ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

11 เรื่องต้องรู้ก่อนสร้าง เขื่อนน้ำยวม ผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล
ปากแม่น้ำยวม จุดบรรจบแม่น้ำสองสาย ยวม-เมย ตั้งอยู่กลางป่าและขุนเขาสลับซับซ้อนใกล้ชายแดนไทย-พม่า (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒมงคล)

โครงการ “ผันน้ำยวม” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment : EIA) ปี ๒๕๖๔ ว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ที่ตั้งของโครงการอยู่ในแนวเขตป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างน้อย ๕ แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม-ป่าแม่ตื่น รวมถึงพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติอีก ๑ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment : EIA) ปี ๒๕๖๔ ระบุว่าการดำเนินโครงการก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า ๓,๖๔๑.๗๘ ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ๒,๗๓๕.๐๖ ไร่ ป่าเพื่อการเศรษฐกิจ (Zone E) ๘๙๙.๖๕ ไร่ ป่ากันออกจากพื้นที่ของรัฐที่อยู่ในเขตป่าแต่ราษฎรใช้ที่ดินทำกินได้ (Zone N) ๔.๒๘ ไร่ และป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม (Zone A) ๒.๗๙ ไร่

นอกจากนี้ยังระบุว่าการดำเนินโครงการต้องสูญเสียพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B จำนวน ๑,๒๙๓.๑๘ ไร่ การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้อย่างถาวร จะต้องตัดไม้และนำไม้ออกนอกพื้นที่ งบประมาณในการแผ้วถางป่าและนำไม้ออกจากพื้นที่ก่อสร้างประมาณ ๒๐.๘๑ ล้านบาท ผู้พัฒนาโครงการวางแผนปลูกป่าในพื้นที่อื่นเพื่อชดเชยเป็น ๒ เท่า

numyuam02
ปากแม่น้ำเมย จุดบรรจบแม่น้ำสองสาย เมย-สาละวิน บริเวณชายแดนไทย-พม่า (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒมงคล)

โครงการผันน้ำยวมประกอบด้วย “โครงสร้าง” หรือ “องค์ประกอบ” ที่สำคัญ ได้แก่

เขื่อนน้ำยวม

ตั้งอยู่บนแม่น้ำยวม เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยประมาณ ๑๓.๘ กิโลเมตร เจ้าของโครงการจะสร้างเขื่อนทำจากหินถมดาดคอนกรีตปิดช่องเขาช่วงที่แม่น้ำยวมไหลผ่าน กำแพงเขื่อนสูงจากท้องน้ำ ประมาณ ๖๙.๕ เมตร (โครงการเขื่อนแม่วงก์ที่สาธารณชนรู้จักเมื่อหลายปีก่อนและล้มเลิกไปมีความสูงของกำแพงเขื่อน ๕๖ เมตร) เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำหน้าที่เก็บกักน้ำและทดน้ำเข้าสู่สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา

สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารดักตะกอน

ตั้งอยู่ที่บ้านสบเงา ฝั่งซ้ายแม่น้ำยวม บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงา ห่างจากสันเขื่อนมาทางเหนือน้ำยวม ๒๒ กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ๖ เครื่อง ทำหน้าที่สูบน้ำจากเขื่อนน้ำยวมขึ้นสู่พื้นที่สูงโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ผ่านทางอุโมงค์อัดน้ำขึ้นไปสู่อุโมงค์พักน้ำก่อนปล่อยน้ำให้ไหลลงมาเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงหรือตามความลาดชัดของอุโมงค์ ผันน้ำไปยังเขื่อนภูมิพลเฉลี่ยปีละ ๑,๗๙๕ ล้านลูกบาศก์เมตร

– อุโมงค์ส่งน้ำ

ออกแบบให้เป็นอุโมงค์ดาดคอนกรีต ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิดและใช้เครื่องเจาะ TBM ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์ประมาณ ๘ เมตร ความยาวของอุโมงค์ประมาณ ๖๑.๕๒ กิโลเมตร ลึกเฉลี่ย ๖๐๐ เมตรจากผิวดิน ทางออกของอุโมงค์อยู่ที่ห้วยแม่งูด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ให้น้ำไหลไปลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

พื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์

สิ่งที่จะเกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์ชั้นใต้ดินคือมวลดินและก้อนหินจากใต้ดินปริมาณมหาศาล พื้นที่ “กองเก็บวัสดุ” ถูกกำหนดไว้ ๖ พื้นที่ตลอดแนวเส้นอุโมงค์ คิดเป็นพื้นที่รวม ๔๔๔.๕๑ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์

ถนน

ต้องปรับปรุงถนนดินเดิมที่มีการใช้งานอยู่แล้วและก่อสร้างถนนใหม่ เพื่อเข้าสู่ตัวเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์เข้า-ออก พื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ฯลฯ รวมกันประมาณ ๘ เส้นทาง ถนนตัดใหม่ส่วนหนึ่งจะตัดผ่านผืนป่าต้นน้ำ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B นอกจากนี้ยังต้องอาศัยโครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่เป็นเส้นทางลำเลียงและขนสงเครื่องมือ เครื่องจักร เข้าสู่พื้นที่ก่อสร้าง

แม่น้ำยวมมีต้นกำเนิดจากขุนเขาสูงในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน บางช่วงมีลักษณะเป็นแก่งหิน และมีตะกอนในลำน้ำมาก มีความยาวประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง ไปบรรจบกับแม่น้ำเงาที่หมู่บ้านสบเงา อำเภอสบเมย แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำเมยซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินที่แนวพรมแดนไทย-พม่า แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน ไหลผ่านพม่า ไทย แล้วไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ

numyuam03
ตำแหน่งพื้นที่สำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าตามแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำภูมิพล ที่ตั้งของโครงการ “ผันน้ำยวม” อยู่ในเขตป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติอย่างน้อย ๕ แห่ง พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง (ภาพ : รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พฤษภาคม ๒๕๖๔)

แนวคิดในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล เกิดจากหน่วยงานรัฐเล็งเห็นว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ในช่วงที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ปริมาณการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาน้ำขาดแคลนมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น จึงเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ทั้งปรับปรุงโครงการเดิม พัฒนาโครงการใหม่

ทั้งนี้ มีการพิจารณาว่าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุของเขื่อน ในขณะที่ลุ่มน้ำสาละวินมีปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากลำน้ำสาขาในเขตประเทศไทยเฉลี่ยปีละ ๘,๙๓๗ ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำส่วนหนึ่งเป็นน้ำในฤดูฝนที่ไหลออกนอกประเทศข้ามไปในประเทศพม่า แล้วไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ แนวคิดผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำมาเก็บไว้ใช้เองในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลจึงเกิดขึ้น

โครงการผันน้ำยวมไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นการ “ปัดฝุ่น” หรือ “รื้อฟื้น” โครงการเก่าเมื่อร่วมสามสิบปีก่อน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา มีการศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลหลายครั้ง แต่ที่สำคัญและถือเป็นการศึกษาครั้งล่าสุด คือ การศึกษาความเหมาะสมและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์ และประชาพิจารณ์โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มศึกษาในปี ๒๕๔๖ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๙ ผลการศึกษาพบว่าแนวส่งน้ำที่มีความเหมาะสมในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล คือ แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำส่งเฉลี่ยปีละ ๒,๑๘๔.๕๒ ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงการนี้ในปี ๒๕๔๘ มีมูลค่าสูงถึง ๓๙,๘๖๘ ล้านบาท ประกอบปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบรรเทาลงจึงไม่ได้ดำเนินโครงการผันน้ำยวมต่อ

numyuam04
การผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมไปยังเขื่อนภูมิพล จะต้องเสียค่าไฟฟ้าสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ในถังพักน้ำ (โครงสร้างใต้ดิน) ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง แล้วปล่อยน้ำลงมา ให้ไหลไปตามความลาดเอียงของท่อ การดำเนินโครงการก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่ารวม ๓,๖๔๑.๗๘ ไร่ (ภาพ : รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พฤษภาคม ๒๕๖๔)

ราวปี ๒๕๕๙ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รื้อฟื้นโครงการผันน้ำยวมขึ้นมาอีกครั้ง ผู้รับผิดชอบหลักเปลี่ยนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มาเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลและและคณะกรรมการนโยบายน้ำแหงชาติ (กนช.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ชี้แจงว่าเล็งเห็นถึงปัญหา และความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงจัดสรรงบประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๙ อย่างเร่งด่วน มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ศึกษาความเป็นไปได้ที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน

เอกสารประกอบการประชุมปฐมนิเทศ โครงการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เสนอโดยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยลัยนเรศวร เดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ระบุรายละเอียดที่สอดคล้องกันว่า “ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกปี ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๙) จึงเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงการเดิม การปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่การแก้ไขปัญหาโดยวิธีดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่จึงเป็นอีกวิธีในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ” งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง ๗๑,๐๐๐ ล้านบาท

โครงการผันน้ำยวมเป็นโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลหลัก ๓ ข้อ คือ

  1. เกี่ยวข้องกับการชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทานตั้งแต่ ๘๐,๐๐๐ ไร่ขึ้นไป
  2. อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น ๑ ทุกขนาด
  3. เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก
numyuam05
พื้นที่กองเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ โดยเฉพาะดินและหินที่ถูกขุดขึ้นมามี ๖ แห่ งตามแนวท่อส่งน้ำ คิดเป็นพื้นที่รวมกัน ๔๔๑.๑๕ ไร่ แบ่งออกเป็นป่า พื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ ต้องตัดต้นไม้บางส่วนและขุดลอกหน้าดิน เมื่อใช้งานเสร็จกำหนดให้ผู้รับเหมาปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพ (ภาพ : รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พฤษภาคม ๒๕๖๔)
numyuam06
ตำแหน่งของหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ รายงานอีไอเอระบุว่ามีการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๗๔๙ ครัวเรือน ห่วงกังวลในประเด็นคุณภาพน้ำใต้ดินและผิวดิน การระบายน้ำจากพื้นที่กองเก็บวัสดุ ปัญหาน้ำท่วม การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร (ภาพ : รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พฤษภาคม ๒๕๖๔)

การแบ่งลุ่มน้ำในประเทศไทยพัฒนาองค์ความรู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ ล่าสุด พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔กำหนดให้ประเทศไทยมีลุ่มน้ำหลักทั้งสิ้น ๒๒ ลุ่มน้ำ กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ฯลฯ

หลักเกณฑ์พื้นฐานในการแบ่งลุ่มน้ำคำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมือง ผังน้ำ ประเพณี วัฒนธรรม เขตการปกครอง ตลอดจนพิจารณาจากจุดออกของลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลหรือออกจากประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลเป็นการแก้ปัญหาด้วยการผันน้ำข้ามลุ่มหรือสูบน้ำข้ามลุ่ม คือ จากลุ่มน้ำสาละวิน ไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านทางตอนล่างของลุ่มน้ำปิง

๑๐

กรมชลประทานชี้แจงว่าพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการผันน้ำยวม คือ โครงการชลประทานตามแนวแม่น้ำปิงตอนล่าง จังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ทางการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีประชากร ๖,๑๒๙,๙๘๐ คน มีเกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ๓๑๙,๑๒๓ ครัวเรือน มีจังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ๑๙ จังหวัด และมีสภาพปัญหา คือ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๑๙,๓๘๐.๘๙ตารางกิโลเมตร

ขณะที่ลุ่มน้ำสาละวินเป็นลุ่มน้ำสำคัญที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศมีประชากร ๖๙๖,๒๗๗ คน มีเกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ๗๑,๕๘๓ ครัวเรือน มีจังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ๓ จังหวัด และมีสภาพปัญหา คือ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๑๘,๘๐๓.๓๙ ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

๑๑

การสร้างเขื่อนน้ำยวม สันเขื่อนสูง ๖๙.๕ เมตร จะทำให้ปลาบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนไม่สามารถว่ายขึ้นสู่แม่น้ำยวมด้านเหนือเขื่อนได้ ทั้งนี้ การอพยพของปลาในธรรมชาติมี ๒ ช่วงหลัก คือมิถุนายน-กรกฎาคม ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มสูง ปลาจากลุ่มน้ำสาละวินตอนล่างจะว่ายขึ้นมาหากินและวางไข่ตามแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา ถึงช่วงธันวาคม-มกราคม ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มลด ปลาจะย้ายกลับบริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง ตั้งแต่สบเมยลงไปถึงบริเวณปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ผู้ดำเนินโครงการระบุว่าจะผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงมกราคมของทุกปี

สิ่งที่ชาวบ้านห่วงกังวลคือปลาที่เคยจับได้ในอดีต เช่น ปลาสะแงะ ปลากดหัวเสียม ปลาคม ปลาเวียน และปลาท้องถิ่นชนิดต่างๆ จะเป็นอย่างไร จะสูญหายหรือลดลงหรือไม่ การสร้างเขื่อนนอกจากทำลายเส้นทางอพยพของปลาแล้วยังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่งและลึกของอ่างเก็บน้ำ ที่มีระยะทางยาวตามลำน้ำถึง ๒๒ กิโลเมตร

นอกจากนี้ การสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวมไปลงที่ห้วยแม่งูดที่อยู่ห่างออกไปตามแนวอุโมงค์ใต้ดิน อาจทำให้ปลาในลุ่มน้ำสาละวินติดไปสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิ่งที่นักวิชาการอิสระกังวลคือการสูบน้ำข้ามลุ่มน้ำที่ปลาสองลุ่มน้ำมีลักษณะของพันธุกรรมที่แยกกันชัดเจน ถ้าปลาเล็ดรอดข้ามไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น อาจเกิดการปะปนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ (Alien Species)

เรื่องปลาข้ามลุ่มเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวและเป็นเรื่องใหญ่ วิธีป้องกันที่เจ้าของโครงการเสนอ อาทิ การใช้คลื่นเสียงขับไล่ปลาไม่ให้ว่ายเข้ามาบริเวณสถานีสูบน้ำ การใช้ม่านไฟฟ้าทำลายไข่ปลาและลูกปลา การใช้ตะแกรงป้องกันปลาตัวใหญ่ ในบางกรณีอาจผิดกฎหมายและถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมประมง