ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

ผังเมืองโลก ผังเมืองประชาชน ๘ พฤศจิกายน World Town Planning Day

เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ RESILIENT & RECOVERY CITIES : ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด-๑๙ สืบเนื่องจาก วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day) ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน ของทุกปี

ปัจจุบันเมืองเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินของคนจำนวนมาก จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองของไทยเพิ่มขึ้นจาก ๒๓.๑ ล้านคนในปี ๒๕๕๓ (ประเทศไทยมีประชากร ๖๗.๓ ล้านคน) เป็น ๓๐.๖ ล้านคนในปี ๒๕๖๔ (ประเทศไทยมีประชากร ๖๘.๒ ล้านคน) ขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองลดลงจาก ๔๔.๒ ล้านคน เหลือ ๓๗.๕ ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตัวเลขสถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจจากงานสัมมนาออนไลน์ อาทิ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ที่ ๗ ตารางเมตร/คน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าควรมี ๙ ตารางเมตร/คน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีพื้นที่ สีเขียวต่อประชากรสูงถึง ๖๖ ตารางเมตร/คน

ล่าสุด World Development Indicators ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดคิดเป็นจำนวนร้อยละ ๒๓ ของประชากรในเขตเมือง

worldtown01
ตัวอย่างแผงผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งออกเป็มสีชมพู-ที่ดินชุมชน สีม่วง-ที่ดินอุตสาหกรรมและคลังสินค้า สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีเทา-ที่เดินสงวนไว้เพื่อรักษาป่าชายเลน เป็นต้น

การอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของชีวิต ปัจจุบันมีการให้นิยามความหมายของคำว่าแออัดว่าหมายถึงความหนาแน่นของบ้านเรือนอย่างน้อย ๑๕ หลังคาเรือนต่อพื้นที่ ๑ ไร่

ในงานสัมมนาออนไลน์เนื่องในวันผังเมืองโลกของกรมโยธาธิการและผังเมือง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาว่าการออกแบบเมืองต้องสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต และช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“การออกแบบและขับเคลื่อนงานด้านผังเมือง ต้องมีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ปลอดภัย และมีความสุข ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองให้ต่างไปจากเดิม เมืองซึ่งเคยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางความเจริญ ทั้งทางด้านกายภาพ การตั้งถิ่นฐาน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นที่รวมของประชากรจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การจ้างงาน เป็นศูนย์รวมของระบบการคมนาคมขนส่งที่เป็นโครงสร้างหลักในการเคลื่อนย้ายผู้คนในเมือง โดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะรูปแบบต่างๆ ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการจำนวนมาก มีความแออัด เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร และอื่นๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal”

worldtown02
โปสเตอร์งานเสวนา Resilient & Recovery Cities ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด 19 จัดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

วันเดียวกัน ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre) เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม (Civil Society Planning Network) เครือข่ายร่วมสร้างสรรค์ชุมชนและเมือง (City Act Network) ฯลฯ ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ “วันผังเมืองโลก วันผังเมืองประชาชน” เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของผังเมืองต่อการดำรงอยู่ของชุมชน ในมุมมองของนักวิชาการด้านผังเมือง นักกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเปิดให้มีการอภิปรายหัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนกับผังเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ที่ใช้ผังเมืองในการปกป้องชุมชน

ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ความเห็นว่า การประกาศใช้ผังเมืองเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดทำผังเมืองหรือแก้ไขผังเมืองจึงจำเป็นต้องเป็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมา การประกาศใช้ผังเมืองเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน น้อยมากที่หน่วยงานรัฐจะรับเอาความคิดเห็นของประชาชนไปปรับใช้ในผังเมือง

ส.รัตนมณี อธิบายว่าที่ผ่านมารัฐมักจะกำหนดนโยบายก่อน แล้วดำเนินการจัดทำผังเมืองหรือเปลี่ยนผังเมืองให้ตอบสนองนโยบาย เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยไม่ว่าในเมืองหรือชนบท

วิจิตรา ชูสกุล เครือข่ายสภาพลเมืองสุรินทร์ กล่าวถึงการแก้ไขผังเมืองรวมเมืองสุรินทร์ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ซึ่งทางเครือข่ายเห็นว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนต้องยื่นหนังสือขอสงวนสิทธิ์ต่อสำนักงานนโยบายและผังเมืองสุรินทร์เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ทั้งนี้ พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสุดกำหนดผังเมืองเอื้อให้เกิดบ่อขยะ เหมือง รวมถึงกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่เกษตร วิจิตรา ชูสกุล กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผังเมืองคือขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่จะมีการปรับปรุงผังเมือง เป็นโจทย์สำคัญมากๆ ว่าจะทำยังไง ผังเมืองพยายามจะที่ให้มีธรรมนูญผังเมืองใช่มั๊ย แต่อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าธรรมนูญนั้นประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย”

กรณีปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับการพูดถึงในเวทีเสวนา อาทิ

พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดิมกำหนดให้ผังเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว แต่นโยบายรัฐส่วนกลางต้องการผลักดันนิคมอุตสาหกรรม จึงผลักดันให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง

พื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นพื้นที่สีฟ้า ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีขาวคาดเขียวเพื่อทำโรงงาน ทั้งๆ ที่เดิมเป็นพื้นที่ทำการประมง ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในชุมชน

ประเสริฐ คงสงค์ ชมรมผู้ลี้ยงกุ้งกุลาดำและสิทธิมนุษยชนลุ่มน้ำปากพนัง กล่าวในงานเสวนาว่า “กระบวนการมีส่วนร่วมในอำเภอหัวไทร ไม่มีเลย เขานึกจะเปลี่ยน (สีผังเมือง) เขาก็เปลี่ยน เขาก็ไปเขียน ความจริงการทำโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชน เขาต้องให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึงก่อน ที่สำคัญที่สุดคือที่รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องให้ความรู้อย่างทั่วถึง เขาว่าทั่วถึงคือทุกตำบล ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ที่จะมีการเปลี่นนแปลง ของหัวไทรไม่มีเลยครับ”

พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผังเมืองเดิมกำหนดห้ามไม่ให้มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่กลับมีการอนุมัติใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมก่อนประกาศใช้ผังเมือง ๗ วัน ปัจจุบันกิจการโรงงานส่งผลกระทบต่อประชาชน

สมพล จีรพรชัย ตัวแทนจากสมาคมพลเมืองนครนายก กล่าวว่า “เราร้องว่าโรงงานที่อยู่ใกล้บ้านทำผิดผังเมืองมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ในปี ๒๕๖๔ ก็ชัดเจน ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองแจ้งมาแล้วว่าโรงงานนี้ทำผิด ไม่สามารถทำได้ แต่กรมโรงงานกลับบอกว่า เขาทำได้เพราะมันถูกกฎหมายของกรมโรงงาน ทำให้ผมมองว่ากฎหมายของผังเมืองนี่มันไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่ตัดสินแล้วว่าผิดผังเมือง สั่งให้ท้องถิ่นไปจัดการ ท้องถิ่นก็โยนกลับไปให้ผังเมืองอีก ผังเมืองจังหวัดก็บอกว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการใหม่ มันทำให้เห็นว่า คนที่ทำผิดแล้ว ผังเมืองก็ยังไม่ได้ให้แก้ไข กว่าจะมีผังเมืองก็ผ่านปัญหามาเยอะ ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งๆ ที่ทำผิดกฎหมาย อยากชี้ให้เห็นว่าทำผิดผังเมืองชัดเจนแต่ไม่สามารถดำเนินการเขาได้เลย”

รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะของการกำหนดโครงการมาโดยไม่สอดคล้องกับผังเมือง แม้มีเสียงคัดค้าน แต่ภาครัฐชี้แจงว่าเป็นนโยบายที่จะต้องเดินหน้า

worldtown03 1

โปสเตอร์งานเสวนาวันผังเมืองโลก วันผังเมืองประชาชน จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม

ช่วงท้ายของการเสวนามีการอ่านแถลงการณ์ภาคประชาชนและชุมชนเนื่องในวันผังเมืองโลก สาระสำคัญคือการชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ผังเมืองถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการผลักดันนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ปกป้องคุ้มครองประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนความคิดริเริ่มของชุมชนและเครือข่ายในการจัดทำ “ผังภูมินิเวศ” ที่นำไปสู่ความยั่งยืน เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อน วิกฤตสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เรียกร้องให้กระบวนการจัดทำผังเมืองต้องครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมาย การกำหนดพื้นที่สงวน อนุรักษ์ และพัฒนา ต้องให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนดและตัดสินใจ

เมื่อมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาพิเศษทางอุตสาหกรรม ก็ควรกำหนดพื้นที่พัฒนาพิเศษทางภาคการเกษตร และพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารที่มีความสำคัญต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและการดำรงอยู่ของชุมชน

ก่อนแก้ขาหรือปรับเปลี่ยนผังเมือง จะต้องประเมินผลผังเมืองด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม ประเมินอย่างรอบด้าน เพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้อง สนับสนุนให้เกิดการทำ “ธรรมนูญชุมชน” ที่มีหมวดว่าด้วยผังเมือง นำไปสู่การออก “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ

สุดท้าย เครือข่ายภาคประชาสังคมตระหนักถึงความสำคัญของ “ผังเมือง” และเรียกร้องว่าผังเมืองต้องเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุน สนับสนุน และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐที่นำมาทิ่มตำประชาชนดังที่ปรากฏให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่

ขอขอบคุณ

  • งานสัมมนาออนไลน์ในวันผังเมืองโลก (World Town Planning Day) ๘ พฤศจิกายน ของทุกปี
  • RESILIENT & RECOVERY CITIES : ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด-๑๙ เข้าถึงทางเว็บไซต์ https://www.worldtownplanningday.com
  • เสวนาออนไลน์ “วันผังเมืองโลก วันผังเมืองประชาชน” เข้าถึงทางเว็บไซต์ https://www.facebook.com/thaisej/videos/2091797347645173