เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

บทเรียนจากอดีต โกดัง-โรงงาน-ท่อก๊าซ-บ่อขยะ ระเบิด
ภาพ : วริศ โสภณพิศ

โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ย่านกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดอย่างรุนแรงและเพลิงลุกไหม้ สร้างความเสียหายต่อตัวโรงงาน อาคารบ้านเรือนประชาชน เกิดมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงจนต้องประกาศอพยพคนออกจากพื้นที่ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก

ย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่าเคยเกิดโศกนาฏกรรมที่นำมาซึ่งความเสียหายและมีการปลดปล่อยมลพิษระดับมหาศาลแล้วหลายครั้ง

น่าแปลกว่าแทบทุกครั้ง เรามักจะได้ยินคำอธิบายเดิมๆ จากหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้ลุกลาม หรือเกิดผลกระทบทางด้านมลพิษได้อย่างดี หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และจะไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

bombfactory01
ภาพจากhttps://www.earththailand.org/th/article/278

เหตุการณ์ : สารเคมีระเบิดที่โกดังท่าเรือคลองเตย
สถานที่ : คลังสินค้าหมายเลข 3 ท่าเรือคลองเตย
วันเกิดเหตุ : 2 มีนาคม 2534 ประมาณบ่ายโมงครึ่ง

รายละเอียดของเหตุการณ์ :
กลางทศวรรษ 2530 ประเทศไทยกำลังพัฒนาตัวเองสู่ความเป็น NIC หรือ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายและนำเข้าสารเคมีเพื่อป้อนกระบวนการผลิต ขณะที่องค์ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากสารเคมี บทบัญญัติทางกฎหมายยังไม่เข้มงวดมากนัก

ราวบ่ายโมงครึ่งของวันที่ 2 มีนาคม 2534 สารเคมีในโกดังเก็บสารอันตรายในท่าเรือคลองเตยเกิดระเบิด ไฟไหม้จากโกดัง 3 ลุกลามไปยังโกดังอื่นๆ เปลวเพลิงและควันพิษพวยพุ่งขึ้นบนอากาศ ลอยไปไกลถึง 13 กิโลเมตร แรงระเบิดยังทำให้เศษวัสดุ เช่น แผ่นเหล็ก กระเบื้อง ลอยไปตกในชุมชนเกาะลาวที่อยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย สะเก็ดลูกไฟทำให้ชุมชนเกิดเพลิงไหม้

ความพยายามใช้น้ำดับไฟทำให้สารเคมีทำปฏิกิริยากับน้ำ เกิดเขม่าควันและกลิ่นสารพิษตลบอบอวล ต่อมากรมวิทยาศาสตร์ กองทัพบก เข้ามาสนับสนุนการดับไฟโดยใช้ทรายกลบ และขนย้ายกากสารเคมีไปฝังในพื้นที่ทหาร จังหวัดกาญจนบุรี

มีรายงานว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีคนตายทันทีจากการระเบิด 4 คน บาดเจ็บสาหัส 30 คน บ้านเรือนถูกไฟไหม้ 642 หลัง มีคนป่วยจากสารพิษประมาณ 1,700 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ปัญหาคือแพทย์ไม่สามารถวินัจฉัยได้เด็ดขาดว่าอาการของแต่ละคนเกิดจากสารเคมีชนิดใด เนื่องจากสารเคมีที่ถูกไฟไหม้มีหลายชนิดจากหลายบริษัท ผู้ป่วยหลายคนทยอยเสียชีวิตในเวลาต่อมา บางคนมีโรคแทรกซ้อน เช่น มะเร็ง เป็นเนื้องอก บางคนพิการ หลายคนแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี

ที่จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ฝังกลบยังเกิดการรั่วไหลจากพื้นซิเมนต์แตกร้าว มลพิษจากกากสารเคมีเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านที่ใช้น้ำอุปโภค เกิดผื่นคันทั้งตัว ชาวเมืองกาญจน์ออกมาต่อต้าน กระทั่งต้องขุดกากสารเคมีขึ้นมาฝังกลบใหม่ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการกำจัดที่มากขึ้น

bombfactory02
ภาพ : https://www.earththailand.org/th/gallery/39

เหตุการณ์ : ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา
สถานที่ : ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง สมุทรปราการ
วันเกิดเหตุ : 16 มีนาคม 2557 ประมาณเที่ยงครึ่ง

รายละเอียดของเหตุการณ์ :
บ่อขยะแพรกษามีพื้นที่นับร้อยไร่ ตั้งอยู่ในซอย 8 ของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตัวบ่อเกิดจากเจ้าของขุดดินไปขาย ขุดลึกลงไปจนถึงชั้นดินดาน คาดว่าน่าจะลึกถึง ๔๐-๕๐ เมตร เมื่อไม่สามารถขุดดินไปขายได้อีกแล้วก็ใช้เป็นพื้นที่รับทิ้งขยะ แต่ถูกคัดค้านจากชุมชน จนไม่สามารถจดทะเบียนเป็นบ่อขยะที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ในแต่ละวันนอกจากมีขยะเปียกขยะแห้งจากครัวเรือนถูกนำมาทิ้ง ยังมีขยะเคมีจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ จนทำให้บ่อขยะที่แพรกษากลายเป็นศูนย์รวมของขยะสารพัดชนิด ตั้งแต่กระดาษ กล่องนม หลอดไฟ สังกะสี แบตเตอรี่ แก้ว ยาง รวมทั้งขยะมีพิษและกากอุตสาหกรรมจากโรงงาน เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สิ่งที่ปะปนอยู่ในม่านควันจึงมีสารพิษทั้งก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ รวมทั้งสารก่อมะเร็งอื่นๆ

วันเกิดเหตุ เปลวไฟเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ลุกลามเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะที่มีปริมาณมหาศาลอย่างชนิดไม่มีทีท่าว่าจะเผาหมดสิ้น สายลมกระโชกแรงทำให้กองเพลิงลุกลามไปทุกทาง รวมทั้งกองขยะพลาสติก เป็นเหตุให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง เกิดควันสีดำทะมึนพวยพุ่งขึ้นที่สูงจนท้องฟ้าบริเวณนั้นเปลี่ยนสี

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นำเสนอภาพจากดาวเทียม แสดงให้เห็นแนวควันไฟถูกพัดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางยาวไกลถึง 20 กิโลเมตร ชาวบ้านนับพันครอบครัวต้องอพยพ ผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมีอาการระคายเคืองตา แสบจมูก แสบคอ และมีเด็กต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดติดเชื้อ

ผ่านไปกว่าหนึ่งสัปดาห์เปลวไฟถึงจะสงบลง โดยมีตัวช่วยคือฝนแรกของปีที่ตกลงมาตามธรรมชาติ
เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่แพรกษา ซ้ำร้ายมันเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเพียงแต่มีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ยกตัวอย่างช่วงไล่เลี่ยกับแพรกษา เกิดไฟไหม้บ่อขยะเก่าที่อำเภอเมือง สุราษฎร์ธานี ลุกลามพื้นที่ราว 5 ไร่ ในวันเดียวกันเกิดไฟไหม้บ่อขยะเทศบาลตำบลสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เกิดควันพิษกระจายทั่วระยะรัศมี 10 กิโลเมตร

bombfactory03
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

เหตุการณ์ : ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท.ระเบิด
สถานที่ : อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
วันเกิดเหตุ : 22 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 12.55 น.

รายละเอียดของเหตุการณ์ :
ใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูงฝั่งตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ใกล้โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดีและสถานีตำรวจภูธรเปร็ง ริมถนนเทพราช-ลาดกระบัง เกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วจากท่อส่งก๊าซใต้ดิน ฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศ และเกิดการลุกไหม้

ภาพวีดีโอบันทึกไว้ด้วยกล้องติดรถยนต์ที่แล่นผ่านมาเผยให้เห็นภาพเปลวไฟลุกโชติช่วงขึ้นไปบนฟ้า สูงกว่าเสาไฟฟ้าแรงสูง หลังเกิดเหตุราวสองชั่วโมง เพจเฟสบุ๊ก PTT News ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ปตท. ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ก๊าซฯ รั่วไหลและเพลิงไหม้ได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และตรวจหาสาเหตุ เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าทาง ปตท. ดำเนินการตัดแยกระบบบริเวณช่วงท่อที่เกิดการรั่วไหล และแจ้งให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทราบ ต่อมา ปตท. ยืนยันมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยท่อส่งก๊าซฯ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล เน้นความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ

ผลพวงจากระเบิดและเพลิงไหม้ ทำให้โรงเรียน สถานีตำรวจ รวมถึงอาคารบ้านเรือนหลายหลังเสียหาย ต้นไม้ใบไม้มีร่องรอยไหม้ไฟแม้อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกไฟคลอกเสียชีวิต ทางบริษัทประกาศจ่ายค่าชดเชยศพละ 5 ล้านบาท

ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุว่า “อยากให้ ปตท.เข้มงวดเรื่องท่อก๊าซมากกว่านี้ เพราะเท่าที่รู้เขาไม่ได้เปลี่ยนทั้งสาย ยังใช้ท่อเก่า เปลี่ยนเฉพาะตรงจุดที่เกิดเหตุ ดังนั้นมันจะเกิดขึ้นอีกตอนไหนก็ไม่รู้ อย่าบอกว่าไม่เกิด สามสิบปีข้างหน้าเราแก่แล้ว เราวิ่งไม่ไหวจะทำยังไง ให้คลานก็ไม่รู้จะรอดรึเปล่า แล้วถ้าไปเกิดที่อื่น ลองนึกสภาพ ขอให้ดูแลมากกว่านี้ได้มั๊ย ของที่อยู่ใต้ดินเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตอนไหน”

bombfactory04
ภาพ : https://voicelabour.org/

เหตุการณ์ : ถังสารโทลูอีนระเบิดและเกิดเพลิงไหม้โรงงานบีเอสที
สถานที่ : นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
วันเกิดเหตุ : 5 พฤษภาคม 2555 ประมาณบ่ายสาม

รายละเอียดของเหตุการณ์ :
ถังบรรจุสารโทลูอีนระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ภายในโรงงานบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด บริษัทในเครือของผู้ผลิตยางสังเคราะห์สำหรับใช้ผลิตยางรถยนตร์ ยางชิ้นส่วนยานยนตร์ พื้นรองเท้าพลาสติก อุปกรณ์กีฬา

บริษัทชี้แจงว่าเหตุเกิดในช่วงหยุดสายการผลิต เตรียมเปลี่ยนชนิดผลิตภัณฑ์ มีการล้างทำความสะอาดสายพาน และอยู่ในช่วงไล่ความชื้นโดยสารโทลูอีน (Toluene) เป็นขั้นตอนสุดท้าย
สารโทลูอีน (Toluene) เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ ควันที่เกิดจากการลุกไหม้มีผลให้เกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ถ้ารับมากขึ้นอาจกดประสาทส่วนกลาง ทำให้สั่งงานผิดปกติ เวียนศีรษะ อาเจียน อาจถึงขั้นเป็นลม หรือเสียชีวิต

แม้ทางบริษัทจะชี้แจงว่าโทลูอีนไม่ได้อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง แต่มีงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่าโทลูอีนสามารถก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองหากได้รับปริมาณมาก และยังมีผู้ตั้งคำถามว่ามีเพียงโทลูอีนเท่านั้นหรือที่ปนเปื้อนในอากาศพร้อมกับควันพิษ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 142 คน ประชาชนหลายชุมชนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่เกิดเหตุมีฝนตก คนในชุมชนไม่ได้ยินประกาศแจ้งเตือนจากหอกระจายข่าว

แม้นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุดจะตั้งอยู่ริมทะเล ได้รับอิทธิพลจากลมบกลมทะเลตลอดเวลา การระบายอากาศมีประสิทธิภาพกระจายออกได้รอบทิศทาง ควันพิษได้รับการเจือจางโดยอากาศบริสุทธิ์ แต่จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าสภาพอากาศขณะเกิดเหตุมีความเร็วลมและทิศทางลมพัดเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัย จึงยากที่จะปฏิเสธว่าภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่รอบดงโรงงาน