ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
หายนะต่อชีวิต ทรัพย์สิน วิถีชีวิต สุขภาวะ ฯลฯ จากการระเบิดของโรงงาน หมิงตี้เคมิคอล จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและโฟม ย่านกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามถึงมาตรการดูแลกิจการที่อาจก่อให้เกิดการปลดปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
แน่นอนว่าความสูญเสียที่หมิงตี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรก หลายสิบปีที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้ขึ้นแล้วมากมาย ยกตัวอย่าง ปี ๒๕๓๔ โกดังสารเคมีหลายชนิดที่ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเคยระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ ปี ๒๕๕๕ ถังบรรจุสารโทลูอีนของโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ ในปีเดียวกันชาวบ้านพบสารเคมีถูกลักลอบทิ้งในไร่มันสำปะหลัง ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและเกิดเพลิงไหม้ ปี ๒๕๖๐ สารพาราไซลีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเกิดรั่วไหลในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลจังหวัดระยอง ปี ๒๕๖๔ เกิดเพลิงไม้โกดังเก็บฟิวเจอร์บอร์ดในจังหวัดปทุมธานี ในปีเดียวกันที่จัดเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายของร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดระเบิด จนมาถึงเหตุระเบิดของโรงงานหมิงตี้ครั้งล่าสุด
หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในวังวนของปัญหามลพิษอุตสาหกรรม นอกจากจะยังไม่มีทางออกแล้ว ในทางตรงกันข้าม ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทีท่าว่าจะรุนแรง ขยายวงกว้าง
แม้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้นจำนวนมาก หลายคนกลายเป็นคนพิการ หรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังจากการสูดดมสารเคมี แต่ขณะเดียวกันก็ยากที่จะตรวจสอบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งมีสารมลพิษถูกปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมมากเพียงใด
ทุกวันนี้กฎหมายและกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังคงเน้นใช้มาตรการกํากับและควบคุมที่ปลายทาง ไม่มีกฎหมายรายงานการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานราชการทราบสถานภาพปัจจุบันของสารเคมี และแนวโน้มการปลดปล่อยสารมลพิษจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม
ในต่างประเทศ มีการนำกลไกทางกฎหมายที่เรียกว่า PRTR มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังจากการปลดปล่อยสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีรั่วไหล การปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ น้ำมันรั่ว ท่อก๊าซระเบิด หรือแม้แต่สารพิษที่ปล่อยจากภาคขนส่ง ได้แก่ รถยนต์ประเภทต่างๆ ตลอดจนสารเคมีอันตรายที่ใช้ในภาคเกษตร ฯลฯ
PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers)เป็นคำที่สื่อความถึงกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยทําเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ อันเป็นกฎหมายที่หลายประเทศทั่วโลกใช้
อาจกล่าวได้ว่า PRTR เป็นวิธีการที่จะทำให้รัฐบาลของทุกประเทศมีข้อมูลว่า ภายในประเทศของตนเองมีอะไรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ มีสารมลพิษอันตรายอะไรบ้าง จากอุตสาหกรรมอะไร มีการใช้สารพิษหรือสารเคมีเท่าไหร่ และมีการรั่วไหลของสารเคมีหรือไม่นั่นเอง
แนวคิดในการจัดทำ PRTR เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มีชื่อเรียกว่า TRI (Toxic Release Inventory) หรือ ทําเนียบการปล่อยสารพิษ
ที่มาที่ไปเกิดจากในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เกิดเหตุการณ์ก๊าซเมทิลไอโซไซยาเนตรั่วไหลจากโรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ เมืองโบพาล ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทสัญชาติอเมริกันชื่อ ยูเนียนคาร์ไบด์ คอร์ปอเรชัน มีผู้เสียชีวิตทันทีมากถึงประมาณ ๓,๘๐๐ คน มีผู้เจ็บป่วยจากสารเคมีหลายหมื่นคน ต่อมายังเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์-เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายต่อสาธารณะ
ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ สหรัฐฯ จึงออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนฉุกเฉินและลดผลกระทบอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และเพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ โดยระบุถึงปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ น้ำ ดิน รวมทั้งการขนส่งของเสียออกนอกสถานประกอบการเพื่อกำจัด กำหนดให้มีรายงานการปล่อยสารเคมีมากกว่า ๖๐๐ ชนิด
ระบบ TRI ประสบผลสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ ทำให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมในหลายมลรัฐทั่วประเทศ และเกิดการวางแผนป้องกันสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีการเกิดโรคมะเร็งในหมู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี จนมีการนำไปใช้ในประเทศใกล้เคียง เช่น แคนาดา เม็กซิโก
ตัวอย่างความสำเร็จ ทำให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UNCED: UN Conference on the Environment and Development) นำเรื่องนี้มาพิจารณาเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และในการประชุมสุดยอดระดับโลก (Earth Summit) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ที่นครริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ผลของการประชุมทำให้เกิดแผนปฏิบัติการ ๒๑ (Agenda 21) ที่มีเนื้อหาในบทที่ ๑๙ เรียกร้องไว้อย่างชัดเจนให้รัฐบาลของประเทศผู้ลงนามจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษ (Emission Inventories: EIs) ลักษณะเดียวกับระบบ TRI ของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “Pollutant Release and Transfer Registers” หรือ PRTR แทน
ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการใช้กฎหมายนี้แล้วกว่า ๕๐ ประเทศ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ในประเทศไทย โครงการนำร่อง PRTR เกิดขึ้นในพื้นที่ทดลองของ ๓ จังหวัด คือ ระยอง สมุทรปราการ และชลบุรี แต่ยังไม่มีการขยายออกไปให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดมลพิษทั่วประเทศ ที่สำคัญคือสถานะของโครงการนำร่องก็เป็นเพียงระบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับใดๆ ทางกฎหมาย จึงทำให้มีโรงงานจำนวนน้อยมากในพื้นที่ ๓ จังหวัดที่ร่วมมือ ส่งข้อมูลสารเคมีและมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมมาให้
ที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม นำโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) เคยยกร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรืออาจเรียกว่า พ.ร.บ.TRPR โดยยึดหลักการการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามแนวคิดพื้นฐานดังที่กล่าวมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ต้นปี ๒๕๖๔ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้ยื่น “ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษร แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
ต่อมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แจ้งผลการพิจารณาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อ้างอิงตามเอกสารราชการลงลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ หรือก่อนเกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เพียงสองสัปดาห์ ว่า “มีบัญชาการไม่รับรอง” มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. … (นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”
นับได้ว่าร่างกฎหมาย PRTR เพื่อควบคุมและตรวจสอบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ถูกปัดตกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง