ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ขึ้นเป็นนายพลเรือตรี พร้อมกับทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือที่เรียกกันว่า “ทรงกรม” ขณะมีพระชันษา ๒๔ ปี

เจ้าต่างกรม - “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๒๐

ธรรมเนียมการทรงกรมนี้ถือปฏิบัติกันมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้านายทรงเจริญพระชันษาพอสมควรที่จะมีผู้คนใต้บังคับบัญชา จะได้รับพระราชทานอิสริยยศให้ “ทรงกรม” หรือปกครอง “กรม” คือไพร่พลในสังกัด

ในการนี้จึงต้องแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลจริงๆ ด้วย ดังนั้นแต่เดิม เจ้านายจึง “ทรงกรม” ตามนามของข้าราชการผู้ปกครอง “กรม” คือกลุ่มคน เช่นพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ออกพระนามเจ้านายฝ่ายใน (คือเป็นสตรี) สองพระองค์ คือกรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งหากดูเฉพาะพระนาม จะสังเกตว่าล้วนแต่เป็นชื่อที่มีความหมายว่าด้วยการควบคุม “โยธา” คือกำลังทหาร มิได้ฟังดูเป็นชื่อ “ผู้หญิงๆ” อย่างที่ควรเป็นพระนามเจ้านายฝ่ายในเลย นั่นเพราะทรงมีอำนาจปกครองเหนือไพร่ “ในสังกัด” ของหลวงโยธาทิพ และหลวงโยธาเทพ

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดธรรมเนียมใหม่ในการตั้งนามกรมสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ (คือพระราชโอรสพระราชธิดา) โดยเกือบทุกพระองค์มักได้รับพระนามเมื่อทรงกรมเป็นชื่อหัวเมืองในพระราชอาณาจักร (เทียบเท่ากับจังหวัด) เช่น กรมขุนนครสวรรค์ฯ กรมขุนสงขลาฯ กรมหมื่นราชบุรีฯ เป็นต้น

ในทางหนึ่ง อาจดูเหมือนเป็นการรักษาเค้าเดิมของประเพณี “กินเมือง” ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้านายให้ปกครองหัวเมือง แต่ขณะเดียวกัน นี่คือพระราชนิยมตามอย่างธรรมเนียมราชวงศ์อังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะให้เจ้านายได้รับฐานันดรศักดิ์ดุจเป็นเจ้าผู้ครองแว่นแคว้น เช่น เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ดยุกแห่งเคนต์ (Duke of Kent)

แม้ธรรมเนียมทรงกรมตามนามเมืองจะเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แต่ย่อมต้องถูกกำกับไว้ด้วยธรรมเนียมราชตระกูลของสยามอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” จะทรงได้รับการสถาปนาให้มีพระนามกรมตามชื่อหัวเมืองชั้นเอกและราชธานีโบราณ เช่น สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ สงขลา ส่วน “เจ้าฟ้าชั้นโท” จะทรงกรมตามนามหัวเมืองชั้นรอง หรือเมืองลูกหลวง เช่น สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย อู่ทอง ลพบุรี

ส่วนพระองค์เจ้าย่อมได้รับพระนามกรมตามชื่อหัวเมืองเล็ก เช่น นครไชยศรี ชุมพร สิงห์บุรี สรรค์บุรี

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” และปรากฏพระนามในทางราชการเป็นภาษาอังกฤษว่า His Royal Highness Prince of Jumborn (เจ้าชายแห่งชุมพร) หรือบางครั้งสะกด Prince of Chumphorn ตามอย่างธรรมเนียมอังกฤษ

พระนามเมื่อทรงกรมนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า คล้องจองเข้าชุดต่อเนื่องกับพระนามที่พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ เป็นลำดับกันมา ได้แก่ จันทบุรีนฤนาถ-ราชบุรีดิเรกฤทธิ์-ปราจิณกิติบดี-นครชัยศรีสุรเดช-ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

กระทั่งบรรดาหม่อมห้ามและพระโอรสทุกพระองค์ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ก็เล่าว่าถูกบังคับให้สักรูปสมอเรือเล็กๆ ไว้ที่แขน โดยทรงให้เหตุผลเยี่ยงชาวเรือว่า “ไปตายที่ไหน…คนก็จำได้”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ