เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วริศ โสภณพิศ

วันวิปโยค  โศกนาฏกรรม โรงงานสารเคมีระเบิดสนั่นกลางเมือง

1

ก่อนรุ่งสางของวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณตีสาม เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จุดเริ่มต้นอยู่บนถนนกิ่งแก้ว ซอย 21 โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ ตัวโรงงานพังถล่มเสียหาย อาคารบ้านเรือนโดยรอบก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด กระจกรถยนต์แตกร้าว ตลอดทั้งวันเจ้าหน้าที่พยายามดับเพลิง แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน

kingkaewfire02 resize
  • kingkaewfire03 resize
  • kingkaewfire04 resize
  • kingkaewfire05 resize
  • kingkaewfire06 resize

2

หลังเกิดเหตุ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินมลพิษจากสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ทสจ.จังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ตรวจสอบ

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า โรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ใช้สารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นหลักในกระบวนการผลิต สารเคมีชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายและเป็นสารไวไฟ ต้นเหตุคือถังเก็บสารเคมีขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 ลิตร เกิดเพลิงไหม้และระเบิดขึ้นก่อน ส่งผลให้มีไอระเหยของสารสไตรีนโมโนเมอร์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ กระจายออกไปโดยรอบ โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นด้านท้ายลมในช่วงเช้า

ตลอดทั้งวันกระแสลมเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา พัดพาสารพิษในรูปเม่าควันสีดำไปตามทิศทางและความเร็วลม

kingkaewfire07 resize
  • kingkaewfire08 resize
  • kingkaewfire09 resize

3

ผลการตรวจวัดคุณภาพบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบในระยะ 500 เมตร – 9 กิโลเมตร ตรวจวัดระดับขีดจำกัดการติดไฟ ปริมาณสารอินทรีย์ระเหย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน ผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้นอาจเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ดวงตา ผิวหนัง ไอระเหยสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ และมีความเสี่ยงที่ไฟจะลุกลามบานปลายไปถึงถังบรรจุสารเคมีขนาดไม่น้อยกว่า 20,000 ลิตร จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร ออกนอกพื้นที่
.อาจกล่าวได้ว่าความยากลำบากในการจัดการแก้ปัญหามลพิษครั้งนี้คือทิศทางของสารพิษถูกกำหนดตามทิศทางลม ไม่ใช่ขอบเขตทางการปกครองแต่อย่างใด

kingkaewfire10 resize
  • kingkaewfire11 resize
  • kingkaewfire12 resize
  • kingkaewfire13 resize
  • kingkaewfire14 resize

4

ต่อมามีการประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุอพยพ แม้มีกระแสข่าวเพิ่มระยะรัศมีเป็น 10 กิโลเมตรในเวลาต่อมา แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานกับทางจังหวัดสมุทรปราการยืนยันระยะรัศมี 5 กิโลเมตร พร้อมกำชับว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ในการประกาศ คือผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
.
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ชี้แจงว่า สารเคมีที่อยู่ในควันดำระยะรัศมี 5-10 กิโลเมตร คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไอระเหยของสารสไตรีนโมโนเมอร์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5

ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ควรอพยพไปอยู่ทางทิศเหนือลม หากยังอยู่ใกล้ต้องสวมหน้ากาก N95หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสาร Activated carbon หรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน รวมทั้งสวมแว่นตา หากมีอาการแน่นจมูก แสบจมูกต้องรีบออกมาที่อากาศถ่ายเทสะดวก ล้างตาด้วยน้ำสะอาด หากหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกต้องรีบไปพบแพทย์

โดยทั่วไปสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ถ้าหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะมีอาการชักและเสียชีวิตได้ การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ความเข้มข้นต่ำอาจทำให้มีปัญหาทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้า ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด หากสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป

น้ำเสียที่เกิดจากการดับเพลิงมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำ ต้องงดการจับสัตว์น้ำมาเพื่อการบริโภค
กรณีที่ฝนตก แม้ช่วยดับไฟแต่น้ำฝนอาจปนเปื้อนฝุ่นละอองและสารสไตรีน ทำให้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้

การดับเพลิงแนะนำให้ใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์หรือเคมีแห้งหรือโฟมปิดคลุม ห้ามฉีดน้ำเป็นลำไปยังถังที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่อาจให้ฉีดเป็นละอองฝอยเพื่อควบคุมควัน

kingkaewfire15 resize

5

โรงงานของบริษัท หมิงดี้เคมีคอล จำกัด ตั้งอยู่ซอยกิ่งแก้ว 21 ดำเนินกิจการผลิตโฟมและพลาสติกสำหรับขึ้นรูปเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ตัวโรงงานก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 เวลานั้นในพื้นที่ยังไม่มีชุมชนหนาแน่น ต่อมามีหมู่บ้านจัดสรร บริษัทห้างร้าน เกิดขึ้นโดยรอบ อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานต้องจัดทำและปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental Safety Assessment) โดยส่งให้กรมโรงงานและอุตสาหกรรมจังหวัดปีละ 2 ครั้ง หน่วยงานราชการก็ต้องตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดทุกปี

โศกนาฏกรรมกลางเมืองครั้งนี้เกิดจากสาเหตุใด โรงงานหรือหน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือไม่ ยังคงต้องติดตามสอบสวนกันต่อไป