ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เชียงดาว : เฉือนป่า 67 ไร่ งบ 550 ล้าน เพื่ออ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ
ภาพจำลองอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ภาพจำลองอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เผยให้เห็นภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นลำห้วยแม่อ้อแนวสันเขื่อนทำจากดินมีความยาวราวครึ่งกิโลเมตร (๔๖๔ เมตร) หนา ๙ เมตร สูงจากพื้นดิน ๔๐ เมตร ใกล้ๆ กันมีทางระบายน้ำล้น ถนนเข้าหัวงาน ท่อระบายน้ำให้ไหลลงล้ำน้ำสายเดิม พื้นที่โดยรอบเป็นป่า บางส่วนเป็นแปลงเกษตร ห่างออกไปในหุบเขากลางป่ายังจะมีการสร้างสันเขื่อนย่อย เพื่อปิดช่องเขาสำหรับกักเก็บน้ำ

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ กรมชลประทาน ในฐานะเจ้าของโครงการจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๒ (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่นะ ตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) ผู้เข้าร่วมมีทั้งรองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ปลัดอาวุโสฯ รักษาการนายอำเภอเชียงดาว ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ ๑ สำนักงานบริหารโครงการกรมชลประทาน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงประชาชนที่รู้ข่าวว่ามีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น

สื่อหลายสำนัก อาทิ เพจเฟซบุ๊กรอบรั้วชลประทาน คมชัดลึกทั่วไทย เชียงใหม่นิวส์ รายงานว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับกรมชลประทานในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ เพราะเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อมีที่มาจากราษฎรบ้านแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เคยทำหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกาในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่าประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานที่ ๑ และโครงการชลประทานเชียงใหม่จึงเข้ามาสำรวจตรวจสอบเมื่อช่วงปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ เกิดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จนได้แนวทางนำมาพัฒนาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

pachiangdao02
อ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อเป็นเขื่อนดิน แนวสันเขื่อนยาว ๔๖๔ เมตร หนา ๙ เมตร สูง ๔๐ เมตร ใช้พื้นที่หัวงาน ๘๓ ไร่ ขนาดอ่างเก็บน้ำ ๑๔๐ ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวประมาณครึ่งหนึ่ง

มีรายงานว่าสันเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำความจุประมาณ ๔.๑๖ ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีที่มีน้ำเต็มความจุของอ่างจะมีขนาดอ่างเก็บน้ำรวมกับพื้นที่หัวงาน ๒๒๓ ไร่ ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รูปแบบของการส่งน้ำจะใช้เหมืองฝาย คลอง ที่เชื่อมต่อกับลำห้วยแม่อ้ออยู่แล้ว รวมทั้งท่อส่งน้ำ ประเมินว่าพื้นที่รับประโยชน์จะครอบคลุมอาณาบริเวณ ๔,๕๐๐ ไร่ เมื่อสร้างเสร็จเชื่อว่าพืชผักที่เพาะปลูกแถบเชียงดาวไม่ว่าจะเป็นพืชไร่อย่างหอม กระเทียม ข้าวโพด ข้าว พืชสวนอย่างมะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย จะให้ผลผลิตดีขึ้น

นอกเหนือจากการกระจายน้ำเพื่อใช้ด้านเกษตร ต่อไปกรมชลประทานจะนำปลาเศรษฐกิจมาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ สนับสนุนการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีรายได้ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวก็จะพัฒนาพื้นที่รอบๆ เขื่อนให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว รวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ (www.chiangmainews.co.th) ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการเมื่อวันประชุมรับฟังความคิดเห็นว่า

“การศึกษาผลกระทบในปี ๒๕๖๔ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่บางพื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ๖๗ ไร่ โดยจะมีการขอใช้พื้นที่ในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ จากนั้นจะดำเนินการออกแบบตัวอ่างเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำ และประตูระบายน้ำ และในปี ๒๕๖๗ ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้างรวม ๔ ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๕๕๐ ล้านบาท รอบพื้นที่อ่างก็จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีเส้นทางสัญจร ดูแลเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าชดเชยให้กับป่าไม้ที่ถูกตัดไป ผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งกรมชลประทานจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกหน่วยงานด้วย”

pachiangdao03
แผนผังแสดงพื้นที่ใช้งานและพื้นที่รับประโยชน์

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อคุณภาพชีวิตมีความสำคัญ แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงโครงการที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่าที่ถือเป็นแหล่งต้นกำเนิดของสายน้ำ ช่วยรักษาความชุ่มชื่น รักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศของโลกนี้

อ้างอิงข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ ของกรมป่าไม้ ปัจจุบันประเทศไทยมีป้าไม้เหลืออยู่ประมาณ ๑๐๒,๓๕๓,๔๘๔.๗๖ ไร่ หรือร้อยละ ๓๑.๖๔ ของพื้นที่ประเทศ ขณะที่เป้าหมายพื้นที่ป่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ ช่วง พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔  และนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ระบุให้ไทยมีพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ ๔๐ 

ผืนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ ๓๑.๖๔ ในปัจจุบัน จำแนกเป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ ร้อยละ ๒๒.๖ ป่าเศรษฐกิจที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ร้อยละ ๙.๐๔

ตัวเลขร้อยละ ๔๐ ตามความมุ่งหวังตั้งใจ กับตัวเลข ๓๑.๖๔ ในความเป็นจริง บ่งบอกว่าทุกวันนี้ยังขาดพื้นที่ป่าอีกร้อยละ ๘.๓๖

แต่ทั้งๆ ที่ตัวเลขยังอยู่ห่างจากเป้าหมาย หน่วยงานของรัฐเองกลับเดินหน้าขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าหลายแห่งเพื่อสร้างเขื่อน ภายใต้ชื่อ “อ่างเก็บน้ำ” ด้วยนิยามของคำว่า “โครงการพัฒนา”

เอกสารสรุปผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ระบุว่าปัจจุบัน (ข้อมูล วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔) มีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ๗๔ โครงการ จำแนกเป็น ๕ กลุ่มโครงการ ได้แก่

  1. กลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๒๕ โครงการ
  2. กลุ่มโครงการก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณแล้ว จำนวน ๔ โครงการ
  3. กลุ่มโครงการที่ยื่นขอใช้พื้นที่แล้ว (อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่) จำนวน ๒๑ โครงการ
  4. กลุ่มโครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม EHIA/EIA/IEE จำนวน ๒๒ โครงการ
  5. กลุ่มโครงการที่รออนุญาตเข้าศึกษาวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าไม้ จำนวน ๒ โครงการ


ยกตัวอย่างในกลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรณีเขื่อนวังหีบ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เอกสารระบุว่าเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๓ หรือราวสามสิบปีก่อน ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบในหลักการ ผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A กรมชลประทานเดินหน้าขอใช้พื้นที่สร้างเขื่อนแล้วแต่ติดปัญหา ถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้าน ที่ออกมายืนยันความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าวังหีบ ว่าไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมตามที่มีหน่วยงานพยายามบิดเบือนกล่าวอ้าง

ที่น่าสนใจคือนอกเหนือจาก ๕ กลุ่มโครงการ ๗๔ โครงการข้างต้น ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในป่าที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในแผนงานดังกล่าวด้วย ยกตัวอย่าง อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีโครงการจะสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดสระบุรี อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่มีจำนวนมากถึง ๗ โครงการ บางโครงการอยู่ในระหว่างการคัดเลือกพื้นที่หัวงาน บางโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว

ขณะที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายชื่อ ๗๔ โครงการ ตัวอ่างเก็บน้ำ ๖๗ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน C) ของป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว นอกจากน้ำจะท่วมผืนป่ายังท่วมที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชน ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับป่าไม้ที่ถูกตัดโค่น ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าขอบเขตบางด้านของอ่างเก็บน้ำอาจกระทบถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา

หลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าว “เขื่อน” หรือ “อ่างเก็บน้ำ” หลายแห่งไม่มีน้ำ เป็น “เขื่อนแล้งน้ำ” หมายความว่าไม่มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ เป็นไปได้หรือไม่ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนมากเกินไป รวมถึงสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายระบบนิเวศ ตลอดจนการปล่อยให้พื้นที่ป่าหลายแห่งโดยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม หรือแม้แต่การอ้างว่าป่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าเสื่อมโทรมเพื่อนำพื้นที่มาใช้สร้างเขื่อนอย่างกรณีเขื่อนวังหีบ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าต่อจากนี้หน่วยงานรัฐจะทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ และยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่า

pachiangdao04
สภาพภูมิประเทศโดยรวมในพื้นที่ศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ

น้ำแม่ปิงแห้งขาดตอน เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าแม่น้ำตาย”

นิคม พุทธา
ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง และผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว

“พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้อยู่ในเขตสงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว อยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิง ถ้าใช้ลำน้ำแม่ปิงทางทิศตะวันออกเป็นแนวเขต หันหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือตามแม่น้ำ ฝั่งซ้ายจะเป็นเขตสงวนชีวมณฑล ฝั่งขวาที่จะสร้างเขื่อนไม่ใช่

“ต้นกำเนิดลำน้ำแม่อ้อคือภูเขา เรียกว่าม่อนหินไหล น้ำไหลผ่านป่า หมู่บ้านแม่อ้อใน หมู่บ้านแม่อ้อนอก แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง ถ้าสร้างเขื่อนก็จะทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ แต่ก็จะกลายเป็นน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่แม่น้ำปิง

“พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน หรือ Upper Ping River Basin มี ๑๔ สายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิงตอนบน ลำห้วยแม่อ้อเป็น ๑ ใน ๑๔ สายน้ำ ถ้าไล่เช็คดู แต่ละสายน้ำจะถูกเขื่อนขนาดเล็กกักไว้ ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำปิง ในช่วงหน้าฝนเราไม่ห่วง แต่พอถึงหน้าแล้ง น้ำไหลเข้าสู่แม่น้ำปิงน้อย ทำให้น้ำแม่ปิงขาดตอน

“ในเชิงปริมาณ แทนที่น้ำจะไหลลงมาเติมแม่น้ำปิง แต่พอถูกกัก น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิงก็น้อย ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา คือพอถึงฤดูแล้ง น้ำแม่ปิงแห้งขาดตอน เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าแม่น้ำตาย

“น้ำเป็นตัวเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิต แม้ว่าปริมาณน้ำจะลดลงในฤดูแล้ง แต่ก็ไม่ควรแห้ง ถ้าน้ำไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่ได้เชื่อมโยง แห้งขาดตอน ก็เท่ากับแม่น้ำตาย

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือแม่น้ำปิงควรจะให้มีน้ำมาเติมอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง เป็นห่วงมากว่าสายน้ำแม่ปิงจะถูกฆ่าตัดตอนด้วยสภาวะขาดแคลนน้ำ ที่มีสาเหตุจากการสร้างเขื่อนกั้นลำห้วย

“ทุกวันนี้ชาวบ้านที่เป็นคนพื้นราบทั้งสองหมู่บ้านต่างมีระบบการเกษตรที่เข้มข้น หมายความว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรมาก ใช้สารเคมีเข้มข้น มีผลผลิตที่เจริญก้าวหน้ากว่าหมู่บ้านอื่นๆ ในอำเภอเชียงดาว ชาวบ้านเรียกร้องให้สร้างเขื่อนมาหลายปี ไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีแล้ว เขามองแต่น้ำเชิงปริมาณ แล้วก็ผลประโยชน์เพื่อการเกษตร ไม่ได้มองทั้งระบบ

“ถ้าต้องการน้ำเชิงปริมาณเพื่อการเกษตรก็น่าจะขยับสันเขื่อนลงมา หลีกเลี่ยงที่จะเอาน้ำไปท่วมป่า เพราะว่าป่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ถาวร โดยเฉพาะป่าธรรมชาติ มีกลไกทางระบบนิเวศ เราควรจะเก็บพื้นที่ป่าธรรมชาติไว้ ให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตรที่สามารถขุดลอกได้ เอาดินโคลนดินเลนออก เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ให้ลึกให้กว้าง

“ในภาพรวม เมื่อมีน้ำก็จะไปกระตุ้นให้ทำเกษตรแบบสมัยใหม่ มีสารเคมีจากการเกษตรอยู่ในเลือด ผลกระทบระยะยาวจากระบบเกษตรสมัยใหม่ที่กำลังเรียกร้องให้มีน้ำ คือ หนึ่ง สุขภาพของผู้คนทรุดโทรม มีสารเคมีในเลือด บาดเจ็บล้มตายกันไปแล้วก็เยอะ สอง สภาพแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เสื่อมโทรม ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

“สาม ปัญหาหนี้สิน ยิ่งทำมาก ยิ่งมีหนี้สินมาก เพราะชาวบ้านผลิตออกมาได้ก็จริง แต่ควบคุมราคาหรือกลไกการตลาดไม่ได้ สี่ การล่มสลายของชุมชนที่เคยอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ชุมชนล่มสลายเลยนะเพราะต้องเอาแรงงานต่างชาติต่างประเทศเข้ามา สิ่งที่ตามมาคือโรคระบาด ยาเสพย์ติด

“พื้นที่ตรงนั้นมันยังมีสภาพป่าเป็นบางส่วน ถ้าพูดกว้างๆ สภาพที่ดินที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำน่าจะมีสามส่วน คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว อุทยานแห่งชาติศรีล้านนา และที่ทำกินของชาวบ้าน

“ผมเข้าใจว่าหางน้ำน่าจะรุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยาน แต่ก็ไม่รู้ชัดเจนว่าแนวเขตอุทยานอยู่ตรงไหน อาจจะต้องทิ้งคำถามว่ามีการตรวจเช็คตรวจสอบหรือยังว่าน้ำท่วมเข้าเขตอุทยานมั๊ย

“ในส่วนที่ทำกินของก็มีทั้งของคนไทยพื้นราบ และคนลีซู เป็นที่จับจอง ที่บุกเบิกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ พื้นที่ทำกินของชาวบ้านจะถูกเวรคืน หน่วยงานรัฐอาจจะอ้างว่าชาวบ้านครอบครองโดยไม่มีเอกสารสิทธิที่ทำกิน ยิ่งถ้าเป็นชาวเขาเผ่าลีซู ก็จะอ้างว่าไม่มีบัตรประชาชนอีกถึงเวลาจริงๆ ที่เขายืนยันว่าจะจ่าย เขาอาจจะอ้างเงื่อนไข ว่าไม่มีระเบียบรองรับว่าต้องจ่ายเงินฉะนั้นผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนมีแน่นอน แต่ไม่ได้ถูกพูดคุยอธิบายเท่านั้น”

เอกสารประกอบการเขียน

  • ความย้อนแย้งของนโยบายรัฐ การอนุรักษ์ที่มักถูกเลือกไว้ข้างหลังการพัฒนา, อรยุพา สังขะมาน : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร