อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี : เรื่องและภาพ
“ขอเชิญเที่ยวไหม น้ำสีทองแห่งพวา” หากนี่คือสถานที่ท่องเที่ยวคงเป็นคำเชิญแสนธรรมดา แต่คำพูดนี้ออกมาจากคนในพื้นที่ หาใช่ไกด์หรือนักโฆษณามือทอง พวกเขาพูดด้วยน้ำเสียงดุดัน เพื่อประชดประชันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบบ้านของเขา
รูปกะโหลกไขว้ตัวอักษรสีแดงหราติดข้อความว่า ห้ามนำไปใช้อุปโภคบริโภค มองเพียงภาพก็เข้าใจได้ทันทีว่า สถานที่แห่งนี้ปนเปื้อนบางสิ่งซึ่งอันตรายต่อชีวิต ยิ่งเมื่อพบว่าสิ่งที่ปนเปื้อนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดของมนุษย์คือ “น้ำ”
จากข้อมูลกรมมลพิษ สรุปรายงานประจำปี 2563 มีเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ ทั้งหมด 718 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 469 เรื่อง ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ เรื่องกลิ่น รองลงมาคือฝุ่นละออง-เขม่าควัน และเสียงดังรบกวน โดยแหล่งที่มาของปัญหาที่ปรากฏมากที่สุด มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งบ้านหนองพวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นอีกหนึ่งกรณี พบว่าแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคจวบจนพื้นที่การเกษตรของชาวหนองพะวา ปนเปื้อนไปด้วยน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน ของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
กว่าทศวรรษลมหายใจของหนองพะวา
“เมื่อไรเราจะได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม ชาวบ้านประสบปัญหามานาน ที่นาที่ยางทำอะไรไม่ได้ ใครรับผิดชอบ” เสียงร้องเรียนของชาวบ้าน บอกถึงปัญหามลพิษที่คาราคาซังมานานนับ 10 ปี
เทียบ สมานมิตร หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เล่าว่า โรงงานประกอบกิจการคัดแยกสิ่งของและรีไซเคิล แห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 2553 สวนยางของเขาอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับโรงงาน ช่วงแรกเริ่มเขาได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มาเป็นระยะ นานเข้าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องปกติ จึงสืบหาและคาดการณ์ว่าต้นตอคือน้ำจากโรงงานรั่วซึมเข้ามาปะปนกับแหล่งน้ำใช้ จึงรวมตัวชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายและความรำคาญจากกลิ่นน้ำเสียดังกล่าว ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบหาแหล่งที่มา
“บ่อน้ำที่เคยใช้เพื่อการเกษตรทั้งตรงหนองพะวา และพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อก่อนมันใส ใช้ได้ทั้งหมู่บ้าน อาบได้ กินได้ว่างั้นเถอะ จากน้ำใสเริ่มเปลี่ยนเป็นเหลืองและดำมากขึ้นเรื่อย ๆ กลิ่นนี่เหม็น เมื่อมากเข้าชาวบ้านอีกหลายครัวเรือนก็เริ่มได้รับผลกระทบจึงออกมากัน”
เทียบทำอาชีพเกษตรกรสวนยางพารา มีพื้นที่สวนทั้งหมด 36 ไร่ ติดกับกำแพงโรงงาน สวนของเขาเป็นที่ราบลุ่มต่ำกว่าพื้นที่โรงงานอยู่ระดับหนึ่ง ธรรมชาติของสายน้ำไหล ทำให้สวนแห่งนี้กลายเป็นภาชนะรองรับน้ำที่ผ่านมาจากโรงงานเป็นสถานที่แรก และไหลตามทางบางส่วนไปรวมตัวกันจนเป็นแอ่งขนาดใหญ่ในพื้นที่ของ เทียบ อีกส่วนไหลผ่านโรงเรียน อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ จนถึงบริเวณพื้นที่เก็บน้ำ หนองพะวา ที่ชาวบ้านใช้อุปโภคและบริโภค
สนิท มณีศรี ชาวบ้านในพื้นที่ บ้านของเขาอยู่ติดกับพื้นที่เก็บน้ำสาธารณะ หนองพะวา พื้นที่กว้าง 4 ไร่ เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่โรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้จะก่อสร้าง
“น้ำตรงนี้เมื่อก่อนปลาเยอะ ชาวบ้านก็มาใช้น้ำในนี้แหละ ไปอาบไปใช้ แต่ส่วนใหญ่ไปทำเกษตรมากกว่า แต่นั่น 10 ปีก่อนนะ ตอนนี้ใครจะใช้ได้แค่เอาไปรดน้ำต้นไม้ต้นไม้ยังตายแล้วคนละ หลายปีก็เป็นอยู่แบบนี้สู้มานานเรื่องก็ไม่ไปไหนสักที”
ป้ายรูปกะโหลกไขว้ตัวอักษรสีแดง บ่งบอกว่าความหมายว่าห้ามนำน้ำไปใช้ เป็นสัญลักษณ์แรกของการต้อนรับเมื่อเข้ามาในบริเวณหนองพะวาแห่งนี้
“สีก็ดูปกติ ใสนะ” หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางมาลงพื้นที่ถาม
สนิท แกหัวเราะเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เขาเอาปูนขาวมาโรยไว้ พวกสีโลหะมันตกตะกอน แต่ถ้าสังเกตให้ดีใต้น้ำจะเป็นสีเหลืองอมส้มไม่เว้นแม้แต่ดินข้างใน ไม่เชื่อคุณดูต้นไม้รอบบ่อก็ได้ สีกิ่งไม้เหลืองไหม”
สนิทกล่าวถึงคำว่า ‘เขา’ แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ยังมีใครหรือกลุ่มไหนที่พยายามปกปิดสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่อยากเปิดเผยออกมาให้คนอื่นได้รับรู้
เทียบย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า แรกเริ่มก่อนที่โรงงานขอใบอนุญาตจัดตั้งมีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน เรื่อง ขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ผลปรากฏว่ามีการคัดค้าน ไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งโรงงาน และการประชุมครั้งถัดมาช่วงต้นปี 2555 เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง เรื่องขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน คัดแยกวัสดุที่ไม่เป็นอันตราย มีผู้ร่วมประชุมลงความคิดเห็น จำนวน 218 ราย มีเห็นด้วยเพียง 2 รายเท่านั้น โดยผู้ไม่เห็นด้วยนั้นให้ความเห็นว่า กลัวจะเกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และโรงงานยังอยู่ใกล้ชุมชนมากเกินไป
“ระหว่างที่โรงงานยังไม่ได้รับใบประกอบอนุญาต ไม่รู้ว่าทำไมถึงสามารถทำงานได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านสงสัยในตอนนั้น”
ข้อสงสัยดังกล่าวทำให้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยื่นเรื่องไปยัง หน่วยงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และส่งข้อร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐอีกหลายครั้ง แต่ผลกลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในสายตาชาวบ้าน
กลางปี 2556 ชาวบ้านหนองพะวารวมตัวกันอีกครั้งหน้าโรงงาน เพื่อประท้วงถึงผลกระทบเรื่องกลิ่นที่รุนแรง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้เข้าตรวจสอบในวันเดียวกัน พบว่ากลิ่นเหม็น มาจากน้ำมันเครื่อง และสารเคมี อีกทั้งยังมีฝุ่นละอองจากเศษเหล็กที่กระจายตัวในอากาศเป็นบริเวณกว้าง โดยมีผู้จัดการโรงงานในขณะนั้น บอกว่าหลุมดังกล่าวเป็นแหล่งสำรองน้ำฝน ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ตรวจพบและจากการตรวจสอบยังพบอีกว่าโรงงานไม่มีใบประกอบกิจการคัดแยกขยะและสารเคมีที่ถูกต้อง
“แทนที่เขาจะสั่งให้โรงงานปิด เราก็มองตลอดว่ายังมีรถเข้าออก โรงงานก็ยังทำงานอยู่ จนไปเจอว่าทางโรงงานกำลังพยายามยื่นเรื่อง ขอใบอนุญาตจัดตั้ง เราก็ตั้งคำถามเขาขอได้อย่างไร ในเมื่อแค่ตั้งเขาก็ผิดแล้ว จนไม่รู้ว่าเขาไปเกณฑ์คนสนับสนุนมาจากที่ไหนเรายังไม่รู้เลย” สนิท เล่า
ในปี 2560 โรงงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาต 3 ใบ จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประกอบกิจการโดยไม่มีใบประกอบอนุญาตมาตลอด ประกอบด้วย 1.ประกอบกิจการคัดแยกของใช้แล้วทั่วไป 2.ใบอนุญาตประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ 3.ใบจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า เป็นที่น่าสังเกตในช่วงก่อนหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จะออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นั้นไม่พบว่ามีประกาศรับฟังความคิดเห็นใด แต่กลับมีชาวบ้านที่อ้างว่าอยู่ในพื้นที่เห็นชอบในการจัดตั้งด้วย ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านได้ร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อน ทั้งเรื่องน้ำเสีย มลพิษด้านกลิ่น และยังไม่ได้รับการแก้ไขใดใดทั้งสิ้น
จากข้อมูลที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ เก็บรวบรวม ตลอดระยะเวลา 5 ปี จากปี 2555-2560 ชาวหนองพะวาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ กำนัน ต.บางบุตร อบต.บางบุตร อำเภอบ้านค่าย และอุตสาหกรรมจังหวัด ยังไม่เห็นมีหน่วยงานใดตอบรับหรือแสดงความเป็นห่วงหรือยื่นมือเข้ามาดูแลเท่าที่ควร จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พื้นดินและน้ำ โดยในช่วงฤดูฝนจะเกิดกลิ่นและหมอกควัน และน้ำเสียไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน และสวนยางพารา เมื่อขุดดินลึกลงใต้ชั้นดิน ดินเป็นสีดำ น้ำที่ไหลซึมออกมาเป็นสีดำ และมีกลิ่นเหม็น เปลือกยางพาราแตกทำให้ต้นยางพาราตาย พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นอย่างมาก
ส่วนปีถัดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการ มีสื่อหลายสำนักและข้าราชการและเอกชนมาดูพื้นที่สัมผัสด้วยตัวเองทำให้หนองพะวา ได้รับความสนใจ เรื่องราวกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้มีการเข้ามารับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มีทาทีว่าการเยียวยาจะเริ่มเมื่อใด
“ตอนนี้ที่นาผมไม่มีใครซื้อ ผมเคยตั้งแต่ก่อนที่ไม่มีผลกระทบนะเขาให้ไร่ละเป็นล้าน ตอนนี้ไร่ละเท่าไรก็ไม่มีใครสน เพราะมันทำอะไรไม่ได้เหมือนไม่มีค่าไปเลย” เทียบตัดพ้อให้ฟัง
“ผมสูดกลิ่นเหม็น รู้ว่ามันส่งผลกระทบร่างกายแต่ทำไง ที่พักผมอยู่ตรงนี้ก็ทนไป จนกว่าจะเยียวยา ตัวผมยังไม่เท่าไหรแล้วครอบครัว เด็กเล็ก ยิ่งทางน้ำผ่านโรงเรียนอีก เด็ก ๆ ที่เขาต้องหายใจเอาสารปนเปื้อนนี้ไปทุกวัน ลองคิดดูว่ามันรุนแรงแค่ไหน” สนิท ทิ้งท้าย
จากบ่อกลบถึงผลกระทบน้ำเสีย
“ตามมาเลยไม่ไกล คุณมาเห็นกับตาเสียดีกว่า เล่าขนาดไหนไม่เท่าเห็น” สนิทตะโกนบอกพร้อมบิดคันเร่งมอเตอร์ไซต์นำทาง ผ่านบ้านเรือน โรงเรียน ตามหน้าบ้านหรืออาคารที่เห็นบางจุดมีรูปกะโหลกไขว้ ที่หมายถึงสิ่งปนเปื้อนเป็นอันตราย ไม่ต่างจากหนองเก็บน้ำพะวา เด่นชัดแก่ผู้พบเห็น 2-3 ป้าย ตามรายทาง
จากข้อมูลของเครือข่ายเฝ้าระวังน้ำผิวดินจังหวัดระยอง เครือข่ายคนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติ น้ำอุปโภคและบริโภคในจังหวัดระยองทั้งหมด บอกว่าตั้งแต่ปี 2560 จังหวัดระยองพบ น้ำเสื่อมโทรมอยู่ที่ 47 เปอร์เซ็นจากน้ำผิวดินทั้งหมด ส่วนปี 2561 น้ำที่เกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่สามารถใช้อุปโภคและบริโภคได้อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นของน้ำผิวดินทั้งหมดในพื้นที่ของจังหวัด
วิชัย เลี่ยมเปี่ยม สมาชิก อบต.บ้านค่าย จังหวัดระยอง เล่าให้ฟังถึงการตรวจสาเหตุที่มาน้ำเสียและบ่อกลบในโรงงานและพื้นที่โดยรอบโรงงาน ตั้งแต่ปี 2560-2563 พบว่า
“เจอสารเคมีกองรวมกันเป็นอย่างมาก การตรวจบางครั้งพบว่าไม่มีการคลุมหรือป้องการรั่วไหลที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงปี 2562 บริเวณบ่อกลบ พบกลิ่นรุนแรงมาก เมื่อฝนตกน้ำมันก็ซึมเข้าบ่อ มันก็นำกากสารพิษลงมาสู่ลำธารสาธารณะ ยิ่งพื้นที่โรงงานมีลักษณะลาดเอียง และมีร่องน้ำที่สามารถระบายน้ำจากบริเวณโรงงานออกสู่พื้นที่ชุมชนรอบบริเวณโรงงาน”
วิชัยให้ความเห็นอีกว่า ในกรณีนี้น่าจะมีการนำสารอันตรายฝังกลบรอบโรงงานด้วย สิ่งที่เขาเป็นกังวลหากมีการฟ้องร้องค่าเสียหาย แล้วมีการไปขุดเจอหลุมบ่อกลบอยู่นอกพื้นที่ โรงงานสามารถผลักภาระโดยไม่รับผิดชอบ อ้างได้ว่าไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เอามากลบและเวลาใดไม่อาจทราบได้
ตรงกับที่ เทียบ เล่าให้ฟังว่า เมื่อตนฟ้องร้องไปทางหน่วยงาน มีการเข้ามาตรวจสอบต่างๆ คำถามแรกถามคือ ตนได้เอาสารพิษหรืออะไรมาทิ้งไว้จวบจนรับจ้างขนฝังกลบขยะสารพิษจนเป็นเหตุให้น้ำเสียหรือไม่
“แค่กลิ่นก็ไม่ไหวแล้ว ยางก็ตาย ในเมื่อรู้ว่าทำไปก็ไม่ส่งผลดีกับพื้นที่สวนยางจะทำไปทำไม สุดท้ายโรงงานก็ยังไม่ยอมรับว่าที่ตายมาจากเขา”
จากข้อมูลของสำนักข่าว PPTV วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 สัมภาษณ์ เจ้าของโรงงานแห่งนี้ว่า ยินดีปิดโรงงานตามที่กรมอุตสาหกรรมมีคำสั่ง และถอดถอนเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการทั้งหมด ส่วนเรื่องน้ำเสียยืนยันว่าไม่ได้มาจากโรงงาน แต่เป็นผลมาจากพื้นที่สวนเป็นพื้นที่ราบต่ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ง่ายและโรงงานไม่มีการนำสารเคมีวัตถุอันตรายไปฝังกลบรอบพื้นที่เกษตรกรของชาวบ้านแน่นอน
รถหยุดลง เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทาง มองจากริมถนนตรงจุดจอดรถ ภาพที่เห็นไม่ต่างจากสวนยางทั่วไป ต้นยางสูงต่ำลดหลั่นกันไป แต่อากาศแห้งทำเอาหายใจไม่ถนัดนัก สนิทนำเข้าไปยังสวนที่คนในพื้นที่บอกว่า ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
ยิ่งเดินลึกเข้ามาเหมือนมีเส้นเขตแดนแบ่งความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ ด้านหนึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านมีเพียงลำต้นสีขาว ไร้ใบ ตั้งตระง่าน ไร้ชีวิต
ต้นยางที่เคยเขียวออกผลผลิตทุกปีบัดนี้เหลือเพียงแต่ซากยืนต้น กะลารองน้ำยางเก่า ๆ และรอยคว้านน้ำยางยังทิ้งรอยให้เห็นบางต้น แต่หากเดินมาอีกด้านจะเห็นว่าแต่ละต้นต่างโดนทาสีเป็นเครื่องกากบาทเอาไว้แทบทั้งสิ้น
“ต้นยางพวกนี้ ตั้งแต่น้ำในโรงงานออกมามันก็ตายหมดเลย เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ จึงขีดเส้นให้เห็นไปเลยว่าต้นไหนตาย ชัดๆ ให้เขาเห็น” สนิท เดินพลางชี้ให้เห็นจุดได้รับผลกระทบ
แหล่งน้ำบริเวณที่ติดกำแพงสังกะสีของโรงงาน พบว่าน้ำในบ่อเป็นสีดำคล้ำและกลิ่นแสบจมูก
“เขาอ้างว่าเป็นสีที่เกิดจากใบยูคาลิปตัสถับทมกันจนทำให้น้ำเปลี่ยนสี พอเราถามถึงแล้วกลิ่นฉุนมาจากไหน เบือนหน้าหนีทันที ไม่ตอบ” สนิทชี้ไปยังแหล่งน้ำขังจุดหนึ่งที่ติดกับบริเวณกำแพงโรงงาน นอกจากนี้บางส่วนยังมีถังหรืออุปกรณ์ทิ้งไว้ให้เห็นเป็นรอยทาง
เข้าใกล้ยิ่งเหมือนหลุดออกจากสวนยาง ที่ก่อนหน้าเคยเขียวขจี พื้นดินกลายเป็นดินแดงสีส้มแห้ง ตะกอนเกรอะกรัง เกาะจนมีลักษณะไม่ต่างกับแผ่นสังกะสีบางๆ พลันนึกถึงคำพูดของคนในพื้นที่หนองพะวา พูดด้วยท่าทีตลกร้ายว่า ‘น้ำสีทองแห่งหนองพวา’ ภาพทีเห็นตรงหน้าทำเอาผู้มาลงพื้นที่ต่างตะลึงกันไปชั่วขณะ คำเหล่านั้นไม่ได้เกินเลยไปจริง ๆ
ภาพต้นไม้ยืนต้นตายกว่า 20 ไร่ ของ เทียบ คงบอกสภาพความเลวร้ายของดินแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
“พอช่วงน้ำแห้ง น้ำสีทองแดงพวกนี้จับตัวเป็นตะกอนแห้งติดเหมือนสนิมเหล็กเลย” แกว่าพลางเคาะกำปั้นมือลงบนดินเพื่อพิสูจน์ความแข็งให้เห็น
แน่นอนว่าสารปนเปื้อนเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงและผู้ที่มีการสัมผัสกับน้ำปนเปื้อนดังกล่าว เมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมามีการตรวจหาสารโลหะหนักในร่างกาย ผู้ได้รับการตรวจคือชาวบ้านประมาณ 400 คน รอบรัศมี 1 กิโลเมตรจากโรงงาน ผลการตรวจยังไม่ปรากฏข้อมูล คาดว่าผลออกกลางเดือนพฤษภาคม
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเคยตรวจตะกอนดินในพื้นที่หนองพะวาให้ข้อมูลว่า ทางมูลนิธิทำการเก็บตะกอนดิน จากทั้งหมด 4 จุดที่คาดว่ามีการปนเปื้อนรอบโรงงาน ประกอบด้วย สวนทางทิศตะวันตกโรงงาน บ่อน้ำ คลองพะวาและแปลงนาในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการวัดค่าจะตรวจจาก สารอันตราย 3 กลุ่ม คือประเภทโลหะหนัก ต่อมาคือสารปิโตเลียมไฮโดรคาร์บอน และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHS)
จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่าง ตรวจพบโลหะหนัก 5 ชนิด มีค่าสูงเกินมาตราฐาน ได้แก่สารหนู (AS) โครเมียม (Cr) ตะกั่ว (Pb) นิกกิล (Ni) และสังกะสี (Zn) ส่วนโลหะหนักชนิดที่มีการปนเปื้อนสูงสุดในพื้นที่คือสังกะสีอยู่ที่ 633 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบในบริเวณที่เคยมีการลักลอบทิ้งกากของเสียในบ่อกลบซึ่งติดกับสวนชาวบ้าน
“เจอสารอันตรายบางตัวพบว่ามีนัยยะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สารละลายบางตัวที่พบบางตัวน่ากลัว เป็นสารก่อมะเร็ง เราวิเคราะห์ของเรากับที่ทางหน่วยงานสิ่งแวดล้อมเคยมาตรวจสอบ พบว่าตรงกันหลายจุด ยืนยันว่ามีของเสียอันตรายแน่นอน ซึ่งก่อนหน้าชาวบ้านรู้ว่าเป็นของเสียปนเปื้อน แต่อาจจะไม่รับทราบว่าส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรและความอันตรายของแต่ละชนิด”
แต่ละก้าวที่เดินเข้าไปพบเพียงฝุ่นสีเหลืองส้ม ลอยขึ้นมาตามแรงย่ำน้ำหนักเท้า ไม่นานรองเท้าผ้าใบที่ก่อนหน้ายังเคยสีสันสวยงามบัดนี้แปรเปลี่ยนเป็นสีสนิม สีเขรอะ ลามขึ้นมายันหน้าแข็งจนถึงผิวหนังขาและแขน
“หลังออกจากสวนก็ล้างหน้า ล้างตา ขาแขนด้วย” สนิท เตือนพวกเรา แต่แล้วไม่รู้เพราะสารปนเปื้อนเริ่มแผลงฤทธิ์หรือแมลงในสวนเป็นผู้กระทำ ในกลุ่มที่มาลงพื้นที่บางคนเริ่มมีอาการคันและแสบร้อนผิวหนังเล็กน้อย
“ยังดีนะที่ไม่เป็นไร เมื่อครั้งก่อนมีนักข่าวมาลงพื้นที่ ยังไม่ทันไร ผื่นแกขึ้นทั้งตัวแดงไปหมด ต้องพาไปโรงพยาบาล เพราะเขาแพ้สารปนเปื้อนนี้” เทียบผู้เป็นเจ้าของสวนกล่าวก่อนจะหยิบเอาน้ำขวดจากร้านสะดวกซื้อ มาให้ล้าง
สถานการณ์ล่าสุดวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดินพบว่าคันดินกั้นน้ำในบ่อของโรงงานพังลง ทำให้น้ำที่ปนเปื้อนจากโรงงาน ไหลลงสู่ที่ดินของชาวบ้าน และทางน้ำไหลลงไปสู่แม่น้ำระยอง ขยายความเสียหายที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว
“ความเสียหายที่เกิดขึ้น มันไหลไปตามแรงน้ำสุดท้ายไปไหน ก็ไปรวมที่ทะเลความเดือดร้อนมันขยายเป็นวงกว้าง คราวนี้คนที่เขาอยู่ไกลก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด หน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบต้องรีบเข้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน”
การต่อสู้ที่ยังต้องอาศัย “ความหวัง” และ “ภาคประชาสังคม” ทุกส่วน
แม้ว่าการต่อสู้เรียกร้องอันยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ ทำให้ชาวบ้านหนองพะวาหลายคนเริ่มท้อ แต่อีกหลายคนยังไม่หยุดยอมแพ้ ซึ่งปัจจุบันการเดินหน้าเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมยังเดินก้าวต่อไปโดยอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วนผสานกัน
ภราดร ชนะสุนทร ประธานกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดินกล่าวถึงความสำเร็จที่กำลังเป็นรูปร่างสำหรับชาวหนองพะวา “ผมขอใช้คำว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่สู้ร่วมกันมา ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีความหวังเท่านี้มาก่อน ทุกฝ่ายรับรู้ ตื่นตัวใครมาสร้างมลพิษบ้านเรา ทุกภาคส่วนไม่ยอม”
ภราดร ยังเล่าถึงความแตกต่างระหว่างการเรียกร้องในอดีต-ปัจจุบัน ว่า สิ่งที่ทำให้เริ่มเห็นหนทางประสบความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ ภาครัฐฟังเสียงชาวบ้าน ร่วมด้วยอีกหลายกลุ่มภาคประชาสังคมจับมือกัน เช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายน้ำผิวดิน และอีกมากมายในพื้นที่ ส่วนสำคัญที่สุดคือใช้กฎหมายนำในการแก้ปัญหา ซึ่งในอดีตการต่อสู้ยาวนานไม่เดินหน้าไปได้ไกลเท่าที่ควรเป็นเพราะหน่วยงานรัฐเช่นกัน ที่ผ่านมาใช้วิธีการของราชการแบบการ สั่งด้วยลมปาก ไม่มีบทกฎหมายมาลงโทษบังคับผู้ปล่อยปะละเลยในหน้าที่
ด้านความต้องการและข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ เทียบ เล่าให้ฟังว่า เขาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูแหล่งน้ำและพื้นที่ทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาดังเดิมให้เร็วที่สุด ในอนาคตจะสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง
“ถ้าเอาตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดสารปนเปื้อนออกไปจากพื้นที่ และเมื่อน้ำฝนลงมาชะล้าง เจือจางไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีสารเจือปนใหม่คาดว่า น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการให้ระบบนิเวศธรรมชาติหนองพะวาฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีสารบางตัวที่เป็นสารตกค้างที่และสามารถแทรกซึมลงไปในสิ่งมีชีวิตและส่งผลเสียในระยะยาว” ภราดร ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟู
มีข้อกังวลจากในชุมชน ว่าหากสุดท้ายเจ้าของกิจการ ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำ ขายที่ดินให้คนอื่น ปัดความรับผิดชอบ หรืออาจโยนความผิดให้ลูกจ้างในโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ถ่ายโอนทรัพย์สินออกไป จะทำอย่างไร
คำตอบตรงนี้ย่อมต้องใช้การต่อสู้ทางกฎหมาย หลังจากการประชุมร่วมองค์กรและภาคประชาสังคมได้ข้อสรุปว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในพื้นที่สาธารณะ น้ำเสียปนเปื้อนทั้งน้ำบาดาล น้ำใต้ดินหรือบนดิน ปัญหาเหล่านี้กรมควบคุมมลพิษจะเป็นผู้เรียกร้องค่าเสียหาย และจะทำการฟื้นฟูไปล่วงหน้าก่อน ส่วนค่าความเสียหายด้านการเกษตร สุขภาพ ค่าเสียโอกาส จนผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่แย่ลง ชาวบ้านจะดำเนินตามกฎหมายเพื่อเรียกร้อง ชดเชย จวบจนเยียวยา
สำนักข่าวมติชน ออนไลน์ วันที่ 5 มกราคม 2564 รายงานว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าจากการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ได้ผลสรุปดังนี้ คณะทำงานทุกหน่วยงานร่วมลงพื้นที่สำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดการประเมินความเสียหาย พร้อมกับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม หารือแนวทางการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ และจัดส่งข้อมูลรายละเอียดการประเมินค่าเสียหายทั้งหมด ในพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมบริเวณข้างโรงงาน ส่วนทางด้านกรมประมงประสานสำนักงานประมงจังหวัดระยอง สำรวจและประเมินความเสียหายของสัตว์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานและประเมินผลกระทบของสัตว์น้ำที่ได้รับการปนเปื้อนจากมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน และกรมควบคุมมลพิษจะจัดทำหนังสือแจ้งรายละเอียดความเสียหายจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ เพื่อดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 ต่อไป สุดท้าย องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตรศึกษาข้อมูลการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแหล่งน้ำ
“ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความช่วยเหลือในด้านข้อมูลและคำปรึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะด้านคดีความหรือการเยียวยา แต่ทั้งหมดต้องได้รับการหารือและมติของชาวบ้านว่าจะดำเนินการเช่นไร เราเคารพการตัดสินใจทั้งหมด เราต้องทำงานร่วมกันถึงจะสำเร็จ” เพ็ญโฉม พูดถึงแนวทางที่มูลนิธิร่วมกับชาวบ้านนอกจากเก็บตัวอย่างน้ำไปพิสูจน์เพื่อผลทางวิทยาศาสตร์แล้วยังช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย
อีกหนึ่งข้อกังวลจากทางมูลนิธิ หากผลการพิจารณาคดี เรื่องสินไหมทดแทนที่ได้รับอาจจะเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ในสวนลุงเทียบ ทางหน่วยงานรัฐตีความว่า ความเสียหายอาจสูงถึง 8 ล้านกว่าบาท ของคนอื่นไล่เลี่ยลดหลั่นไป ซึ่งเมื่อผลออกมาก็มีความเป็นไปได้ที่เงินเยียวยาจะได้น้อยกว่าจำนวนที่เป็นจริงมาก ไม่ต่างกับกรณีอื่น ๆ ในจังหวัดระยองที่มีผลกระทบคล้ายคลึงกัน
สุดท้ายชาวบ้านยังเรียกร้องไปถึงหน่วยงานรัฐให้ดูแลให้ดีตั้งแต่ต้น เช่น การขอใบอนุญาต เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นการแก้ไขจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อยากให้ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนตัวอย่าง เพราะผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง รวมถึงข้อสงสัยว่าได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ และการนำประชาชนส่วนหนึ่งมาร่วมเห็นด้วยที่ไม่ได้มาจากคนในพื้นที่มาได้อย่างไร
ตรงนี้เองคงเป็นที่มาของคำว่า ‘เขา’ ที่ เทียบ และชาวบ้านหนองพะวาอีกหลายคนพูดถึง คงเปรียบได้ว่า ไม่อยากให้หน่วยงานน้ำดี ต้องปนเปื้อนด้วยสารพิษเพียงกลุ่มคนไม่กี่คน
แม้ว่ากว่า 10 ปีการต่อสู้บนพื้นที่หนองพะวายังไม่สามารถหาข้อสรุปจบได้ แต่ถนนสายนี้ได้เชื่อมโยง ‘ภาคประชาสังคม’ จับมือกันต่อสู้กับสารพิษได้อย่างมั่นคงและเชื่อว่าสิ่งที่ยังมีเสมอคือ ‘ความหวัง’
เทียบ ทิ้งท้ายว่าบทเรียนที่หนองพะวาแห่งนี้ เป็นบทเรียนที่อยากให้คนในหลายพื้นที่รับรู้ มีอีกหลายพื้นที่ประสบภัยเช่นนี้ไม่ต่างกัน อยากให้หลายภาคส่วนยังติดตามและช่วยเป็นผู้มอง สำหรับชาวบ้านหนองพะวา ไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหายไปเหมือนที่เคยเป็นมาในหลายปีก่อน
อ้างอิง