ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

nakdong02
nakdong01
หลายปีที่ผ่านมา มีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำนักดงเกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง โดยเพาะพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำ (ภาพ : 123rf)

ในประเทศเกาหลีใต้ แม่น้ำนักดง (Nakdong river) ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่มีความยาวมากที่สุด จากต้นกำเนิดบนเทือกเขาแทแบก (Taebaek) แม่น้ำนักดงไหลผ่านเมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองคังวอน (Gangwon) เมืองแดกู (Daegu) และไหลออกสู่ทะเลญี่ปุ่นที่เมืองปูซาน (Busan) รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๕๑๐ กิโลเมตร

ณ บริเวณที่แม่น้ำที่มีต้นกำเนิดบนเทือกเขาไหลลงสู่ท้องทะเล แม่น้ำแตกแขนงออกเป็นหลายสาย เกิดสันดอนทรายและเกาะแก่ง จากเม็ดดินที่ตกตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกท้องถิ่นและนกอพยพหายากใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย

พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำนักดง (Nakdong Estuary) เป็นหนึ่งในพื้นชุ่มน้ำที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ โดยได้รับการจัดตั้งเป็น “National Monument” มาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.๑๙๖๖ และได้รับการคุ้มครองผ่านทางกฎหมายต่างๆ อีก ๕ ฉบับ อาทิ กฎหมายการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำของรัฐบาลเกาหลีใต้ และยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเครือข่ายของเอเชียใต้-ออสเตรลาเชี่ยน ไฟลเวย์ (East Asian-Australasian Flyway Partnership)

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญกับระบบนิเวศแห่งนี้ถูกคุกคามจากโครงการพัฒนามาโดยตลอด ล่าสุดคือโครงการสร้างสะพานข้ามปากแม่น้ำ จนทำให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาหลีใต้ (Korea Wetland NGO Network) ออกมารณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญสำหรับผู้คน สิ่งมีชีวิต ทัศนียภาพอันงดงาม ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

คิม ซุน เร (KIM Soon-rae) ประธานคณะกรรมการร่วม (Chairperson of Steering Committee) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาหลีใต้ ให้รายละเอียดว่า แม่น้ำนักดงและปากแม่น้ำนักดงมีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกอพยพที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดจากทั่วโลก เช่น นกปากช้อน, นกกระยางจีน, ช้อนหน้าดำ, นกนางนวลแซนเดอร์, อินทรีทะเลสเตลเลอร์และเพเรกรินฟอลคอนอยู่ที่นี่เป็นประจำ, หงส์วูสเปอร์มีประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ตัว หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๕ ของประชากรหงส์วูสเปอร์ในช่วงฤดูหนาวทั้งหมดที่พบในประเทศเกาหลีใต้

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำนักดงยังเคยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกเทอร์นน้อย (Little Terns) ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก เคยมีนกเทอร์นน้อยเดินทางมาโดยเฉลี่ย ๓,๐๐๐- ๔,๐๐๐ ตัวต่อปี

ผลพวงจากการโครงการพัฒนาที่เข้ามาทำให้เกิดการรบกวนพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำนักดง ทำให้ประชากรนกชนิดต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เท่าที่มีก็ไม่ค่อยผสมพันธุ์ จนกระทั่งบางชนิดหายไป ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๐ จำนวนนกเทอร์นน้อยที่เดินทางมาหลบภัยหนาวก็ลดลงเหลือแค่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว

แม้ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลเทศบาลเมืองปูซานกำลังวางแผนที่จะสร้างสะพานข้ามปากแม่น้ำนักดงเพิ่มอีกถึง ๑๐ แห่ง เช่น สะพานแทจอ( Daejeo), สะพานอัมกุง( Eomgung) และสะพานจองนัก (Jangnak)

พื้นที่ข้างต้นล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดของปากแม่น้ำ สะพานบางแห่งจะผ่ากลางพื้นที่แหล่งพักพิงหลักของหงส์ (Whooper Swans) ที่ใช้อาศัยหลบภัยหนาว

nakdong04
nakdong03
แม่น้ำนักดงแตกแขนงก่อนไหลลงสู่ท้องทะเล เกิดสันดอนทรายและเกาะแก่ง เป็นที่อยู่อาศัยของนกท้องถิ่นและนกอพยพหายากใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ขณะเดียวกันก็มีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่งเกิดขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทาง (ภาพ : google.com)

คิม ซุน เร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์กรอนุรักษ์ในเกาหลีใต้ร่วมลงชื่อเพื่อการคุ้มครองปากแม่น้ำนักดง พร้อมชี้แจงว่า “เมื่อทราบถึงความเร่งด่วนของปัญหา พวกเราซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนพื้นที่ชุ่มน้ำของเกาหลี (KWNN) ได้พยายามปกป้องพื้นที่ปากแม่น้ำโดยการจัดตั้งเครือข่ายประชาสังคมเกาหลีเพื่อการอนุรักษ์ปากแม่น้ำนักดง Nakdong (KCNN) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ๖๕ แห่งทั่วประเทศ”

แม้ว่าในขั้นต้น กระทรวงสิ่งแวดล้อม (สำนักงานสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำนักดง) ปฏิเสธที่จะทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับการก่อสร้างสะพานแทจอ (Daejeo) แต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 สำนักงานสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองปูซาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ในการปกป้องปากแม่น้ำ ได้ตกลงที่จะออกสำรวจพื้นที่ที่วางแผนก่อสร้างสะพานต่างๆ ร่วมกัน และตกลงว่าจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับการศึกษาจำนวนประชากรของหงส์ (Whooper Swan) และนกใกล้สูญพันธุ์อื่น ๆ ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๒๐ ถึงมีนาคม ค.ศ.๒๐๒๑

nakdong05
โครงการพัฒนาพื้นที่ปากแม่น้ำเพื่อเศรษฐกิจทำให้สภาพตามธรรมชาติของพื้นที่ปากแม่น้ำหายไป(ภาพ : google.com)

หลังจากลงพื้นที่สำรวจปากแม่น้ำร่วมกัน คณะสำรวจพบว่า

(1) มีการรบกวนนกเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว

(2) พื้นที่ที่วางแผนไว้สำหรับก่อสร้างสะพานแทจอ เป็นสถานที่สำคัญในการหลบภัยหนาวของหงส์ (Whooper Swans)

และ (3) การสร้างสะพานจะส่งผลกระทบต่อการหลบภัยของนกในฤดูหนาว

คณะสำรวจจึงส่งข้อมูล ผลการสำรวจ และจดหมายแสดงความคิดเห็นไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อม

ประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๒๑ นี้ ว่าจะอนุมัติการสร้างสะพานตามแผนการหรือไม่

nakdong06
แม่น้ำนักดงกำเนิดจากเทือกเขาแทแบกทางตะวันออกของประเทศ ไหลออกสู่ทะเลที่เมืองปูซาน ความยาวประมาณ ๕๑๐ กิโลเมตร

“แม้ว่าเราคาดหวังว่ารัฐบาลเกาหลีใต้และสำนักงานสิ่งแวดล้อมจะตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในเรื่องนี้ แต่เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่” คิม ซุน เร ให้ความเห็น พร้อมๆ กับการที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาหลีใต้ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจอย่างถูกต้องในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ