สัมภาษณ์ : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

jesdto1

รัฐประหาร 2549

“ความเปลี่ยนแปลงในรัฐสภาปี 2549 มีเหตุมาจากการเลือกตั้งช่วงปี 2548 เกิดข้อถกเถียงกันว่า ระบบเลือกตั้งมีความบิดเบือนในส่วนตัวเลขคะแนนนิยมของบางพรรคมากจนเกินไปหรือไม่ จึงส่งผลให้เกิดกรณีการบอยคอตไม่ลงสมัครของบางพรรค ในเขตที่มีพรรคเดียวลงแข่งจึงต้องชนะร้อยละ 20 ต้องสู้กับเสียงที่พรรคไม่มีอยู่ ก็จำเป็นต้องไปหาเสียงนั้นมา ทำให้เกิดกรณีการกล่าวหาว่าไปซื้อพรรคเล็กพรรคน้อย และยังมีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองที่บอกว่าคุณทักษิณ ทุจริตโกงกิน ก่อให้เกิดปัญหาบ้านเมือง

“ถ้าเรามองบริบททางการเมืองแน่นอนว่าต้องผูกโยงทั้งหมด ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทางด้านตุลาการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับส่วนของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ (วันที่ 25 เมษายน 2549) ตรัสแนะนำในลักษณะที่ว่า ถ้ามีเหตุบ้านการเมืองอะไรก็แล้วแต่ ศาลต้องเป็นคนพิจารณาเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง ถ้าศาลทำไม่ได้ ศาลต้องลาออกไป ไม่ใช่ให้รัฐบาลลาออก

“ผมคิดว่าทรงตักเตือนถึงทุกองคาพยพ คือฝ่ายตุลาการต้องพิจารณาว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลบ้าง ต้องจัดการให้ได้ ตักเตือนผ่านไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้ามีกฎบทกฎหมายการดำเนินการอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรก็อย่าไปทำ และตักเตือนไปยังฝ่ายบริหารถ้ามีเหตุปัญหาอะไรที่ไม่ควรใช้ วิถีทางที่ไม่ถูก ก็อย่าไปทำ

“และตัวละครที่สำคัญมากซึ่งอยู่ในคำเตือนนี้ อาจเป็นการเตือนลำดับท้ายๆ แต่เป็นลำดับต้นๆ เลยที่ควรตระหนัก คือกองทัพ ว่าให้กลไกเดินไป ปรากฏว่าตอนนั้นกองทัพนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ไม่ได้รับฟังไปก่อการรัฐประหาร”