ราชนาวิกะสภากับ นาวิกะศาสตร์

มกราคม ๒๔๖๐ ราชนาวิกะสภา (ภายหลังสะกด “ราชนาวิกสภา” ไม่มีสระอะ) หน่วยงานส่งเสริมการศึกษาของนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตร เริ่มตีพิมพ์นิตยสารรายเดือน นับเป็นครั้งแรกที่ “ทหารเรือ” ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ของตนเอง ใช้ชื่อว่า “นาวิกศาสตร์”

อาจเพราะระยะนั้น ราชนาวิกะสภา รวมถึง “นาวิกศาสตร์” สังกัดอยู่กับกรมเสนาธิการทหารเรือ สิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือหน้ากระดาษของ “นาวิกศาสตร์” กลายเป็น “พื้นที่สื่อ” หรือ “เวที” นำเสนอแนวคิดขององค์เสนาธิการทหารเรือ คือกรมหมื่นชุมพรฯ

ตั้งแต่ฉบับแรก คือปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๐ ปรากฏบทความที่เรียบเรียงขึ้นจากปาฐกถาของนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดังมี “คำนำ” ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าต้องจำใจบรรยายโดยปากเปล่า ไม่มีหนังสือคู่มือไปด้วย คัดเฉภาะเรื่องที่ได้เรียนมาแล้ว…ได้ให้นายนาวาตรีหลวงเริงกลางสมร จดข้อความย่อๆ ในระหว่างการบรรยาย แต่คนพูดกับคนเขียนย่อมไม่ทันกันอยู่เอง จึงเปนการได้บ้างเสียบ้าง…”

บทความจากปาฐกถาของเสด็จในกรมฯ เรื่องนี้ลงพิมพ์ใน “นาวิกศาสตร์” ติดต่อกันไปจนถึงปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๔ รวมเป็นระยะเวลากว่า ๔ ปี

ดูเหมือนว่าในคราวที่ทรงกลับเข้ามารับราชการใหม่อีกครั้ง เสด็จในกรมฯ ทรงเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารความก้าวหน้าของทหารเรือ และแนวพระดำริของพระองค์ ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖ ดังที่ทราบกันดีว่า ทรงส่งบทความพระราชนิพนธ์ในนามปากกาต่างๆ ไปลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ แม้แต่พระยาวินัยสุนทร นายกกรรมการของราชนาวิกะสภา ก็คือหนึ่งในบรรดานักเขียนที่ใช้นามปากกา แถลงความคิดโต้ตอบกับพระองค์มาอย่างสม่ำเสมอยาวนาน

ไม่เฉพาะแต่ในหน้ากระดาษของ “นาวิกศาสตร์” เท่านั้น ใน “ดุสิตสมิต” นิตยสารของวงราชสำนัก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๔๖๒ ก็ลงพิมพ์บทความ “ความเจริญแห่งราชนาวี” โดย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นนายพลเรือโท ตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ

อาจพิจารณาได้ว่า บทความชิ้นนี้เป็นโอกาสในการประกาศความจงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัว กลาง “พื้นที่สื่อ” ของราชสำนักโดยตรง ดังมีข้อความตอนท้าย คล้ายเป็นบทอาเศียรวาทเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๑ โดยฝ่ายสัมพันธมิตร-อันมีกรุงสยามรวมอยู่ด้วย-เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

“…พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวของชาวไทย พระองค์ทรงไวพระปัญญามีพระปรีชาสามารถในพระราชกรณียกิจใหญ่น้อย, ทรงเห็นเหตุใกล้ไกลในปัจจุบันและอนาคต ปรากฏพระเกียรติคุณว่าพระองค์เปนจอมแห่งนักการเมือง, ดังเรื่องประเทศสยามประกาศสงครามเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร์ได้พิชิตแก่ราชศัตรูอันร้ายกาจแล้วนั้นเปนอาทิ, ซึ่งเปนพยานให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลกแล้วว่า พระองค์แต่ผู้เดียวได้ทรงนำชาติสยามให้ดำเนินขึ้นสู่เกียรติยศ เสมอหน้ากับนาๆ ชาติ…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ