แลไปรอบบ้าน  บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ์

กว่า mRNA จะถึงเมืองไทย

“ฉึก”

เสียงเข็มฉีดยา ปักลงบนกล้ามเนื้อแขนซ้ายของผม (เบาๆ)

ไม่ต่างกับการฉีดยาครั้งอื่นๆ ในชีวิต คือเจ็บเหมือนมดกัด แต่ครั้งนี้มันพิเศษและแปลกประหลาด ด้วยเป็นการปักเข็มหลังรอวัคซีน mRNA ที่ต้องจ่ายเงินซื้อเองนานถึงห้าเดือน ระหว่างนั้นผมก็เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรัฐของไทยในการจัดการโรคระบาด

ไม่ต่างกับประชาชนจำนวนมาก ผมเลือกซื้อฉีดเองเพราะสงสัยประสิทธิภาพวัคซีนเชื้อตายบางยี่ห้อ ที่รัฐไทยนำเข้ามาแก้ปัญหาการขาดวัคซีนในช่วงระบาดระลอกใหญ่ต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๔ และต่อมา วัคซีนชนิดนั้นกลายเป็นมีสถานะคล้ายเป็น “วัคซีนหลัก” ของประเทศไปจากการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทบทวนสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๔ จะพบว่ามีการบริจาควัคซีนเชื้อตายยี่ห้อดังกล่าวบ่อยครั้งผสมกับการจัดซื้อจากประเทศมหาอำนาจที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมท่ามกลางการระบาดใหญ่ระลอกเดือนเมษายน ๖๔ (ที่มีจุดตั้งต้นบางส่วนจากการไปเที่ยวสถานบันเทิงของรัฐมนตรีคนหนึ่งจนทำให้นโยบายกดจำนวนคนติดโควิดเป็นศูนย์ของไทยพังลงโดยสมบูรณ์) วัคซีนชนิดนี้ถูกกระจายลงไปยังบุคลากรด่านหน้าคือแพทย์และพยาบาลก่อน ก่อนจะเริ่มฉีดฟรีในวงกว้าง

ช่วงนั้นผมไปพบแพทย์เพราะป่วยด้วยโรคอื่นที่ รพ.แห่งหนึ่ง แพทย์บางท่านยังเล่าว่า หมอส่วนมากรู้ดีว่า วัคซีนเชื้อตายเป็นแค่ของ ขัดตาทัพ แต่ด้วยข้อจำกัดก็ต้องฉีดเพื่อป้องกันตัว

เป็นที่มาของมอตโต้ “ฉีดกันตาย” อย่าตั้งคำถามว่าทำไมไม่เอาเข้ามาหลายยี่ห้อ ทั้งที่จริงๆ เกิดจากการดำเนินนโยบายผิดพลาด ใช้นโยบายกดจำนวนผู้ป่วยให้เป็นศูนย์ และไม่ยอมสั่งวัคซีนแต่เนิ่นๆ

ช่วงนั้น ยังปรากฎความไม่ชอบมาพากลของวัคซีนแบบ Viral vector ยี่ห้อหนึ่งที่มาตั้งโรงงานผลิตในไทย แต่ไม่สามารถส่งมอบได้ตามปริมาณที่ต้องการ จนเกิดความเห็นว่า นายกฯ ควรใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับโรงงานไม่ให้ส่งออก แต่ก็มีเสียงเตือนว่า การทำเช่นนั้นจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านอย่างรุนแรง เพราะวัคซีนชนิดดังกล่าวก็ถูกสั่งซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านที่สถานการณ์ภายในประเทศเขาก็แย่เช่นกัน

กระแสสังคมเวลานั้น กดดันรัฐบาลจนยอมให้เอกชนสั่ง “วัคซีนทางเลือก” (ในไทย เราหมายถึงวัคซีนชนิด mRNA ที่รัฐไม่สนับสนุน) ก็ปรากฏว่าเกิดความล่าช้าในขั้นตอนสั่งซื้อที่มีข้อจำกัดว่าต้องผ่านหน่วยงานรัฐเท่านั้น เอกชนดีลตรงไม่ได้ เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตออกมาในตลาดเป็นการอนุมัติแบบฉุกเฉิน ผู้ผลิตจะขายให้กับรัฐบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถรับผิดชอบผลกระทบจากวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติแบบเร่งด่วน