องค์อาภา - “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๓

ในปี ๒๔๓๕ โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระองค์เจ้าอาภากรฯ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๓๕ ต่อจากพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งต่อไปภายหน้าจะเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์นี้มีพระชันษาใกล้เคียงกันมาก พระองค์เจ้าอาภากรฯ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ ขณะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ หรืออีกเพียง ๑๓ วันต่อมา

แม้ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงมี “สกุลยศ” ที่ติดตัวแต่แรกประสูติต่างกันตามธรรมเนียมราชตระกูลสยาม

อาจสรุปรวบความให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ซึ่งประสูติจากพระมารดาที่เป็น “เจ้า” จะมีพระยศเป็น “เจ้าฟ้า” ส่วนที่ประสูติจาก “เจ้าจอมมารดา” สามัญชน จะเป็นเพียง “พระองค์เจ้า”

พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ จึงทรงเป็น “เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” ขณะที่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าจอมมารดาโหมดทรงเป็น “พระองค์เจ้าอาภากรฯ”

พระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์จึงต้องจัดขึ้นภายหลังเจ้าฟ้าตามลำดับพระอิสริยยศในพระบรมราชวงศ์

ในทุกขั้นตอนของพระชนม์ชีพ ลำดับฐานานุศักดิ์ อย่างที่มีคำจีนที่ใช้เรียกกันในหมู่เจ้านายว่า “โปเจียม” จะเป็นเครื่องกำหนดลำดับก่อนหลังเสมอ

แม้แต่เจ้าฟ้ายังแบ่งออกเป็นอีกสองชั้นคือ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” และ “เจ้าฟ้าชั้นโท”

ในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ล้วนเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ พระราชโอรสหรือพระราชธิดาจึงทรงเป็น “เจ้าฟ้าชั้นเอก”

เรียกง่ายๆ ว่าหาก “แม่” เป็น “ลูก” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ นั่นคือ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” ที่ชาววังจะออกพระนามว่า “ทูลกระหม่อมชาย” หรือ “ทูลกระหม่อมหญิง” หรือบางครั้งเรียกย่อๆ เป็น “ทูลหม่อม”

ส่วนองค์ที่ “แม่” เป็นชั้น “หลาน” ของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อนๆ พระราชโอรสหรือพระราชธิดาจะนับเนื่องเป็น “เจ้าฟ้าชั้นโท” ชาววังเรียกขานพระนามว่า “สมเด็จชาย” หรือ “สมเด็จหญิง”

จากหลักฐานเอกสารที่ไม่เป็นทางการ เช่นพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ทรงออกพระนามพระองค์เจ้าอาภากรฯ ว่า “ชายอาภากร” หรือ “อาภากร” บางครั้งทรงเรียกย่อๆ เพียง “อาภา” ก็มี

ส่วนชาววังมักเรียกขานพระนามอย่างย่อๆ ว่า “องค์อาภา”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ