เรื่อง : ศิรประภา มีทรัพย์
ภาพ : เพจ JoCho Sippawat

เจ้าของยูทูบแชนเนลช่อง JoCho Sippawat

ถ้าพูดถึงยูทูบเบอร์ขวัญใจสายเดินป่า รายชื่อแรกๆ ที่ถูกพูดถึงคงหนีไม่พ้น ทรงธรรม สิปปวัฒน์ หรือ “โจโฉ” หนุ่มชาวเขาจากดอยมูเซอ จังหวัดตาก ดีกรีบัณฑิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเจ้าของยูทูบแชนเนลช่อง JoCho Sippawat

สิ่งที่น่าสนใจกว่าคาแรกเตอร์ยูทูบเบอร์หนุ่มเซอร์ของเขา ก็คือคอนเทนต์เกี่ยวกับสัตว์แปลกๆ ที่ใครหลายคนไม่คาดคิดว่าชีวิตนี้จะเฉียดใกล้ ขณะที่เขากลับเลี้ยงดูพวกมันด้วยความใส่ใจ และให้ความรู้ในอีกแง่มุมที่อาจเปลี่ยนใจให้พวกคุณกดปุ่มเพิ่มเพื่อนร่วมโลกผู้น่ารักตามเขาไปด้วย

jocho02

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจธรรมชาติ

“จริงๆ บ้านเราอยู่บนดอย อยู่ในป่าอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กเราก็เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า ที่บ้านเลี้ยงวัวก็เอาวัวไปปล่อยไว้ในป่า ตัวเราเองเป็นเด็กเลี้ยงวัวเลยได้เข้าไปในป่าตลอด ได้คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ

“พอโตขึ้นมีโอกาสไปเรียนในเมือง ตอนที่ลงไปเรียนพ่อกับแม่ตั้งความหวังอยากให้เราเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมเพราะเงินเดือนสูง จริงๆ เราไม่ได้ชอบงานวิศวะเพราะมันเครียด แต่เราเลือกที่จะเรียนและอยู่กับมันให้ได้ เพราะเป็นความฝันของพ่อแม่ แต่พอเรียนไปแล้วมีโอกาสทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย ทำให้เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่ทางของเราจริงๆ แต่ก็ฝืนเรียนจนจบ

“ระหว่างเรียนก็หาโอกาสกลับมาที่บ้านบ่อยๆ เพื่อมาทำงานสำรวจ ทุกครั้งที่ได้กลับบ้านเรามีความสุขมากๆ ยิ่งถ้าได้เข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติหรือพื้นที่ที่มีน้ำตก เราจะมีความสุขมากเป็นพิเศษ

“ช่วงที่เป็นนักศึกษาเราได้ทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติไปด้วย เป็นนักสำรวจอิสระ เลยเริ่มมีรายได้มากพอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำให้คิดว่าควรทำให้มันจริงจังกว่านี้ไหม พอเรียนจบเลยหันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เป็นนักสำรวจบ้าง รับจ๊อบเดินป่าบ้าง หรือถ้ามีทีมถ่ายทำสารคดีหรือนักวิชาการจ้างวานพาเดินเล่นหรือสำรวจป่า เราก็รับงานประเภทนี้ด้วย”

jocho03

ทำไมถึงเลือกศึกษาเกี่ยวกับสัตว์มีพิษ

“เมื่อก่อนเรากลัวสัตว์พวกนี้มาก ตอนเด็กๆ จะโดนเพื่อนๆ เอาสัตว์พวกงูแมงมุมที่ตายแล้วมาแกล้งตลอด ยิ่งพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ปลูกฝังว่าสัตว์พวกนี้อันตราย มีพิษนะ ถ้ามันกัดเราจะตายเลยนะ ความที่เราไม่รู้ก็จะกลัวมาก

“ด้วยความกลัวนี่ เวลาเจอหนังสือเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็พยายามที่จะอ่านมัน ไปศึกษามัน แล้วปรากฏว่าสิ่งที่อ่านในหนังสือกับสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่บอกเรามันตรงกันข้ามเลย ก็เลยคิดว่าสรุปแล้วความจริงมันคืออะไร สิ่งที่ตำราเขียนเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คนเฒ่าคนแก่พูดก็เช่นกัน ก็ตัดสินใจว่าต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง ไปเจอตัวสัตว์จริงๆ ไปศึกษาในเชิงวิชาการ ช่วงหลังพอศึกษาเยอะขึ้น ได้พบได้เข้าใจสัตว์เยอะขึ้น มันกลายเป็นว่าเราหลงชอบพวกมันไปโดยไม่รู้ตัว

“สิ่งที่จะทำให้เราเลิกกลัวได้จริงๆ คือการเลี้ยง พอเลี้ยงเราได้คลุกคลีกับพวกมัน ทำให้เกิดความผูกพัน นึกออกไหม อย่างคนที่เลี้ยงพวกเสือสิงโต การที่เขาได้คลุกคลีอยู่กับมัน ทำให้รู้จักนิสัยของสัตว์ที่ตัวเองเลี้ยงและรู้สึกผูกพัน หรือเราเองที่คลุกคลีอยู่กับงู ตะขาบ แมงมุม จนทำให้เลิกกลัวสัตว์พวกนี้ไปแล้ว เพราะเรารู้จักพวกมันในระดับหนึ่ง แต่พวกมันอันตราย เราเองก็จะรู้ว่าต้องทำยังไงที่จะไม่โดนมันทำร้าย เหมือนคนที่เลี้ยงสัตว์ชนิดหนึ่งมาตั้งแต่เล็กๆ เขาก็จะรู้พฤติกรรมของสัตว์ตัวนั้นว่าอย่าไปจับหางมันนะ ห้ามไปแหย่ทำให้มันหงุดหงิด อะไรประมาณนี้”

เลือกทำคอนเทนต์นี้เพราะอยากให้คนอื่นๆ เลิกกลัวด้วยใช่ไหม

“ใช่ครับ นี่คือประเด็นหลักเลย คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชาวเขา ชาวดอย หรือคนชนบท ยังเข้าใจเรื่องสัตว์พวกนี้ผิดอยู่ ยังมองว่ามันเป็นสัตว์ที่มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมและระบบนิเวศในธรรมชาติ แต่พอเราได้อยู่กับพวกมัน ก็รู้สึกว่าทำไมคนต้องมองแต่ด้านเสียๆ ทั้งที่จริงๆ มันมีข้อดีของมันอยู่นะ มีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น ช่วยให้ชีวิตของมนุษย์เราดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่คนเราเวลาเห็นสัตว์พวกนี้ก็จะไปทำร้ายไปฆ่ามัน เราว่ามันดูไม่ยุติธรรมกับพวกมัน เลยคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่างแล้วละ เพื่อจะถ่ายทอดว่ามนุษย์กับสัตว์พวกนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้

“เราสามารถพัฒนาสัตว์พวกนี้บางสายพันธุ์ให้เป็นสัตว์เลี้ยงได้ และบางชนิดก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ด้วย อย่างเช่นในต่างประเทศมีฟาร์มเพาะเลี้ยงตะขาบเพื่อนำเนื้อตะขาบมาประกอบอาหารเพราะมีโปรตีนสูง สูงกว่าเนื้อวัวอีก เนื้อของพวกแมลงหลายๆ ชนิดมีโปรตีนสูงกว่าเนื้อวัว เพียงแต่รูปร่างหน้าตามันดูน่าเกลียดน่ากลัวเท่านั้นเอง

“ทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้เลี้ยงสัตว์พวกนี้แล้ว นอกจากจะเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศที่หาดูไม่ได้ในไทย ก็จะเลี้ยงเอาไว้ศึกษา เราคิดว่าสัตว์พวกนี้มันแค่ไม่ได้รับโอกาสเหมือนน้องหมาน้องแมว หรือน้องหมูน้องไก่ ที่คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกัน ซึ่งถ้าเราเข้าใจ เราก็สามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักได้”

jocho04

เวลาที่เข้าป่าใช้ทักษะด้านใดมากที่สุด

“ส่วนใหญ่ใช้การสังเกตครับ นักวิชาการหรือนักสำรวจส่วนใหญ่จะใช้การมองการสังเกตนี่แหละ ช่วงแรกๆ ที่เข้าป่าเราจะสังเกตว่าสัตว์ชนิดนี้ืคืออะไร สายพันธุ์อะไร แต่หลังๆ เราก็พอเดาได้บ้างว่าพื้นที่แบบนี้จะมีสัตว์ประเภทไหนอาศัยอยู่

“ในชีวิตจริงมันลำบากกว่าในวิดีโอที่ถ่ายทอดออกมา เพราะถ้าหลงป่าเราจะไม่มีเวลามานั่งพูดคุยกับกล้อง แต่ทักษะต่างๆ เหล่านั้นมันช่วยให้คนรอดออกมาจากป่าได้ ไม่ว่าจะการหาอาหาร การรู้จักพืชและสัตว์ การปฐมพยาบาล โดยเฉพาะประเทศไทยสัตว์มีพิษจะเยอะมาก

“คนที่หลงป่าส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากการขาดอาหาร แต่เสียชีวิตจากการถูกสัตว์มีพิษทำร้ายแล้วไม่รู้จักการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าต้องหลีกเลี่ยงสัตว์มีพิษยังไง บางครั้งเราเห็นเป็นแค่แมลงเห็บเหลือบไรตัวเล็กๆ มากัด เราไม่ทันระวังว่ามันมีเชื้อโรคที่อาจนำไข้ป่ามาสู่ตัวเรา ทำให้ป่วยและเสียชีวิตในที่สุด ความรู้พวกนี้จริงๆ มันมีความจำเป็นนะ”

หากเปรียบตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติ คิดว่าตัวเองเป็นอะไร

“อืม ตอบยากเหมือนกันนะ ไม่เคยคิดเลย…อาจจะอยากเป็นพี่หมี เพราะลักษณะนิสัยของหมีคือค่อนข้างจะรักสงบ ไม่ค่อยไปทำร้ายใครก่อน มันจะใช้ชีวิตเรื่อยๆ อยากไปไหนก็ไป อยากกินอะไรก็กิน กินทั้งพืชผักผลไม้ กินเนื้อกินปลาได้ด้วย ใช้ชีวิตนอนกลางวัน อยู่กับธรรมชาติ พี่หมีน่าจะเหมาะกับตัวเราที่สุดแล้ว ไม่มีใครกล้ามายุ่งด้วยเพราะตัวใหญ่ มันไม่ได้ใจร้าย แต่อย่ามีใครไปทำร้าย ไปบุกรุกอาณาเขตของมัน เพราะมันก็จะสู้อยู่แล้ว”

jocho05
jocho06

ในช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ ใช้ธรรมชาติเยียวยาจิตใจบ้างไหม

“แน่นอนครับ ความสุขของเราคือการใช้ชีวิตอยู่ในป่าอยู่แล้ว บางครั้งการถ่ายทอดคอนเทนต์ออกมาก็จะมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ มักมีคนมาต่อว่าเราว่าบ้าหรือเปล่า แต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไร แค่มีคนเข้าใจเรื่องพวกนี้เพียงคนหรือสองคน สามารถทำให้เขาเข้าใจสัตว์พวกนี้มากขึ้น เลิกกลัวสัตว์พวกนี้ไปได้ นั่นก็คือชัยชนะของเราแล้ว

“บางทีเราเครียดๆ ก็เข้าป่าไปเฉยๆ ไม่ถ่ายทำอะไร เดินพักผ่อน สูดอากาศ ไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น มันก็เป็นความสุขได้โดยเราไม่ต้องทำอะไร ธรรมชาติช่วยได้จริงๆ”

ถ้าต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง จะใช้ธรรมชาติอะไรในการเยียวยาจิตใจ

“ตอนอยู่ในเมืองเราซื้อพวกแมลง แมงมุม มาเลี้ยง ซื้อต้นไม้มาปลูก เราชอบต้นไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงแมลง เป็นความสุขจริงๆ ของเราตอนอยู่ในเมือง

“ตอนนั้นที่พักเป็นบ้านทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ ซึ่งเขามีสวนดอกไม้อยู่แล้ว เราก็อาสาขอเป็นคนรดน้ำต้นไม้เอง ไม่ต้องจ่ายเงินเราเลย เราแค่อยากเป็นคนสวนคนหนึ่ง กลับมาไม่รู้จะทำอะไร บางทีก็ไปช่วยเขาปลูกต้นไม้บ้าง เราอยากคลุกคลีกับอะไรพวกนี้ พยายามหาพวกดอกไม้พวกแค็กตัสมาปลูกไว้ในห้องหรือที่ริมหน้าต่างให้มันดูมีอะไรเขียวๆ หน่อย แล้วก็เลี้ยงสัตว์ตัวเล็กๆ”

jocho07

เวลาได้ทำสิ่งเหล่านี้ อะไรคือตัวที่เชื่อมโยงคุณเข้ากับพวกมัน

“เราได้เห็นการเจริญเติบโตของพวกมัน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ ได้เห็นวิวัฒนาการ ได้เห็นมันเติบโตยังไง ใช้ชีวิต มีพฤติกรรมยังไง ไม่ว่าจะเป็นหมา แมว หมู หรือไก่ ที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก เราจะเกิดความผูกพัน เช่นไก่เนื้อ ถ้าเราเลี้ยงมันมาตั้งแต่เป็นไข่ จนมันฟักตัวและเจริญเติบโตขึ้น บางครั้งตอนมันวางไข่แล้วเราหยิบไข่มันมากิน เรายังรู้สึกผิดเลย

“ต้นไม้ก็เหมือนกัน ความสุขก็คือการที่เราได้เห็นมันเติบโต ยิ่งเห็นมันออกดอกออกผล เรายิ่งมีความสุข เข้าใจอารมณ์ของพ่อกับแม่เลยว่าทำไมเขาถึงรักลูกจัง ขนาดเราเลี้ยงแค่ต้นไม้ แมลง เรายังรู้สึกรักผูกพันเลย”

ถ้าสามารถสร้างธรรมชาติในเมืองได้ อยากจะเนรมิตธรรมชาติของตัวเองอย่างไร

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากสร้างเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนที่ปล่อยให้ภายในนั้นมีสัตว์ครบแบบเป็นระบบ อยู่ในระบบนิเวศตรงนั้นโดยเราไม่ต้องไปทำร้ายเขา ลองใช้ชีวิตอยู่กับเขา

“ทุกวันนี้เราก็มีความฝันนะ เราอยากจะย่อส่วนธรรมชาติให้มันอยู่ในห้องเล็กๆ สักห้องหนึ่ง เป็นตู้กระจก แต่ถ้าสร้างเป็นเมืองได้ก็จะยิ่งดีมาก ปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติเลย แล้วเราลองใช้ชีวิตดู สร้างเป็นบ้านต้นไม้และอาศัยอยู่คงจะมีความสุขดี

“เอาจริงๆ บรรยากาศในเมืองกับที่บ้านเราคือแตกต่างกันมาก สภาพอากาศก็ดีกว่า เราแทบได้ยินเสียงไก่ขัน นกร้อง แทนเสียงรถยนต์เลย”

jocho08

ด้วยความที่เติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติ คิดว่าธรรมชาติช่วยดูแลจิตใจเราอย่างไรบ้าง

“เยอะเลยครับ เราเติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติและสังคมที่เป็นพี่เป็นน้องกัน ผักที่ปลูกตามบ้านหรือรั้วบ้าน เราสามารถเดินไปเก็บมากินได้เลย ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่พอเข้ามาเรียนในเมือง สังคมมันต่างกันมาก สภาพอากาศก็ต่างกัน เวลากลับมาบ้านจึงรู้สึกว่าสภาพสังคมที่บ้านมันดีกว่ามาก อากาศก็ดีกว่า เย็นสบายแทบไม่ต้องเปิดแอร์ อาหารการกินก็สดสะอาดกว่า เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านแทนที่จะทำงานในเมือง โดยเอาความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่บนดอย มีอยู่ที่บ้านของเรา และเราคิดว่ามันช่วยได้เยอะเลย”

ช่วยสื่อสารให้ผู้คนเห็นว่าธรรมชาติสามารถช่วยเยียวยาจิตใจพวกเขาได้

“โดยส่วนตัวเราคิดว่า จิตใต้สำนึกลึกๆ ของคนเราคืออยู่กับธรรมชาติ เติบโตมากับธรรมชาติ บรรพบุรุษของเราก็อยู่กับธรรมชาติ เราเชื่อว่าเมื่อคนเราอยู่กับธรรมชาติ กับสิ่งที่บรรพบุรุษของเราอยู่ มันจะทำให้เรามีความสุขได้ ไม่จำเป็นหรอกว่าต้องไปดิ้นรนหาบ้านหารถ มีเงินมีทอง

“ในความคิดของเรา ความสุขคือการได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่กับสภาพอากาศที่ดี ได้กินอาหารที่สดใหม่ ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ นี่แหละคือความสุข”

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
ดำเนินการโดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง
สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา

ชวน Parkใจ โดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง
สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา