยรู้จักมา

หัวใจสถาปนิกชุมชน

ช่วงยามบ่ายในฤดูร้อนเป็นช่วงที่อบอ้าวเกินสำหรับการเดินระยะไกล แต่ใต้ร่มเงาไม้ตลอดทางเข้าสู่สถาบันอาศรมศิลป์กลับเย็นลงราวกับอยู่คนละมิติกับถนนภายนอก การเดินเท้าระยะทาง 1 กิโลเมตร กลับรู้สึกใกล้กว่าที่คิด

สถาบันอาศรมศิลป์คือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระดับบัณฑิตศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบันเปิดการจัดการเรียนรู้ระดับปริญญาตรีและโท ในสาขาศึกษาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ (ผู้ประกอบการสังคม) พร้อมทั้งให้บริการชุมชนด้วยการบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยดำเนินงานในรูปแบบของโครงการเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

จุดหมายของฉันอยู่ที่อาคารรพินทร อาคารหลังคาทรงจั่วโครงถักไม้ขนาดใหญ่สูงสี่ชั้นซึ่งถูกแปลงมาจากอาคารโรงกีฬาเก่าของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อเป็นอาคารออฟฟิศรวมของสถาปนิก สถาปนิกชุมชน ภูมิสถาปนิก รวมถึงห้องเรียนวิชาสถาปัตยกรรมของทางสถาบันอีกด้วย จากแนวคิดหลังคาเดียวเพื่อเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยให้เดินไปมาหาสู่กันได้ระหว่างสำนักงานและสามารถมองเห็นกันและกันได้ผ่านกระจกใสที่ล้อมห้องทำงานเอาไว้

หากสถาปนิกหมายถึงผู้สร้างสรรค์งานด้านออกแบบก่อสร้าง แล้วสถาปนิกชุมชนหมายถึงอะไร

กิตติ์-กิตติ์ บุญเย็น, ดิว-รชา ถาวระ และปุ๊ก-นฤมล พลดงนอก คือสามตัวแทนสถาปนิกชุมชนผู้ช่วยไขข้อสงสัยในกระบวนการทำงานนี้

“ที่แยกส่วนออกมาจากสตูดิโอออกแบบ เพราะว่าแต่ละคนก็ชอบทำงานไม่เหมือนกัน มีทั้งคนที่ชอบการออกแบบ ไม่ชอบการคุยกับคน บอกว่าผมชอบดีไซน์มากกว่า ดังนั้นสถาปนิกชุมชนจะมีหน้าที่เข้าไปคุยกับชุมชนเพื่อเอาโปรแกรมหรือรายการสิ่งที่ต้องการกลับมาให้ได้เพื่อมาทำงานร่วมกัน เราส่งข้อมูลที่ได้ส่วนนี้ให้กับคนออกแบบ เสร็จแล้วก็เอาแบบกลับมาถามชุมชนว่าตรงกับสิ่งที่เขาต้องการไหม” ดิวอธิบายให้ฟังคร่าวๆ ถึงหน้าที่ในแผนก

การออกแบบวิธีการรวบรวมความต้องการของประชาชนโดยการเลือกใช้กระบวนการอันหลากหลายยังเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญของสถาปนิกชุมชน

ขั้นตอนการทำงานหลักๆ มีอยู่สามขั้นตอน

ขั้นก่อนลงมือทำหรือก่อนการออกแบบ จะเป็นขั้นตอนที่สถาปนิกชุมชนลงไปสอบถามความต้องการจากผู้ได้รับส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการหรือเรียกว่า stakeholder โดยสามารถทำได้หลากหลายวิธีการขึ้นอยู่กับรูปแบบคำถามและจำนวนผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสัมภาษณ์ตัวบุคคล จัดสัมมนา จนถึงการเปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นถึงสภาพแวดล้อมโครงการปัจจุบัน ลักษณะเด่นหรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข แม้กระทั่งการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการออกแบบ

ขั้นออกแบบปรับปรุงหรือระหว่างการออกแบบ ไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มผู้ออกแบบฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นการส่งคืนแบบให้กับชุมชนระหว่างขั้นตอนเพื่อให้เกิดการช่วยออกความคิดเห็นก่อนนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขั้นสุดท้ายคือช่วงหลังจากการออกแบบเสร็จสิ้น ซึ่งย้อนกลับมาเป็นหน้าที่ของกลุ่มสถาปนิกชุมชนอีกครั้งหนึ่งในการสร้างความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันเพื่อดูแลพื้นที่โครงการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมหารือว่าใครจะเป็นคนช่วยดูแลพื้นที่ต่อ สามารถรวบรวมหน่วยงานรัฐภาคใดบ้างเพื่อช่วยเหลือการจัดการ แม้กระทั่งการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้ผู้ใช้งานเห็นว่าเขาสามารถใช้อะไรได้บ้างบนพื้นที่นี้

“ทีมสถาปนิกชุมชน เราเชื่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อว่าคนที่อยู่ตรงนั้นเขามีความต้องการ เขารู้จักพื้นที่เขาดีกว่าเรา หมายความว่าเวลาจะสร้างอะไรให้เขา เราต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร จะใช้งานมันอย่างไร แล้วเอาความต้องการหรือข้อจำกัดเหล่านี้มาดีไซน์ว่าจะทำให้มันอยู่ร่วมกันได้อย่างไร แปลงจากนามธรรมมาเป็นกายภาพโดยใช้หลักการทางสถาปัตย์ ซึ่งมันคือจุดแข็งและเป็นซิกเนเจอร์หนึ่งในการทำงานของอาศรมศิลป์” กิตติ์เสริมขึ้นหลังจากเล่าขั้นตอนการทำงานของสถาปนิกชุมชนให้ฉันฟังโดยคร่าว

arsromsilp02
arsromsilp03

ใจร่วม รวมใจ

“สมมุติว่ามีบ้านหลังหนึ่ง ถ้าเรามีส่วนในการออกแบบ ขุดดิน กวนปูน จนมีความผูกพันกับมัน มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเหมือนเจ้าของ” ดิวเอ่ยหลังใช้เวลาคิดอยู่ครู่หนึ่ง

ฉันได้ถามความเห็นตัวแทนสถาปนิกทั้งสามท่านเกี่ยวกับความยั่งยืนของชุมชนที่เป็นผลลัพธ์จากการช่วยเหลือด้วยรูปแบบการทำงานของอาศรมศิลป์

เขายังตอบต่อว่ากระบวนการมีส่วนร่วมทำให้คนที่มาร่วมกระบวนการกับเรารู้สึกว่าพวกเราไม่ได้เป็นคนออกแบบให้เพียงฝ่ายเดียว แต่ชาวบ้านผู้มีส่วนร่วมต่างหากเป็นคนคิด เป็นคนช่วยทำ แล้วพอสร้างเสร็จก็จะทำให้เกิดความรู้สึกความรักในสิ่งของ ความเป็นชุมชนร่วมกัน ทำให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป

บางครั้งการถามความต้องการโดยตรงอาจได้คำตอบกลับมาว่า “ที่มีก็ดีอยู่แล้ว” ซึ่งกิตติ์เล่าให้ฉันฟังว่าส่วนมากเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมจึงมีหลากหลายรูปแบบ

“ยายต้องการอะไร ช่วงนี้มีปัญหาอะไรไหม ถ้าเข้ามาทำสวนสาธารณะแล้วยายอยากได้อะไรเพิ่มหรือเปล่า”

“โอ๊ย ยายก็ไม่รู้หรอก” เขาเลียนเสียงจำลองบทสนทนาให้เห็นภาพมากขึ้น

สถาปนิกหนุ่มยกตัวอย่างกระบวนการในกรณีเช่นนี้ว่าสามารถใช้วิธีการนำเสนอภาพตัวอย่างให้ชุมชนได้เห็นกายภาพ โดยนำมาจากการหาข้อมูลกรณีศึกษา เช่น สวนผู้สูงอายุในต่างประเทศนั้นทำอย่างไรบ้าง หลักการพื้นที่เสริมสุขภาวะซึ่งกำหนดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนั้นเป็นอย่างไร ให้พวกเขาได้ลงคะแนนว่าชอบแบบไหนมากกว่า ก่อนชักชวนถามความเห็นเพิ่มเติมว่าทำไมถึงชอบ ทำไมถึงต้องการ

ขั้นตอนนี้ถือเป็นการออกแบบวิธีการคุยเพื่อได้ความต้องการแท้จริงของผู้ใช้งาน

เมื่อคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือด้วยการให้ข้อมูลประกอบการออกแบบแล้ว หน้าที่ถัดมาของสถาปนิกชุมชนคือนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบกับข้อมูลจริงที่เหมาะสมและความรู้เฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรม หรืออาจรวมไปถึงความรู้เฉพาะทางด้านการกายภาพบำบัด การดูแลผู้สูงอายุ เพื่อนำมาเสนอให้ผู้คนในชุมชนมองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนา ได้เลือกหนทางเดินหน้าต่อตามความต้องการของตนเอง

“ปัญหาร่วมกันของชุมชนในประเทศไทยที่เจอจากการทำงาน จุดใหญ่ที่ชัดมากคือการไม่มีตัวกลางเข้าไปจัดการกับปัญหา หากมีหน่วยงานยื่นมือมาพัฒนาให้ ชุมชนจะเกี่ยงกันดูแล เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ชัดเจน อาจมีบางชุมชนที่ตั้งใจพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นชุมชนเข้มแข็งบ้าง แต่ไม่มีกำลังในการพัฒนาต่อยอดมากกว่านั้น” กิตติ์เล่าเพิ่มเติมถึงสิ่งที่พบเจอจากการทำงานร่วมกับหลายพื้นที่

ประสบการณ์ของเขาทำให้ฉันนึกถึงสิ่งที่อ่านเจอในหนังสือการผังเมืองกับการพัฒนาเมือง ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิต ภู่จินดา กล่าวถึงการพัฒนาสองรูปแบบ คือ การพัฒนาจากบนลงล่าง หรือ top down คือการพัฒนาโดยมีหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้นำ กำหนดทิศทางในภาพรวม ซึ่งภายในประกอบไปด้วยผู้มีองค์ความรู้ งบประมาณ และข้อมูลสำหรับการพัฒนา จึงเหมาะแก่การพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อให้ส่วนรวมได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แน่นอนว่าจะมีหน่วยย่อยบางส่วนที่จะต้องเสียสละยอมพัฒนาในทิศทางที่ตนไม่ต้องการ

อีกรูปแบบหนึ่งคือการพัฒนาจากล่างขึ้นบน หรือ bottom up คือการกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นหน่วยพื้นฐานของการพัฒนาและหน่วยงานกลางมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการมีความเข้มแข็งด้วยศักยภาพภายในท้องถิ่น สร้างคุณค่าของตนเองเพียงพอที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ไปสู่เมือง กลุ่มเมือง ภูมิภาค ประเทศ และไปยังกลุ่มประเทศได้

หากการพัฒนาตามอุดมคตินั้นเป็นการประสานกันทั้งรูปแบบจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนเข้ามาประกอบการวางแผนอยู่เสมอ อาศรมศิลป์นี่ละคือตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้คนเพื่อเปิดโอกาสให้ร่วมพูดคุยถึงปัญหา ร่วมมือกันหาทางแก้ไขที่เหมาะสม และหลังจากปูแนวทางการเชื่อมต่อหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่นเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นชุมชนจะรู้ขั้นตอนและสามารถยื่นขอทุน เสนอโครงการพัฒนาได้ด้วยตนเองในอนาคต

“กระบวนการมีส่วนร่วมจะเชื่อมโยงทุกอย่างให้เกิดความยั่งยืน ยิ่งมีส่วนร่วมมากยิ่งยั่งยืนมาก ในงานวิชาการจะนิยมพูดกันว่าความยั่งยืนที่ชี้วัดได้คือคน เพราะว่าถ้าเราสามารถสร้างจิตสำนึก สร้างให้เขาเข้าใจ รัก แล้วหวงแหนพื้นที่ เข้าใจวัตถุประสงค์และมามีส่วนร่วมกับงานเรา มันก็จะทำให้คนอิน แล้วการที่คนอินนี่แหละคือความยั่งยืนของพื้นที่ เพราะเขาจะรัก ใช้งาน และดูแลมันจริงๆ” กิตติ์กล่าวปิดท้าย

arsromsilp04
arsromsilp05

ใจรู้คุณค่า

ก่อนหน้าวันนัดพูดคุยกับกลุ่มสถาปนิกอาศรมศิลป์ไม่นาน ฉันได้เดินทางไปยังชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี หนึ่งในโครงการสถาปัตยกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม ผลงานของสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมกลุ่มนี้ ซึ่งได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2554

“ชุมชนริมน้ำจันทบูร” เป็นที่ตั้งถิ่นฐานแรกๆ ของจันทบุรี เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำจันทบุรีจึงเป็นย่านการค้าและการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5

ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยจึงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ศาลเจ้าจีน วัดญวน วัดไทย และโบสถ์คาทอลิก รวมไปถึงศิลปะสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์จากลวดลายฉลุจากอิทธิพลฝีมือช่างจีน ญวน และรูปแบบอาคารที่มีทั้งตึกจีน ห้องแถวไม้ หรือแม้แต่อาคารที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในสมัยโคโลเนียลกระจายอยู่ทั่วชุมชน

“เดินถัดไปทางต้นถนนอีกนิดจะมีบ้านหลวงราชไมตรี เป็นโรงแรมที่บูรณะมาจากอาคารเก่า ด้านล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ ถ้าสนใจก็เข้าไปเดินดูได้นะครับ” ชายหนุ่มอายุราว 20 ปี ชักชวนฉันระหว่างทอนเงินค่าขนมไข่สูตรดั้งเดิมของที่นี่

อาคารห้องแถวเก่าในชุมชนนี้ตั้งเรียงกันขนาบข้างถนนขนาดหนึ่งเลนรถยนต์ วางตัวเป็นแนวยาวเลียบไปตามแนวโค้งของแม่น้ำ อาคารฝั่งหนึ่งติดริมฝั่งน้ำ อีกฝั่งหนึ่งหันหลังติดกับอาคารซึ่งนำไปสู่ย่านอื่นบนบก ระหว่างทางที่ฉันเดินไปเต็มไปด้วยร้านค้าขายของดีเมืองจันทบูร ส่วนมากเป็นอาหารและขนมส่งกลิ่นหอมน่าทาน บ้างวางขายผลไม้ น้ำสำรอง พริกไทย หรือกระทั่งเม็ดพลอยซึ่งผ่านการเจียระไนด้วยศาสตร์ดั้งเดิมของเมืองจันท์

นอกจากภายในพิพิธภัณฑ์บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรีจะมีการจัดแสดงโบราณวัตถุจากการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ลูกกระสุน จาน ชาม เงินตรา ไปจนถึงหนังสือเรียนและบันทึกเล่มเก่าแล้ว ยังจัดแสดงภาพการประชุมของคนท้องถิ่นภายในห้องเดียวกัน เห็นภาพขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลด้วยการติดตั้งกระดานให้อ่าน ตั้งแบบจำลองเพื่อสื่อสารให้เห็นความสำคัญของอาคารในย่านนี้ และยังมีภาพขั้นตอนการยกมือเพื่อลงคะแนนเสียงความพึงพอใจของชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อถึงวันได้นั่งลงข้างตัวแทนสถาปนิกชุมชนเจ้าของโครงการ ฉันจึงถือโอกาสยกโครงการนั้นเพื่อถามหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวคิดการทำงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม

“ชุมชนริมน้ำจันทบูรในช่วงแรกก่อนเริ่มโครงการ จะเห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตผู้คนจะเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันย่านเก่าแห่งนี้ก็มีศักยภาพด้านต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้นทุนทางผู้คน ซึ่งสามารถเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ เล่าจากลักษณะสถาปัตยกรรม และยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งอยากดึงศักยภาพบ้านเกิดตนเองขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์” ดิว ผู้ไม่ได้ทำงานนี้โดยตรง แต่ได้มีโอกาสเห็นกระบวนการพัฒนาบ้าง เล่าให้เข้าใจภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ก้าวแรกของแนวคิดกลุ่มอนุรักษ์นี้เกิดเป็นกิจกรรมร่วมอนุรักษ์บ้านเก่าด้วยการทำ vernadoc หรือ vernacular architecture documentation ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐานอย่างการใช้มือวาดด้วยดินสอ ปากกาเขียนแบบ และไม้บรรทัด วาดภาพเก็บรายละเอียดสถาปัตยกรรมระดับมิติแสงเงา สัดส่วน รวมถึงร่องรอยการทรุดโทรมให้ถูกต้อง แม่นยำ สมจริง และง่ายต่อความเข้าใจของบุคคลทั่วไป

“การเก็บข้อมูลแบบนี้ทำให้เจ้าของบ้านนั้นเห็นคุณค่าของอาคารที่ตนอยู่อาศัยไปด้วย ส่งผลให้ตระหนักว่าตนต้องดูแลรักษาบ้านเก่านี้ไว้” เขากล่าว

หลังจากแนวคิดในการอนุรักษ์บ้านเก่าแล้ว มีการคำนึงว่าคนจะต้องกินได้ อยู่ได้จริง ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ถึงจะเห็นโอกาสและอยากมาดูแล ลงทุนที่นี่ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทจันทบูรรักษ์ดี จำกัด ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม โดยเปิดให้ชาวบ้านทุกคน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่มีแนวความคิดในการอนุรักษ์เดียวกัน มาร่วมถือหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของร่วมกันเพื่ออนุรักษ์ความเป็นอยู่ของชุมชนไว้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ผู้ออกแบบทำงานเรื่องหนทางการอนุรักษ์กายภาพ ผู้อนุรักษ์เองจะดูแลเรื่องการจัดการผลประโยชน์ให้คุ้มทุน ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆ และเพิ่มบริเวณพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้ามา

แม้การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่หนึ่งในความสำคัญที่คนมองข้าม คือการสืบต่อให้คนในชุมชนรู้ว่ารากของตนคืออะไร

“จริงๆ ที่พยายามผลักดันให้พัฒนาจนถึงโรงแรมนี่ เพราะอยากให้มันเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ แบบเดียวกันแทบทุกจังหวัด ซึ่งมีเส้นถนนหรือย่านเก่าที่ตายไปจากความเปลี่ยนแปลงของผังเมืองและวิถีชีวิตใหม่” กิตติ์แทรกเสริมเมื่อเพื่อนร่วมงานอธิบายโครงการ “ยกตัวอย่างเมืองจีน ญี่ปุ่น เขาจะรักษาเมืองแบบนี้เอาไว้มาก เพราะคำว่ารากของพื้นที่นั้นสำคัญ หากคนไม่มีรากก็จะไม่รู้ว่าต้องอยู่อย่างไร”

เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของรากผู้คนแล้ว เหล่าตัวแทนสถาปนิกชุมชนจึงโยงเรื่องราวไปถึงโครงการ “สัมผัสหัวใจชุมชน เที่ยวเพลินเดินย่านเก่าเพชรบุรี”

นับเป็นความรู้พื้นฐานว่าเพชรบุรีนั้นมีวัฒนธรรมขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองช่างสิบหมู่”

สิ่งที่พวกเขาพบเมื่อได้ลงพื้นที่ทำงานบริเวณย่านเมืองเก่าใจกลางเมืองคือ แม้ชาวเพชรฯ ทราบว่าจังหวัดของตนมีรากวัฒนธรรม แต่กลับไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งพิเศษ ในทางกลับกันทีมงานซึ่งเป็นคนนอกกลับหลงใหลเมื่อได้เข้าไปฟังเรื่องราวจากผู้สูงอายุซึ่งมีความผูกพันและเข้าใจในรากเมืองเพชร จึงตั้งคำถามขึ้นว่าจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่หายไปกับกาลเวลา

โครงการนี้จึงเป็นการจัดกิจกรรมกับเยาวชนให้ได้สังเกตและเรียนรู้ภายในเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าเพชรบุรี ไม่เพียงได้สัมผัสศิลปะของช่างสิบหมู่เท่านั้น ภายในย่านยังมีคุณค่าอีกมากมายที่ไม่เคยเผยแพร่ เช่น บ้านของนักเขียนชื่อดังชาวเพชรบุรี บ้านที่ทำอาหารคาวหวานสูตรโบราณของเมือง ฯลฯ

การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่างวัยนั้นเป็นมากกว่าการทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของบ้านเกิด แต่ยังทำให้เจ้าของเรื่องราวเหล่านั้นภูมิใจในสิ่งที่ตนมีและจุดประกายให้สืบสานสิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้อื่นต่อไป

มากไปกว่านั้น หน้าที่ของสถาปนิกชุมชนในฐานะผู้ออกแบบยังมีการพัฒนาองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ภายในเส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นจากพื้นที่อื่น เช่น การวาดภาพศิลปะข้างถนน ติดตั้งป้ายข้อมูลประวัติศาสตร์ตามสถานที่ การนำหนังตะลุงมาเป็นองค์ประกอบตามเส้นทาง เพื่อถึงแม้จะไม่ได้จัดเทศกาลท่องเที่ยวเมืองเก่านี้แล้ว ยังคงมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้หลงเหลือให้ประจักษ์ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น

arsromsilp06
arsromsilp07

ใจต้องการ

“ถ้าเป็นโครงการที่มีโจทย์จากหน่วยงานมาอยู่แล้ว เราจะนำความต้องการของประชาชนมาใช้ในส่วนไหนได้บ้างคะ” ฉันตั้งข้อสงสัยในกรณีที่ผู้จัดสรรงบประมาณมีโจทย์ตายตัวมาให้ผู้ออกแบบ

“ชุมชนคือคนที่อยู่ในบริเวณนั้นเป็นผู้ที่ใช้งานจริง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเป็นคนรู้ว่าอยากได้อะไรอยู่ตรงไหน สอดคล้องกับชุมชนของเขาอย่างไร สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานอย่างไร” ปุ๊กอธิบาย “ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุปัสสาวะบ่อย อยากให้ลานผู้สูงอายุอยู่ใกล้ห้องน้ำจะได้ไม่ต้องเดินไกล หรือสนามเด็กเล่นควรอยู่ใกล้ทางเข้า ไม่อยู่ในซอกหลืบ ทำให้ผู้ปกครองมองเห็น ดูแลบุตรหลานได้สะดวก เน้นความปลอดภัย”

แม้สถาปนิกจะมีความรู้เฉพาะทางด้านวิธีคิดการออกแบบตามความต้องการ แต่กระบวนการมีส่วนร่วมจะช่วยระบุการวางผัง จัดสรรพื้นที่ต่างๆ ไว้ในตำแหน่งอันเหมาะสมต่อประเภทการใช้งานก่อน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงความต้องการทางนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม เติมภูมิทัศน์และรายละเอียดเข้าไปเพื่อเสริมความสวยงามภายหลัง

ฉันนึกภาพไปถึงโครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 – โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ติดกับชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทย์หลักในการพัฒนาพื้นที่ออกกำลังกายเดิมให้กลายเป็นลานกีฬาสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง

การสร้างพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะนั้นสามารถนำเพียงสนามกีฬาขนาดมาตรฐานหรือเครื่องออกกำลังกายมาวางเรียงกันสำหรับการใช้งานเป็นหลักก็ได้ แต่ทีมสถาปนิกชุมชนอาศรมศิลป์นั้นได้มีบทบาทในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนใกล้เคียงตลอดระยะเวลาดำเนินการ ทำให้สามารถนำความต้องการและบริบทพื้นที่มาสรุปเป็นแนวคิดการจัดสรรพื้นที่เพื่อส่งต่อไปยังบริษัทภูมิสถาปนิกในโครงการเพื่อนำไปออกแบบอย่างละเอียดต่อไป

หลังจากการออกแบบ การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมครั้งถัดมาจึงเป็นการนำแบบมาส่งคืนแก่ชุมชนให้ทำการพิจารณา และแสดงความเห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ เพื่อให้ทีมงานสามารถนำความเห็นไปปรับปรุงรายละเอียดการออกแบบเพิ่มเติม

กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นมีอยู่ทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นอาศรมศิลป์ บริษัทเอกชน หรืองานรัฐบาล ไม่ว่ามีส่วนร่วมมากน้อยต่างกันเพียงใดก็สามารถปรับใช้ได้ตามบริบทของโครงการ สุดท้ายจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบความเหมาะสมซึ่งกันและกันได้อย่างยุติธรรม

“หากมองว่าการมีส่วนร่วมคือการสวมเสื้อผ้า การพัฒนาของรัฐบาลและหน่วยงานเทศบาล ณ ปัจจุบันเหมือนการสวมเสื้อโหล ทุกที่เหมือนกันหมด ในอีกทางหนึ่งการทำงานของอาศรมศิลป์คือการสวมเสื้อสั่งตัด ซึ่งเหมาะกับผู้สวมใส่แล้วทำให้เขาภาคภูมิใจในการสวมเสื้อตัวนั้น” ปุ๊กเปรียบเทียบให้ฉันเห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างความแตกต่างด้วยโครงการลานกีฬา ถ้าได้รับการพัฒนาแบบเสื้อโหลก็จะเป็นการสร้างขึ้นเหมือนกันทุกที่ตามข้อกำหนดมาตรฐาน เช่น มีสนามตะกร้อ ฟุตซอล แบดมินตัน เหมือนกันหมดทุกที่ ส่วนงานของออฟฟิศนี้จะมีการนำเรื่องคุณค่าของชุมชนและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ามาใส่ในลานกีฬา

สถาปนิกสาวเล่าให้ฟังถึงโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนในจังหวัดต่างๆ

ในจังหวัดเพชรบุรีได้รับการเข้าไปพัฒนาโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมถึงสองแห่ง แม้ลานกีฬาจะหมายถึงพื้นที่ออกกำลังกาย มีการใช้งานไม่ต่างกันมาก แต่คำว่าวัฒนธรรมชุมชนนั้นสื่อให้เห็นถึงแนวคิดการออกแบบก่อสร้างตามความเฉพาะของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสี วัสดุ หรือพืชพรรณท้องถิ่น ก็ถือเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความเป็นชุมชนแต่ละที่

ขณะที่เทศบาลบ้านแหลมเป็นพื้นที่นาเกลือ ทะเลโคลน และชุมชนชาวประมง จึงใช้แนวการออกแบบมีการใช้พรรณไม้ทนเค็ม นำเรือมาดัดแปลงเป็นเครื่องเล่นปีนป่ายสำหรับเด็ก จัดสรรพื้นที่รองรับการจัดประเพณีทะเลโคลนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเนื่องจากบ้านแหลมถูกโอบล้อมไปด้วยป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ จึงมีแนวคิดให้ออกแบบศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาธรรมชาติทางทะเล

ลานกีฬาหาดเจ้าสำราญ ซึ่งมีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับป่าชายเลนเสื่อมโทรม จึงมีแนวคิดในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับคืนมา ควบคู่ไปกับการออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยใช้เอกลักษณ์ของย่านอย่างสัตว์ทะเล มีการสร้างเครื่องเล่นวาฬบรูด้า และมีการชวนชาวประมงท้องถิ่นเข้ามาถักอวนประมงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเล่นสนามอีกด้วย

นอกจากการสร้างพื้นที่เสริมสร้างสุขภาวะที่มีความแตกต่างจากที่อื่นแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่คนในพื้นที่ รวมถึงสร้างความภูมิใจและผูกพันกับพื้นที่นั้นได้โดยปริยาย

arsromsilp08
arsromsilp09

เชื่อมั่น เชื่อใจ พัฒนา เข้มแข็ง

กล่าวถึงการพัฒนาจากหน่วยงานของประเทศซึ่งมักจะมี “ธง” เป็นหน่วยชี้วัดความสำเร็จของโครงการ เนื่องจากการพัฒนาระดับกว้างเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วประเทศ จึงต้องมีการกำหนดรายการเหล่านี้ไว้เพื่อความสะดวกสบายในการทำงาน แต่จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้จริง

กิตติ์ได้เล่าให้เห็นความแตกต่างโดยง่าย คือการโครงการพัฒนาส่วนมากที่ส่งคนลงพื้นที่มักเป็นคนทำวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ได้สิ่งที่ต้องการแล้วกลับ หรือมีคนมาสอนวิธีการพัฒนาในชุมชนใหม่ๆ พูดแล้วก็กลับ ชาวบ้านไม่รู้สึกถึงประโยชน์หรือความเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่งานของอาศรมศิลป์เป็นการลงไปทำงานอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้เวลาร่วมกันถึง 3-5 ปี โดยไม่ได้ลงพื้นที่ไปสั่งให้เขาทำ แต่เป็นการลงไปทำให้เห็น ตั้งแต่การถามความเห็นยันการช่วยการขุดดิน กวนปูน ทาสีถนน กระทั่งช่วยกันตอกเสาเข็มก็ทำ

เขากล่าวเสริมว่ากระบวนการมีส่วนร่วมก็มีความยากอยู่ในตัวเช่นกัน คือผู้ออกแบบกระบวนการต้องมีความเชื่อมั่นในผู้มีความเกี่ยวข้องจริงๆ เพราะเป็นการมุ่งเป้าหมายในโครงการขนาดเล็กกว่าจึงต้องทำตามความต้องการที่ได้จากกระบวนการนี้ ทุ่มเทระยะใช้เวลาทำความเข้าใจบริบทเฉพาะของพื้นที่และผู้คน บางกระบวนการจึงใช้เวลาเป็นปีๆ

ใจคือคำตอบง่ายๆ ที่ทำให้ชุมชนเต็มใจร่วมงานด้วย

เมื่อสถาปนิกชุมชนเชื่อมั่นในการเห็นคุณค่าในคน มองเห็นความสำคัญของการมีสัมพันธ์ที่ดีแล้วเข้าไปทำงานด้วยความจริงใจ แข็งขัน อ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อทำงานไปสักพักคนท้องถิ่นจะมองเห็นประโยชน์และคุณค่าที่เกิดจากงานของพวกเขา เกิดความเชื่อใจในกระบวนการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขั้นตอน

แรกเริ่มอาจจะมีคนเชื่อใจกระบวนการมีส่วนร่วมเพียงไม่เท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะมีจำนวนเพิ่มพูนขึ้นเท่านั้น

“อาศรมศิลป์ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะเราเป็นสถาบันการศึกษาที่เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง เราไม่ได้มุ่งมาดเพื่อทำให้โครงการเสร็จสิ้นเพียงอย่างเดียว แต่ทำเพื่อให้รู้ว่าล้มเหลวหรือสำเร็จเพราะอะไร และจะทำอย่างไรให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาและชุมชน” ดิวกล่าวขึ้น

“เหมือนการที่เราเชื่อว่าเราสร้างคนเพื่อความยั่งยืน อาศรมศิลป์เองก็เชื่อในการสร้างบุคลากร สร้างนักศึกษา สถาปนิก ที่เข้าใจกระบวนการเหล่านี้อย่างมีคุณภาพ สุดท้ายก็จะสามารถพัฒนาประเทศได้ต่อไป” กิตติ์กล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่นในอุดมการณ์

หน่วยปฏิบัติการวิจัยการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายแนวคิดชุมชนอัจฉริยะหรือ smart community ไว้ว่า ชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมกันโดยคนและองค์กรในชุมชน ร่วมกันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนา โดยมีแกนหลักในการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของรัฐและชุมชน

“รู้ปัญหา เห็นเป้าหมายการทำงาน สร้างแผนงาน ดำเนินการต่อ ทำแผนงาน แล้วดำเนินการต่อ” แผนงานโดยสรุปของลักษณะการทำงานจากความต้องการของผู้มีความเกี่ยวข้อง สุดท้ายแล้วหากผู้ใช้งานได้ร่วมลงมือทำทุกขั้นตอนตั้งแต่แรกจนจบ พวกเขาจะเข้าใจการรู้จักปัญหา แล้วหาวิธีการจัดการกันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

แม้กลุ่มสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ได้เข้าไปร่วมพัฒนาอย่างถาวร แต่ฉันคิดว่ากระบวนการมีส่วนร่วมในแบบที่เขาเชื่อมั่นนั้นเป็นการจุดประกายความสัมพันธ์ที่ดีของชุมชนผ่านกิจกรรมและการทำงานต่างๆ ร่วมกันจนต่อยอดไปยังการเป็นชุมชนเข้มแข็งได้ด้วยตนเองในอนาคต

ฉันเดินทางออกจากสถาบันอาศรมศิลป์ในเวลาพลบค่ำ แม้ใช้เวลาไม่นานในการต่อรถสาธารณะก็มากเพียงพอให้พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป ระยะทางเดิน 1 กิโลจากป้ายรถริมถนนใหญ่นั้นไม่เคยไกลเลยเมื่อเป็นเส้นทางที่คุ้นชิน

arsromsilp10
arsromsilp11

เวลานั้นชาวบ้านในชุมชนจากซอยเล็กซอยน้อยต่างออกมาใช้พื้นที่ว่างใต้ทางด่วนเป็นที่รวมตัวกันทำกิจกรรม บ้างวิ่งออกกำลังกายบนพื้นที่ลาดเป็นลานคอนกรีตสำเร็จรูป วัยทำงานจับกลุ่มเตะตะกร้อหรือเตะฟุตบอลในสนามขนาดผิดมาตรฐาน กลุ่มแม่บ้านวัยกลางคนจับกลุ่มอยู่หน้าเวทีติดเครื่องเสียงขนาดเล็กเพื่อเต้นแอโรบิกด้วยความขันแข็งตามการเต้นนำของครูจากหน่วยงานส่วนกลาง

ฉันได้ยินเสียงเด็กในชุมชนวิ่งเล่นกันที่ตำแหน่งประจำ ในสนามเด็กเล่นที่สร้างบนพื้นคอนกรีตผิวขรุขระ ไม่สามารถรองรับการกระแทกหรือลดอาการบาดเจ็บหากล้มลงได้ เครื่องเล่นสนามหลังใหญ่ตั้งอยู่กับไม้กระดกและชิงช้า ต่างผุพังจากการไม่มีใครดูแล

บรรยากาศที่คุ้นเคยในทุกๆ วันกลับทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า หากทุกคนในชุมชนลองร่วมมือกัน นำเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความต้องการ กระบวนการนั้นอาจนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ทำให้ทุกคนรู้สึกภูมิใจในการอยู่อาศัยได้หรือเปล่า

ร่วมมือ รัก หวงแหน ใช้งาน และดูแลร่วมกันให้เกิดความยั่งยืน