เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง

สมรส (ไม่)เท่าเทียม : มองอดีต ดูปัจจุบัน (ไร้) เห็นอนาคต

ราวสายฟ้าฟาดผ่าลงกลางอกในคืนฤดูหนาว จู่ๆ ความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เหมือนขาดสะบั้นเป็นผุยผง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มว่าด้วยเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

วันนี้จะพาย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องสมรสเท่าเทียมที่มีมามากกว่า ๑๐ ปี นับตั้งแต่เป็นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งถูกพับเก็บเพราะการเข้ามาของทหาร เริ่มต้นใหม่ด้วย ส.ส. LGBTIQAN+ ตามด้วยความรักของคนสองคนที่เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะจบด้วยคำวินิจฉัยอันเจ็บปวด และชวนมองอนาคตใน “สมรส” ที่หวังว่าสักวันจะ “เท่าเทียม”

somrostaotiam02

มองอดีต : การต่อสู้ข้อโต้แย้งและร้องเรียนวินิจฉัย

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ นที ธีระโรจนพงษ์ แกนนำเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ พร้อมกับ อรรถพล จันทวี คู่รักเพศกำเนิดชายซึ่งใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนานกว่า ๑๙ ปี ได้ขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงใหม่

แต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกฎหมายของไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา ๑๔๔๘ ระบุไว้ว่า

“การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์”

เมื่อการจดทะเบียนสมรสถูกมองเป็นเรื่องแค่เพศชายและเพศหญิง สิ่งที่ทำได้ขณะนั้นคือนำเรื่องส่งต่อไปที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงทำให้เกิดร่าง พระราชบัญญัติคู่ชีวิต (พ.ร.บ. คู่ชีวิต) ฉบับแรกเมื่อปี ๒๕๕๖ แต่ถูกปัดตกก่อนเข้าสภา พร้อมการมาของรัฐประหาร ๒๕๕๗ ด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา

แม้จะถูกปัดตกก่อนเข้าสภา แต่ความพยายามผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็ไม่อาจรั้งไว้ได้ เมื่อภาคประชาชนและเอ็นจีโอร่วมมือกันอีกครั้งจนเป็น ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ภาคประชาชน แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของยุครัฐประหาร ความรับผิดชอบดังกล่าวจึงกลับมาเป็นของกระทรวงยุติธรรม

เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งเมื่อจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการผลักดันให้เกิดการสมรสทุกเพศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย แต่ พ.ร.บ. คู่ชีวิตนั้นยังจำกัดความและขาดความเท่าเทียม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเฉพาะเพศ ถูกแยกออกจาก ป.พ.พ. ๑๔๔๘ ให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางภาครัฐได้

จึงเกิดกระแสโต้กลับพร้อมการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ. คู่ชีวิต

และเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยกระทรวงยุติธรรม ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งส่งกลับไปให้ทางกระทรวงยุติธรรมเพื่อยืนยันเนื้อหา และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ลงมติอีกครั้งก่อนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ

จนหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ ด้านประชาชนอีกฝ่ายร่วมกับพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล เสนอแนวคิดให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ว่าด้วยเรื่องสมรส เพื่อปรับถ้อยคำให้มีความเท่าเทียมทางเพศมากยิ่งขึ้น

คือเปลี่ยนจากคำว่า “ชายหญิง” เป็น “บุคคล” หรือใช้คำว่า “สมรสเท่าเทียม” เพื่อไม่ให้เพศใดเพศหนึ่งถูกผลักออกจากความเป็นมนุษย์

รวมทั้งเปลี่ยนคำว่า “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”

และกรณีการหมั้นเปลี่ยนจาก “ชาย-หญิง” เป็น “ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น” แทน

และในปีเดียวกันของเดือนสิงหาคม คณะทำงานเพื่อการสมรสเท่าเทียม ร่วมกับองค์กรและบุคคลกว่า ๘๐ รายชื่อ แสดงจุดยืนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยกเลิกร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พร้อมเสนอให้แก้ ป.พ.พ. แทน

แต่สุดท้ายข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐ

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนความคิดในเรื่องเพศก็เปลี่ยนไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ พวงเพชร เหมคำ คู่รักที่มีเพศกำเนิดหญิงอยู่กินและใช้ชีวิตร่วมกันมา ๑๓ ปี เข้ายื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร แล้วก็เป็นดั่งที่คาดหมาย นายทะเบียนเขตบางกอกใหญ่ให้คำปฏิเสธต่อการเข้าจดทะเบียนสมรส

เหมือนอดีตย้อนกลับมาซ้ำรอย

หากแต่ครั้งนี้มีกาลเวลาเป็นเพื่อนให้ความหวัง ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยวันนั้นมีมูลนิธิเพื่อสิทธิและความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศร่วมเดินทางไปยื่นคำร้องด้วย

somrostaotiam03

#คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ คณะรัฐมนตรีประกาศให้ไฟเขียว พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ใช้เวลาในการแก้ไขจากจุดเริ่มต้นถึง ๗ ปี ซึ่งดูแลโดยกระทรวงยุติธรรม

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ผ่านนี้นับเป็นร่างที่ ๖ ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ. สมรสชายหญิง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งอีกครั้ง แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้น พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ใช่ความเท่าเทียมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการจากทางภาครัฐ และสวัสดิการจากเอกชนที่คู่สมรสควรจะได้รับ

เมื่อเป็นเช่นนั้นกระแสที่คิดว่าควรจะได้รับอย่างชื่นมื่นถูกตีกลับอย่างไม่ไยดี

ทำให้ #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนอันดับ๑ ทางทวิตเตอร์

ด้วยคนรุ่นใหม่พร้อมกลุ่มคนที่สนับสนุนความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ และกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาแสดงความเห็นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในวันเดียวกันส.ส. พรรคก้าวไกลนำโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ได้ให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างแก้ไข ป.พ.พ.) ที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ นั้น ไม่ใช่ร่างเดียวกับที่คณะรัฐมนตรี ให้ผ่าน

สิ่งที่ ส.ส. ทั้งสองเน้นย้ำคือ ต้องการแก้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเพศใด อัตลักษณ์ทางเพศไหน ก็สามารถใช้กฎหมายสมรสฉบับเดียวกันได้ (ป.พ.พ. ๑๔๔๘)

พร้อมบอกว่า ร่างสมรสเท่าเทียมนั้นยังเปิดรับความเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓

และเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่มีผู้ให้ความสนใจในร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมียอดเข้าชมเว็บไซต์รัฐสภาสูงถึง ๑,๓๐๕,๔๘๕ ครั้งเฉพาะร่างแก้ไข ป.พ.พ. เท่านั้น

ไม่นานเกินความอดทน กระแสเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง

จนวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กลุ่มเสรีเทยพลัสจัดกิจกรรม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” เพื่อแสดงจุดยืนพร้อมข้อเรียกร้องสามประการ คือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ อีกทั้งตอกย้ำเรื่องสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการชุมนุมครั้งนั้น

กลับมาทางด้านกฎหมาย

ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ร่างแก้ไข ป.พ.พ. ของพรรคก้าวไกล ได้ปรากฏในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในขั้นรับหลักการ

แต่แล้วร่างแก้ไข ป.พ.พ. ดังกล่าวก็ยังไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่แม้จะผ่านการเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีรับพิจารณาแล้ว

แต่ก็ไม่มีวี่แว่วว่าจะเห็นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเข้าสู่สภา

somrostaotiam04
somrostaotiam07

ดูปัจจุบัน : คำวินิจฉัยอันย้อนแย้งในยุคสมัย

สืบเนื่องจาก เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ พวงเพชร เหมคำ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ๑๔๔๘ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งควรจะได้คำตอบตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ แต่มีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนด้วยมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ โดยย้ายจากช่วงปลายปี ๒๕๖๓ เป็นเมษายน ๒๕๖๔ นี่คือการเลื่อนหนแรก

พอใกล้ถึงเดือนเมษายน ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน

โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แจ้งว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ส่งผลคำวินิจฉัยกลับมา และอีกหนึ่งเหตุผลคืออ้างถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นอีกระลอก

จนวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ ไอลอว์ (iLaw) ได้รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเลื่อนวินิจฉัย ป.พ.พ. ๑๔๔๘ เป็นวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔

ดูจะมีความหวังต่อความเป็นไปได้พอสมควร เมื่อเห็นวันกำหนดอย่างชัดเจน

แล้วฟ้าก็แลบผ่านอกไปชั่วขณะ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการ “ตรากฎหมาย” รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป”

(อ่านต่อที่ iLaw https://www.ilaw.or.th/node/6031)

ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. อีกหนึ่งฉบับเป็นภาคประชาชน ในนามของภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม โดยอาศัยกลไกตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย ๑หมื่นรายชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้นำไปพิจารณาต่อว่า ป.พ.พ. ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น สมควรถูกแก้ไข

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ได้เปิดให้เข้าชื่อเสนอกฎหมายสองช่องทางในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

ช่องทางแรกคือ แยกราชประสงค์ ถือเป็นม็อบที่เปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายต่อเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศร่วมด้วย

อีกช่องทางหนึ่งคือทางออนไลน์ผ่าน https://www.support1448.org/

ในวันแรกมีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายถึง ๑ แสนคนภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑ วัน

และปัจจุบันมียอดผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๒๗๕,๒๔๘ รายชื่อ

๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ ราวสายฟ้าฟาดผ่าลงกลางอกในคืนฤดูหนาว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มว่าด้วยเรื่อง “ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่”

ความรู้สึกของผู้มีความหลากหลายทางเพศหลังอ่านจบ บอกว่าไม่ต่างจากการถูกตราหน้าว่าเป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์

และหลายคนไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่สนับสนุนความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งชายหญิงก็ได้แต่โกรธแค้นพร้อมๆ กับมีน้ำตา เกิดภาวะล้มเหลวในชีวิตไปชั่วขณะ

ทุกคนนิ่งงันต่อการถูกตราหน้าจากศาลรัฐธรรมนูญ

นี่คือหนึ่งในช่วงตอนจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่าน ซึ่งประกอบด้วยตุลาการที่มาจากการคัดเลือกของระบอบ คสช. เจ็ดท่าน โดยบางท่านเป็นถึงตุลาการที่มาจากศาลฎีกา ศาลปกครอง รวมถึงนักวิชาการทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ สุดท้ายคือข้าราชการเก่า โดยทั้งหมดให้ความเห็นว่า

“ความหมายของการสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนา และกฎหมายของแต่ละสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม เพื่อผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม…” (หน้า ๖)

“ในการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีของสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน” (หน้า ๘)

“วัตถุประสงค์ของการสมรส คือการที่ชายและหญิงอยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้” (หน้า ๘)

“ทั้งนี้ หากวิทยาการก้าวหน้ามีการค้นพบรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าสัตว์โลกบางประเภทมีพฤติกรรม หรือลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไปก็จัดให้เป็นกลุ่มต่างหากเพื่อแยกศึกษาต่อไป เช่นเดียวกับรัฐหรือผู้บัญญัติกฎหมายพบกลุ่มบุคคลที่มีวิถีทางเพศแตกต่างออกไป และถูกเบียดเบียนด้วยอคติรัฐหรือผู้บัญญัติกฎหมายกำหนดการคุ้มครองได้เป็นการเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่ม” (หน้า ๘)

นี่คือบางส่วนจากคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ๑๒ หน้ากระดาษ

สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นนั้นแสดงเจตคติ ความรู้สึกนึกคิด ต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไว้มากเกินควร นอกจากนี้ยังสวนกระแสต่อแนวทางปฏิบัติของสังคมโลก

หากพิจารณาแล้วความเห็นดังกล่าวเต็มไปด้วยระบบแนวความคิดปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากระบบกฎหมายเอื้อให้มองผ่านกลุ่มคนเพศเดียว แต่กลับนำระบบดังกล่าวมาใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับคนทุกเพศ ถือเป็นภาพสะท้อนของอำนาจรัฐที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชน

เช่นเดียวกับในมุมมองของ มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และ Co-Presidency ขององค์กรระดับโลกที่ขับเคลื่อนสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ International Family Equality Day–IFED เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเธอมีคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดหญิงพร้อมกับมีลูกอีกหนึ่งคน

เธอให้ความเห็นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า

“เราไม่คิดว่าคำอธิบายจะเลวร้ายขนาดนี้ อย่างที่บอกไว้ว่า กฎหมายยังต้องอยู่แบบนี้ เพื่อความมั่นคงของรัฐและเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย นี่คืออย่างที่ ๑ อย่างที่ ๒ ครอบครัวมีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ดำรงเผ่าพันธุ์

“เราไม่คิดว่าใครจะมาใช้คำนี้อยู่ในยุคสมัยนี้ มันน่ากลัวมาก พูดเหมือนเราเกิดมาเพียงเพื่อมีเพศสัมพันธ์ มีลูก แล้วก็ตายไป แล้วพอถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษมันแย่มาก เป็นคำที่เหยียดเพศทั้งชายหญิงก็โดนไปหมด โดยให้คุณค่าการสมรสแค่เรื่องสืบพันธุ์

“เป็นถ้อยคำที่ยอมรับไม่ได้เพราะไม่มีความเป็นสากล ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนเลย

“และที่สำคัญมันตีตราของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย”

somrostaotiam06
somrostaotiam05

(ไร้) เห็นอนาคต : ไม่มีมือใดมาเหนี่ยวรั้งกาลเวลา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกับการบอกกับทั่วโลกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ใช่สวรรค์อันแท้จริงของ LGBTIQAN+ อย่างที่ใครๆ กล่าวไว้

แม้จะรู้สึกหมดหวัง แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะ มัจฉาเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นพร้อมกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เดินไปพร้อมกับการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน คู่กับการยอมรับคนให้เท่ากัน

“โดยทางปฏิบัติจะต้องมีนโยบาย หรือกฎหมายที่มาจากเสียงของประชาชน ไม่ได้มาจากอำนาจนิยม ไม่ได้มาจากผู้ชายบางกลุ่ม ไม่ได้มาจากระบบทหาร

“ฉะนั้นที่ถามว่าคำตัดสินนี้จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ จะอยู่ตราบที่ทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะอยู่เท่าที่เราไม่เป็นประชาธิปไตย จะอยู่จนกว่ารัฐประหารยังคงอยู่

“ถ้ายังมีรัฐประหารอยู่เราจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนก็จะแย่ คนจะไม่เท่ากัน”

เมื่อถามว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ก็ต่อเมื่อเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

“ฉะนั้นเราต้องทำหลายๆ เรื่องพร้อมกัน เรื่องที่ ๑ คือ ต้องสร้างพลังให้เยาวชน สร้างพลังให้กับคนชายขอบทั้งหมด ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ แล้วก็ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปพร้อมกับเรื่องสิทธิ์ทุกเรื่อง

“สอง ต่อให้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่เราต้องต่อสู้ก็คือ อำนาจ ศาสนา ความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรม ที่ยังตามหลักสิทธิมนุษยชน เราต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้องกัน มันเป็นกระบวนการทางสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกดขี่ให้เคารพสิทธิต่างๆ”

เช่นกันกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงท้ายรายการ “มีเรื่อง Live” Ep.18-#สมรสเท่าเทียม “โตแล้ว…แต่งงานกับใครก็ได้” ไว้ว่า

“คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้ปิดกั้นในการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ในอนาคต แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพูดเช่นนี้ ถ้าสภาลงมติเห็นตรงกันว่าต้องแก้ ป.พ.พ. ๑๔๔๘ ก็แก้ได้ ไม่ได้มีอะไรปิดกั้น รวมถึงถ้าในอนาคตมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มาตราที่คุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศชัดเจนขึ้น การยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังสามารถยื่นได้…ในวงเล็บก็หวังว่าวันนั้นจะมีที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแบบใหม่ไปพร้อมๆ กันด้วย”

แม้ปัจจุบันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ใครหลายคนสิ้นหวัง

แต่เรื่องนี้ถือว่าได้เดินทางมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ และหวังว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้เฉลิมฉลองดังที่วาดหวัง

เพราะท้ายแล้วกาลเวลาเท่านั้นที่ทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้า

และไม่อาจมีมือใดมาขวางกั้นได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม

  • คุณมัจฉา พรอินทร์

อ้างอิง

  • iLaw. (๒๕๖๔). เปิดข้อเสนอภาคประชาชน แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ เดินหน้าผลักดัน #สมรสเท่าเทียม.
    สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/6032
  • iLaw. (๒๕๖๔). ศาล รธน. มีมติ “เอกฉันท์” กฎหมายแพ่งรับรองสมรสชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะตรากฎหมายรับรอง
    สิทธิเพศหลากหลาย. สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/6031
  • iLaw. (๒๕๖๔). มีลุ้น #สมรสเท่าเทียม นักวิชาการคาด ศาล รธน. อาจชี้ทางแก้กฎหมายแพ่ง ปลดล็อกข้อจำกัดสมรส
    เฉพาะชาย-หญิง. สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/6019
  • iLaw. (๒๕๖๔). #สมรสเท่าเทียม : ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติกฎหมายแพ่งสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ๑๗ พ.ย. ๖๔. สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/6008
  • iLaw. (๒๕๖๓). #สมรสเท่าเทียม : สำรวจหลักกฎหมายและร่าง พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส.
    สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/5711
  • iLaw. (๒๕๖๓). Pride Month : สำรวจ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส.
    สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://ilaw.or.th/node/5695
  • วิศรุต สินพงศพร. (๒๕๖๓). อธิบาย พ.ร.บ.คู่ ชีวิต vs สมรสเท่าเทียม ดราม่าสำคัญที่จะมีผลต่อชีวิตของกลุ่ม LGBT.
    สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://workpointtoday.com/15explainer-lgbt/
  • posttoday. (๒๕๕๕). เกย์นทีโวยวืดตีทะเบียนสมรส.สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔,
    จาก https://www.posttoday.com/social/general/170103
  • วรรษมน ไตรยศักดา. (๒๕๖๓). LGBTQ ไทยยังมีหวัง ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนฟังคำวินิจฉัยกรณีคู่รักเพศเดียวกันถูกปฏิเสธ
    จดทะเบียนสมรส. สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://thestandard.co/lgbtq-thailand-still-got-hope/
  • ประชาไท. (๒๕๖๔). ศาล รธน. ‘เลื่อน’ ฟังคำวินิจฉัย กม. สมรสชาย-หญิง ขัดต่อ รธน. หรือไม่ ลุ้น กม. สมรสเท่าเทียม
    เข้าสภา พ.ย. นี้. สืบค้น ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://prachatai.com/journal/2021/09/95200
  • workpointTODAY. (๒๕๖๓). สรุปประเด็น พ.ร.บ. คู่ชีวิต อนาคตสมรสถูกกฎหมาย LGBTQ l workpointTODAY..
    สืบค้น ๕ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.youtube.com/watch?v=9QQ_Tt0to6Y&t=809s
  • Jomquan. (๒๕๖๔). มีเรื่อง Live Ep.18-#สมรสเท่าเทียม “โตแล้ว…แต่งงานกับใครก็ได้”.
    สืบค้น ๕ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.youtube.com/watch?v=g7hhsbCkPs0
  • นิสากรม์ ทองทา. (๒๕๖๔). เปลี่ยนผ่านสู่ความเสมอภาค : “สมรสเท่าเทียม”. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๔๓๕ LGBTQ+
    เราเป็นใคร เราเป็นใคร ในประเทศไทย, ๙๓-๙๔.
  • เลิศศักดิ์ ไชยแสง. (๒๕๖๔). วาดฝัน วาดหวัง เมื่อคราวธงสีรุ้งโบกสะบัดกลางมวลชน. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๔๓๘
    #ทศวรรษที่หายไป ๒๕๔๙-๒๕๖๔ ๑๕ ปีวิกฤตการเมืองไทย, ๑๒๔.
  • ลงชื่อร่างแก้ไข ป.พ.พ. ๑๔๔๘ สืบค้น ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.support1448.org/