เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

คุณค่าและความสำคัญของการแบ่งกลุ่มลุ่มน้ำไทย
ป่าชายเลนริมแม่น้ำบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับอิทธิพลจากระบบนิเวศสามน้ำ คือมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็มสลับกัน อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับการบริการจัดการน้ำและวิถีชีวิตของประชาชน กำหนดให้ประเทศไทยมี ๒๒ ลุ่มน้ำหลัก ๓๕๓ ลุ่มน้ำสาขา และมีหมู่เกาะต่างๆ ของแต่ละลุ่มน้ำหลักอีกจำนวน ๖ หมู่เกาะ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการแบ่งกลุ่มพื้นที่ “ลุ่มน้ำ” (river basins) ของประเทศไทยครั้งสำคัญ ภายหลังจากกำหนดให้พื้นที่ทั่วประเทศไทยประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ถูกแบ่งออกเป็น ๒๕ ลุ่มน้ำหลัก ๒๕๔ ลุ่มน้ำสาขา มายาวนานร่วมสามทศวรรษ

รายชื่อทั้ง ๒๒ ลุ่มน้ำหลัก จำแนกตามภาค และหน่วยงานรับผิดชอบ คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค ๑-๔ ดังต่อไปนี้

[ ภาคเหนือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค ๑ ที่ทำการตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ] : ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน

[ ภาคกลาง – ภาคตะวันออก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค ๒ ที่ทำการตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ] : ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

[ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค ๓ ที่ทำการตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น] : ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล

[ ภาคใต้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค ๔ ที่ทำการตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ] : ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

lumnamthai02
แผนที่แสดงขอบเขต ๒๒ ลุ่มน้ำหลักในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ (ภาพ : เอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔)

การแบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยได้รับการพัฒนาองค์ความรู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ อาศัยคุณภาพของแผนที่ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในยุคนั้น

ถึงช่วงปี ๒๕๓๑-๒๕๓๖ คณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติได้จัดทำมาตรฐานพื้นที่ลุ่มน้ำขึ้นเป็นครั้งแรก จัดแบ่งเป็น ๒๕ ลุ่มน้ำหลัก ๒๕๔ ลุ่มน้ำสาขา รายชื่อลุ่มน้ำหลักในเวลานั้นประกอบด้วย

(๑) ลุ่มน้ำสาละวิน (๒) ลุ่มน้ำโขง (๓) ลุ่มน้ำกก (๔) ลุ่มน้ำชี (๕) ลุ่มน้ำมูล (๖) ลุ่มน้ำปิง (๗) ลุ่มน้ำวัง (๘) ลุ่มน้ำยม (๙) ลุ่มน้ำน่าน (๑๐) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (๑๑) ลุ่มน้ำสะแกกรัง (๑๒) ลุ่มน้ำป่าสัก (๑๓) ลุ่มน้ำท่าจีน (๑๔) ลุ่มน้ำแม่กลอง (๑๕) ลุ่มน้ำปราจีนบุรี (๑๖) ลุ่มน้ำบางปะกง (๑๗) ลุ่มน้ำโตนเลสาบ (๑๘) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก (๑๙) ลุ่มน้ำเพชรบุรี (๒๐) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก (๒๑) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก (๒๒) ลุ่มน้ำตาปี (๒๓) ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒๔) ลุ่มน้ำปัตตานี และ (๒๕) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

lumnamthai03
การแบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยได้รับการพัฒนาองค์ความรู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ จากภาพแผนที่แสดงขอบเขต ๒๕ ลุ่มน้ำหลักในประเทศไทย (เดิม) ตามประกาศของคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ เมื่อราวปี ๒๕๓๑ (ภาพ : เอกสาร โครงการทบทวนและตรวจสอบพื้นที่รับน้ำฝน ๒๕ ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาของประเทศไทย)

จาก ๒๕ ลุ่มน้ำในอดีต สู่ ๒๒ ลุ่มน้ำในปัจจุบัน รายชื่อลุ่มน้ำเดิมที่เคยมีแต่หายไป ได้แก่ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก บ้างถูกผนวกรวมเข้ากับลุ่มน้ำใกล้เคียง บ้างถูกเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ หรือไม่ก็เกิดจากการแบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่

ยกตัวอย่าง ลุ่มน้ำโขง กับ ลุ่มน้ำกก รวมกันเป็น ลุ่มน้ำโขงเหนือ โดยมี ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ แยกออกต่างหาก

ลุ่มน้ำปราจีนบุรี กับ ลุ่มน้ำบางปะกง รวมกันเป็น ลุ่มน้ำบางปะกง

ลุ่มน้ำเพชรบุรี กับ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก กลายเป็น ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก แยกออกเป็น ๓ ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง

ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก (บางส่วน) รวมกับ ลุ่มน้ำตาปี กลายเป็น ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน

ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก (บางส่วน) รวมกับ ลุ่มน้ำปัตตานี เรียกใหม่ว่า ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง

อนึ่ง การปรับหรือยุบรวมลุ่มน้ำบางลุ่มเข้าด้วยกันทำให้เกิดการคำถามชวนสงสัย อาทิ ลุ่มน้ำกก มีแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำหลัก ไหลผ่านจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ชื่อ “ลุ่มน้ำกก” น่าจะสอดคล้องกับลักษณะลุ่มน้ำดีแล้ว แต่จากการกำหนดลุ่มน้ำใหม่ ชื่อลุ่มน้ำกกได้หายไป

สาเหตุที่มีการกำหนดลุ่มน้ำใหม่ สืบเนื่องจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวัดปริมาณน้ำท่า น้ำท่วม รวมถึงค่าพื้นที่รองรับน้ำฝนของแต่ละลุ่มน้ำได้ไม่เท่ากัน เนื่องจากมีการใช้แผนที่ต่างมาตราส่วน ใช้เครื่องมือวัดต่างชนิด เมื่อปี ๒๕๔๖ จึงมีการตรวจสอบ เพื่อทบทวน และแก้ไข

เอกสาร โครงการทบทวนและตรวจสอบพื้นที่รับน้ำฝน ๒๕ ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาของประเทศไทย ของส่วนอุทกวิทยา สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ ให้รายละเอียดว่า ในอดีตการวัดลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาใช้เครื่องมือวัดที่มีความคลาดเคลื่อนง่าย เช่น เครื่องมือวัดแบบล้อ ต่อมาได้ใช้เครื่องวัดแบบ PLANIMETER และพัฒนามาเป็นแบบ DIGITAL PLANIMETER แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ ประกอบกับการวัดพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขา ใช้แผนที่มาตรส่วนต่างๆ กัน เช่น มาตราส่วน ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ จึงทำให้ขนาดพื้นที่ไม่เท่ากัน

ต่อมามีการปรับมาใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดสูงขึ้น รวมถึงใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ของกรมแผนที่ทหาร ให้ความละเอียดของภูมิประเทศมากที่สุดในช่วงเวลานั้น

หลังยึดจำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำหลัก ๒๕๔ ลุ่มน้ำสาขามายาวนาน ยังพบข้อสังเกตว่าลุ่มน้ำหลักบางลุ่มมีพื้นที่ขนาดเล็ก บางลุ่มน้ำมีความสัมพันธ์เชิงอุทกวิทยาและการบริหารจัดการน้ำคาบเกี่ยวกับลุ่มน้ำอื่น ไม่สอดคล้องกับปัจจัยทางกายภาพ การไหลของน้ำ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นเอกเทศ

ในปี ๒๕๕๐ สำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ จึงศึกษาและทบทวนการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ อาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศรวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมากขึ้น

lumnamthai04
ภาพแสดงการแบ่งขอบเขตลุ่มน้ำใหม่จากเดิมประเทศไทยมี ๒๕ ลุ่มน้ำหลัก ๒๕๔ ลุ่มน้ำสาขา มาสู่ ๒๒ ลุ่มน้ำหลัก ๒๕๓ ลุ่มน้ำสาขา (ภาพ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)

ในปี ๒๕๖๑ มีการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๑

มาตรา ๒๕ ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีการกำหนดลุ่มน้ำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภููมิศาสตร์ ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมือง ผังน้ำ และเขตการปกครอง”

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงศึกษาทบทวนเรื่องการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำให้มีเหมาะสมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ จากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ และเพื่อให้การแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำมีความเท่าทันต่อสถานการณ์ อาศัยข้อมูลจากแผนที่เส้นชั้นความสูง ๑ : ๔๐๐๐ WGS ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งนำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแบบ ๓ มิติของ Google Earth มาประกอบการพิจารณา

การแบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่จึงเกิดขึ้น โดยถือเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๒๕ ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.๒๕๖๑ ข้างต้น

lumnamthai05
เกาะเหลา อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นเกาะนอกชายฝั่ง ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หลักเกณฑ์ที่ใช้แบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำเบื้องต้น คือ พื้นที่ลุ่มน้ำไม่ควรอยู่ต่างพื้นที่กันหรืออยู่ต่างภูมิภาค ถ้าพื้นที่ลุ่มน้ำแยกกันอย่างชัดเจนควรรวมกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียงหรือแยกออกเป็นเอกเทศ ขณะเดียวกันหากพบว่ามีการใช้น้ำหรือบริหารจัดการน้ำร่วมกันและมีพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ใหญ่นักควรรวมกลุ่มลุ่มน้ำเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเป็นเนื้อเดียว

ทั้งนี้ การแบ่งลุ่มน้ำครั้งล่าสุดในปี ๒๕๖๔ ยึดแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ ที่มีรายละเอียดสูง และยึดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่

  • สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ พิจารณาจากความสูงต่ำซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ
  • หากลักษณะการไหลของน้ำในบางพื้นที่มีความไม่แน่นอน ถ้าเส้นแบ่งลุ่มน้ำอยู่ใกล้กับเส้นแบ่งเขตการปกครองระดับจังหวัด อาจใช้เส้นแบ่งเขตการปกครองระดับจังหวัดเป็นเส้นแบ่งลุ่มน้ำ
  • ใช้ผลจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เคยจัดใน ๘ พื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน ๒๐ ครั้งมาประกอบการพิจารณา
  • คำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกันในแต่ละพื้นที่
  • พิจารณาจุดออกของลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลหรือไหลออกจากประเทศไทยผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ตารางเปรียบเทียบรายชื่อ ๒๕ ลุ่มน้ำเดิมตามคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ในปี ๒๕๓๖ และ ๒๒ ลุ่มน้ำ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ ตัวเลขในวงเล็บคือรหัสลุ่มน้ำ

๒๕ ลุ่มน้ำเดิมตามคณะกรรมการอทกวิทยาแห่งชาติ ปี ๒๕๓๖๒๒ ลุ่มน้ำ ตามพระราชกฤษฎีากำหนดลุ่มน้ำ ..๒๕๖๔
(๑) ลุ่มน้ำสาละวิน
(๒) ลุ่มน้ำโขง
(๓) ลุ่มน้ำกก
(๔) ลุ่มน้ำชี (๕) ลุ่มน้ำมูล
(๖) ลุ่มน้ำปิง
(๗) ลุ่มน้ำวัง
(๘) ลุ่มน้ำยม
(๙) ลุ่มน้ำน่าน
(๑๐) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
(๑๑) ลุ่มน้ำสะแกกรัง
(๑๒) ลุ่มน้ำป่าสัก
(๑๓) ลุ่มน้ำท่าจีน
(๑๔) ลุ่มน้ำแม่กลอง
(๑๕) ลุ่มน้ำปราจีนบุรี
(๑๖) ลุ่มน้ำบางปะกง
(๑๗) ลุ่มน้ำโตนเลสาบ
(๑๘) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
(๑๙) ลุ่มน้ำเพชรบุรี
(๒๐) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก
(๒๑) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก
(๒๒) ลุ่มน้ำตาปี (๒๓) ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒๔) ลุ่มน้ำปัตตานี (๒๕) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
(๑) ลุ่มน้ำสาละวิน
(๒) ลุ่มน้ำโขงเหนือ
(๓) ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ
(๔) ลุ่มน้ำชี (๕) ลุ่มน้ำมูล
(๖) ลุ่มน้ำปิง
(๗) ลุ่มน้ำวัง
(๘) ลุ่มน้ำยม
(๙) ลุ่มน้ำน่าน
(๑๐) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
(๑๑) ลุ่มน้ำสะแกกรัง
(๑๒) ลุ่มน้ำป่าสัก
(๑๓) ลุ่มน้ำท่าจีน
(๑๔) ลุ่มน้ำแม่กลอง
(๑๕) ลุ่มน้ำบางปะกง
(๑๖) ลุ่มน้ำโตนเลสาบ
(๑๗) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
(๑๘) ลุ่มน้ำเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์
(๑๙) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน
(๒๐) ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
(๒๑) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง
(๒๒) ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
lumnamthai06
พื้นที่ทางการเกษตรในหมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่ากะเหรี่ยง หลักเกณฑ์สำคัญข้อหนึ่งในการแบ่งลุ่มน้ำคือการคำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

นอกจากเอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ จะอธิบายความสำคัญของการแบ่งกลุ่มลุ่มน้ำ หลักการในการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำ จำนวนลุ่มน้ำสาขาในลุ่มน้ำหลัก จังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ความยาวของลำน้ำโดยประมาณ ขนาดพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำต่างๆ ตลอดจนถึงขนาดพื้นที่ชลประทาน พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ฯลฯ

ยกตัวอย่าง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำเล็กๆ ในภาคตะวันออกมีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำ ๔๑๔๘.๑๒ ตารางกิโลเมตร จำนวนลุ่มน้ำสาขา ๓ ลุ่มน้ำสาขา จังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ๓ จังหวัด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี ๑,๗๔๘.๗๐ มิลลิเมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ๙๒ โครงการ ทรัพยากรป่าไม้ ๑,๑๒๓.๑๑ ตารางกิโลเมตร ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A ๑๖๑.๓๙ ตารางกิโลเมตร 1B ๕.๘๖ ตารางกิโลเมตร พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ๓,๔๙๖.๑๖ ตารางกิโลเมตร พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๔,๑๑๓.๗๗ ตารางกิโลเมตร เป็นต้น

lumnamthai07
ลุ่มน้ำสาละวินมี ๓ จังหวัดในเขตลุ่มน้ำ คือ เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน มีประชากร ๖๙๖,๒๗๗ คน พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๑๘,๘๐๓.๓๙ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันรัฐบาลโดยกรมชลประทานกำลังผลักดันโครงการผันน้ำ จากลุ่มน้ำแห่งนี้ไปยังลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร (ภาพ : เอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔)
lumnamthai08
ลุ่มน้ำมูลในภาคอีสานเป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่เกือบทั้งลุ่มน้ำเป็นทั้งพื้นที่เสี่ยงอุทักภัยและเสี่ยงภัยแล้ง ตามแต่ฤดูกาล ปัจจุบันรัฐบาลโดยกรมชลประทานกำลังผลักดันโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเพิ่มน้ำให้กับลุ่มน้ำแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำในแต่ละปี (ภาพ : เอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔)

หลายเดือนที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ด้านการบริการจัดการน้ำที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือ“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล”หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ “ผันน้ำยวม”มูลค่าประมาณ ๗๑,๐๐๐ ล้านบาท โครงการนี้ตั้งอยู่ในเขตป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด แม่ฮ่องสอน-ตาก-เชียงใหม่ และตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างน้อย ๕ แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม-ป่าแม่ตื่น รวมถึงพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติอีก ๑ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา

การ “ผันน้ำ” ตาม “แนวส่งน้ำ” หรือ “อุโมงค์ใต้ดิน” ระยะทางประมาณ ๖๑.๕๒ กิโลเมตร จากแม่น้ำยวมในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก จากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำปิง (ตอนล่าง) เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แนวคิดในการผันน้ำเกิดจากหน่วยงานรัฐเห็นว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ในช่วงที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ปริมาณการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ปัญหาน้ำขาดแคลนมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น จึงเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปีเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุของเขื่อน จึงเกิดความคิดว่าน่าจะผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งตามปรกติแล้วไหลลงสู่แม่น้ำเมย และไหลลงแม่น้ำสาละวิน ออกนอกประเทศเข้าไปในประเทศพม่า มาเก็บไว้ใช้เองในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

อย่างไรก็ตาม นอกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่างก็ประสบปัญหาในลุ่มน้ำของตัวเองในรูปแบบแตกต่างกัน

เอกสาร ๒๒ ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีประชากรอาศัยอยู่ ๖,๑๒๙,๙๘๐ คน มีเกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ๓๑๙,๑๒๓ ครัวเรือน มีจังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ๑๙ จังหวัด และมีสภาพปัญหา คือ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๑๙,๓๘๐.๘๙ตารางกิโลเมตร

ขณะที่ลุ่มน้ำสาละวินมีประชากร ๖๙๖,๒๗๗ คน มีเกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ๗๑,๕๘๓ ครัวเรือน มีจังหวัดในเขตลุ่มน้ำ ๓ จังหวัด และมีสภาพปัญหา คือ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ๑๘,๘๐๓.๓๙ ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องผันน้ำ จากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำปิง (ตอนล่าง) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังก่อให้เกิดคำถามและข้อห่วงกังวลเรื่องเส้นทางอพยพของปลาท้องถิ่นในแหล่งน้ำ การปนเปื้อนของชนิดพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวในลุ่มน้ำสาละวิน อาจทำให้เกิดการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ (Alien Species)

ด้วยเหตุนี้ การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก จากลุ่มน้ำหนึ่งสู่ลุ่มน้ำหนึ่งจึงต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เบื้องต้นแล้วการบริการจัดการน้ำควรจัดการภายในลุ่มน้ำนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีผันน้ำข้ามลุ่มอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาแบบงูกินหาง ผิดที่ผิดทาง ผิดฝาผิดตัว อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตในลุ่มน้ำอื่น

๑๐

หนึ่งในโครงการผันน้ำที่ถูกพูดถึงมายาวนานหลายทศวรรษ คือ โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หรืออีสานตอนบน กับประเทศลาว มายังพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง รู้จักกันในนามโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล มูลค่านับแสนล้านบาท

โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เกิดจากการอ้างเหตุผลว่าภาคอีสานแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ จึงต้องผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมลงเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านทางอุโมงค์และคลองผันน้ำ ตามแนวเส้นทางหลักคือแม่น้ำเลย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล อย่างไรก็ตามหากติดตามสถานการณ์น้ำในภาคอีสานอย่างใกล้ชิดจะพบว่าพื้นที่ที่ติดภาพลักษณ์ของความแห้งแล้งกันดารแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ยิ่งสองสามปีหลังนี้เกิดน้ำท่วมหนักแบบผิดธรรมชาติ สันนิษฐานว่าเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด การปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ การพังทลายของพนังกั้นน้ำ

หากการผันน้ำจากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มาลงลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ในภาคอีสาน เกิดขึ้นจริง การแก้ไขปัญหาน้ำแล้งอาจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด การออกแบบให้มีการผันน้ำช่วงหน้าฝน อาจยิ่งทำให้เกิดอุทกภัยในภาคอีสาน น้ำปริมาณมหาศาลที่ถูกผันมาจากลุ่มน้ำอื่นอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ด้วยสภาพดินของอีสานที่เป็นดินเค็ม ลึกลงใต้พื้นดินเต็มไปด้วยเกลือ ตามธรรมชาติแล้วเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ดินจะได้พักตัว โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก หรือแม้แต่การขุดลอกหนองน้ำ ลำห้วย บึง ที่ไม่ได้ผ่านการศึกษามากพออาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม

การเดินหน้าสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ใกล้ปากแม่น้ำเลย จังหวัดเลย ติดกับแม่น้ำโขง อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการผันน้ำยังทำให้ชาวนากลุ่มชาติพันธุ์ไทพวนสูญเสียที่ดิน และส่งผลกระทบระบบนิเวศของแม่น้ำเลย