ราว ๑๑ นาฬิกาของวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๔๐ นายแวนไดค์ (Carl Vandyk, 1851-1931) ช่างภาพที่ทำงานถวายพระราชสำนักอังกฤษกับบรรดาพระราชวงศ์ในยุโรป เดินทางมายังพระตำหนักทัปโลว์คอร์ต (Taplow Court) เมืองเมเดนเฮด (Maidenhead) เพื่อฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกับพระราชโอรสที่กำลังทรงศึกษาอยู่ในทวีปยุโรปขณะนั้น ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๑๑ พระองค์

ชายร่างเล็ก เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ ๔๔ พรรษา ทรงยืนอยู่หัวแถวทางขวาสุด ถัดจากนั้นคือพระราชโอรสที่ยืนเรียงกันตามลำดับความสูงจากขวาไปซ้าย ได้แก่ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (พระชันษา ๒๑ ปี) พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (พระชันษา ๑๖ ปี) พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ (พระชันษา ๑๕ ปี) พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พระชันษา ๑๗ ปี) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระชันษา ๑๗ ปี) สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (พระชันษา ๑๖ ปี) พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พระชันษา ๑๔ ปี) สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ (พระชันษา ๑๕ ปี) สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (พระชันษา ๑๕ ปี) พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (พระชันษา ๑๓ ปี) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร (พระชันษา ๑๔ ปี) เมื่อลองคะเนด้วยสายตา ดูเหมือนพระองค์เจ้าอาภากรฯ ยังเตี้ยกว่ารัชกาลที่ ๕ พอสมควร

ด้วยธรรมเนียมไทยที่ยึดถือเรื่องสูงต่ำทำให้มักไม่ปรากฏเรื่องส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ เช่นส่วนสูงหรือน้ำหนัก แต่เฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรามีข้อมูลความสูงพระวรกายที่บันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๕๐ หรืออีก ๑๐ ปีต่อมาจากเมื่อฉายพระบรมฉายาลักษณ์องค์ดังกล่าว

ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนเดนมาร์กเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๐ เสด็จยังอาสนวิหารรอสกิลด์ (Roskilde Cathedral) หรือที่ทรงเรียกว่า “โรเซนกิลด์” ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแหล่ง “มรดกโลก” อาสนวิหารแห่งนี้ใช้เป็นสุสานหลวงฝังพระบรมศพสมเด็จพระราชาธิบดีและพระราชินีของเดนมาร์กด้วย ภายในมีเสาหินต้นหนึ่งเรียกกันว่า “เสากษัตริย์” (King’s Column) ซึ่งมีธรรมเนียมขีดเส้นระดับความสูงของกษัตริย์ที่เคยเสด็จมาที่นี่ นับแต่โบราณกาล ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ว่า

“ในที่ไว้ศพแห่งหนึ่งมีเสาศิลาอยู่กลาง มีเส้นขีดขนาดสูงต่ำของเจ้าแผ่นดินต่างๆ คฤสเชียนที่ ๑ เมืองเดนมาร์กเปนสูงอย่างยิ่ง ถัดลงมาเอมเปอเรอปิเตอดิเกรตเมืองรุสเซีย ต่ำที่สุดนั้นกิงคฤสเชียนที่ ๗ เมืองเดนมาร์ก เขาให้พ่อวัดสูงกว่ากิงคฤสเชียนที่ ๗ หน่อยหนึ่ง ได้ขีดเส้นลงไว้ที่เสา เปนของที่จะอยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์…”

ความสูงพระวรกายของ Chulalongkorn Konge af Siam (จุฬาลงกรณ์ กษัตริย์แห่งสยาม) ตามที่ปรากฏอยู่ ณ “เสากษัตริย์” วัดได้ ๑๖๕.๔ เซนติเมตร

จากข้อมูลนี้ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพระบรมฉายาลักษณ์องค์ดังกล่าว ผมประเมินด้วยสายตาว่า ส่วนสูงของพระองค์เจ้าอาภากรฯ พระชันษา ๑๗ ปี แม้จะทรง “โตขึ้นมาก” (ตามคำของรัชกาลที่ ๕) ก็ยังน่าจะไม่เกิน ๑๖๐ เซนติเมตร และหากคิดว่าขณะนั้นพระวรกายยังมิได้เติบโตเต็มที่ ส่วนสูงจึงอาจเพิ่มขึ้นได้อีกบ้าง

แต่สุดท้ายแล้วจากพระรูปในเวลาต่อมาก็ยังต้องนับว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “ชายร่างเล็ก” คนหนึ่ง ที่น่าจะมีส่วนสูงราว ๑๖๐ เซนติเมตร


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ