โดย ยัติภังค์

กระแสความนิยมในเรียลลิตี้โชว์จากประเทศเกาหลีใต้ทาง Netflix อย่าง Single’s Inferno ทำให้ชวนนึกถึงเรียลลิตี้โชว์รายการหนึ่งที่เคยได้รับความนิยมมาก่อนหน้านี้ที่เมื่อหลายปีก่อน ผมบังเอิญกดเลือกดูเพื่อฆ่าเวลานั่นคือ Terrace House เรียลลิตี้โชว์จากประเทศญี่ปุ่นจากสตรีมมิ่งนี้ 

และโดยไม่รู้ตัวเราก็ติดมันงอมแงม

Terrace House
Terrace House : Tokyo 2019–2020

หากรายการแนวเรียลลิตี้โชว์ที่เราคุ้นชินกันต้องมีการประกวดวัดผลว่าใครจะเป็นผู้ชนะ Terrace House ก็นับเป็นรายการที่แปลกจนสื่อหลายแห่งนิยามว่ามันคือเรียลลิตี้โชว์ที่ไม่เหมือนรายการเรียลลิตี้โชว์ทั่วไป มันเพียงแค่ให้ผู้ถูกคัดเลือกผู้ชาย ๓ คน ผู้หญิง ๓ คนต่างพื้นเพมาใช้ชีวิตร่วมกัน ในบ้านหรูมีระเบียงโอ่โถง ห้องพักแยกชาย-หญิง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องดูหนัง ไปจนสระว่ายน้ำ ทางทีมงานจะตามติดชีวิตพวกเขาในบ้านและนอกบ้านไม่ต่างจากเรียลลิตี้โชว์ทั่วไปก่อนจะนำมาตัดต่อให้ชมสัปดาห์ละตอนในความยาวประมาณ ๔๐-๕๐ นาที ใครอยากจะอยู่จนจบรายการ หรืออยู่ได้นานเท่าที่ต้องการ หากใครอยากออกเมื่อไหร่ก็จะบอกสมาชิกในบ้าน จากนั้นก็จะมีชาย-หญิงคนใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาใช้ชีวิตแทนที่

ผู้ที่เข้ามาอยู่ในบ้านเกือบทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่ ถูกคัดเลือกมาจากอาชีพการงานที่ดึงดูด และมีอนาคตในมุมมองของสื่อ อาทิ นักแสดง, นางแบบ-นายแบบ, นักกีฬา, นักกีฬาผาดโผน, นักดนตรี-นักร้อง, อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ และแน่นอนว่าส่วนใหญ่หน้าตาดี หรือมีชื่อเสียงในอาชีพนั้นๆ อันเป็นอีกเงื่อนไขให้อาชีพอื่นๆ พอจะสอดแทรกเข้ามาใช้ชีวิตในบ้านนี้ได้บ้าง

แน่นอนหนุ่มสาวเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายในการมองหาคนรัก ซึ่งนับเป็นจุดขายหลักของ Terrace House รวมไปถึงเรียลลิตี้โชว์จำนวนไม่น้อย ผู้เข้าร่วมรายการหลายคนก็ยังเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ เมื่อพวกเขาพลาดหวังในเรื่องความรักว่านั่นเป็นความพ่ายแพ้ แต่ด้วยความที่กติกาของรายการค่อนข้างอิสระ เราจึงเห็นว่าหลายครั้งผู้มาอยู่บ้านจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้มองเรื่องความรักเป็นสำคัญ มีตั้งแต่คนที่มาอยู่โดยเมื่อเป้าหมายของตนสำเร็จเมื่อใดก็จะออกจากบ้าน 

เดิมทีรายการดังกล่าวเดิมทีไม่ใช่การผลิตจาก Netflix มันเป็นผลงานการสร้างและแพร่ภาพออกอากาศครั้งแรกในชื่อ Terrace House: Boys × Girls Next Door เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๒-๒๐๑๔ ทางสถานีโทรทัศน์ฟูจิ ทีวี และได้รับความนิยมจนออกอากาศติดต่อกันสามปี ก่อนจะปิดฉากด้วยการฉายเป็นภาพยนตร์ Terrace House: Closing Door ในปี ค.ศ.๒๐๑๕  และในซีซั่นต่อๆ มาทาง Netflix ก็เข้ามาร่วมทุนผลิตรายการนี้ ได้สิทธิ์นำไปออกเผยแพร่ทั่วโลกอันได้แก่ Boys & Girls in the City (ค.ศ.2015–2016), Aloha State (ค.ศ.2016–2017) ที่ย้ายบ้านให้พวกเขาใช้ชีวิตที่ฮาวาย, Opening New Doors (ค.ศ.2017–2019) ซีรี่ส์ตอนนี้ย้ายมาในเมืองคารุอิซาวะ จังหวัดนางาโนะ และ Tokyo 2019–2020 (ค.ศ.2019–2020) ซีรี่ส์ที่พาผู้เข้าร่วมกลับมาใช้ชีวิตในกรุงโตเกียวอีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้คนที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาในบ้านมีชื่อเสียงยิ่งขึ้น อาทิ เซย์นะ ชิมะบุคุโระ นางแบบสาวที่ดังมาจากซีรี่ส์แรก และกลายเป็นแขกรับเชิญในอีกหลายซีซั่น, ลอเรน ไซ นางแบบ-นักวาดภาพสาวชาวจีน-อเมริกัน ที่มีโอกาสได้แสดงซีรี่ส์โทรทัศน์ และภาพยนตร์ในอเมริกา

น่าสนใจในความเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่ไม่เร่งเร้าอารมณ์มากนัก และเนื้อหาหลายส่วนเองมีความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก แต่เมื่อแพร่ภาพทาง Netflix มันก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมอย่างช้าๆ จนกลายเป็นหนึ่งในรายการดังของสตรีมมิ่งนี้ที่มีคนดูติดตามทั่วโลก มีแฟนคลับ และคนสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ที่คอยติดตามไฮไลต์เด่นๆ ในแต่ละสัปดาห์ ไปจนถึงตามติดชีวิตหลังออกจากบ้านของผู้ร่วมรายการอีกด้วย

 หากจะให้นิยามเสน่ห์ของรายการนี้ทั้งซีรี่ส์อาจเรียกได้ว่า มันเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่นำเสนออุดมคติคนหนุ่มสาวตามขนบญี่ปุ่น หากถูกปรับแต่งแล้วให้มีความเป็นสากลมากขึ้นกว่าในอดีต

แท้จริงแล้วรูปแบบรายการของ Terrace House ไม่ได้ต่างจากรายการวาไรตี้ดังๆ ของญี่ปุ่นที่มักจะพาเราไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ขณะที่มีแขกรับเชิญอย่าง คนดัง หรือคนในวงการบันเทิงซึ่งอยู่ในสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์จะปรากฎเป็นช่องเล็กๆ เพื่อแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ก่อนจะถูกตัดไปยังสตูดิโอที่คล้ายๆ รายการเกมโชว์เพื่อสัมภาษณ์ความเห็นเพิ่มเติม

terracehouse03
ห้องของผู้ดำเนินรายการ Terrace House

Terrace House ปรับเปลี่ยนโดยสตูดิโอของผู้ดำเนินรายการถูกตกแต่งคล้ายห้องนั่งเล่นที่พวกเขาจะมานั่งดูรายการนี้ไม่ต่างกับผู้ชม มันถูกตบแต่งอย่างเรียบหรูสไตล์มินิมอลไม่ต่างกับบ้านเทอร์เรซ เฮาส์ สร้างบรรยากาศทั้งเป็นกันเอง และกลมกลืน โดยไม่จำเป็นต้องใส่กราฟฟิค ตัวอักษรรกรุงรังแบบที่เรามักเห็นในรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ พร้อมกับใช้เพลงประกอบเป็นเพลงสากลภาษาอังกฤษ หรือเทคนิคการใช้เสียงประกอบอย่างมีรสนิยม

ขณะที่ผู้ดำเนินรายการทั้งหกคน จะแนะนำตอนเปิดรายการ เล่าเหตุการณ์ตอนที่ผ่านมา และเมื่อดำเนินเหตุการณ์ในบ้านต่อไปได้ครึ่งทาง ก็จะตัดมาให้พิธีกรแต่ละคนแสดงความเห็นต่างๆ อย่างออกรสตามบุคลิกของแต่ละคนที่ต่างกันไป เช่น สองนักแสดงตลก เรียวตะ ยามาซาโตะ ที่โผงผางปากจัด, โยชิมิ โทคุอิ ซึ่งเน้นปล่อยมุขตลกสัปดนและชอบจินตนาการถึงเหตุการณ์เพี้ยนๆ ที่จะเกิดต่อไปอย่างลื่นไหล และ เรนะ ทรินเดิล ลูกครึ่งสาวญี่ปุ่น-ฝรั่งเศสที่ทำหน้าที่สรุปเหตุการณ์ด้วยบุคลิกนิ่ง  เรียบร้อย แต่บทจะปล่อยมุขก็ทำได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยสร้างสีสัน แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเบียดบังเรื่องราวภายในบ้านจนเกินไป

ความโดดเด่นของรายการคือความอิสระ ดำเนินไปเหมือนกับไม่มีตอนจบ(รายการจะจบเมื่อทางผู้ผลิตกำหนดว่าหลังจากผ่านไป 24 ตอนจะได้ขยายอีกไหม) ไม่มีการแข่ง ไม่มีผู้ชนะ หรือบังคับให้รักกัน การไม่ได้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนดังกล่าวกลับทำให้อุดมคติตามขนบของสื่อญี่ปุ่นถูกขับเน้นชัดเจนยิ่ง เพราะไม่ว่าจะอย่างไรผู้เข้าร่วมที่ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว การที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสถานที่ดีๆ ครบครันสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นนี้นับเป็นโอกาสที่ยากยิ่งอยู่แล้ว มันจึงเปิดโอกาสให้นอกจากพวกเขาจะหาคู่รัก(ที่แตกต่างในสายอาชีพของตน) แสดงความโดดเด่นในฝีมือตัวเองด้านต่างๆ ออกมา ค้นหาสิ่งที่ตนเองชื่นชอบอีกครั้ง บางคนมาเพื่อฝึกปรือขัดเกลาตัวเองมากขึ้น ซึ่งนั่นรวมถึงต่างถกเถียงทะเลาะกันเพื่อผลักดัน หรือเห็นแย้งกันเองในเรื่องทัศนคติการใช้ชีวิต

หากใครเคยชมละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นก็จะพบว่าพวกเขาไม่ต่างจากตัวละครที่โลดแล่นในสื่อดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เสนอเรื่องรักใคร่ แต่ยังส่งเสริมอุดมคติในชีวิตการงานอย่างยิ่ง จนบ่อยครั้งในหลายเรื่องตัวเอกก็เลือกทุ่มเทให้กับงานมากกว่าความรัก หรือชีวิตส่วนตัว ตัวเอกทั้งหกชีวิตก็ไม่ต่างจากละครเหล่านั้นบางช่วงบางคนเป็นพระเอก-นางเอกของสัปดาห์หนึ่ง ในหลายอาทิตย์ต่อมาพวกเขาก็อาจเป็นวายร้ายในสายตาผู้ชม

terracehouse06
สึบาสะ กับ ชิอง จากซีรี่ส์ Terrace House : Opening New Doors

ความรักซึ่งเป็นจุดขายของ Terrace House มีให้ชมหลากหลายและน่าจดจำ ทั้งความรักที่สุกงอมแต่ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึกจนอีกฝ่ายต้องออกตัวแรงระหว่าง อูจิ ช่างทำผมหนุ่มและ มิโนริ นางแบบสาว ในซีรี่ส์ Boys & Girls in the City, ความสัมพันธ์แปลกๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นความรักของ ไก นักกีฬากระดานโต้คลื่น กับ นิกกี้ นักศึกษาและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในซีรี่ส์ Aloha State, คู่รักที่ไม่มีคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ระหว่าง ชิอง นายแบบหนุ่มลูกครึ่งรัสเซีย และสึบาสะ นักฮอคกี้น้ำแข็ง และความรักข้างเดียวที่แม้ไม่สมหวัง แต่ความทุ่มเท และแสดงความรู้สึกดีๆ ก็สร้างความสัมพันธ์ที่งดงามระหว่าง มาซาโอะ มือเบสร่างท้วมวง Gesu no Kiwami Otome กับ ริซาโกะ นางแบบโฆษณา ในซีรี่ส์ Opening New Doors 

terracehouse07
รูกะ กับ ฮารูกะ ในซีรี่ส์ Terrace House : Tokyo 2019–2020

แต่อีกด้านก็มีคนในบ้านมากมายที่สร้างความประทับใจแก่คนดูจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ฮันดะ สถาปนิกซึ่งได้รับฉายาว่ามิสเตอร์เพอร์เฟกต์ ผู้ออกตัวว่ามีแฟนอยู่แล้ว และมาอยู่บ้านแห่งนี้เพื่อหาแรงบันดาลใจ ก่อนจะมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายทางอาชีพให้ไกลกว่าปัจจุบันใน Boys & Girls in the City, รูกะ พนักงานพาร์ทไทม์ เด็กหนุ่มหน้าตาดีที่เริ่มต้นเหมือนจะได้รับความสนใจจากหญิงสาวในบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนิสัยที่คิดเหมือนเด็กที่ทำอะไรไม่เป็นถึงขั้นฝันอยากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ทำให้ถูกมองอย่างขบขัน ก่อนจะค่อยๆ พบหนทางเติบโตของตนเองได้อย่างน่าประทับใจ, เป๊บเป้ นายแบบชาวอิตาลีที่ทำตามความฝันของตนจนกลายเป็นนักวาดมังงะมืออาชีพได้สำเร็จ ใน Tokyo 2019–2020 เป็นต้น

Terrace House ยังเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เท่าทันกับโลกออนไลน์ ทุกซีรี่ส์จะให้ผู้ใช้ทุกคนเปิดใช้โซเชียลมีเดียอย่าง อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่ออัพเดทชีวิตตั้งแต่ก่อนเริ่มออกรายการ รวมไปถึงเห็นเรื่องราวของพวกเขานอกเหนือจากภายในบ้าน ขณะเดียวกันเสียงวิพากษ์วิจารณ์คนในบ้านเองจากออนไลน์ ก็จะถูกนำมาเป็นประเด็นบางส่วนที่บอกเล่าโดยผู้ดำเนินรายการ รวมไปถึงส่งผลต่ออารมณ์ และปฏิกิริยาของคนในบ้านอีกด้วย

น่าเสียดายว่าการเล่นกับอารมณ์ของคนในบ้านกับโซเชียลมีเดียในระยะหลังมีมากขึ้น และกลายเป็นดาบสองคม

terracehouse05
ลอเรน ไซ ในซีรี่ส์ Terrace House : Aloha State

เดิมทีรายการ Terrace House ก็ถูกตั้งข้อสังเกตไม่น้อยมาก่อนแล้วว่าสิ่งที่ปรากฎให้เราชม ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้องในระยะชัด การถ่ายภาพส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างสวยงาม จนเหมือนละครโทรทัศน์มากกว่าเรียลลิตี้โชว์ และ ลอเรน ไซ นางแบบสาวที่เคยร่วมในซีรี่ส์ Aloha State ก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี ๒๐๑๗ กับเว็บ Metropolis ว่าในความเห็นเธอมันมีความเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์น้อยมาก มันถูกถ่ายราวกับเป็นละครโทรทัศน์ ทีมงานจะมาถ่ายทำในบ้านวันละไม่กี่ชั่วโมง และไม่ได้ถ่ายทำทุกวันด้วยซ้ำ ยกเว้นช่วงที่มีการออกไปเที่ยวทั้งบ้าน หรือออกเดต ส่วนที่เหลือของวันกลับได้รับการบอกว่าไม่ต้องพูดคุยกัน เพราะไม่มีกล้องมาถ่ายทำ อย่างไรก็ตามภายหลังเนื้อหาส่วนดังกล่าวได้ถูกขอให้ลบออกไป

เค้าลางของปัญหาในรายการปรากฎอีกเมื่อ โทคุอิ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการถูกถอดออกเมื่อ ตุลาคม ๒๐๑๙ หลังจากถูกข้อหาเลี่ยงภาษีระหว่างปี ๒๐๑๖-๒๐๑๘ 

terracehouse02
ฮานะ คิมูระ

และวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ก็เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวเมื่อ ฮานะ คิมูระ นักมวยปล้ำหญิงลูกครึ่งญี่ปุ่น-อินโดนีเซีย ผู้ร่วมในซีรี่ส์ Tokyo 2019–2020 ตัดสินใจฆ่าตัวตายในอพาร์ทเมนต์ของเธอ หลังจากทวิตเตอร์แสดงความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกวิจารณ์อย่างหนักทางโซเชียลมีเดีย หลังเหตุการณ์ทะเลาะกันระหว่างเธอกับ ไค นักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน ก่อนทางรายการจะตัดสินใจยุติการออกอากาศกลางครัน

ภายหลังจากนั้น Terrace House ยังเผชิญมรสุมข่าวฉาวอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเดียวกันนั้น สมาชิกในบ้าน และทีมงานไม่เปิดเผยชื่อได้บอกสื่อว่ารายการมีการโน้มน้าวจูงใจให้คนในบ้านแสดงความเห็นต่างๆ ตามที่รายการต้องการ และเดือนกรกฎาคม ๒๐๒๐  เคียวโกะ คิมูระ แม่ของผู้เสียชีวิตได้ออกมากล่าวหาว่าทีมงานกดดันให้ลูกสาวของตนแสดงพฤติกรรมรุนแรงหน้ากล้อง 

จนภายหลังทางสถานีก็ยอมรับว่าคนที่เข้าร่วมรายการได้ลงนามทำสัญญาให้ยอมรับคำแนะนำ และวิธีการถ่ายทำที่อาจมีการให้ถ่ายทำซ้ำใหม่ได้ ซึ่งแม้ในสัญญาจะไม่ได้มีการบังคับให้ทำตาม แต่หากทำผิดเงื่อนไขจนเกิดผลกระทบ พวกเขาอาจต้องต้องชดใช้ค่าเสียหาย ต่างไปจากที่รายการมักบอกว่ามันถูกถ่ายทำแบบไม่มีบท

ทั้งนี้รวมไปถึงข่าวฉาวของอดีตสมาชิกในบ้านอย่าง ชิอง โอกาโมโต้ นายแบบหนุ่มจากซีรี่ส์ภาค Opening New Doors ถูกจับข้อหามีกัญชาในครอบครองเมื่อสิงหาคม ๒๐๒๐ จนแม้ทางสถานีฟูจิ ทีวีจะไม่ได้ประกาศยุติการผลิตอย่างเป็นทางการ เรียลลิตี้โชว์ซีรี่ส์นี้ก็ยังไม่ได้กลับมาสร้างใหม่จนถึงปัจจุบัน

บทลงเอยที่ไม่ได้สวยงามของรายการเหมือนความพยายามหาบทสรุปในตอนจบซีซั่นของรายการ ที่มักจบราวกับที่นี่เป็นวิมานแสนสุข อาจให้บทเรียนกับเราว่ายิ่งเห็นความสวยงามของความรัก หรือแนวคิดเชิงอุดมคติ โปรดตระหนักว่าล้วนเป็นภาพมายาที่ถูกปรุงแต่งมาแล้ว 

ภาพหรือสื่อที่บอกกับเรา ยืนยันกับเราว่านี่คือความเป็นจริง 

ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้เลยว่าอะไรบ้างที่เป็นความจริงแท้

ข้อมูลอ้างอิง