วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๔๙ มีพิธีขึ้นตำหนักใหม่ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทุนทรัพย์ค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน ๗๐๐ ชั่ง (๕๖,๐๐๐ บาท)

“ราชกิจจานุเบกษา” รายงานข่าวว่ามีพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเสด็จไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ในงานนี้ ทางเจ้าของวังแจกมีดพับเล็กๆ สำหรับเหลาดินสอเป็นของชำร่วย (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

wat benja adj

“…ฝ่ายในมีสมเด็จพระบรมราชินีนารถ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี เปนต้น ฝ่ายหน้ามีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ เปนต้น พระเจ้าลูกยาเธอได้ถวายมีดพับสำหรับเหลาดินสอมีอักษรจารึก และทรงแจกแก่พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการ ทั้งบรรดาที่ได้ไปในงานนี้เปนอันมาก…”

วังของกรมหมื่นชุมพรฯ สร้างขึ้นในปริมณฑลแห่ง “พระราชวังดุสิต” (สวนดุสิตเดิม) เช่นเดียวกับวังร่วมยุคที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่พระราชโอรส มีตั้งแต่วังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านสามเสน เช่น “วังบางขุนพรหม” ของ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” จนถึงกลุ่มวังที่สร้างเรียงรายตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น วังของกรมหมื่นราชบุรีฯ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) วังของกรมหมื่นปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) และ “วังนางเลิ้ง” ของกรมหมื่นชุมพรฯ

หลังจากงานขึ้นตำหนักใหม่ไม่กี่วัน ปลายเดือนมีนาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เริ่มต้นการเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ หลังจากที่เคยเสด็จประพาสแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ ๑๐ ปีก่อนหน้า ในการนี้ มีเรือพระที่นั่ง”มหาจักรี” เป็นราชพาหนะจากกรุงเทพฯ จนถึงเกาะสิงคโปร์ จากนั้นทรงเปลี่ยนประทับเรือโดยสาร (ยุคนั้นเรียกว่า “เรือเมล”) สัญชาติเยอรมัน ชื่อ “สักเสน” (SS Sachsen ของบริษัท Norddeutscher Lloyd บางแห่งถอดตัวสะกดเป็น แซกซัน)เสด็จยังทวีปยุโรป

เรือพระที่นั่ง “มหาจักรี” อยู่ในบังคับบัญชาของกรมทหารเรือ ดังนั้นจึงมีทั้งเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมทหารเรือไปส่งเสด็จพระราชดำเนินที่สิงคโปร์ พร้อมกับทหารประจำเรือ นำโดยนายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายเรือเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (๒๔๒๖-๒๔๙๐ ต่อมาคือกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) และนายพลเรือจัตวา พระยาราชวังสรรค์ (ฉ่าง แสง-ชูโต)

ส่วนองค์ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต โดยเสด็จในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งนี้ด้วย จึงมีประกาศแจ้งความกรมทหารเรือว่า ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ “ทำการแทนในหน้าที่ผู้บัญชาการทหารเรือ กว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ”

เรื่องที่น่าจะเล่าเสริมไว้ตรงนี้คือ ว่าที่นายเรือตรี ศรี (ศรี กมลนาวิน) ผู้สอบผ่านหลักสูตรนักเรียนนายเรือแบบใหม่ของกรมหมื่นชุมพรฯ เป็นลำดับที่ ๑ ได้เป็นนายทหารเรือไทยคนแรกที่เข้าประจำหน้าที่บนสะพานเดินเรือของเรือพระที่นั่ง “มหาจักรี” อีกทั้งระหว่างทางขาล่องลงไปสิงคโปร์ ว่าที่นายเรือตรีศรี ยังสามารถเอาชนะนายทหารเรือต่างชาติในการแข่งขันวัดแดด (ใช้เครื่องมือวัดมุมคำนวณหาละติจูดหรือเส้นรุ้ง เพื่อระบุตำแหน่งเรือ) ได้รวดเร็วและแม่นยำที่สุด เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่นายเรือตรีศรี พร้อมด้วยว่านักเรียนนายเรือ ห้อง (ห้อง หังสนาวิน ภายหลังได้เป็น นาวาเอก พระยากำแหงรณฤทธิ์) โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทวีปยุโรปคราวนี้ด้วย เป็นกรณีพิเศษ

มีนาคม ๒๔๔๙ หรือสี่เดือนหลังการเสด็จฯ ทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรือ ศรี (ศรี กมลนาวิน, ๒๔๒๙-๒๔๘๒ ต่อมาเป็นพระยาราชวังสัน) ประเดิมสอบไล่ได้ตามหลักสูตรใหม่ของเสด็จในกรมฯ เป็นคนแรก


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ