ณัชญา สังข์นิยม, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : ภาพ

วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, Thai PBS, นักข่าวพลเมือง, The Reporters และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews จัดเวทีเสวนา “ถอดรหัส 56-65 จากฝันร้ายน้ำมันรั่ว สู่แผนฟื้นฟูอ่าวระยองที่เป็นจริง” หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รั่วจากท่อออกสู่ท้องทะเลตั้งแต่ค่ำวันที่ 25 มกราคม 2565

จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร 

แม้เจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องบินบินสำรวจคราบน้ำมันซึ่งพบว่ามีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ แผ่กระจายอยู่บนผิวน้ำ ใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมันฉีดพ่นลงไปในทะเลเพื่อให้คราบน้ำมันสลายตัว จมลงสู่ใต้ท้องทะเลเบื้องล่าง แต่คล้อยหลังเกิดเหตุไม่กี่วันก็พบว่ามีคราบน้ำมันถูกซัดขึ้นชายหาดแม่รำพึง ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตลอดแนวหาด 3 กิโลเมตร ทำให้น้ำทะเลและหาดทรายบางส่วนกลายเป็นสีดำ เจ้าหน้าที่ต้องดูดคราบน้ำมันจากบริเวณชายหาดเพื่อนำใส่ถังไปกำจัด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “ฝันร้ายครั้งแรก” ของชาวระยอง ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน คือปี 2556 ก็เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รั่วไหลออกจากท่อขนส่งน้ำมันใต้น้ำสู่ท้องทะเล

หายนะครั้งล่าสุดในรอบเก้าปีจึงไม่ต่างอะไรจาก “ฝันร้ายครั้งที่สอง” ของคนระยอง โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันแนบแน่นอยู่ความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเล ถึงขนาดมีคนกล่าวว่า “ค่าชดเชยเป็นเรื่องรอง ฟื้นฟูอ่าวระยองเป็นเรื่องหลัก”

เขาคนนั้น คือ วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ผู้บอกเล่าบทเรียน ผลกระทบ ตลอดจนอุปสรรคปัญหา ที่ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระยองต้องประสบพบพานจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วซ้ำซาก ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2565

wkongnarong01

เราต้องการให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พูดถึงแต่การชดเชยเยียวยา

วันแรกของเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2556 เราทำประมงอยู่ก็ได้กลิ่นน้ำมัน วันที่สองเห็นว่าเขามีการจัดเก็บน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเล ช่วงนั้นคลื่นลมไม่ได้แรงเลย เขาควรจะใช้บูมล้อม ดูด แล้วก็เอาไปกำจัด แต่มันก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติตามหลักสากล จนกระทั่งในวันที่สามน้ำมันก็ไหลเข้าเกาะเสม็ด ช่วงที่น้ำและลมพัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่จริงๆ ก็ไม่แรงเท่าไหร่ มันน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

น้ำในอ่าวของเราโดยบริบทเป็นแบบท้องกระทะทำให้น้ำเกิดการไหลวน แต่การไหลวนนั้นมันเป็นน้ำที่ตื้นมาก เพราะมันเป็นแค่อ่าว ไม่ใช่มหาสมุทรที่ลึกแบบดิ่งลงไป มันแค่ไต่ระดับ บางระดับก็ตื้น อาจจะอยู่แค่ 6, 7 หรือ 8 เมตร ส่วนใหญ่จุดที่คราบน้ำมันที่ถูกกดให้จมลงไปโดยการฉีดน้ำยา ตั้งแต่บริเวณหินยวนไปถึงเกาะเสม็ด ลึกแค่ 7-8 เมตรเท่านั้น ตามมาตรฐานการฉีดน้ำยาควรฉีดในพื้นที่มีความลึกไม่ต่ำกว่า 20 เมตร แต่ตรงนั้นมันตื้นมาก จริงๆ ไม่สมควรฉีดเลย สมควรจะให้เข้าอ่าวพร้าวแล้วก็จัดเก็บ

มาในครั้งนี้ เขาไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ฉีดอัดกันเต็มที่ ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่ผลสุดท้ายน้ำมันก็ขึ้นหาดจนได้ สร้างผลกระทบ มันมีผลกระทบทั้งนั้น กรณีปี 2565 จากวันที่ 25 มกราคม ที่น้ำมันรั่วเป็นวันแรก ถึงวันที่ 30 ชาวบ้านรวมกลุ่มพูดคุยกัน 400-500 คน หรืออาจจะมากกว่านั้น พี่น้องเราได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากการที่ภาครัฐไม่ลงมาให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบ

โดยประเด็นหลักเลยคือพวกเราถูกผลกระทบหลายอย่าง เราต้องการฟื้นฟู ซึ่งการฟื้นฟูในที่นี้หมายถึงการฟื้นฟูทางด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่พูดถึงแต่การชดเชยเยียวยา แต่เราพูดถึงเรื่องของปัญหาการฟื้นฟูทรัพยากร ซึ่งเหตุการณ์ในปี 2565 ก็ไม่แตกต่างอะไรจากปี 2556 เลย

wkongnarong02

เขาฉีดเพื่อสลาย บางส่วนถูกกดจม ให้รีบพ้นไปจากสายตา

ข่าวน้ำมันรั่วมีผลกระทบทันทีกับอาหารของเราที่ไม่มีคนรับประทาน แม่ค้าในชุมชนหรือผู้คนในตลาดที่ลงทุนมาเรียบร้อยเลยครับ เคยมีอาหารทะเลเป็นช่องทางหาเงินเลี้ยงชีพมานานก็ได้รับผลกระทบมาก และได้โทรไปสอบถามกับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ ก็ต้องหยุดกันหมดเลย แขกที่เช่าโรงแรมยกเลิกหมดเลยครับ แล้วที่มีผลกระทบหนักยิ่งกว่านั้น ผลจากการที่น้ำมันรั่วครั้งนั้น มีปลา มีปู ที่เลอะคราบน้ำมัน เครื่องมือประมงทั้งหมดในอ่าวที่ได้รับผลกระทบ

แล้วที่เห็นว่าหนักก็คือ กลุ่มสมาชิกของผมมีเรือที่ขับออกไปดูด้วยกัน ในแนวปะการังที่เป็นปะการังเทียมก็ดี ในโซนสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่รอการพักฟื้นก็ดี ที่อาศัยเพาะพันธุ์ แพร่พันธุ์ แล้วก็แนวปะการังแท้ในอ่าวระยองถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมัน แล้วก็สารเคมีที่ฉีดลงไป เราก็ไม่รู้ว่าจะอันตรายขนาดไหน คาดว่ามันน่าจะอันตรายกว่าปี 2556

เขาฉีดเพื่อสลาย บางส่วนถูกกดจม ให้รีบพ้นไปจากสายตา เพื่อไม่ให้มีหลักฐานว่า วันนี้ไม่กระทบใครเลยนะ

ตามข่าวที่ออกมา ตอนแรกตั้งแต่ 400,000 ลิตร ต่อมาลดลงเหลือ 100,000 กว่าลิตร อยู่มาก็ลดลงมาอีก 20,000 ลดลงมาเรื่อยๆ วันดีคืนดี อย่างวันล่าสุดบอกว่า 50,000 ลิตร มันขึ้นมาครับ แล้วเมื่อวานสดๆ ร้อนๆ เหลือ 40,000 ลิตร ทำไมมันรั่วแต่ละวันไม่เท่ากัน เรือคนละลำหรือไง ที่ผมเห็นมันก็จุดเดียวกัน เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วมันรั่วกี่ลิตร

มันรั่วตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ที่เรารู้ข่าว จนวันนี้วันที่ 5 กุมภาพันธ์แล้ว เมื่อวานวันที่ 4 เขายังฉีดสารเคมีกันอยู่ เขายังเก็บกันอยู่ วันที่ 5 ยังมีฟิล์มบางๆ ที่ชายหาด มันเป็นการฉีดทั้งวันทั้งคืน

พี่น้องผู้เคยได้รับผลกระทบในปี 2565 เสนอแนวคิดว่าถ้าจะให้แนวทางแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องผู้ว่าเปิดเผยข้อมูลความจริงก่อน หรือหมายถึงจังหวัดระยองนั่นแหละ เปิดเผยให้ชัดว่าน้ำมันรั่วครั้งนี้จำนวนกี่ลิตร ใช้สารเคมีฉีดกี่ลิตร วันนี้สารพวกนี้มันมีพิษขนาดไหน ประเมินความเสียหายอย่าปกปิดกันเลยครั้งนี้ ถ้าไม่เปิดเผย บอกได้เลยว่าตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2565 ผลกระทบมันบวกกันไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่จะฟื้นคืนมา

wkongnarong03

ผ่านมา8-9 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ไม่มีการวางแผนที่จะฟื้นฟูทะเลอย่างถูกต้องเลย

ผ่านมา 8-9 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ไม่มีการวางแผนที่จะฟื้นฟูทะเลอย่างถูกต้องเลย ก็เลยมีผลกระทบต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ไม่เข้าใจอย่างหนึ่งคือ ณ วันนี้ หน่วยงานในจังหวัดระยอง จะเป็นท้องถิ่น หรือจังหวัดก็ดี ผมไม่ได้ว่าหน่วยงานเบื้องล่าง เพราะหน่วยงานเบื้องล่างเขายินดี เขาเห็นภาพว่าทะเลจำเป็นต้องฟื้นฟูให้ถูกต้องตามที่ชาวบ้านเสนอ ผมเข้าไปหลายจุดในพื้นที่บ้านเรา แต่ที่ติดอยู่อย่างหนึ่งคือ นายไม่สั่ง พอนายไม่สั่ง ขบวนการแก้ปัญหา ที่เราเสนอไป ข้างล่างรับได้แต่ทำไม่ได้

ก็เลยงงอยู่อย่างว่าทำไมข้างบน เมื่อทรัพยากรของชาติ ทรัพย์สินของแผ่นดินถูกกระทำเสียหาย ทำไมไม่มีการสั่งนโยบายลงมาว่าวันนี้เมื่อมันเสียหายแล้ว จะต้องมีนโยบายฟื้นฟูให้ชัด

แปลกใจว่าภาครัฐเองทำไมไม่เล็งเห็นความสำคัญของทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ส่วนรวม

wkongnarong04

การฟื้นฟูที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเกิดจากคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ในพื้นที่

การฟื้นฟูที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเกิดจากคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ในพื้นที่ คนที่รู้จริง ถ้าบริษัทหรือหน่วยงานภาครัฐรับฟังเสียงของประชาชนบ้างมันก็จะไม่สร้างปัญหาถึงขนาดนี้ ตอนปี 2556 เราเสนอว่าการพูดคุยเป็นทางที่ดีที่สุด แต่ว่าการพูดคุยของพวกเรากลับถูกปิดกั้น วันนี้เราก็มีการเสนอเหมือนกันว่าเราต้องมีการสร้างเป็นคณะกรรมการเฝ้าระวังและทำการตรวจสอบทุกครั้ง

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากสาเหตุที่ไม่ระวัง เพราะปัญหาการควบคุมการระวังมันไม่มีเลยทำให้มีผลกระทบมาจนถึงตอนนี้

ตอนปี 2556 เขาบอกระวังแล้วและตรวจสอบแล้วไม่มีข้อผิดพลาด ครั้งนี้เราก็ไม่รู้ว่าพวกเขาได้ทำตามที่พูดไหม สรุปง่ายๆ ว่าถ้ามีภาคประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองเข้าตรวจสอบด้วย ตั้งกรรมการมาตรวจสอบ อย่าปกปิดข้อมูลกับประชาชน เพราะทุกวันนี้เราไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเลย บริษัทเอกชนและภาครัฐต้องนำเหตุการณ์ครั้งนี้ให้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

wkongnarong05

ถ้าห่วงโซ่ต่างๆ ฟื้นฟูกลับมาไม่ได้ อย่าฝันว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่สภาพปกติ

คราบน้ำมันที่จมไปจากสายตา ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ดีนะ สำหรับการท่องเที่ยว และที่ไม่มีผลกระทบกับชายฝั่ง ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่สิ่งที่มันเสียหายมันมีมากกว่าสิ่งที่ดี คือวันนี้สิ่งแวดล้อมได้เสียหายไปหมดแล้ว ไม่สามารถกลับคืนได้สู่สภาพปกติ ทั้งทรัพยากร อาชีพ รวมถึงคนกิน ผู้บริโภค อาชีพอื่นๆ ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้มีเป้าหมายอย่างเดียวคือเขาคำนึงถึงการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่สิ่งที่เสียหายสรุปได้เลยว่ามันไม่สามารถเรียกการท่องเที่ยวกลับมาได้แล้ว ผมเลยเสนอผู้ว่าฯ ว่าวันนี้อย่าคิดถึงเรื่องท่องเที่ยวอย่างเดียว ถ้าห่วงโซ่ต่างๆ ฟื้นฟูกลับมาไม่ได้ ผมบอกเลยอย่าฝันว่าการท่องเที่ยวกจะกลับมาสู่สภาพปกติ เพราะนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ต้องบริโภค ถ้าเกิดบริโภคอาหารที่มีพิษ ท่านคิดว่าจะเป็นยังไง

วันนี้เราสงสารคนที่เป็นนักท่องเที่ยว คนที่บริโภคอาหาร และสงสารคนระยอง เสนอให้แก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ถอดบทเรียนจากปี 56 ในการขจัดคราบ อย่าทำภาพให้หลุดไปจากสายตา อย่าฉีดสารเคมีให้น้ำมันถูกกดจมลงแบบนั้น ครั้งที่แล้วเราบอกไปแล้ว ครั้งนี้เขาก็ทำรูปแบบเดิม ไม่อยากให้จังหวัดทำเช่นนั้นอีก

wkongnarong06

ถ้าไม่ประเมินผลกระทบความเสียหาย แล้วจะเยียวยายังไง

มีข่าวฮือฮาเรื่องการเยียวยา ให้ชาวบ้านไปเซ็นชื่อรับร้องทุกข์ เราก็ไปเสนอกับผู้ว่าฯ ในการเยียวยาครั้งนี้ ผมไม่รู้ว่าวันนี้ทางจังหวัดระยองประเมินผลกระทบความเสียหายทั้งหมดหรือยังในเรื่องทรัพยากร หากวันนี้ไม่ประเมินผลกระทบในด้านความเสียหาย แล้วจะมาเยียวยายังไง

กรณีของปี 2556 ยังไม่ประเมินความเสียหายให้ชัดก็รีบตัดสินแล้ว เราเรียกร้องเรื่องการฟื้นฟู เพราะวันนี้เราประเมินความเสียหายแล้วว่า มันประเมินค่ามิได้ เขาไม่ได้เอาบทเรียนในปี 2556 มาแก้ไข ในปี 2565 ยังเป็นรูปแบบเดิม คือไม่ได้ประเมินความเสียหายในเรื่องทรัพยากรเหมือนเดิม

อย่าปฏิบัติเหมือนปี 2556 แต่ทำมันให้เป็นบทเรียน ครั้งนี้การเยียวยาไม่ได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวระยองเลย วันนี้เบื้องต้นเราจะยังไม่รับเยียวยานะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางบริษัทต้องชดใช้ให้กับพี่น้องอย่างสมควร รวมถึงบริษัทต้องรีบเร่งฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาหากินดังเดิมได้ภายในเร็ววัน พี่น้องกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ บอกว่าไม่เอาตังก็ได้ในการเยียวยา แต่จะต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำเสียหายไป