ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เขียนที่บ้านบางกลอย วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ : จดหมายจากป่าถึงคณะกรรมการมรดกโลก
ชาวบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่า อ่านเอกสารที่เขียนถึงคณะกรรมการมรดกโลก (ภาพ : ภาคีsaveบางกลอย)

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ชาวบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันเขียนหนังสือความยาว ๑ หน้ากระดาษเพื่อส่งสารถึงคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องในวาระที่คณะกรรมการมรดกโลกกำลังอยู่ระหว่างจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๔ วันที่ ๑๖-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยเป็นการจัดประชุมแบบออนไลน์ มีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ เพื่อพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนพื้นที่ต่างๆ ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกหรือไม่

ภาพรวมในปี ๒๕๖๔ มีพื้นที่เข้ารับการพิจารณาทั้งสิ้น ๓๙ แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ๕ แห่ง อาทิ เกาะ Amami-Oshima ประเทศญี่ปุ่น, พื้นที่ชุ่มน้ำ-ป่าฝน Colchic ประเทศจอร์เจีย รวมถึง “Thailand – Kaeng Krachan” หรือกลุ่มป่าแก่งกระจาน ประเทศไทย ที่มีกำหนดพิจารณาวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น

สำหรับจดหมายของชาวบ้านบางกลอยมีใจความดังนี้

หนังสือของชาวบ้านบางกลอยถึงคณะกรรมการมรดกโลก
เรียน คณะกรรมการมรดกโลกเรื่องการแก้ปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กรณีการขอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามผลักดันให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยแล้วเสร็จโดยมีการให้การของนายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าได้แก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยโดยอ้างถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทางพวกเราชุมชนบ้านบางกลอยตามความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ที่ดินทำกิน การกลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ยอมรับวิธีชีวิตดั้งเดิมของพวกเราชุมชนบ้านบางกลอย การทำไร่หมุนเวียน เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ ชาวบ้าน ๒๖ ครอบครัวได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเราชาวบ้านบางกลอยบุกรุกแผ้วถางป่า ตามความเป็นจริงแล้วพวกเรากลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน ฉะนั้นพวกเรามีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนที่จะขึ้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
๑. ให้พวกเราได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เรียกว่าบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ๒. ขอให้ยกเลิกคดีของพวกเราชาวบ้านบางกลอยทั้ง ๒๘ คน ๓. ให้จัดการพื้นที่ทำกินให้กับพวกเราส่วนหนึ่งที่มีความประสงค์อยากอยู่บางกลอยล่าง
พวกเราชาวบ้านบางกลอยหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอของพวกเรา ก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ณ บ้านบางกลอย วันที่ ๒๐ กค.๒๕๖๔
จึงเรียนมาเพื่อทราบ ชาวบ้านบางกลอย

ต่อมาจดหมายฉบับเดียวกันได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษมีข้อความดังนี้

Letter from Bangkloi villagers Dear World Heritage Committee,
Regarding the resolution of Ban Bangkloi community in Huay Mae Phiag, Kaeng Krachan, Phetchaburi. In the case of the Kaeng Krachan Forest Complex to be listed by UNESCO as the World Natural Heritage, the Thai government, by the Department of National Park, has been advocating for the approval this year. The Thai government claims to have solved the problems of Ban Bang Kloi community, with the testimony of Mr. Warakut-Silpa-archa referring to the appointed committee for solving the problems signed by General Prayuth Chan-O-cha. However, the real problems have not been solved such as land allocation for rotational farming, and lack of respect and acceptance in our Karen ethnic traditional way of life. We are not allowed to return to our ancestral land in Upper-Bangkloi or Jai Paen Din. On January 4, 2021, 26 families returned to farming in their community’s land in the forest but all of us were arrested and prosecuted by the authorities. The officials claimed that we trespass and burn the protected forest. As a matter of fact, we only went back to live and continue our traditional way of life in our homeland where our ancestors used to live. Therefore, we would like to provide a proposal to World Heritage Committee before listing Kaeng Krachan Forest Complex as one of the UNESCO natural world heritage sites 1. Allow us, Bang Kloi villagers to return to our homeland called Bang Kloi Bon or Jai Phean Din. 2. Withdraw charges against 26 Bang Kloi villagers. 3. Allocate agricultural land for some of us who wish to continue live in Bang Kloi Lang.
We, Bang Kloi villagers hope you will consider our proposal before listing Kaeng Krachan Forest Complex as a natural world heritage site.
Bang Kloi Village, 20 July 2021
Regards, Bang Kloi Villagers
writebangkloi02
ประกาศปิดด่านเขามะเร็ว เส้นทางทางเข้า-ออกเพียงทางเดียวของหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ (ภาพ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน)
writebangkloi03

การยื่นเรื่องเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้ ถือเป็นการยื่นเรื่องครั้งที่ ๔ ของประเทศไทย ท่ามกลางข้อกังวลและสงสัยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขระเบิดสิทธิมนุษยชนกรณีคนอยู่กับป่า ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจาน อยู่อาศัยในป่ามาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ถูกอพยพลงมาจากบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน

ก่อนหน้านี้ วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่แถลงความคืบหน้าเรื่องการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกว่า

“ขอย้ำว่าประเทศไทย ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่อุทยานฯ มาโดยตลอด ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๔๔ วันที่ ๑๖-๓๑ ก.ค.นี้ ประเทศไทยจะเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งผมมั่นใจและมีอย่างน้อย ๗-๘ ประเทศ ที่ให้การสนับสนุนไทย” พร้อมกันนั้นยังชี้แจงว่ารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก้ปัญหาชุมชนบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานของรัฐมากกว่า ๒๐ หน่วยงานเข้าไปดำเนินโครงการช่วยเหลือไม่น้อยกว่า ๘๘ โครงการ ทั้งยังได้เชิญตัวแทนชาวบ้านบางกลอยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง หรือ Protected Area Committee (PAC) ทางกรมอุทยานฯ กำลังผลักดันกฎหมายลูกฉบับต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ได้ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ โดยเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔ หรือราว ๔ เดือนก่อน โดยคณะกรรมการ ๒๘ คน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา ๕ ชุด ประกอบด้วย 

๑. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน

๒. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย

๓. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ

๔. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศ  กรณีกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน

และ ๕. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง

ในระยะแรกที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชาวบ้านบางกลอยและผู้คนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านบางกลอยมีความหวังว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้จะเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านมา เป็นความหวังสุดท้ายของชาวบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านก็พบว่าตนไม่ได้รับรู้ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาจนทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกท้อใจ ถึงขั้นเตรียมหาช่องทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองอีกครั้ง

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่าที่ผ่านมา กสม. มีข้อเสนอแนะระดับนโยบายให้หยุดจับกุมชาวบ้าน พร้อมทั้งขอให้ตั้งกลไกแก้ปัญหา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการ ต่อมาชาวบ้านบางกลอยประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจนต้องกลับขึ้นไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่เดิม เกิดการจับกุมชาวบ้าน กสม.จึงหยิบยกเรื่องบางกลอยขึ้นมาติดตามอีกครั้ง นอกจากปัญหาเดิมแล้วยังมีข้อร้องเรียนเพิ่มเติม เข้ามาถึง กสม. ชุดใหม่ เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ทาง กสม. จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย (คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก) ยืนยันว่า กสม.เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่รัฐบาลควรแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมให้เรียบร้อยก่อน

ต่อกรณีที่ชาวบ้านบางกลอยเขียนจดหมายเรียนคณะกรรมการมรดกโลก เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาชุมชนในป่าก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า “ผมเชื่อว่ายูเนสโกจะฟังเหตุผลของชุมชนผู้รักษาป่าและพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์กับชุมชนในการจัดการผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกด้วยข้อมูลตามความเป็นจริงจากผู้รักษาป่าตามวิถีวัฒนธรรมที่แท้จริง มากกว่าคำพูดสวยหรูในรายงาน”

พร้อมทั้งระบุว่าในความเป็นจริงยังไม่มีการกระทำใดๆ ที่ช่วยปรับปรุงแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนให้ดีขึ้น ในทางกลับกันรัฐยังทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเพราะคิดเสมอว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบุกรุกป่า จึงขับไล่ออกจากที่ทำกินในถิ่นฐานเดิม จับกุมดำเนินคดีทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุที่พิการ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านพยายามหาทางปลูกข้าวเพื่อยังชีพ ด้วยวิธีทำไร่หมุนเวียนตามประเพณีกะเหรี่ยง ในพื้นที่เดิมที่เขาเคยทำมา ผู้ต้องหาแต่ละคนถูกเงื่อนไขการประกันตัวของศาลไม่ให้เข้าพื้นที่ทำกินอีกจึงตกอยู่ในสภาพอดอยากยากแค้น ต้องขอรับบริจาคอาหารและของใช้จำเป็นจากบุคคลข้างนอก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มความขัดแย้งและละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

อัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคี saveบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ให้รายละเอียดว่า ชาวเพชรบุรีรู้สึกเห็นใจชาวบ้านบางกลอย เนื่องจากขณะนี้มีชาวบ้านเจ็บป่วยจากการขาดสารอาหารจำนวน ๓๔ คน มีอาการมือเท้าสั่น ใจสั่น ปวดหัว ไม่มีเรี่ยวแรง และมีเด็กเล็ก ๑๓ คนต้องกินน้ำข้าวแทนนมแม่เนื่องจากร่างกายของแม่ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ ชาวเพชรบุรีรู้สึกเห็นใจและต้องการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม มองข้ามข้อกังขาเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องถูกดำเนินคดี เพราะเห็นว่ามนุษยธรรมต้องมาก่อน

ขณะนี้คนเพชรบุรีได้ร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า ๗๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้ออาหาร รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เจล และสเปรย์แอลกอฮอล์ เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-๑๙

“หลังจากนี้จะนำเงินบริจาคไปซื้อผลิตภัณฑ์ อาหารแห้ง และพืชผักจากชาวบ้าน โดยเน้นชุมชนที่กำลังมีความเดือดร้อนและเกษตรกรในพื้นที่แก่งกระจานและจังหวัดเพชรบุรีก่อน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนด้วยกันเองที่ได้รับความเดือดร้อน”

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยปิดด่านเข้า-ออก หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.๖ (เขามะเร็ว) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.๑๐ (ห้วยแม่สะเลียง) และหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

เสียงเล็กๆ ในป่าลึกจะดังถึงคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่ คงเป็นดั่งเนื้อความในจดหมาย

“พวกเราชาวบ้านบางกลอยหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอของพวกเรา ก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ”