เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต หลังจากสรงพระบรมศพ แต่งพระองค์อย่างเต็มยศ พร้อมทั้งถวายพระสุกำ (ห่อและมัดตราสัง) แล้ว จากนั้นเจ้าพนักงานจะอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานยังพระบรมโกศ

พระเมรุมาศ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 92

นับแต่นั้นเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ต้องมีการประโคม การบำเพ็ญพระราชกุศล นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เข้ามาสวดพระอภิธรรมและถวายภัตตาหาร

ธรรมเนียมไทยโบราณถือว่างานพระบรมศพมิได้เป็นโมงยามแห่งความโศกเศร้า ดังเห็นได้จากนัยของคำ “เสด็จสวรรคต” อันแปลตรงตัวว่าคือการเสด็จ (กลับคืน) สู่สวรรค์ ย่อมถือเป็นวาระของการสมโภชเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีมหรสพการละเล่นตลอดงาน

สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินไปพร้อมกันในระหว่างนั้น คือการเตรียมก่อสร้าง “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

หลักฐานสมัยอยุธยาให้ภาพว่าพระเมรุของกษัตริย์มีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก เช่นพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” ระบุว่ามีความสูงถึง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ ซึ่งหากคิดเทียบตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่า ๔ ศอก เท่ากับ ๑ วา คิดเป็น ๒ เมตร และ ๒๐ วา เท่ากับ ๑ เส้น คือ ๔๐ เมตร ดังนั้นพระเมรุองค์นี้จะมีความสูงถึงประมาณ ๑๐๒ เมตร หรือเทียบเท่าได้กับตึก ๓๐ ชั้นสมัยนี้

การเรียกอาคารที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพว่า “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” นั้น เนื่องจากว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น “ตามอย่างเขาพระสุเมรุ” คือเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางหรือแกนของจักรวาลในคติพุทธศาสนาเถรวาท จึงประดับประดาด้วยรูปนาค ครุฑ อสูร อินทร์ พรหม ตามลำดับสูงต่ำหรือตำแหน่งแห่งที่ในจักรวาล ดังที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” อันเป็นบันทึกความทรงจำของคนรุ่นอยุธยาตอนปลาย พรรณนาพระเมรุมาศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระเมรุครั้งสุดท้ายของสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า

“พระเมรุใหญ่สูงสุดยอดพระสเดานั้น ๔๕ วา ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดงเขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอิสูร ชั้นเทวดา ชั้นอินทร์ แลชั้นพรหม ตามอย่างเขาพระสุเมรุ ฝาข้างในเขียนเป็นดอกสุมณฑาทองแลมณฑลเงินแกมกัน แลเครื่องพระเมรุนั่นมีบันแลมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก ขุนสุเมรุทินราชเป็นนายช่างอำนวยการ พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ ตั้งรูปกินร รูปอิสูร ทั้ง ๔ ประตู…แล้วจึงมีรูปเทวดา รูปเพทยาธร คนธรรพ์ แลครุฑกินร ทั้งรูปคชสีห์ ราชสีห์ แลเหมหงส์ แลรูปนรสิงห์ แลสิงส์โต ทั้งรูปมังกร เหรานาคา แลรูปทักธอ รูปช้างม้า เรียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่างๆ นานาครบครัน ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกั้นตามที่”

แต่ขณะเดียวกัน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ยังชี้ให้เราเห็นด้วยว่าพระเมรุนั้น แท้ที่จริงแล้วสร้างขึ้นจาก “แผงหุ้มผ้าปิดกระดาษ” คือเป็นเพียงโครงไม้หุ้มผ้าประดับด้วยกระดาษสี

บางท่านอธิบายว่า เนื่องจาก “ถือ” กันว่าพระเมรุสร้างขึ้นเนื่องในการพระบรมศพ อันเป็นเหตุอวมงคล จึงเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถจับทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว แล้วรื้อถอนทันทีภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี

ด้วยเหตุนั้นจึงมักกำหนดจัดงานพระเมรุช่วงฤดูแล้ง อย่างหนึ่งก็เพื่อความสะดวกสำหรับงานพิธีกลางแจ้ง กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเมื่อพระเมรุสร้างขึ้นด้วยวัสดุชั่วคราว หากถูกฝนย่อมชำรุดหักพังได้ง่าย ดังเคยมีกรณีสมัยกรุงธนบุรี คราวงานพระเมรุสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี ๒๓๑๘ ปรากฏว่ากำหนดงานไปตกในช่วงฤดูฝน ระหว่างนั้นเกิดพายุฝนตกหนัก เครื่องประดับพระเมรุที่เป็นกระดาษทองทาด้วยแป้งเปียกโดนน้ำจนหลุดล่อนหมด แม้กระทั่งดอกไม้ไฟในพิธีก็ยังจุดไม่ติด

ทว่าแม้พระเมรุจะเป็นเพียงสถาปัตยกรรม “เฉพาะกิจ” ที่มีอายุใช้งานสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตมหึมา จึงต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้าเป็นแรมปี เพราะต้องหาวัสดุอุปกรณ์ปริมาณมาก เช่นในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปี ๒๓๕๔ พบบัญชีเกณฑ์วัสดุก่อสร้างจากหัวเมืองต่างๆ ว่าต้องใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ ๘๙๖ ต้น เสาไม้เบ็ดเตล็ด ๕,๕๐๐ ต้น แผงไม้ไผ่สาน ๒,๘๐๐ ผืน กับไม้ไผ่อีกกว่า ๔ แสนลำ