พระนคร - จากบรรณาธิการฉบับที่ 445

ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ห้องแถวในซอยย่านสะพานเหลือง จำได้ว่าข้างบ้านเป็นร้านตัดผมสุภาพบุรุษ ปากซอยมีร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาร้านใหญ่สองสามคูหา ตั้งโต๊ะหินกลมและม้านั่งไม้กลม ที่บ้านมักซื้อมากินกันเป็นประจำ บางครั้งก็ไปนั่งกินที่ร้าน  ทุก ๆ วันยังมีแม่ค้าหาบเร่คอนกระจาดเดินผ่านหน้าบ้าน อย่างปลากริมไข่เต่า เฉาก๊วย เต้าฮวย ร้องเสียงดังมาเรื่อย ๆ เรียกลูกค้าตามบ้าน  ที่บ้านไม่ได้ค้าขายอะไร ปรกติก็ต้องปิดประตูลูกกรงเหล็กหน้าบ้านไว้  จะออกจากบ้านหรือเรียกแม่ค้าหาบเร่ก็ค่อยไขกุญแจเปิดประตูเหล็ก

ร้านตัดผมเป็นร้านที่คึกคักมาก มีเก้าอี้ตัดผมน่าจะไม่ต่ำกว่าเจ็ดถึงแปดตัว กระจกบานใหญ่ยาวจากด้านหน้าไปถึงด้านใน ส่วนใหญ่ต้องไปนั่งรอคิวบนโซฟานวม เพราะคนมาตัดกันเยอะ  ข้างในซอยมีโรงหนังซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าระหว่างนั่งดูอยู่อาจมีหนูตัวใหญ่เท่าแมววิ่งผ่านใต้ที่นั่ง  หนังที่จำแม่นคือ เดชไอ้ด้วน ภาคแรกที่แสดงโดยหวังยู กลับบ้านมายังเล่นเอาแขนไพล่หลังเป็นเดชไอ้ด้วนบ้าง ไม่เคยเจอหนูในโรง แต่เจอหนูนอกโรงที่พนักงานโรงหนังกำลังไล่ตี แม้ยืนดูอยู่ห่าง ๆ ก็รู้สึกว่าตัวใหญ่เท่าแมวจริง ๆ  ในซอยยังมีร้านขายยาจีนที่มีตุ๊กแกแห้ง จิ้งจกแห้ง ม้าน้ำแห้ง ติดประดับตู้กระจกหน้าร้าน จำได้ว่าชอบแอบไปยืนดูด้วยความพิศวง  นอกจากนี้ก็มีร้านหมอฟันที่มีกลิ่นยาสารเคมีติดจมูกกับเก้าอี้ทำฟันตัวใหญ่ที่มีตัวเดียวในร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าแบบที่คนขายยังเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวแผ่นใหญ่ทาน้ำมันวางบนเขียงตัดเป็นเส้น ๆ ด้วยปังตอเล่มใหญ่ เวลาไปซื้อจะหิ้วหม้อสังกะสีไปใส่ก๋วยเตี๋ยว ตอนนั้นน่าจะยังไม่มีถุงพลาสติก  บรรยากาศร้านมืดมาก เหมือนมีไฟส่องเฉพาะที่เขียง ไม่มีที่นั่งกินในร้าน ถ้าสมัยนี้ก็คงเรียกว่าเป็นร้านแบบ take home ซื้อกลับบ้านเท่านั้น

ใกล้ปากซอยจะมีซอยเล็กอีกซอยแยกขนานไปกับซอยหลัก คือเปิดประตูหลังบ้านก็จะเจอซอยนี้เหมือนเป็นซอยหลังบ้าน   นาน ๆ ทีในซอยหลังบ้านก็จะมีโรงงิ้วมาตั้งแสดง บางครั้งก็ฉายหนังกลางแปลง ทั้งหนังไทยและหนังจีนกำลังภายใน สนุกที่คนพากย์หนังใส่มุกขำ ๆ ตลอด  เข้าใจว่าเป็นการแสดงจัดมาเพื่อแก้บน แต่จะแก้บนศาลเจ้าไหนกลับจำไม่ได้ มีคนมาดูกันแน่นเต็มซอย ลำโพงใหญ่เสียงดังสนั่น เรียกว่าไม่ต้องนอนกันถ้าการแสดงยังไม่เลิก

ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ แทบทุกบ้านในซอยจะตั้งโต๊ะหน้าบ้าน ประดับประดาด้วยกระดาษสีตัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ และของไหว้มากมาย ติดไฟแบบหลอดเทียนสว่างสวยงาม คนจะเดินจากปากซอยไปท้ายซอยวนกลับไปกลับมาชมกันสนุกสนาน เมาท์มอยกันไปว่าปีนี้บ้านไหนแต่งสวยกว่ากัน

ตอน อะพอลโล ๑๑ เหยียบดวงจันทร์ มีบ้านแถว ๆ ปากซอยเป็นบ้านเดียวที่มีโทรทัศน์ขาวดำในสมัยนั้น  เขาใจดีเปิดการถ่ายทอดในทีวีให้ดู  มีเด็ก ๆ พากันไปยืนมุงดูกันที่หน้าบ้านเขาด้วยความตื่นตาตื่นใจ ว่าคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้แล้ว  แต่หลังปีนั้นงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็ค่อย ๆ เหลือไม่กี่บ้านจนไม่มีใครตั้งโต๊ะหน้าบ้านกันอีกเลย

ตอนเล็ก ๆ เรียนโรงเรียนคริสต์ใกล้บ้าน เดินไปเดินกลับเอง เพราะโรงเรียนอยู่ริมถนนพระรามที่ ๔ ห่างกันไปไม่กี่ซอย ทางเท้ากว้างขวาง  นักศึกษาเดินขบวนผ่านหน้าโรงเรียนสมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ยังจำได้ว่าไปยืนมองลงมาจากอาคารโรงเรียน  ริมถนนพระรามที่ ๔ ใกล้ซอยบ้านยังมีคลินิกร้านหมอ ผนังกำแพงหน้าร้านทำปูนปั้นนูนต่ำเป็นรูปเด็กทารกน่ารัก เป็นคลินิกที่คนแถวนี้คุ้นเคยจนเป็นเหมือนหมอประจำบ้าน  ถัดไปมีร้านตัดรองเท้าหนัง ตั้งตู้กระจกโชว์รองเท้าสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี รองเท้าบู๊ต มีร้านขายของเด็กเล่น ตุ๊กตาพลาสติก ตุ๊กตาสังกะสี และสิ่งที่ไปยืนจ้องมองด้วยความอยากได้คือเกมเศรษฐี ถ้าเดินผ่านก็จะไปยืนมองทุกครั้ง  จนวันหนึ่งเก็บเงินสะสมครบถึงรวบรวมความกล้าตัดสินใจไปซื้อมาด้วยเงินตัวเอง

พอโตขึ้นย้ายไปเข้าโรงเรียนแถวถนนสีลม ต้องเดินทางไปเองด้วยการขึ้นรถเมล์ ซึ่งหลายครั้งต้องโหนประตูรถเมล์ มือหนึ่งจับราวเหล็ก (ซึ่งก็มีมืออื่น ๆ จับจองพื้นที่กันอยู่เต็ม) มือหนึ่งเกาะขอบหน้าต่าง เท้าเดียวเหยียบชานบันได อีกเท้าลอยอยู่ข้างนอก  ที่ต้องโหน เพราะคนแน่นจนล้น และกว่าจะรอรถเมล์มาแต่ละคัน ถ้าพลาดไปก็อาจไปเข้าโรงเรียนไม่ทัน

สมัยนั้นมีบ้านญาติอยู่แถวสุขุมวิท รู้สึกว่าบ้านเขาเหมือนอยู่ไกลมาก ต้องเดินทางกันหลายชั่วโมงจากบ้านแถวสะพานเหลืองกว่าจะถึง  ตึกสูงที่จำได้คือดุสิตธานีและตึกโชคชัย  ป้ายไฟขนาดใหญ่ที่ติดตาคือป้ายมิตซูบิชิที่แถวสามย่านวัดหัวลำโพง  ส่วนที่ด้านหลังโรงเรียนเป็นคลองสาทรซึ่งมีต้นมะฮอกกานีเรียงรายตลอดสาย ร่มรื่นมาก  ใกล้โรงเรียนยังมีหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเป็นที่เลื่องลือว่ามีผี และเป็นเรื่องท้าทายกันว่าใครจะกล้าเข้าไป

เหล่านี้เป็นภาพความทรงจำบางส่วนเสี้ยวถึง “พระนคร” สัก ๕๐ ปีก่อน สมัยที่ซอยแห่งหนึ่งยังมีความเป็นชุมชนเล็ก ๆ  ซึ่งถ้าใครจะเขียนบันทึกภาพความทรงจำของตัวเองมาแบ่งปันกันบ้างก็คงดีไม่น้อย

ส่วนปัจจุบันและอนาคตของชาวพระนครจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ใน สารคดี ฉบับนี้ครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com