เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

คัดค้านยุบหัวลำโพง

นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2459

“สถานีรถไฟกรุงเทพฯ” ที่เรียกกันติดปากว่า “หัวลำโพง”

เข้าไปอยู่ในความทรงจำของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น

ด้วยผู้ออกแบบคือ มาริโอ ตามันโญ สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนออกแบบให้มุขหน้ามีลักษณะคล้ายกับระเบียงยาว ด้านในคือโถงสถานีมีหลังคาเป็นทรงโดม ประดับด้วยหินอ่อนและประติมากรรมนูนต่ำ มีกระจกสีประดับด้านหน้าจั่วเพื่อระบายอากาศ ด้านหน้ามีนาฬิกาแบบเข็มเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 80 เซนติเมตร เช่นเดียวกับด้านใน เอกลักษณ์นี้ได้กลายเป็นภาพจำของคนจำนวนมาก

คนเจเนอเรชัน X Y และ Z จำชื่อ “หัวลำโพง” ด้วยความเข้าใจผิดตลอดมา เพราะ “สถานีหัวลำโพง” จริงๆ นั้น เคยมีตัวตน และตั้งอยู่บริเวณที่ทุกวันนี้เป็นเกาะกลางหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ในยุคนั้นถือเป็นทางรถไฟที่เอกชนได้รับสัมปทานเดินรถระหว่าง กรุงเทพฯ-ปากน้ำมาตั้งแต่ปี 2436 ก่อนที่จะมีการสร้างถนนพระราม 4 ถนนทางรถไฟสายเก่า และถนนสุขุมวิทเข้ามาทำหน้าที่แทน ตัวสถานีที่มีสภาพเป็นตึกแถวก็ถูกรื้อไป

แต่ชื่อ “หัวลำโพง” (ที่มาจากชื่อ “ทุ่งวัวลำพอง”) กลับมามีชีวิตใหม่ใน “สถานีรถไฟกรุงเทพฯ”

ตั้งแต่ปี 2503 เช่นกัน ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ได้รับการปรับปรุงให้รองรับการขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว (ย้ายกิจการขนถ่ายสินค้าไปอยู่ที่ย่านพหลโยธิน) คนจำนวนมากจะมีภาพจำถึงโถงขนาดใหญ่ ลานที่มีที่นั่งและโซนร้านค้าจำนวนมาก มีการติดตั้งภาพสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยที่ท้ายอาคารก่อนเข้าสู่ตัวชานชาลาจะมีช่องขายตั๋วโดยสาร โดยรอบโถงจะเป็นชั้นลอยที่มีร้านค้าจำนวนหนึ่ง