ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างกำแพงกันคลื่นบนหาดทรายตามแนวชายฝั่งภาคใต้ ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรี หมู่ที่ ๖ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ในชื่อ “เวทีหาทางออกกำเเพงกันคลื่น หาดทรายรี จังหวัดชุมพร จะไปต่อ หรือ พอเเค่นี้ ?” การประชุมจัดขึ้นที่ห้องประชุมอาคารประวัติศาสตร์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยเชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้งผู้สนับสนุนโครงการ ผู้ที่มีความห่วงใยต่อการเปลี่ยนสภาพชายหาด นักวิชาการ รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

หาดทรายรี มีทรายหรือไม่มีทราย
ความคืบหน้าในการก่อสร้างเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ (ภาพ : เครือข่าย Beach for life)

หาดทรายรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอันดับต้นๆ ของจังหวัดชุมพร นอกชายฝั่งมีหมู่เกาะน้อยใหญ่เรียงรายดูสวยงาม สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่ตั้งของพระตำหนักที่ประดิษฐานพระบรมรูปของพลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” มีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมาสักการะ ความสำคัญของหาดทรายรีสะท้อนผ่านคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ชุมพร ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรีดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างส่วนฐานรากไปแล้วประมาณร้อยละ ๗๐ มีรายงานว่าถ้าสร้างเสร็จ ตัวกำแพงกันคลื่นจะมีความยาวตลอดแนวชายหาด ๖๓๓ เมตร โดยมีลักษณะเป็นขั้นบันไดประมาณ ๑๐ ขั้น ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด ๘๒ ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาก่อสร้างปี ๒๕๖๕

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๕ กรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการป้องกันชายฝั่งที่มีโครงสร้างเป็นกำแพงกันคลื่นที่เป็นโครงการตั้งใหม่ วาระผูกผัน ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ จำนวน ๖ โครงการ มูลค่ารวมกัน ๕๐๔ ล้านบาท ระยะทางรวมกัน ๕.๕๘๕ กิโลเมตร คิดเป็นเฉลี่ยค่าก่อสร้าง ๙๐.๒๔ ล้านบาทต่อกิโลเมตร เฉพาะโครงการที่เบิกจ่ายปี ๒๕๖๕ คิดเป็นจำนวนเงิน ๑๐๐.๘ ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ระยะทาง ๔๕๐ เมตร งบรวมประมาณ ๔๒.๗๕ ล้านบาท โดยจะเบิกจ่ายในปี ๒๕๖๕ ที่กำลังจะมาถึงจำนวน ๘.๕๕ ล้านบาท

hadsai02
hadsai03
กำแพงกันคลื่นหาดทรายรีมีลักษณะเป็นขั้นบันไดประมาณ ๑๐ ขั้น ยื่นลงไปบนชายหาด เมื่อสร้างเสร็จบันได ๒-๓ ขั้นล่างจะถูกฝังลงในทราย แต่มีข้อห่วงกังวล บทเรียนจากโครงการอื่นๆ ที่คลื่นกวาดทรายออกไปหมด (ภาพ : เครือข่าย Beach for life)
hadsai04
ป้ายรณรงค์เรียกร้อง “หาดทรายรีต้องมีหาดทราย” เรียกร้องให้ทบทวนโครงการ และตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสภาพชายหาดให้คงตามธรรมชาติ ไม่ถูกแทรกแซงจากโครงสร้างแข็ง (ภาพ : เครือข่าย Beach for life)

 สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานในหัวข้อข่าว ‘เวทีหาทางออกสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล “หาดทรายรี” สุดท้ายให้กรมโยธาฯ ชะลอเพื่อทบทวนรูปแบบ’ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ว่า ผู้ที่สนับสนุนโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการชายหาด ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย โดยระบุว่าที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสร้างเขื่อนและกำแพงกันคลื่น แต่ผ่านไปไม่กี่ปีก็ถูกคลื่นลมซัดพังเสียหาย แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักร การออกแบบ วัสดุโครงสร้างได้รับการพัฒนาให้แข็งแกร่งคงทนต่อสภาพคลื่นลมมรสุม จะแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ จึงต้องการให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ขณะที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการมีหลายภาคส่วนประกอบด้วยนักอนุรักษ์ นักวิชาการ ตลอดจนชาวบ้านที่เห็นว่าหาดทรายรีไม่ได้มีปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หน้าหาดเป็นไปตามฤดูกาล การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน กลับจะยิ่งสร้างปัญหาเพราะถือเป็นการแทรกแซงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หน้าหาดตามธรรมชาติ จะทำให้ชายหาดที่งดงามเปลี่ยนสภาพไปเป็นกำแพงปูน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงการนำงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลมาสร้างกำแพงกันคลื่น

หลายปีที่ผ่านมา การสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลถูกตั้งคำถามว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของใคร สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริงหรือไม่ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรงในอีกพื้นที่หนึ่ง โดยเฉพาะตำแหน่งสิ้นสุดแนวกำแพง บริเวณพื้นที่ด้านข้าง เมื่อสร้างแล้วก็ต้องสร้างต่อ ราวกับการกัดเซาะชายฝั่งเป็นโรคระบาดที่รักษาไม่หาย

บทเรียนจากการสร้างกำแพงกันคลื่นหลายต่อหลายแห่งชี้ให้เห็นว่าเมื่อสร้างเสร็จหาดทรายบริเวณด้านหน้ากำแพงจะหายไป ไม่สามารถทำกิจกรรมทางทะเลดังเดิมได้ ไม่ว่าประมงชายฝั่ง ตกปลา หาปลา หาหอยเสียบ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่บนหาดทราย เช่น ปูทะเล ปูลม ก็หายไป ขณะที่ตัวกำแพงมักมีลักษณะเป็นขั้นบันไดเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ ไม่ใช่ทัศนียภาพที่งดงาม สวนทางกับคำกล่าวอ้างว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์

ธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง จังหวัดชุมพร กล่าวในเวทีแสดงความคิดเห็นว่า การก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดทรายรีอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของชายหาด โดยอาจทำให้หาดทรายรีไม่เหลือสภาพหาดทราย

hadsai05
กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

ขณะที่ทางเครือข่ายประชาชนผู้ห่วงใยหาดทรายรี นำโดยกลุ่ม Beach for life สมาคมเพื่อนสิ่งเเวดล้อม จังหวัดชุมพร สภาประชาชนภาคใต้ ตัวเเทนมูลนิธิภาคใต้สีเขียว รวมถึง ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่งที่เฝ้าติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ร่วมกันนำเสนอข้อเรียกร้องสำคัญ ๔ ข้อ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณา เพื่อเเสวงหาทางออกร่วมกันกรณีโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดทรายรี ประกอบด้วย

๑. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ชะลอโครงการออกไปก่อนระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดการทบทวนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรี

๒. ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทบทวนรูปเเบบการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดทรายรี เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาดน้อยที่สุด

๓. ให้เเต่งตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของประชาชนที่มีความห่วงใยเเละสนับสนุนโครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ตัวแทนจากศูนย์รักษาผลประโยชน์ทางทะเลเเห่งชาติ จังหวัดชุมพร ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เพื่อร่วมกันหารือเเละปรับรูปเเบบโครงการให้มีความเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชายหาดน้อยที่สุด

๔. ให้มีมาตรการอื่นๆ ที่เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชายหาด รวมถึงศึกษามาตรการที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งสภาพชายหาดธรรมชาติของหาดทรายรี

ภายหลังการพูดคุย ปรึกษาหารือ กรมโยธาธิการและผังเมืองรับหลักการ ๔ ข้อเสนอดังกล่าว โดยรับปากว่าจะประสานงานกับผู้ราชการจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อหาเเนวทางการดำเนินงานต่อ

ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคนรักชายหาด ต้องร่วมกันติดตามว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการตามข้อตกลงเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร

ความคืบหน้าเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงาน

วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ มีการเผยแพร่คำสั่งจังหวัดชุมพร เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่ง หมู่ ๖ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่ง…ก่อสร้างเสาเข็มบางส่วนแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กันคลื่นแบบขั้นบันได…เพื่อความเข้าใจอันดีและเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อห่วงใยในการดำเนินโครงการและหาแนวทางที่เหมาะสม จังหวัดชุมพรจึงแต่งตั้งคณะทำงานดังต่อไปนี้…”

รายชื่อคณะทำงานประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วนรวมทั้งสิ้น ๑๗ คน ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (ด้านความมั่นคง) เป็นประธานคณะทำงาน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร เป็นรองประธานคณะทำงาน โดยมีคณะทำงาน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชุมพร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร เจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร วิศวกรชำนาญการพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ประสานงาน Beach for Life เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนมูลนิธิภาคใต้สีเขียว เป็นต้น

ให้คณะทำงานศึกษาแนวทางที่เหมาะสมนำเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป