จากข้อความในพระราชบันทึกของรัชกาลที่ ๖ เรื่องปลดกรมหมื่นชุมพรฯ สาเหตุประเด็นใหญ่ที่สุด คือเรื่องที่ทรงได้รับทราบจาก “สายข่าว” ของพระองค์ในกระทรวงทหารเรือ ว่าความประพฤติของกรมหมื่นชุมพรฯ “นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ” โดยเฉพาะ “ข้อที่ร้ายคือกรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก…”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 31 - ออกจากราชการ

รัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกต่อไปว่า “ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน” คือเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พระยาราชวังสรรค์ ได้มากราบบังคมทูลว่า การที่ทรงสั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดินทะเล (เป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับนายทหารเรือที่มีความรู้เฉพาะทาง) ซึ่งค้างจ่ายมาหลายปีแล้วนั้น เกิดมีนายทหารเรือคนหนึ่งไปพูดว่าที่ต้องทรงอนุญาตเช่นนั้น เพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายแล้ว พวกเขาจะ “เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ” ซึ่งตีความกันว่านายทหารเรือมีความคิดที่จะ “สไตรค์” (นัดหยุดงาน)

“ปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะจะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว ๑ เพื่อกำราบให้ละพยดลง, และจะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น…”

เมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงให้หาเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเข้าไปหารือเรื่องนี้ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” มีท่าทีวิตกว่า “ถ้าให้กรมชุมพรออกพวกนายทหารที่เปนศิษย์จะหัวเสียและอาจจะทำบ้าอะไรได้ต่างๆ มีลาออกพร้อมกันเปนต้น…” และในเวลาต่อมา องค์เสนาบดียังทรงทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย แสดงข้อปริวิตกต่อพระราชดำริดังกล่าว ทว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่า “ต้องให้ออก, เพื่อรักษาอำนาจแห่งราชการ…ฉันจึ่งได้ตกลงตอบไปยังบริพัตร์ สั่งให้กรมชุมพรออกจากประจำการกรมทหารเรือ…”

สรุปได้ว่า เสียงเล่าลือ หรือการคาดหมายว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีผลทำให้กรมหมื่นชุมพรฯ ต้องตกที่นั่ง “ผู้ที่ไม่ไว้วางพระราชหฤทัย” ล้วนมีส่วนจริงอยู่บ้าง อย่างละเล็กละน้อย ถอยหลังขึ้นไปตั้งแต่อัตวินิบาตกรรมของหม่อมเจ้าหญิงทิพสัมพันธ์ เหตุวิวาทระหว่างนักเรียนนายเรือกับมหาดเล็กที่หน้าพระราชวังสราญรมย์ ข่าวลือเรื่องแปลงผักที่พญาไท ฯลฯ ทว่าเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ที่จุดชนวนขึ้นจนลุกลามคือกรณีที่ “นายทหารเรือผู้หนึ่ง” กล่าวพาดพิงถึงกรณี “เงินค่าเดินทะเล” หรือ “เงินเพิ่มค่าวิชา” สำหรับนายทหารเรือ ซึ่งเพิ่งตกเบิกหลังจากถูกระงับมาหลายปี

แน่นอนว่า เรื่องราวใดๆ ย่อม “เล่าลือ” ขึ้นไปถึง “พระเนตรพระกรรณ” ได้ด้วย “การเพ็ดทูล” ขึ้นมาเป็นลำดับ และย่อมอยู่นอกเหนือความรู้ของ “คนชั้นหลัง” อย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร อะไรเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูล หรือแม้กระทั่งว่าเรื่องใดคือการใส่ร้ายป้ายสี ข้อสรุปในเรื่องนี้จึงยังคงไม่ต่างกับสิ่งที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ เคยสรุปประเด็นไว้อย่างคมคายว่า “…กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงต้องทรงออกจากประจำการด้วยผลอันเนื่องมาจากการกระทำและการพูด (เสียงเล่าลือ) ของผู้อื่นโดยแท้…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ