ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๕ มูลนิธิบูรณะนิเวศ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมกันจัดประชุมทางวิชาการหัวข้อ “๑ ปีคดีห้วยน้ำพุ ฟื้นชุมชนมลพิษสู่เศรษฐกิจสีเขียว” และลงพื้นที่ชุมชน เนื่องในวาระครบ ๑ ปี ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งให้บริษัทแวกซ์กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และกรรมการบริษัท ร่วมกันชำระเงินแก่ชาวบ้าน เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันสืบเนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัท รวมถึงให้จำเลยทั้งสองแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ดินของโจทก์ คลองสาธารณะ จนกว่าจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน
ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๔๓ บริษัทแวกซ์กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด) ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตสีและอัดเม็ดพลาสติก ในพื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ติดกับตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ก่อนที่จะมีการขยายโรงงานเพื่อประกอบกิจการคัดแยก-ฝังกลบสิ่งปฏิกูล รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ของเสียอันตราย
เดิมทีการก่อตั้งโรงงานได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด้วยเหตุผลด้านการจ้างงานในพื้นที่ รายได้จากการจัดเก็บภาษี อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีก็กำชับรับรองว่าจะควบคุมไม่ให้โรงงานก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานการดำเนินกิจการโรงงานประเภทลำดับที่ ๑๐๕ และ ๑๐๖ อีกหลายข้อ เพื่อควบคุมไม่ให้โรงงานก่อมลพิษ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่โรงงานดำเนินกิจการกลับถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ตำบลน้ำพุและตำบลรางบัวหลายครั้ง ทั้งปัญหาการปล่อยน้ำเสีย สารเคมีส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง การร้องเรียนเกิดขึ้นทั้งต่อหน่วยงานราชการในท้องถิ่นและส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น อบต. อำเภอ จังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักนายกรัฐมนตรี ประชาชนในพื้นที่ยังเคยรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงหลายครั้ง แต่ปีแล้วปีเล่าปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ตำบลน้ำพุมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม บางส่วนเป็นภูเขา เหมาะแก่การเพาะปลูก อาชีพหลักของประชาชนคือทำไร่ ทำนา ทำสวน โดยเฉพาะสวนพุทราและลำไย ที่เป็นสินค้าออกสำคัญของตำบล เกษตรกรตำบลน้ำพุปลูกลำไยมานานกว่า ๖๐ ปี และได้ผลผลิตที่ดีเรื่อยมา เป็นพื้นที่แรกของจังหวัดราชบุรีที่สามารถส่งออกลำไยไปขายต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย
ส่วนตำบลรางบัวมีลักษณะเป็นที่ราบสูงและที่ลาดเชิงเขา ประชาชนทำนาในฤดูฝน ฤดูอื่นๆ ปลูกพืชไร่ อาชีพหลักเช่นเดียวกับชาวตำบลน้ำพุคือทำไร่ ทำนา ทำสวน รวมถึงเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคนม มีนมสดพาสเจอร์ไรส์เป็นสินค้าสำคัญของตำบล อาชีพเสริมอื่นๆ คือการทอผ้าซิ่นตีนจก ผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง
แหล่งน้ำสำคัญที่ไหลผ่านทั้งสองตำบล คือ ห้วยน้ำพุ มีต้นน้ำอยู่ในเขตตำบลรางบัว ไหลลัดเลาะลงมาสู่ตำบลน้ำพุ ก่อนไหลผ่านอีกหลายตำบลไปบรรจบกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง
ห้วยน้ำพุเกิดจากตาน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดปี ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวตำบลน้ำพุซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ด้างล่างและอยู่นอกเขตชลประทาน ก่อนที่บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ จะเข้ามาเปิดกิจการโรงงานโดยมีพื้นที่ชิดติดกับลำห้วยสายนี้
ปัญหาหลักๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนคือมลพิษทางกลิ่นจากกิจกรรมของโรงงาน ที่นอกจากจะสร้างความเดือดร้อน รำคาญ บางครั้งยังรุนแรงจนทำให้ประชาชนบางคนเจ็บป่วย และน้ำเสียของโรงงานมักถูกร้องเรียนว่าปล่อยออกมาสู่ภายนอกจนปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะห้วยน้ำพุ ต่อมายังพบว่าบ่อขุดของประชาชนบางบ่อในตำบลห้วยน้ำพุซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนล่างของลำน้ำ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานมีกลิ่นเหม็นฉุน สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบุว่าคล้ายกลิ่นน้ำชะขยะอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษระบุว่าห้ามนำน้ำไปใช้
นอกจากมลพิษทางอากาศและน้ำ ยังพบว่าโรงงานเคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หลายครั้ง ทั้งอาคารที่ใช้อัดเศษกระดาษ อาคารที่ใช้บดย่อยพลาสติก แหล่งเก็บผลิตภัณฑ์และวัสดุไวไฟ เช่น สีทาไม้ สีทาบ้าน สีทาท้องเรือ พร้อมเครื่องจักรกล แม้ก่อสร้างอาคารใหม่ก็เกิดเหตุไฟไหม้อีก คราวนี้เปลวเพลิงลุกลามขยายวงกว้างไปยังกองกากอุตสาหกรรมที่อยู่ด้านหลังโรงงาน บริเวณที่มีการเก็บสีทาบ้านรีไซเคิล เม็ดพลาสติก กระป๋องสเปรย์และแกลลอนพลาสติก จนเกิดกลุ่มควันทะมึนและมีเสียงระเบิดดังต่อเนื่อง ก่อมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมาก
ระหว่างปี ๒๕๔๔-๒๕๕๙ กรมควบคุมมลพิษติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนักของน้ำใต้ดินภายในโรงงานได้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก สอดคล้องกับผลการศึกษาทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปชี้ชัดอย่างเป็นทางการออกมาจากหน่วยงานรัฐว่าปัญหาและผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่สองตำบลต้องประสบมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของโรงงานหรือไม่ ระหว่างนั้นแม้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวจะมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตให้แก่โรงงาน แต่โรงงานก็ยังคงประกอบกิจการต่อไปโดยอาศัยใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ คนพื้นที่ต้องทนอยู่กับความหวาดหวั่นว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเจ็บป่วย ผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ
ปัญหาที่สั่งสมมานาน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมยาวนานกว่า ๑๕ ปี โดยไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายต่อมาตรการแก้ไขปัญหา มีคำถามถึงการทำหน้าที่ดูแลกิจการโรงงานของหน่วยงานรัฐว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนและการทุจริตหรือไม่
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๐ หลังเรียกร้องความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมานานกว่า ๑๕ ปี ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่หมู่ ๑ ตำบลน้ำพุ ได้ยื่นคำร้องฟ้องคดีแบบกลุ่ม ต่อศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยยื่นฟ้องบริษัทแวกซ์กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นจำเลยที่ ๑ และกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ ๒ ในข้อหาความผิดละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ จากการปล่อยปละละเลยให้เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายของสารเคมี ส่งกลิ่นเหม็นทางอากาศ และเกิดสารพิษแพร่กระจายโลหะหนักไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ นำมาสู่ความเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร พืชผลเสียหาย ขายไม่ได้ราคา และถูกตัดออกจากมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร โดยฟ้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น ๕๐๐ ล้านบาท จำแนกเป็น ๑.ค่ารักษาพยาบาล ๒.ค่าเสื่อมสุขภาพ ๓.ค่าทรัพย์สินเสียหาย ผลผลิตลำไยขายไม่ได้ ๔.ค่าขาดประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ ๕.ค่าถูกละเมินด้านสิทธิสิ่งแวดล้อม
ต่อมาศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง นับเป็นการฟ้อง “คดีแบบกลุ่ม” (Class Action, การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) ด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๕๘ ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่เป็นตัวแทนคนในพื้นที่ ๓ ราย จำนวนเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบร่วม ๑,๐๐๐ คน การชำระหนี้แบ่งออกเป็น ๓ หมวด ได้แก่ ๑.ค่ารักษาพยายบาลระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๕ ตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับการตรวจพบสารโลหะหนักในเลือด โดยผู้ที่ไม่พบสารโลหะหนักในเลือดจะได้รับค่าชดเชยในฐานต่ำสุด ๒.ค่าเสียหายต่อสุขภาพและอนามัย ให้แก่ผู้ที่ตรวจพบสารโลหะหนักในเลือดเกินเกณฑ์มาตรฐาน ๓๐,๐๐๐ บาท และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๓.ค่าเสียหายต่อพื้นที่เกษตร ราว ๑,๐๐๐-๑๙,๐๐๐ บาทต่อไร่ แล้วแต่ชนิดพันธุ์พืช เนื้อที่ไม่เกิน ๓๐ ไร่ต่อครอบครัว
รวมทั้งให้จำเลยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษจากการประกอบกิจการของบริษัท โดยประชาชนในพื้นที่สามารถหาบุคคลนอกเข้ามาฟื้นฟูแทนบริษัทได้ แต่ทางบริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
หลังจากห้วยน้ำพุกลายสภาพเป็นแหล่งน้ำเปื้อนมลพิษ ผืนแผ่นดินอาบสารเคมี ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีเหมือนวันวาน ร่วม ๒๐ ปีผ่านไป ประชาชนในพื้นที่จึงชนะคดีประวัติศาสตร์
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายประเด็นต้องติดตาม อาทิการเดินเรื่องพิสูจน์สิทธิว่าผู้ฟ้องคดีแต่ละคนจะเข้าข่ายได้รับสิทธิชดเชยค่าเสียหายหมวดใดบ้าง…
เนื่องในวาระ ๑ ปี ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้เหตุผลถึงการจัดประชุมทางวิชาการหัวข้อ “๑ ปีคดีห้วยน้ำพุ ฟื้นชุมชนมลพิษสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ว่า เพื่อทบทวนและติดตามการเยียวยาความเสียหาย และการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามคำสั่งของศาล ตลอดจนเป็นโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้แทนหน่วยงานราชการ และเครือข่ายภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม ขยายผลบทเรียนการต่อสู้ภาคประชาชนจนได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ตาม เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ให้ความเห็นว่า “แม้จะมีคำตัดสินคดีของศาล แต่ความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของมลพิษยังไม่ได้รับการแก้ไข สะท้อนถึงการละเลยของหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ส่วนกระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาเหล่านี้ควรค่าแก่การพิจารณา เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากกการประกอบกิจการอุตสาหกรรมในกรณีอื่นๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการบังคับคดี และเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ”
ด้าน สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า “อุปสรรคในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามคำพิพากษาคดีนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีความชัดเจน ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขมลพิษในการนำเสนอต่อศาล อีกทั้งการบังคับคดีหรือการฟื้นฟูเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราต้องทำให้พื้นที่ในชุมชนไม่มีมลพิษมาตั้งแต่แรก หากเกิดการปนเปื้อนมลพิษจะต้องมีการแต่งตั้งหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ กำกับ ควบคุม อย่างเคร่งครัด ในขณะที่ทางด้านของชาวบ้านก็ต้องเป็นหูเป็นตา คอยเฝ้าระวัง” สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ตัวแทนจากบริษัท เวสท์ แมเนจเม้น สยาม จำกัด และเป็นที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อจำกัดในการแก้ปัญหา คือ การขาดองค์ความรู้ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการบำบัด รวมถึงปัญหาด้าน
ค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันไม่ให้มีการเกิดมลพิษขึ้นภายในพื้นที่
การประชุมทางวิชาการครั้งนี้นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดบทเรียนการต่อสู้ ทบทวนเรื่องราว และติดตามผลของการบังคับคดีซึ่งมีทั้งส่วนที่ “คืบหน้า” และ “ไม่คืบหน้า” ยังถือโอกาสเป็นกำลังให้กับประชาชนชาวตำบลน้ำพุที่ได้ต่อสู้กันมาร่วมยี่สิบปี ช่วงบ่ายผู้จัดงานได้จัดให้มีการลงพื้นที่สำรวจแนวทางในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้แปลงพืชดูดซับสารพิษเพื่อลดการปนเปื้อน การวางแผนฟื้นคืนวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้กลับมาดังเดิม โดยเชิญเครือข่ายองค์กรชุมชนจากจังหวัดต่างๆ ที่ประสบปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันมาเข้าร่วม ให้ช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผลบทเรียนจากการต่อสู้ของชาวน้ำพุ กรณีพิพาทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมระหว่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กับโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย จนได้รับชัยชนะในคดีออกสู่สังคมวงกว้างต่อไป
อ้างอิง
- ห้วยน้ำพุ บทบันทึกกรณีพิพาทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ระหว่างชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กับโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย
ขอบคุณ
- มูลนิธิบูรณะนิเวศ