ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

จากเขื่อนภูมิพลถึงโครงการผันน้ำยวม ผลกระทบไม่รู้จบที่บ้านแม่งูด

รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการผันน้ำยวม ระบุว่าทางออกของอุโมงค์ผันน้ำยวมตั้งอยู่ที่บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดที่น้ำจืดจากแม่น้ำยวมจะถูกผันมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

บ้านแม่งูดเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ตั้งอยู่ริมลำห้วยชื่อเดียวกับหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ เพาะปลูกลำไย มะม่วง ข้าว เลี้ยงสัตว์

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี ๒๕๐๗ เขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนยันฮีเพิ่งสร้างเสร็จ เริ่มกั้นแม่น้ำปิงเพื่อกักเก็บน้ำ ระดับน้ำทั่วอ่างได้เพิ่มขึ้นจนท่วมที่ตั้งเดิมของบ้านแม่งูด บ้านเรือนและที่ทำกินทั้งหมดค่อยๆ จมลงสู้ใต้ท้องน้ำ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านต้องถูกบังคับอพยพอย่างไม่มีทางเลือก

หลายปีผ่านไป โครงการผันน้ำยวมจะกำลังเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์ การก่อสร้างอาคารสลายพลังงาน การปรับเปลี่ยนลำห้วยแม่งูดให้กลายเป็น “คลองส่งน้ำ” รวมทั้งการใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นจุดวางกองดินจากใต้พิภพ ตลอดจนความผันผวนของระดับน้ำ จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และส่วนหนึ่งอาจต้องอพยพอีกครั้ง

ชาวบ้านหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาถึงถูกบีบบังคับให้ต้องเสียสละเพื่อให้คนภาคกลางมีน้ำใช้ มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับความบกพร่องของรายงาน EIA รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

หมายเหตุ : รายงาน EIA ของโครงการผันน้ำยวมผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี มีข้อร้องเรียนว่ากระบวนการศึกษาโครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ เนื้อหาของรายงานใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงสภาพความเป็นจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

maengood1

“โครงการเจ็ดหมื่นกว่าล้านบาท เสียงบประมาณมหาศาล มันไม่สมน้ำสมเนื้อ”

ศักดิ์ชัย แยมู
บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“เจ้าหน้าที่โปรโมตโครงการมากกว่าให้ข้อมูลเชิงลึกกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ มาแต่ละครั้งก็บอกว่าโครงการนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีแต่ข้อดีที่พูดให้พวกเราฟัง ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยน ไม่มีครับ ตั้งแต่สองสามปีก่อนแล้ว มาถึงก็ใช้เวลาแค่ครึ่งชึ่วโมง หรือสิบยี่สิบนาที คล้ายๆ จะโปรโมตหรือจะโฆษณาให้มันดูดีเท่านั้นเอง

“มาครั้งแรกผมถามว่ากองดิน กองวัสดุ ตั้งอยู่ตรงไหน เขาตอบไม่ได้ กองตรงไหนก็ยังไม่รู้ มาครั้งที่สองบอกว่าโครงการผ่านแล้ว ชาวบ้านยินยอมไม่มีปัญหา ผมยังงงอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่าเขาทำงานกันยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เข้ามาในสวนของผม วัตถุประสงค์คืออะไรเขาเหมือนจะมาโดยไม่อยากให้ใครรู้

“ผมเคยถามเขาว่าค่าไฟสำหรับการสูบน้ำตกปีหนึ่งสองพันกว่าล้านบาท จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย กรมชลประทานก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ผมถามว่าที่ทำกินของผมเนี่ยจะเยียวยายังไง จะชดใช้ยังไง เขาบอกว่าชดใช้ให้ครับ ชดใช้ให้สูงสุด ชดใช้จนคุ้มค่า ผมถามว่าสูงสุดมันประมาณเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครตอบได้อีก โครงการอย่างนี้ผมมองว่าจริงๆ แล้วมันระดับโลกเลยนะ ไม่ใช่แค่ระดับชาติ งบประมาณก็มหาศาล การทำEIAหรืออะไรก็ตามควรจะรอบคอบ ครอบคลุมกว่านี้เป็นร้อยๆ เท่า

“โครงการใหญ่ๆ แบบนี้ ก่อนจะมาก็น่าจะจัดเวทีให้ชาวบ้าน เพราะแต่ละหมู่บ้านจะถามคนแค่สี่ห้าคน หรือสิบยี่สิบคนมันเป็นไปไม่ได้ ความเสียหายไม่ใช่แค่สิบไร่ยี่สิบไร่ มันไม่ใช่ ไม่เหมาะสม โครงการเจ็ดหมื่นกว่าล้าน เสียงบประมาณมหาศาลมันไม่สมน้ำสมเนื้อ

“ที่ดินของพวกเราเป็นที่นิคมสหกรณ์ ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทำกิน และเป็นที่ของป่าไม้ เมื่อปี ๒๕๕๔ เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ เขากักน้ำเอาไว้ที่เขื่อนภูมิพล บรรเทาทุกข์ให้กับคนภาคกลาง น้ำท่วมที่ทำกินของผมต้องจมอยู่ในน้ำ น้ำขังอยู่นานจนต้นไม้ตาย พอน้ำลดบนพื้นดินก็เต็มไปด้วยตะกอนทรายที่ถูกน้ำพัดพามา ใช้ทำการเกษตร ทำนา ไม่ได้อีก ที่ดินที่เคยมีทั้งหมด ๖ ไร่ เหลือใช้งานได้แค่ ๓ ไร่เท่านั้น

“ที่ดิน ๓ ไร่ที่กลายเป็นพื้นทรายอยู่ริมลำห้วยแม่งูด ทีแรกเจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ก็ไม่บอกว่าเท่าไหร่ สุดท้ายเขาโอนเข้าบัญชีให้ไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท เราทำอะไรไม่ได้ เราต้องยอมให้เขาเวรคืนที่ดินไปเพราะถึงไม่เวรคืนมันก็ปลูกอะไรไม่ได้อยู่ดี ส่วนที่เหลืออีก ๓ ไร่ก็กำลังจะเสียไปอีกเพราะโครงการผันน้ำยวม พื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นจุดทิ้งกองดินที่ถูกขุดขึ้นมา ช่วงที่เขามาโปรโมตบอกว่าจะปรับเป็นสนามหญ้า จะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย

“ผมกังวลใจ ไม่สบายใจ และไม่มั่นใจในการทำโครงการนี้ ไม่มั่นใจแม้แต่นิดเดียวเพราะรู้สึกว่าโครงการนี้มาแบบลับๆ มาแบบไม่ได้เปิดเผย เหมือนขโมยอย่างไรอย่างนั้น น้อยใจที่เขาทำเหมือนไม่เห็นเราเป็นคน อ้างว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์ แต่มันมองไม่เห็นภาพของประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ใช่แค่บ้านแม่งูดหมู่บ้านเดียว ตำบลนาคอเรือหลายหมู่บ้านก็กังวลกัน มองเห็นแต่ข้อเสีย”

maengood2

“ความเห็นที่แท้จริงไม่ถูกเขียนลงในรายงาน EIA”

วันไชย ศรีนวน
บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“EIA โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ไม่รู้ข้อดีข้อเสีย เพราะหน่วยงานไม่เคยเข้ามาให้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เวทีรับฟังความคิดเห็นก็จำกัดคนเข้าร่วม คัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ถูกกีดกัน เข้าไม่ถึงกระบวนการ ความเห็นที่แท้จริงไม่ถูกเขียนลงในรายงานEIA

“ชื่อกับรูปของผมก็ถูกแอบอ้างเอาไปใส่ในรายงาน EIA เขาเอาไปเขียนว่าเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งที่จริงเป็นการรับมอบหน้ากากอนามัยกับเจลล้างมือในช่วงที่มีโควิด-๑๙ ระบาด ทำไมเจ้าของโครงการถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงเอาไปรูปไปใช้ ไม่ให้เจ้าตัวเห็นเอกสาร แล้วก็ไม่เขียนอธิบายให้ถูกต้องตามความจริง ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่โดนแบบนี้ก็มีเหมือนกัน เอารูปไปใช้แล้วก็เขียนข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรงตามความจริง เป็นเรื่องที่พวกเรารู้สึกกังวลใจมาก เพราะเขาพยายามผลักดันให้โครงการผ่าน ทำทุกวิถีทาง

“โครงการนี้เป็นโครงการของกรมชลประทาน ให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นคนทำรายงาน EIA ที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านและกำนันรวมกันร่วมสิบคนจากสองตำบลคือตำบลนาคอเรือกับตำบลฮอด พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เคยส่งหนังสือเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณารายงานEIAฉบับนี้ออกไปก่อน เพราะกระบวนการขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ตัวจริงที่จะได้รับความเดือดร้อน แต่ตัวรายงานก็ถูกดันจนผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เตรียมจะนำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เขาทำอย่างนี้ได้ยังไง”

maengood3

“มันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”

สุปราณี สีนวน 
บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“ชาวบ้านแม่งูดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีทั้งกะเหรี่ยงสะกอ และกะเหรี่ยงโปว์ พวกเรายังมีวิถีชีวิตผูกพันใกล้ชิดกับป่าไม้ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ อยู่ติดกับลำห้วย เรามีความเชื่อที่สืบทอดกันมา บอกเล่ากันมาในกลุ่มคนกะเหรี่ยงว่าการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาลงแม่น้ำปิงห้ามเด็ดขาด บรรพบุรุษบอกว่าถ้าน้ำสองสายน้ำรวมกันจะทำให้เกิดอาเพศ การผันน้ำจากแม่น้ำยวมในลุ่มน้ำสาละวินมาลงเจ้าพระยาก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เป็นข้อห้าม

“ชุมชนของเรายังพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ต่างก็ช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ทั้งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน คนที่อยากได้โครงการเคยคิดบ้างมั๊ยว่าพวกโครงการทั้งหลาย ทั้งสร้างเขื่อน สถานีสูบน้ำ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและผืนป่ายาว ๖๒ กิโลเมตร การก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงตลอดแนวอุโมงค์ด้วยมันจะทำลายป่าไม้ เปลี่ยนสภาพของผืนป่าที่ชาวบ้านเคยใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์ มันจะเป็นการละเมิดสิทธ์มนุษชนอย่างร้ายแรง มันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”

“มันไม่ได้เสียเฉพาะพืชไร่พืชสวน เสียพื้นที่ทำกิน แต่มันเสียหลายๆ อย่าง คุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไป แหล่งอาหารที่เคยมีก็จะหายไป ยาสมุนไพรต่างๆ ที่คนเฒ่าคนแก่เอามาใช้ประโยชน์ รักษาโรคต่างๆ ก็จะหายไป ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่เราช่วยกันดูแลก็จะกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม

“สิ่งที่ต้องแลก อันดับหนึ่งคือที่ทำกิน อันดับสองอาชีพการเลี้ยงสัตว์ สามหาของป่าเพราะเรายังพึ่งป่าไม้ หน้าฝนบนดอยมีเห็ด หน่อไม้ หน้าแล้งเป็นพวกผักหวาน ยาสมุนไพรก็มีเยอะ

“กรมชลประทานเข้ามาโปรโมตโครงการบอกว่าถ้าโครงการนี้ผ่าน อุโมงค์ผันน้ำมา สองฝั่งน้ำแม่งูดจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านแม่งูดจะมีรายได้ทุกวันจากการส่งเสริมอาชีพ ค้าขาย อยากรู้ว่าจะส่งเสริมอาชีพอะไร ในเมื่อเราไม่มีที่ทำกิน แล้วจะเอาอะไรเป็นที่ทำกินที่ส่งเสริมให้มั่นคง

“ถ้าเรามีที่ดินเหลืออยู่ มันก็จะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ถึงจะได้น้อย แต่มันได้นาน ได้เรื่อยๆ ถ้าเกิดไม่มีที่ดิน หรือที่ดินเสื่อมสภาพ หรือมีแต่บ้าน เราก็ไม่สามารถทำมาหากิน ถ้าไม่มีทีทำมาหากินแล้วเราจะอยู่กันยังไง”

maengood4

“เคยถูกบังคับให้อพยพตั้งแต่เขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จใหม่ๆ นี่ยังจะมีโครงการผันน้ำยวมอีก จะซ้ำเติมกันไปถึงไหน”

คำสุข สีนวน
บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“เราไม่รู้หนังสือ พูดไทยไม่เก่ง ไม่รู้หรอกว่าเขาเข้ามาทำเพื่อผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า เราโดนหลอกมาก็มาก หลายหน่วยงานบางทีเข้ามาถ่ายภาพ ที่เป็นสื่อก็มีเหมือนกัน บอกให้ผมถือจอบเดินไปเดินมา เราพูดไปว่าต่อต้านนะ ไม่อยากได้อุโมงค์ผันน้ำ ไปๆ มาๆ เขาเอาไปบอกว่าไม่มีความเสียหาย ชาวบ้านที่แม่งูดไม่มีผลกระทบอะไร

“คนแม่งูดเคยถูกบังคับให้ต้องอพยพมาแล้วตั้งแต่เขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จใหม่ๆ พอเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำ ระดับน้ำก็สูงขึ้นท่วมหมู่บ้านของเรา ท่วมทั้งที่ทำมาหากิน ผมเกิดปี ๒๕๐๗ ปีนั้นเขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จพอดี พ่อแม่ต้องพาอพยพหนีน้ำ แม่อุ้มผมขึ้นมา เล่าให้ฟังด้วยว่าตอนแรกมีโฉนดที่ดิน มีเอกสารสิทธิ์ แต่เขาก็มาเก็บไป แล้วก็บอกให้เราย้ายขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง ผ่านมาแล้วร่วมหกสิบปีก็ยังชดเชยคนที่ได้รับผลกระทบไม่หมด นี่ยังจะมีโครงการผันน้ำยวมอีก จะซ้ำเติมกันไปถึงไหน ยังจะมีโครงการผันน้ำยวมอีกเหรอ

“ได้ยินเรื่องโครงการผันน้ำครั้งแรกตอนเป็นเด็กอายุสิบกว่า เขาบอกว่าจะเอาน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาไว้ที่นี่ มีการเก็บตัวอย่างดินไปตรวจ ไปศึกษา แต่เห็นว่าติดขัดตรงต้องใช้เงินเยอะ จนเมื่อสองสามปีก่อนก็มีคนมาสำรวจอีก คงจะมาดูว่าเป็นที่ดินของใคร มีการเรียกชาวบ้านไปตอบคำถาม ให้ยกมือถ่ายรูป จ่ายค่าเสียเวลาคนละสองร้อยบาท ตอนนั้นเรายังดีใจ ตอบไปว่าเห็นด้วยๆ ทั้งที่จริงเราไม่รู้หรอกเพราะเขาไม่ได้อธิบาย มารู้ที่หลังว่ามันไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเรา เขาจะเอาน้ำไปให้คนภาคกลาง เอาไปช่วยเหลือคนที่อยู่ทางใต้เขื่อนภูมิพล คนเหนือเขื่อนไม่ได้อะไร ที่ดินของเรายังต้องเสียหายจากการขุดอุโมงค์ ขุดลอกคลอง ปรับพื้นที่ก่อสร้าง บ้านของเราจะต้องเป็นจุดวางกองดินที่ถูกขุดขึ้นมา เรากลัวว่าจะต้องย้ายอีก ที่ทำกินที่มีก็อยากจะเก็บไว้”