ตั้งเขาไกรลาส - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 94

เคยเล่าไปแล้วว่า ในการพระราชพิธีอินทราภิเษกสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการสร้าง “โมเดล” ขนาดใหญ่ เป็นรูปจำลองจักรวาล ที่มีตั้งแต่เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ไปจนถึงเขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวรและพระอุมา ซึ่งอันที่จริงต้องนับเป็นรายละเอียดในส่วนป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป เฉพาะเขาไกรลาส ใน “กฎมณเฑียรบาล” เล่าว่าสร้างให้มีความสูงถึง ๑๐ วา หรือ ๒๐ เมตร

ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีอีกพระราชพิธีหนึ่งซึ่งจำลองเฉพาะเขาไกรลาสมาสร้างเป็นมณฑลพิธีเช่นกัน คือโสกันต์ (โกนจุก) เจ้าฟ้า

ตามธรรมเนียมราชตระกูลสยาม พระราชโอรสและพระราชธิดาของกษัตริย์ที่ประสูติจากพระมารดา ผู้มีฐานะเป็น “เจ้า” คือเป็น “ลูก” ของกษัตริย์ จะได้รับพระอิสริยยศเป็น “เจ้าฟ้า” ซึ่งจะมีศักดิ์เหนือกว่าพระราชโอรสพระราชธิดาที่ประสูติจาก “เจ้าจอมมารดา” ผู้เป็นสามัญชน ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอระดับ “เจ้าฟ้า” จึงย่อมต้องมีพิธีการในขั้นตอนต่างๆ ของชีวิตที่เป็นพิเศษโดยเฉพาะ เช่นพิธีลงสรง และพิธีโสกันต์

เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ และเคยทรงผ่านพระราชพิธีโสกันต์มาด้วยพระองค์เอง จึงทรงเป็น “ต้นตำรา” ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ของการโสกันต์เจ้าฟ้าสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ โดยละเอียด

ส่วนของพิธีอันเนื่องด้วยเขาไกรลาสก็คือ ต้องปลูกสร้างตั้งเขาไกรลาสขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นเมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ จะมีกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งผ่านการโสกันต์ คือโกนจุกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระเสลี่ยงมาสรงน้ำยังตั่งไม้อุทุมพร ที่ตั้งอยู่ใน “สระอโนดาต” เชิงเขาไกรลาส จากนั้นจึงเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาสทางเกยด้านหนึ่ง แล้วพระราชบิดา คือองค์พระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) ที่ได้รับมอบหมาย ก็จะแต่งฉลองพระองค์ สมมติว่าเป็นพระอิศวร เสด็จจากพระมณฑปใหญ่บนยอดเขาไกรลาสมา “รับพระกร” (จูงมือ) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบนเขาไกรลาส รดน้ำ ประทานพร นำเสด็จลงมาส่งที่เกยอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จขึ้นพระยานมาศ แห่เวียนประทักษิณรอบเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง

การที่ให้ “สระอโนดาต” อยู่ที่ตำแหน่งเชิงเขาไกรลาส ถือได้ว่าสร้างขึ้นให้ตรงกับที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ ที่ว่าเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร เป็นหนึ่งในยอดเขาที่ห้อมล้อมสระอโนดาตอยู่

เมื่อถึงยุคที่มีการถ่ายภาพเป็นหลักฐานแล้ว เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะเห็นในภาพถ่ายพระราชพิธีนี้ว่า “สระอโนดาต” นั้น ทำเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ และที่ตรง “โขดหิน” เหนือขึ้นไปทางด้านหลัง ตั้งรูปปั้นสัตว์สี่ชนิด คือ ช้าง ม้า สิงห์ โค มีท่อไขน้ำให้พ่นจากปากสัตว์ลงมาสรงสนานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่คัมภีร์อธิบายไว้ว่าน้ำในสระอโนดาตจะไหลออกไปผ่าน “มุข” หรือ “ปากช่อง” สี่ทิศ ได้แก่ “สีหมุข” (รูปราชสีห์) “อัสมุข” (รูปม้า) “หัตถีมุข” (รูปช้าง) และ “อุสภมุข” (รูปโค)

ทั้งพระราชพิธีอินทราภิเษกกับพระราชพิธีโสกันต์ น่าจะมีนัยสัมพันธ์กันบางอย่าง คือมีการสร้าง “ฉาก” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหมือนเป็น “โรงละคร” เพื่อนำเสนอภาพการอวยชัยให้พรจากเทพเจ้า ในกรณีของอินทราภิเษกคือพระอินทร์ ราชาของทวยเทพแห่งสวรรค์ดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นผู้มาสถาปนาพระเจ้าราชาธิราช ส่วนในการโสกันต์ก็มีองค์พระอิศวรเสด็จจากเขาไกรลาสลงมาประทานพรอันเป็นศิริมงคล

แต่ทั้งนี้ เขาไกรลาสในพิธีโสกันต์ก็ถือเป็นงานสถาปัตยกรรม “เฉพาะกิจ” เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ จึงสร้างด้วยวัสดุไม่ถาวร คือเป็นเพียงโครงไม้กับฟาง หุ้มกระดาษ ระบายสีให้เห็นเป็นโขดเขา แล้วเอาต้นไม้จริงๆ มาประดับตกแต่ง ดังที่บรรยายไว้ในบทละคร “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนโสกันต์สียะตรา ว่า

“๏ อันสี่มหาอำมาตย์        ทำเขาไกรลาศคนละด้าน
สารวัดนายหมวดตรวจงาน        ท่านผู้อำนวยการคอยติเตียน
ให้เอาฟางพันผูกเป็นลูกเขา       ปิดกระดาษเงินเข้าแล้ววาดเขียน
แกล้งประดิษฐ์คิดใส่บันไดเวียน        ที่ขึ้นลงลาดเลี่ยนเหมือนศิลา
ช่องชะวากเวิ้งว่างไว้อ่างแก้ว       บนเนินแนวนั้นปลูกพฤกษา
รายรูปสิงสัตว์นานา          โคกิเลนเลียงผาจามรี
แท่นที่สรงน้ำก็ทำไว้         น้ำไหลจากปากสัตว์ทั้งสี่
ปลูกทั้งพลับพลาทองรูจี             สำหรับที่จะได้เปลื้องเครื่องทรง”