เขียน : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ
ช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา นับจากจุดเริ่มต้นรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ประเทศไทยเปลี่ยนผู้บริหารประเทศถึงหกรัฐบาล มีรัฐประหารสองครั้ง มีร่างรัฐธรรมนูญถึงสี่ฉบับ มี “ม็อบ” หรือการชุมนุมบนท้องถนนเพื่อสนับสนุน-ขับไล่รัฐบาลหลายครั้งหลายกลุ่ม ซึ่งทุกฝ่ายต่างอ้างประชาธิปไตย
การทำความเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาจึงน่าสนใจ เพราะความเปลี่ยนแปลงในอดีตและปัจจุบันย่อมส่งผลถึงอนาคต
สารคดี จึงชวน นพ. ทศพร เสรีรักษ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงทางออกปัญหาการเมืองไทย โดยเฉพาะการเมืองบนท้องถนนและวิกฤตโรคระบาดครั้งสำคัญของประเทศไทย
เหตุการณ์รัฐประหารปี ๒๕๕๗
ผมเป็นโฆษกรัฐบาลในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ทำงานอยู่พักใหญ่ อยู่ดี ๆ มีปัญหาเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. พาประชาชนลงถนน ในที่สุดเกิดการยุบสภา
ในวันที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาปลายปี ๒๕๕๖ ผมใจหายวูบเลย อีกแล้ว ซ้ำรอยเดิมชัด ๆ
ผมคิดตอนนั้นว่า หากเลือกตั้งใหม่ก็จะเลือกไม่ได้ มีบางพรรคไม่ลงเลือกตั้ง เข้ารูปแบบเดิม โมเดลเดิม จนในที่สุด ทหารออกมาเคลื่อนไหว แต่แทนที่จะช่วยรัฐบาลรักษาความสงบ กลายเป็นว่ามาช่วย กปปส. มาพูดกดดันจนนำไปสู่รัฐประหารอีก
เหมือนทหารทำผิดหน้าที่ตั้งแต่แรก ทหารมีหน้าที่รักษาความสงบ ส่วนปัญหาฝ่ายการเมืองต้องให้นักการเมืองเป็นคนแก้กันไป เรื่องการบริหารงานของรัฐบาลถ้าทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการการพิสูจน์
ผมไม่ยอมรับเด็ดขาดเรื่องคอรัปชัน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ด้านกฎหมาย ต้องพิสูจน์กันให้เห็นชัด ๆ ใครถูกใครผิด แล้วลงโทษตามกระบวนการ ส่วนด้านสังคม ประชาชนจะตัดสินและนำไปสู่การไม่เลือกพรรคนี้อีก หากเป็นเช่นนี้ก็จบลงได้และเดินหน้าแก้ไขทางการเมืองต่อไป