เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วินัย ดิษฐจร

ความหมาย  ของ Photojournalist

เอ่ย นามวินัย ดิษฐจร คนจำนวนมากไม่รู้จักเขา แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อย คุณอาจเคยเห็นภาพของเขาผ่านตาไปโดยไม่รู้ตัว

ในบรรดาช่างภาพที่มีจำนวนมากในเมืองไทย ชีวิตของวินัยอาจเรียกได้ว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะก่อนจะมาเป็นช่างภาพที่ทำงานในระดับนานาชาติ พื้นเพของเขามาจากฐานปิรามิดของสังคมไทย ผ่านชีวิตคนชายขอบเมือง คนชนบท ดิ้นรนหารายได้ระหว่างเรียน ออกจากโรงเรียนเพื่อให้น้องมีโอกาสทางการศึกษา ทำงานตั้งแต่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการเป็นกระเป๋ารถเมล์ แต่เขาก็รักการอ่าน รักชีวิตกลางแจ้ง สนใจการถ่ายภาพ ช่วงเปลี่ยนอาชีพเป็นทหารถึงกับฉีกตำราซ่อนไว้ในกระบอกปืนครก

ก่อนจะเริ่มต้นอาชีพช่างภาพกับหนังสือสัตว์เลี้ยง หลังจากนั้น จึงลองผิดลองถูกพัฒนาฝีมือจนสำนักข่าวตะวันตกต้องพึ่งพาเมื่อต้องการภาพข่าวในเมืองไทย

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการเมือง ชื่อของวินัยปรากฏขึ้นบ่อยครั้งพร้อมภาพเหตุการณ์การชุมนุมบนท้องถนน งานของเขาส่วนหนึ่งถูกนำไปแสดงที่ต่างประเทศ

วินัยเป็นเพียงช่างภาพไม่กี่คนในเมืองไทยที่พูดชัดเจนว่าการถ่ายภาพ ควรเป็นไปเพื่อคนด้อยโอกาส และหวังจะเห็นหลักการประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เบ่งบานในสังคมไทย

ในช่วงที่เมืองถูกปิดจากโรคระบาด สารคดี หาจังหวะสนทนากับวินัย ถึงชีวิตและมุมมองของเขาในฐานะช่างภาพคนหนึ่งที่บันทึก “หัวเลี้ยวประวัติศาสตร์” ของสังคมไทยเอาไว้

วัยเด็ก เมือง และชนบท

photojournalist01

“ผมเกิดปี ๒๕๐๘ ที่กรุงเทพฯ พ่อทำงานสนามบินดอนเมือง เรียนจบแค่ ป.๔ ก่อนหน้านั้นแกเคยทำงานเป็นกะลาสีคอยเฝ้าเครื่องบินทะเลที่มาจอดแถวแม่น้ำเจ้าพระยาแถวคลองเตย และสนามบินน้ำนนทบุรี ต่อมาเป็นพนักงานบริการยกกระเป๋าให้นักท่องเที่ยวที่สนามบินดอนเมือง แล้วเลื่อนเป็นหัวหน้า (Supervisor) ดูแลการขนถ่ายกระเป๋า ตู้สินค้าที่มากับเครื่องบิน ทำงานให้หลายสายการบินในยุคนั้นเช่น PanAm, British Airways แต่พ่อพูดภาษาอังกฤษได้ไม่มากนัก พอเวลาผ่านไปงานมันเยอะและซับซ้อนขึ้น พ่อก็อึดอัด แถมเจอปัญหาลูกน้องขโมยของ จึงอยากลาออก บวกกับมีเงินเก็บอยู่บ้าง แกมีความฝันอยากเป็นชาวไร่ ชาวสวน

“ตอนนั้นมีคนจีนคนหนึ่งมาขอใช้นามสกุลของลุงเพื่อสอบเป็นตำรวจ เป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้างและรับซื้อของป่าที่จังหวัดชัยภูมิ เขาชวนพ่อให้ลองเริ่มต้นทำไร่ที่ชัยภูมิ เพราะทุกเดือนแกจะส่งรถสิบล้อขนส่งสินค้าจากชัยภูมิมากรุงเทพฯ แล้วตีรถเปล่ากลับ หากตัดสินใจย้ายบ้านก็ขนของไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เลย ช่วงนั้นผมเรียนชั้น ป.๔ จำได้ว่าก่อนย้ายพ่อเอาหนังสือบริจาคห้องสมุดโรงเรียนเยอะมาก มีเหลือเอาไปด้วยส่วนหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ ๓๐ จากของทั้งหมดที่ขนย้ายไปที่อำเภอบ้านหนองบัวแดง ที่นั่นเป็นเมืองในหุบเขา บ้านหลังแรกที่ไปอยู่เป็นเพิงหมาแหงนที่สร้างไว้เฝ้ายุ้งฉางรับซื้องของป่า ลานตากมันสำปะหลัง หลังจากนั้นก็ย้ายไปซื้อที่อยู่ที่บ้านหนองบัวน้อย อ.เกษตรสมบูรณ์ อยู่เชิงเขา ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้น้ำบาดาล”

“ตอนอยู่กรุงเทพฯ อยู่ซอยไผ่สิงโต รอบๆ เป็นบ่อปลา สลับทุ่งหญ้า บึง ตลาดจะเป็นตึกแถวสองชั้นของคนไทยเชื้อสายจีน มันเปลี่ยนพรึ่บ ไปอยู่ที่ราบสูง ดินเป็นสีแดง มีทุ่งข้าวโพด ไฟฟ้าไม่มีต้องจุดตะเกียง ต้องโยกน้ำจากบ่อน้ำบาดาล โรงเรียนทำด้วยไม้ฝาขัดแตะ หลังคามุงจาก โต๊ะเก้าอี้ก็ทำจากไม้ซุง พื้นเป็นทราย ต่างจากโรงเรียนโรจน์เสรีอนุสรณ์ แถวกล้วยน้ำไทที่พ่อเคยส่งเรียนเพื่อให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่ผมก็ตื่นตาตื่นใจกับภาษาอีสาน อาหาร ภูมิอากาศ ฝนตกก็น้ำท่วม หน้าหนาวก็เย็นมาก ผมขี่จักรยานไปโรงเรียนโดยใช้ทางลูกรังหลายกิโลเมตร เคยแบกจักรยานข้ามแม่น้ำตอนสะพานขาดในช่วงพายุเข้า ตอนที่ย้ายบ้านไปอยู่เชิงเขาต้องขี่จักรยานไปฝากไว้กับชาวบ้าน รอรถประจำทางที่มี ชม. ละ ๑ คัน ในศาลาเพิงหมาแหงน

“ใช้ชีวิตเป็นชาวไร่สามปีกว่า พ่อเริ่มรู้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ เลยตัดใจขายที่ย้ายเข้าอำเภอหนองบัวแดงอีกครั้ง เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวได้พักหนึ่ง พอจะขายได้ดี โดนยึดห้องแถว ก็ตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ กลับมาอยู่กรุงเทพฯ แถวบ้านญาติย่านบางจาก สุขุมวิท ผมได้เข้าเรียน ม.๒-๓ ที่ย่านบางบ่อ สมุทรปราการ ต้องนั่งรถเมล์ไปบางนา รอรถ บขส. ไป อ.บางบ่อ ขากลับบางทีก็ประหยัดด้วยการโบกรถ ถนนบางนาตราดสมัยนั้นมีสองเลน สองข้างยังเต็มไปด้วยทุ่งนา

“ตอนเรียนผมพยายามหาเงินระหว่างเรียนด้วยการขายเทปเพลงสากล สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายเอาผิดบริษัทเทปที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ผมไม่ได้เปิดแผงขาย แต่ไปที่บริษัทเทปแถวประตูน้ำ เอาแฟ้มอัลบั้มหน้าปกเทปหอบมาให้เพื่อนในโรงเรียนเลือกซื้อ วันหยุดหรือปิดเทอมก็ไปตามสำนักงานช่วงพักเที่ยง ขายให้พวกคนทำงานออฟฟิศ พอได้ยอดก็ไปเอาเทปมาส่งให้ลูกค้า ผมยังขายโปสเตอร์ ดารา นักร้องต่างประเทศ ช่วงนั้นได้ฝึกภาษาอังกฤษ กลางคืนก็ฟังเพลงสากลใหม่ๆ จากรายการวิทยุ วันหวยออกก็ลาเรียนครึ่งวัน ไปรับเรียงเบอร์ (สำหรับตรวจลอตเตอรี่) มาขายย่านคลองเตย หนังสือพิมพ์ก็รับมาขายด้วย”

กระเป๋ารถเมล์วัย ๑๕​

photojournalist02

“ตอนจะขึ้น ม.๔ เป็นรอยต่อของหลักสูตรเก่ากับใหม่ในระบบการศึกษา พี่ชายผมเรียนระบบเก่า ผมเรียนระบบใหม่ หนังสือเรียนของพี่ผมเอามาใช้งานต่อไม่ได้ ตอนนั้นพ่อได้งานในโรงงานเหล็กย่านสำโรงแต่ประสบอุบัติเหตุ นิ้วแตก หาเงินไม่ทัน ผมเลยต้องเลิกเรียน ออกมาหางานทำสมัยนั้นไม่มีกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็ก ผมไปเจอประกาศรับกระเป๋ารถเมล์ ขสมก. อายุ ๑๕ เขาก็รับ ไปสมัครก็ผ่าน ผมเริ่มทำงานกับรถประจำทางสาย ๔๖ (บางนา-รองเมือง) จากนั้นก็ย้ายไปหลายสาย เช่น ๔๘, ๒, ๗๒ เพราะอยากหาประสบการณ์ ตอนนั้นเราก็วัยรุ่น พวกช่างกลขึ้นรถมาบางทีก็กวนเพราะเห็นเราเด็ก สาย ๔๖ เป็นเส้นทางผ่านย่านนักเลง และโรงเรียนช่างกลหลายโรงเรียนที่ขึ้นชื่อเรื่องต่อยตีหลายแห่ง ต้องรบตลอด

“มีครั้งหนึ่งตำรวจนอกเครื่องแบบสองคนเมาแล้วก็ร้องเพลงกวนผู้โดยสารคนอื่น พยายามกดกริ่งจะลงจากรถกลางสี่แยกไฟแดงตรงอ่อนนุช คนขับไม่จอด สองคนนั้นก็มาหาเรื่องกระเป๋า โต้เถียงกันไปมาจนสู้กัน ผมไปเอาด้ามเกียร์ของคนขับเป็นอาวุธ ปรากฏคนหนึ่งบาดเจ็บตรงแขน อีกคนได้เลือดตรงใบหน้า เหตุเกิดหน้า สน.พระโขนงพอดี ตำรวจใน สน. วิ่งมาจาก สน. ตะโกนใส่ผมพร้อมมือแตะปืนในท่าเตรียมพร้อม ตอนสอบสวนใน สน.ผมก็โดนซ้อมไปทีนึง แต่คุยไปคุยมาตำรวจดันเขม่นกันเอง คนที่มีเรื่องกับผมจะแจ้งข้อหาพยายามฆ่า ตำรวจ สน.พระโขนงบอกจะให้ข้อหาทะเลาะวิวาท สุดท้ายผมโดนข้อหาแค่ทำร้ายร่างกาย ต้องขึ้นศาลแล้วรอลงอาญา ปรากฏว่าติดวันหยุดยาวอีกเพราะช่วงสงกรานต์ กว่าทางบ้านจะรู้ผมต้องนอนอยู่ที่โรงพักอยู่สี่ห้าวัน”

วิชาถ่ายภาพนอกตำรา

photojournalist03

“ข้อดีของการเป็นกระเป๋ารถเมล์ ขสมก. คือเป็นรัฐวิสาหกิจ เบิกได้ รักษาพยาบาลฟรี เซ็นชื่อซื้อของที่สหกรณ์แล้วเงินเดือนออกค่อยจ่าย พอส่งน้องสาวเรียนจบพาณิชย์ ผมก็อยากทำอะไรที่ตัวเองอยากทำเพราะตอนนั้นอายุ ๒๓ ปีแล้ว ทำงานอยู่ที่ ขสมก. ๗ ปี พอดีช่วงนั้นเกิดสงครามที่บ้านร่มเกล้าระหว่างไทย-ลาว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. รับสมัครทหารอาสา มีเงินเดือน ผมเลยไปสมัครเพราะอยากหาประสบการณ์ อยากเป็นนักเขียน ชอบอ่านหนังสือ เคยเห็นว่าพวกนักเขียน เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ พวกนี้ผ่านอะไรมาเยอะ เคยทำงานในเหมืองแร่ เคยไปอยู่ในสนามรบ เคยขับรถพยาบาล เคยโดนยิง เลยคิดว่าเป็นทหารนี่แหละได้ประสบการณ์ดี ผมเห็นนิตยสาร สารคดี ปกเสือคาบดาบ (Ranger)​ ด้วย เลยอยากลอง

“ไปสมัครทดสอบร่างกายที่กองทัพภาคที่ ๑ ผ่านหมด วิ่งแข่งเข้าที่สามที่สี่ เป็นทหารอาสาในสัญญา ๕ ปี ช่วงนั้นก็เรียนกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพราะเขาบอกว่าไปทำงานอะไรก็ได้นาน ๕ ปี ก็เรียนปริญญาตรีได้ ผมก็เรียนเฉพาะหลักสูตร มันมีคณะนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าคืออะไรแต่มีวิชาเกี่ยวกับถ่ายภาพ ทำหนังสือพิมพ์ ผมอ่านเจอว่าพวกนักเขียนต้องทำงานแบบนี้เลยสมัครเรียน สักพักก็ลงแต่วิชาที่อยากเรียน ซื้อหนังสือมาอ่าน มหาวิทยาลัยยังแนะนำห้องสมุดประชาชน จนผมมาคิดได้ว่าเราไม่ได้อยากได้ปริญญามาติดฝาบ้าน อยากได้ความรู้ ไปหาอ่านเอาได้นี่หว่า

“ช่วงที่ฝึกรบในป่า จะมีช่วงพักไม่มีอะไรทำ ผมฉีกหนังสือเรียนที่หนาและหนักให้มันบางพกพาได้ พับใส่ขากางเกง ใส่กระบอกปืน M79 พกไปอ่านบางช่วงก็มี ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือวิชาภาพยนตร์ การถ่ายภาพ การใช้กล้อง ทั้งที่ไม่เคยจับของจริงเห็นแต่ภาพ ก็ท่องจำเอา ช่วงนั้นอ่านหนังสือพิมพ์มีการอบรมผู้สื่อข่าวชุมชน สวพ.๙๐๑ ทางไปรษณีย์ ผมก็เลยสมัครเรียน ให้ฝึกเขียนบทความ เขียนรายงาน ผมก็เขียนรายงานเรื่องแย่ๆ ที่เห็นว่าไม่ถูกต้องเรื่องการเป็นทหารนี่แหละ โครงการที่รับสมัครทหารที่ตอนแรกโฆษณาว่า หากได้เข้ามาเป็นจะได้ไปหน่วยนั้นหน่วยนี้ ซึ่งพวกคนต่างจังหวัดที่มาสมัครก็ฝากความหวังไว้เยอะ บางคนจบ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี มาสมัครกันเยอะ ฝันจะเป็นเจ้าคนนายคน ปรากฏว่าแม่งไม่เป็นตามนั้นหรอก (หัวเราะ) ทุกคนถูกจับยัดลงทหารราบหมด ผมเองไม่เดือดร้อนเพราะว่ามีวุฒิแค่ ม.3 ไม่ได้ฝันใฝ่เรื่องนี้ แค่อยากจะหาประสบการณ์ แต่ผมมารู้คราวหลังหลายปีว่าโครงการอบรมผู้สื่อข่าวชุมชนนี่เป็นโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)”

กล้องตัวแรกและช่างภาพมือใหม่

photojournalist04

“ผมไม่ได้ถูกส่งไปสงครามร่มเกล้า เพราะมันยุติเสียก่อน เราเป็นรุ่น ๒ โชคดีที่เขาเลิกรบ แต่รุ่น ๑ ที่ถูกส่งไปตายเพียบ ต่อมามีข่าวว่าทางการให้ลาออกได้เมื่อรับราชการ ๒ ปี ผมเริ่มเบื่อเลยคิดลาออกมาหางานทำ หาประสบการณ์ใหม่ ตอนนั้นมีเงินเก็บบ้างจากการที่เคยรับจ้างเข้าเวรแทนเพื่อน แต่ก็ยังไม่พอที่จะซื้อกล้องฟิล์ม การถ่ายภาพยังเป็นความฝันราคาแพง ช่วงแรกผมไปสมัครเป็นคนงานทั่วไปแบกข้าวสารในโกดังขายส่งข้าวสารและขายเหล้า โรงงานห้องแถวย่านสำโรง ปรากฎไม่มีที่ไหนรับเลย หน้าตาเรามันเนิร์ด (หัวเราะ) สุดท้ายไปได้งานโรงงานผลิตยาบริษัทแอตแลนติกแถวบ้านพอดี อยู่ปากซอยสุขุมวิท ๖๒ เป็นพนักงานชั่วคราว ทำโอทีถึงกลางคืนเก็บเงินได้พักหนึ่งก็โดนหัวหน้างานโกงอีก ตอนนั้นก็ท่องในใจนะว่าอยากได้กล้อง Nikon FM2 (กล้องฟิล์มที่ได้รับความนิยมในระดับตำนานของนิคอน)

“สุดท้ายแพงเกิน ความฝันที่เป็นจริง ได้เงินแค่ซื้อกล้อง Pentax K1000 มือสองจากย่านสะพานเหล็ก หัดถ่ายรูปได้ม้วนเดียวแถววัดพระแก้วก็อ่านหนังสือพิมพ์เจอประกาศรับสมัคร ‘ผู้สื่อข่าวธุรกิจ’ นิตยสารสุนัขชื่อ The Dog บริษัทเจ้าของเขาผลิตนิตยสารเช่น วัวชน ไก่ชน กุ้งกุลาดำ ผมก็เอาบทความสมัยอบรมผู้สื่อข่าว สวพ. ไปสมัคร คุยกันเจ้าของกันถูกคอเพราะเขาชอบคุยเรื่องการเมือง ตอนนั้นผมฟังเขาคุยอย่างเดียว ปรากฏเขารับเข้าทำงานเฉยเลย มารู้ทีหลังว่าตำแหน่ง ‘ผู้สื่อข่าวธุรกิจ’ มันคือเซลล์ขายของที่ห้อยกล้องถ่ายภาพ ต้องขายโฆษณา ถ่ายภาพแบบง่ายๆ ไม่ยาก สำคัญคือต้องหว่านล้อมบังคับให้เขาซื้อโฆษณาในลงในนิตยสาร กระจอกที่สุดคือให้เขาซื้อพื้นที่โฆษณาขาวดำขนาดกรอบเท่านามบัตรก็ยังดี”

“ตอนนั้นไม่มีแฟ้มผลงาน มีฟิล์มม้วนเดียวที่หัดถ่ายภาพวัดพระแก้ว โชคดีเขาไม่ต้องการอะไรมาก ให้ถ่ายได้เขียนได้ก็พอ ผมต้องไปกล่อมคอกหมาให้มาลง ใช้ฟิล์มสีถ่ายภาพ ไปอัดภาพในร้านย่านสำโรงห่างจาที่ทำงานด้วยการเดินไปกลับเกือบสี่กิโลเมตร บอกเขาว่าไม่ต้องส่งฟิล์มให้ ไปรับเอง ต้องไปควบคุมการผลิตเอง ม้วนไหนถ่ายมาไม่ดีทิ้ง บอกร้านว่าภาพไหนเสียอย่าอัด ช่วงแรกถ่ายเสียเยอะ ต้องควักเงินตัวเองจ่ายโปะเพื่อรักษาความลับ บางช่วงยืมเงินน้องสาวมาจ่าย นี่ทำงานแบบมิสเตอร์บีน (ดาราตลกชาวอังกฤษ ทำทุกวิถีทางไปสู่เป้าหมาย) ทำสำเร็จแบบเด๋อๆ แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ”

“ทำนิตยสารสุนัขได้สี่เดือน มันยังไม่ใช่ฝัน อ่านหนังสือพิมพ์เจอเลยไปได้งานเป็นช่างภาพที่บริษัท อาเซียน เจอร์นัล ผลิตนิตยสารท่องเที่ยวแจกฟรีชื่อ Bangkok this week, Pattaya this week, Chiangmai this week และ South Thai Magazine เราฝันที่จะได้ทำงานนิตยสารท่องเที่ยวแบบนี้นานแล้ว มันใช่เลย ตอนเขาถามว่าเราถ่ายฟิล์มสไลด์เป็นไหม บอกว่าเป็นไว้ก่อน (หัวเราะ) เขาให้มาหนึ่งม้วน เราไปถ่ายแถวเยาวราช ฟลุคถ่ายได้ดี ทั้งที่เริ่มถ่ายรูปแค่สี่เดือน ผมอาจกรอกเงินเดือนต่ำด้วยคือแค่ ๔,๕๐๐ บาท น้อยกว่าสมัยทำงาน ขสมก. พอเขารับเข้าทำงาน ดันมีปัญหาอีกคือต้องหาเงินซื้ออุปกรณ์เพิ่มหลายอย่าง ผมเลยเดินทางไปหาผู้บังคับหมวดสมัยเป็นทหาร มันเคยบอกว่ามีปัญหาอะไรไปหาได้ ยืมเงินแม่งเลย มันก็ไม่ให้สิครับ (หัวเราะ) มันก็พูดไปตามระบบนั่นแหละ สุดท้ายผมไปได้เงินยืมจากญาติ

“ตอนนั้นหนังสือที่ผมทำเขาแจกฟรีรายสัปดาห์ วางตามจุดแลกเงินต่างประเทศ ในเล่มมีโฆษณาร้านอาหาร ร้านเพชร ผับบาร์ ที่พวกฝรั่งชอบไป ผมได้ไปเชียงใหม่ พัทยา สมุย ภูเก็ต กระบี่ ได้ประสบการณ์เยอะ ไปแบบแบ็กแพ็ก นั่งรถทัวร์ต่อเรือเฟอร์รี มันเป็นความทรงจำที่งดงาม เปิดโลกมากๆ”

ช่างภาพสายลุย

photojournalist05

“ทำงานได้สองปีครึ่ง ผมอยากทำงานอิสระ พอผ่อนกล้อง FM2 คืนเงินที่ยืมจากบริษัทได้หมดก็ออกทำงานอิสระอยู่ปีหนึ่ง ได้งานถ่ายภาพธรรมชาติให้กับบริษัทภาพสต็อกให้เช่าของฝรั่งแถวซอยกลาง ซอยสุขุมวิท ๔๙ ช่างภาพฝรั่งพวกนี้ทำหนังสือเกี่ยวกับอาหารไทย วิธีการถ่ายของพวกเขาสร้างภาพจำของคนไทยในยุค ๘๐ และยุค ๙๐ ว่าถ่ายอาหารไทยต้องใช้เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ถ่ายในเรือนไทยไม้สัก มีแสงสีเหลืองๆ ในภาพ พวกนี้มันจ้างเราไปถ่ายภาพธรรมชาติในพื้นที่ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ถ้าถนนเข้าถึงฝรั่งก็จะไปถ่ายเอง ผมเสนอเขาว่าเราจะไปให้ รู้ว่าไม่ได้กำไรอะไรมากมาย อาศัยว่าได้เที่ยวและเอามัน

“ไปน้ำตกทีลอซูสมัยนั้นต้องล่องแพขี่ช้างนะครับ แต่ผมเดินในป่าเพื่อประหยัด ในเมืองไทยอากาศส่วนมากฝนตก เราทำงานคนเดียว ไม่มีใครคอยบอกว่าให้ไปเดือนนี้กำลังดี เช่ามอเตอร์ไซค์ไปก็มี ทำแบบนี้อยู่ปีนึง เริ่มคิดจะเลิก อยากทำงานในสตูดิโอแบบพวกช่างภาพฝรั่ง งานสุดท้ายตอนใกล้จะเลิกทำ ผมไปเกาะพีพี ภูเก็ต ถ่ายรูปเอามาขายพวกบริษัททำโปสการ์ด ประหยัดงบนั่งรถ บขส. สีส้มไปภูเก็ต ไปนอนบ้านเพื่อน ฝรั่งที่สมัยทำงานที่เก่า ถ่ายเสร็จกลับมาขายงานบริษัทหนึ่งซื้องานเราแต่ไม่จ่ายเงินสด เสนอว่าจะจ่ายเป็นเลนส์ที่เขามีอยู่ในตู้ ก็ต้องเอาเพราะดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

“ทำงานประจำอีกครั้งเพราะเห็น นสพ. Bangkok Post รับสมัครช่างภาพ เลยลอง แต่ปัญหาคือต้องเขียนจดหมายสมัครภาษาอังกฤษ ก็เอาข้อความจากคู่มือเขียนจดหมายธุรกิจภาษาอังกฤษ หนังสือสอนเขียนจดหมายให้เมียเช่าฝรั่งมาประยุกต์ ช่วงหนึ่งผมเขียนจดหมายรักถึงฝรั่งคนหนึ่งที่ไปเที่ยวด้วยกัน ไปอยู่อุบลราชธานีเป็นเดือนๆ พอลากันก็ร้องไห้ขี้มูกโป่ง (หัวเราะ) ตอนสมัครเขาก็มองว่าเรามีวุฒิการศึกษาแค่ ม.๓ แต่มีพี่คนหนึ่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการชื่อพี่อ้อย แกชอบดูหมอดู โหงวเฮ้ง แกบอกว่าคนนี้ มีความพยายาม น่าจะให้โอกาส แกมองว่าทำงานกับทีมได้ วุฒิเราน้อยกว่าคนอื่นแต่เรามีผลงาน แกก็รับ แล้วก็เริ่มงานช่วงสงกรานต์ เราต้องไปถ่ายงานเป็นเรื่องๆให้ Sunday Magazine ถ่ายคนและสิ่งของสำหรับขึ้นปก งานแรกผมไปถ่ายชีวิตนักบิน F-16 ที่นครราชสีมา”

“สมัยนั้นผมยังจัดไฟถ่ายภาพในสตูดิโอไม่เป็น จำได้ว่าครั้งแรกใช้แฟลชถ่ายคุณเนวิน ชิดชอบ แกนั่งในห้องกระจกใสตรงริมหน้าต่างพอดี ข้างนอกมีพายุฝน ฟ้าแลบ มีผลกับแฟลชจนแฟลชกะพริบเอง ตอนนั้นไม่รู้ จนต้องลองกดปุ่มต่างๆ โดยรวมๆ คือเราต้องลองผิดลองถูกไป หาหนังสือมาอ่าน คุยกับรุ่นพี่ บางทีผมดูตารางการใช้สตูดิโอที่สำนักงานว่าวันนี้ใครมาถ่าย เขาจะมาเซ็ตไฟรอ ก็แอบไปดูการจัดไฟของเขา ช่วงทำงานประจำผมสมัครทำบัตรเครดิตวางแผนจะได้บริหารเงินได้เมื่อกลับไปทำงานอิสระอีก ผมจำได้ว่ารูดบัตรซื้อหนังสือต่างประเทศเรื่องการถ่ายรูปหมดไปหลายหมื่นบาท ส่วนมากเป็นเทคนิคการถ่ายในสตูดิโอ รู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่ดูภาพแล้วผมเข้าใจ”

รับงานฝรั่ง

photojournalist06

“ผมเริ่มทำงานกับฝรั่งเพราะสำนักงานของ Bangkok Post อยู่ในตึกที่เชื่อมกันกับอีกตึกที่มีสำนักข่าวต่างประเทศมาเปิด เราก็ไปรู้จักเขา เขาก็บอกต่อกันว่าเราถ่ายภาพได้ ตอนลาออกจาก Bangkok Post เลยได้ทำงานฟรีแลนซ์ให้ นสพ. South China Morning Post, นสพ. The Australian ช่วงนั้นมีนักเขียนต่างชาติไปมาระหว่างประเทศต่างๆใน Southeast Asia บางทีเราเป็นทั้งช่างภาพและล่าม เวลาทำงาน ฝรั่งเขาจริงจัง ตรงเวลา ชวนเล่นนี่ไม่ได้ ผมไม่ต้องปรับตัวมากเพราะเข้าใจกับวัฒนธรรมเขา อีกอย่างตอนเด็กๆ พ่อเป็นคนที่ลงทุนเรื่องให้ลูกได้อ่านหนังสือดีๆ ตอนย้ายบ้านไปอยู่อีสาน หนังสือหลายเล่มที่ขนเอาไปก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศ เช่น การ์ตูนการผจญภัยของตินติน The Adventures of Tintin, การ์ตูนชีวิตนักบินขับไล่ Buck Danny และ Flash Gordon ฯลฯ ภาพในหนังสือพวกนี้เป็นแนวตะวันตก ตอนเป็นกระเป๋ารถเมล์ก็ฟังแต่เพลงฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง”

“ทำงานบางกอกโพสต์สองปีครึ่งเริ่มอิ่มตัว อยากทำงานอิสระ หันมาทำอยู่ ๗ ปี รับถ่ายภาพลงคอลัมน์ ถ่ายโฆษณา หาลูกค้าเอง ได้รู้จักคนเยอะ ผมเอารายได้จากการถ่ายโฆษณามาฝึกถ่ายแนวสารคดี

จนช่วงหนึ่ง national geographic ในไทยจัดประกวดภาพถ่าย ผมได้แรงบันดาลใจจากภาพชาวเล ในนิตยสาร สารคดี กับหนังสืออื่นๆ ก็เลยไปเกาะลันตาตามข้อมูลในนิตยสารคดี ผมเคยเรียนปีนเขา มีอุปกรณ์อยู่บ้าง ก็เลยไปทำเรื่องคนเก็บรังนกที่เกาะพีพีอีกเรื่อง ปรากฏปีนั้นผมส่งสารคดีไปประกวดสองเรื่องได้สองรางวัลจากงานนี้ รางวัลสูงสุดที่ได้รับคือรางวัลชนะเลิศ”

“ผมเอาผลงานไปสมัครทุนเข้า Workshop ถ่ายภาพของของฝรั่งที่จัดขึ้นสองแห่ง เป็นแนว Photojournalist & Documentary ได้รับการแนะนำจากเพื่อนช่างภาพต่างประเทศจนได้ทำงานเป็นช่างภาพประจำในกรุงเทพกับสำนักข่าว EPA (European Pessphoto Agency) ที่มาบุกเบิกก่อตั้งสำนักงานใน Southeast Asia แข่งขันกับ AP, AFP และ Reuters ที่อยู่มานาน ผมเป็นช่างภาพคนแรกของ EPA ที่ทำงานในโซนนี้ ทำอยู่สองปีกว่าได้ประสบการณ์มากก็ลาออกมาเป็นช่างภาพอิสระอีกครั้ง”

การเมืองในภาพถ่าย

photojournalist07

“ย้อนไปช่วงเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี ๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) ผมสนใจการเมืองน้อยมาก ยังทำงานประจำ ตอนนั้นไปถ่ายงานที่โรงแรมแชงกรีลาย่านเจริญกรุง นั่งรถเล่นไปสนามหลวงเพราะงานเสร็จเร็ว พอรู้ว่ามีชุมนุม เลยไปถ่าย จำได้ว่าเดินแหวกผู้คนจากวัดพระแก้วมาจนถึงตึกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เกือบจะไปเหยียบ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เสร่อมาก (หัวเราะ) ยังไปเตะสายไฟจนไฟดับอีกเลยรีบออกมา

“ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมาถึงเริ่มถ่ายมากขึ้น ช่วงนั้นเป็นเรื่องบุคคลเสียมาก เช่น เรื่องของคุณทักษิณ ปีนั้นผมเพิ่งลาออกมาทำงานอิสระ ช่วงนั้นเสื้อเหลืองเคลื่อนไหวเราก็เริ่มสต็อกภาพ ในเหตุการณ์ล้อมปราบปี ๕๓ ผมก็ไปถ่ายจริงจัง โดนกระสุนจริงยิงทะลุขา ยังจำได้ว่ามีคนทำงานสื่อโทร. มาถามว่าโดนยิงหรือ ใครยิง พอบอกว่าทหารยิงก็ไม่พอใจ วางหูไป คนพวกนี้เชียร์คุณอภิสิทธิ์ (นายกฯ ขณะนั้น) พวกเขาไม่เคยมาเห็นชีวิตผู้ชุมนุมจริงๆ ที่แนวปะทะ ฟังแต่ข่าวในทีวีที่รัฐบาลนำเสนอ ตอน กปปส. ชุมนุม ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ผมก็ไป แม้ว่าจะไม่ชอบสิ่งที่เขาแสดงออกบนเวที แต่ผมมองว่าต้องควรมีภาพทั้งสองฝั่ง มันคือภาพรวมของประวัติศาสตร์ เราก็พยายามทำให้ตัวเราปลอดภัย ไม่ทำให้งานของเราล่ม

“ผมถ่ายภาพเหตุการณ์ทางการเมืองเพราะมันดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผมเห็นคุณค่าของภาพแนวนี้เมื่อเวลาผ่านไป มันคือบันทึกเหตุการณ์ ผมเชื่อว่าช่างภาพต้องมีจุดยืนทางการเมือง เราเห็นชัดว่าฝ่ายไหนไม่ยุติธรรม เราต้องรับใช้คนที่คนเสียเปรียบ ภาพยังติดตาเราว่านักหนังสือพิมพ์ยุคเก่าสู้กับเผด็จการ ก็ผิดหวังที่สื่อจำนวนมากในปัจจุบันกลับเป็นไปทางตรงกันข้าม คิดว่าเขาคงเลือกอยู่กับฝ่ายที่เขาจะได้ประโยชน์ ผมอาจไม่ได้มีงานจากคนไทยมากเลยไม่กระทบมาก แต่เห็นอย่างนี้ไม่ได้มีงานเข้ามาเยอะ แค่เราชัดเจนว่ากูไม่ใช่สลิ่ม (หัวเราะ) บางคนทำข่าวต่างประเทศ รู้หมดทุกเรื่องแต่ไม่พูดอะไรเรื่องเมืองไทยเลย แต่ผมมองว่ามันควรจะมีจุดยืน ถ่ายทอดความจริง คุณเข้าถึงข้อมูลที่คนจำนวนไม่รู้ คนได้รับผลกระทบเยอะมาก คุณรู้ปัญหาก็ควรพูด ผมเชื่อว่าถ้าสังคมไทยเปลี่ยนแปลง ช่างภาพจะแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น”

ชีวิตช่างภาพม็อบ

photojournalist08

“การเตรียมตัวไปถ่ายภาพม็อบขึ้นกับสถานการณ์ ช่วงปี ๒๕๖๓ ประชาชนมาแสดงพลัง เป็นการชุมนุมปรกติ แต่ไม่นานพอเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปราบมันก็เหมือนกับสงคราม เราเคยเผชิญกับเวลาแบบนั้นก็ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเขาใช้กระสุนจริงผมคิดว่าคนถ่ายไม่จำเป็นต้องได้ภาพทุกช็อต ทำเท่าที่ทำได้ อย่าคิดเด็ดขาดว่าไม่มีวันถูกยิง ผมเคยคิดมาแล้วและโดนยิง ผมจะพยายามประเมินว่าควรรอไหม ผมอาจจะต่างกับช่างภาพสำนักข่าวที่เขาจะมีทีมทำงาน เราต้องวางแผนมากกว่า มีสัญชาตญาณในการป้องกันตัวเอง ผมชอบอ่านหนังสือ ซุนวู นี่ชอบมาก มันทำให้เราต้องเตรียมตัว เช่น สำรวจพื้นที่ที่จะถ่ายภาพม็อบล่วงหน้า ยังไงทำแบบนี้ก็จะได้เปรียบมากกว่า แล้วยิ่งถ้ารู้เบื้องลึก เบื้องหลังของสถานการณ์ตรงหน้า มันจะทำให้เราเข้าใจและถ่ายภาพได้ดีขึ้น เพราะเหตุการณ์หลายเหตุการณ์มันเกี่ยวเนื่องกัน

“ผมรอดชีวิตมาจนวันนี้เพราะต้องหาหนังสืออ่าน ลงทุนเยอะมาก เรียนภาษาอังกฤษได้ก็เพราะหนังสือ ช่างภาพควรดูภาพคนอื่นให้เยอะ สมัยผมดูงานจากช่างภาพต่างประเทศไม่สะดวกเท่าสมัยนี้ ต้องไปเปิดดูหนังสือในร้านหนังสือ ต่อมามีให้เห็นบ้างในยุคเริ่มมีเว็บไซต์ สมัยนี้ง่ายเพราะดูผ่านโซเชียลมีเดียได้ มีเยอะ ยิ่งเวลาเราออกไปทำงานถ่ายภาพในเหตุการณ์ ในสถานที่เดียวกัน เราสามารถเรียนรู้ว่าคนอื่นเขามอง เขาเห็น เขาถ่ายกันอย่างไร เราจะเห็นการนำเสนอ (Visual) ของคนอื่น เรื่องการอินกับงานผมไม่แน่ใจว่าจะแนะนำได้แค่ไหน แล้วแต่คนจะคิดเพราะบางคนมาถ่ายรูปเพราะแค่เป็นการทำงาน แค่อาชีพเท่านั้น แต่สำหรับผมคือการเรียนรู้และใช้ชีวิต นิยามการถ่ายภาพของผมตอนนี้คือ การถ่ายภาพคือการใช้ชีวิต”

“แนวภาพและเนื้อหาที่ผมทำอยู่ คนไทยจะนิยม สนใจ หรือนำเสนอได้แค่ไหน ผมคิดว่าไม่เป็นไร ผมไม่สนใจอะไรมาก ทำไปเรื่อย เรามองเห็นคุณค่างานมันเพิ่มขึ้น แต่ก็รู้สึกดีเพราะในต่างประเทศเขาให้เกียรติเรามาก เช่น เกาหลีใต้ เขาชวนผมไปแสดงงาน ก็ให้ค่าแสดงงาน สัมภาษณ์เราออกทีวี พอมาคิดว่าจะแสดงภาพในหอศิลป์เมืองไทย มันไม่มีพื้นที่แบบนี้”