ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เสียง สาละวิน ในโครงการผันน้ำยวม ๖๒ กิโลเมตรแห่งความเหลื่อมล้ำ

จากโพสต์เพจเฟซบุ๊ค Sarakadee Magazine

“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” หรือ “โครงการผันน้ำยวม” เป็นเมกกะโปรเจคของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยใช้วิธี “ผันน้ำ” หรือสูบน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก จาก “ลุ่มน้ำสาละวิน” บริเวณชายไทย-พม่า มาลงตอนบนของ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อให้คนในพื้นที่ภาคกลางได้มีน้ำกินน้ำใช้

หากโครงการนี้เกิดขึ้น อุโมงค์ผันน้ำความยาวประมาณ ๖๒ กิโลเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ เมตร จะถูกเจาะทะลุภูเขาและป่าไม้ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ๕ แห่ง พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง จังหวัดตาก ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม-ป่าแม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นอกจากโครงสร้างหลักคืออุโมงค์ผันน้ำ องค์ประกอบอื่นๆ ของโครงการผันน้ำยวม อาทิ เขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำ จุดทิ้ง “กองดิน” ที่ถูกขุดขึ้นมาจากการเจาะอุโมงค์ ถนนเข้าหัวงาน รวมถึงเสาไฟฟ้าแรงสูงตลอดแนวอุโมงค์ผันน้ำ ฯลฯ เอกสารประกอบโครงการระบุว่าแนวผันน้ำครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ต.แม่สวด ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ต.นาเกียน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวม ๓๖ หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

แม้นักวิชาการ ชาวบ้าน นักสิทธิมนุษยชนจะตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้ขาดการศึกษาผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ถูกเรียกว่า “อีไอเอร้านลาบ” และ “อีไอเอถมดำ” หากแต่โครงการกำลังเดินหน้า ท่ามกลางเสียงทักท้วง ข้อห่วงกังวล ของผู้คนตั้งแต่ปากอุโมงค์ กลางอุโมงค์ ไปจนถึงปลายอุโมงค์ผันน้ำ

namyuamproject1

ผมว่ามันไม่แฟร์กับพวกผม ถ้ายังใช้น้ำกันอย่างนี้ น้ำทั้งโลกก็ไม่พอ”

ประโยชน์ เขื่อนแก้ว
ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

“เขาอ้างว่าจำเป็นต้องใช้น้ำจากตรงนี้ เพราะว่าคนภาคกลางน้ำไม่พอใช้น้ำไม่พอแล้วทำไมหน้าฝนถึงน้ำท่วม น้ำเยอะแบบนั้นก็เก็บน้ำสิ ไม่ใช่จะมาเอาน้ำของที่นี่ไป มาเอาน้ำที่นี่ไปแล้วปล่อยให้ที่นั่นน้ำท่วมมันหมายความว่ายังไง ?

“เรื่องโลกร้อนโลกรวน ผมว่ามันขึ้นอยู่กับป่ากับต้นไม้ บ้านเราถ้าป่าเยอะเหมือนเมื่อก่อน โลกไม่ร้อนหรอกผมว่า น้ำท่าก็จะเยอะ ที่ผ่านมาชาวบ้านไปเอาไม้แค่ต้นนิดเดียวก็โดนจับ แต่พวกตำรวจใหญ่ๆ หน่อยเข้ามาตัดไม้ คนเส้นใหญ่ทั้งนั้นเข้ามาทำกันไม่มีใครเอาผิด

“เรื่องสร้างเขื่อนนี่มาบ่อย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วมั๊งที่เขาอยากจะสร้างเขื่อน จะทำอุโมงค์ แล้วยกเลิกไป ตอนผมยังเด็กเคยร่วมประท้วงกับเขาอยู่ ตอนนั้นชาวบ้านแรงมาก คนเยอะมาก เขาเลยต้องหยุด ถ้าพูดกันจริงๆ ชาวบ้านไม่มีใครยอมหรอก ใครจะไปยอม เราเสียพืนที่ เราเสียวิถีชีวิต แล้วจะให้ย้ายไปอยู่ที่ไหน มาคุยกับเราบอกว่าจะจ่ายเงินให้อย่างนั้นอย่างนี้ มันพอมั๊ยที่เราจะไปเริ่มต้นใหม่ที่อื่น ใช้เงินหมดไม่เหลือที่ทำกินแล้วเราจะกินอะไร ถ้าเราอยู่ที่นี่ เราปลูกข้าวเองได้ เราหาผักในป่า เราหาปลาในน้ำ ไม่มีเงินเราก็อยู่ได้

“อยู่ที่นี่ปีหนึ่ง เราหาปูหาปลาได้หลายหมื่นบาท ปีหนึ่งบุกราคากิโลละ ๒๗-๒๘ หรือ ๓๐ บาท ขายได้สามสี่หมื่น ออกหาปลาช่วงฤดูน้ำขึ้นไม่ถึงปีก็ได้หลายหมื่นบาท อยู่อย่างนี้ดีกว่าไปเริ่มต้นที่อื่น

“ทุกวันนี้เขาพยายามไล่คนออกจากป่า บอกว่าจะทวงคืนผืนป่า แต่อีกด้านหนึ่งพยายามสร้างเขื่อนทับป่า มันหมายความว่ายังไง ผมว่ามันไม่แฟร์กับพวกผม เดี๋ยวนี้ป่าเมืองไทยเหลือน้อยแล้วยังมาสร้างเขื่อนทับป่าแบบนี้มันได้ประโยชน์เท่าไหร่ ต้องเสียป่าไป จะปล่อยให้แล้งกว่านี้อีกเหรอ

“การใช้น้ำถ้าคนทางโน้นเขารู้จักบริหารเป็น ประชากรใช้น้ำเป็นมันก็คงไม่ต้องเดือดร้อนคนทางนี้ นี่จะเอาน้ำจากที่นี่ แล้วในเมื่อคุณใช้น้ำไม่เป็นมันจะพอมั๊ย บอกว่าจะสูบน้ำไปแค่หน้าฝน หน้าแล้งไม่สูบ แต่ผมว่าถ้ายังใช้น้ำกันอย่างนี้ น้ำทั้งโลกก็ไม่พอ ยังไงก็ไม่พอ มันดูเหมือนจะไม่เคยพอเลย”

namyuamproject2

หนักใจ ชีวิตอยู่ที่นี่ก็ดีอยู่แล้ว”

เพ็ญ ปันหม่อง
ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

“เราเกิดที่หมู่บ้านท่าเรือ โตที่นี่ แล้วไปเรียนหนังสือที่แม่คะตวน สบเมย จบชั้น ป.๖ ก็กลับมาอยู่บ้าน พ่อแม่เสียแล้วก็อยู่กับพี่สาว ไปเรียน กสน. ได้สองปี ก็กลับมาอยู่บ้าน ทำไร่ ทำสวน ปลูกพริกกะเหรี่ยง ถั่วลิสง ข้าว แล้วก็สร้างครอบครัวใหม่

“พื้นที่ตรงนี้มีแม่น้ำยวมไหลผ่านไปลงแม่น้ำเมย ฝั่งซ้ายมือคือจังหวัดตาก ฝั่งขวาเป็นแม่ฮ่องสอน แม่น้ำเมยไหลไปลงแม่น้ำสาละวิน ทำไมเขาเลือกสร้างเขื่อนตรงนี้ก็ไม่รู้

“จุดที่เขาจะสร้างเขื่อนอยู่ห่างจากบ้านท่าเรือไปตามแม่น้ำยวมประมาณสิบกิโลเมตร ตรงนั้นแม่น้ำกว้าง สองฝั่งมีต้นไม้ ถ้าเราไปเที่ยวนี่สนุกนะ

“แฟนป้าเพิ่งไปตกปลา ปลาตกได้ทุกจุด ตรงนี้ก็ตกได้ แป๊บเดียวก็หาปลาตัวใหญ่ๆ มาได้ ๒-๓ ตัว ใช้เบ็ดใช้ไส้เดือนตก ปลาที่ตกได้บ่อยๆ มีปลาคัง ปลาแขก ปลาเนียน ปลาสะแงะ ป้าชอบกินปลาทุกอย่าง ที่เนื้อล้ำคือปลาเกล็ด ปลาเงียน กับปลากัง เอาไปต้ม ต้มยำ ทอดพริก ราดพริก เนื้อมันจะหวาน บางทีขับเรือจากบ้านมาตกแถวนี้ บางทีเอาเรือไว้บ้าน เดินมาตก ถ้าจะมาค้างคืนก็เอาเรือไว้ที่บ้าน

“บ้านท่าเรือที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ เขาบอกว่ามีสามหลัง แต่จริงๆ คนที่เดือดร้อนมีมากกว่านั้น ระดับน้ำในแม่น้ำเปลี่ยน ยังไงก็ชาวบ้านได้รับผลกระทบ แล้วยังต้องขุดอุโมงค์ คนที่อมก๋อย อำเภออื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเยอะ

“ชาวบ้านหมู่บ้านท่าเรือ แล้วก็พื้นที่แถบนี้เป็นคนกะเหรี่ยง บางคนมีสัญชาติไทย บางคนก็ยังไม่ได้บัตร จะซื้อบ้านก็ไม่ได้ มีญาติๆ ถามว่าถ้าสร้างเขื่อน ขุดอุโมงค์ ต้องอพยพแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วต้องตัดทิ้งเขาจะคิดเท่าไหร่ จะยังมีที่ทำกินที่ปลูกบ้านมั๊ย แล้วหมู่บ้านท่าเรือจะไปต่อยังไง จะให้ไปอยู่ที่ไหนเขาก็ไม่บอก จะไปเสาะหาที่ปลูกบ้าน ถ้าบุกรุกป่าก็ผิดกฎหมายอุทยาน

“เราไม่รู้หรอกว่าเขาจริงใจกับเราแค่ไหน พวกคนที่มาสำรวจ อย่างพวก สส. ก็ไม่มาถึง ทำไมจะสำรวจทั้งทีไม่มาดูให้ครบทุกที่ ปุ๊บปั๊บก็นั่งเรือกลับแล้ว รีบไปรีบกลับ

“หนักใจ ชีวิตอยู่ที่นี่ก็ดีอยู่แล้ว เขาสร้างเขื่อน เอาเงินให้เราไปซื้อที่ที่อื่นอยู่มันจะพอเหรอ ถ้าไม่มีที่ทำกินก็หมดขอแค่มีที่ทำกินเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังจะดีกว่า อาศัยอยู่ที่นี่ก็เป็นธรรมชาติของเราดีอยู่แล้ว”

namyuamproject3

ถ้าประเด็นน้ำยวมถูกพูดถึงทั่วประเทศ เราคิดว่ามีโอกาส”

มึดา นาวานาถ
ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

“เราผูกผันกับแม่น้ำ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่โอเคมากๆ คือเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ยุติธรรมต่อชาวบ้าน เขาทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหลอกลวงชาวบ้าน

“เราเห็นหลายอย่าง เอาของไปแจกแล้วให้เซ็นชื่อ คิดภาพว่าชาวบ้าน แค่คุณขับรถยนต์เข้าไป คุณแต่งตัวดีๆ ชาวบ้านก็ยกมือไหว้คุณแล้ว ชาวบ้านให้ความศัรทธา ให้ความนับถือคุณ แต่อยู่ๆ คุณเอาความนับถือ ความเชื่อใจไว้ใจของชาวบ้านมาบิดเบือน มาหากินเพื่อให้ EIA ผ่าน มันไม่ถูกต้อง แล้วมากกว่านั้นคือหน่วยงานรัฐชอบอ้างถึงกฎหมายนั่นกฎหมายนี่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แม้กระทั่งจะเก็บเงินค่าถ่ายเอกสาร EIA แล้วยังอ้างกฎหมายว่าให้เก็บ แต่ในขณะเดียวกันคุณไม่ดูกฎหมายอีกข้อหนึ่งเหรอ กฎหมายบอกว่าคุณต้องเปิดเผยข้อมูล ทำไมคุณไม่ปฏิบัติตามล่ะ กฎหมายบอกว่าคุณต้องเปิดรับฟังความเห็นชาวบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม คุณอ้างกฏหมาย แต่คุณละเลยกฎหมายในขณะเดียวกัน คุณไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับสังคม แต่คุณอ้างกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง โดยละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่ เรารู้สึกโกรธ

“ในฐานะที่เราเรียนจบกฎหมาย เอาตรงๆ ก็อายนะที่จะบอกว่าจบกฎหมาย เพราะว่าระบบกฎหมายทุกวันนี้ห่วยแตก เป็นเรื่องท้าทายกว่าสมัยอื่นๆ ที่จะต้องใช้กฎหมาย เราเองก็มีความหวังอยู่ว่าอย่างน้อยๆ ก็ยังมีทีมนักกฎหมาย ทีมทนายความที่ยังจะช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ ถึงจะเป็นความหวังที่ริบหรี่แต่ก็ยังหวังอยู่

“ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าเฉพาะคนในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่เราก็หวังพลังจากคนข้างนอกด้วย พลังจากคนภาคกลางด้วย ให้เข้าใจเรา เราเชื่อว่าถ้าผันน้ำยวมเป็นประเด็น hot issue ในประเทศไทย เป็นประเด็นที่สนใจของคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ถ้าประเด็นผันน้ำยวมถูกพูดถึงทั่วประเทศ เราคิดว่ามีโอกาสนะ ถ้าคนทั่วประเทศเข้าใจเหมือนที่คนในพื้นที่เข้าใจ รู้สึกเหมือนที่คนในพื้นที่รู้สึก เราเชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้อยู่ที่จะยับยั้งโครงการก่อสร้าง

“เราเชื่อว่าด้วยพลังของคนไทย ถ้ามีความเข้าใจแล้วช่วยกัน ก็ยังเชื่อมั่นว่ามันจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

namyuamproject4

มันเป็นกลยุทธของเขาที่จะไม่ให้ชาวบ้านรู้ข้อมูล เห็นมั๊ยที่ชาวบ้านขอถ่ายสำเนา EIA”

สิงห์คาร เรือนหอม
ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

“ความคิดที่จะคัดค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำ ไม่เฉพาะเขื่อนนี้ ทุกเขื่อน มันไม่เหมาะสม ตั้งแต่เขื่อนแม่ละเมา ประมาณปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ผลกระทบตั้งแต่ที่นี่ไปถึงอำเภอแม่สะเรียง ระดับเขื่อนสูงมาก ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ก็มีการคัดค้านกันแล้วเรื่องก็เงียบไป

“จน ๓-๔ ปีมานี้ก็เกิดโครงการผันน้ำ แต่จุดที่จะสร้างเป็นจุดเดียวกัน ระดับสันเขื่อนอาจจะลดลง แต่ผลกระทบน่าจะมากกว่าเขื่อนแม่ละมาด เพราะมันจะต้องเจาะอุโมงค์ทะลุไปถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

“ป่าแถบนี้เมื่อก่อนนี้ราบคาบเพราะกิจการเหมืองแร่ หินที่กองอยู่เป็นหินที่มาจากการระเบิดเหมือง มีเหมืองผาแล เหมืองแม่ลามา เหมืองแม่สะเรียง เหมืองแม่สะเปา เหมืองป่าหมาก เขาแบ่งกันสัมปทาน เป็นเขตเหมืองสัมปทานติดต่อกัน ป่าเพิ่งฟื้นฟูมายี่สิบกว่าปีก็จะเกิดเขื่อนกับอุโมงค์ผันน้ำขึ้นมาอีก

“ที่บ้านแม่เงาไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ที่ไม่มีสัญชาติ เพราะทางการเขาไม่ให้ มาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานที่ได้สัญชาติไทย การเรียกร้องเรื่องสิทธิเลยจะต่างจากที่อื่น เคยถามกรมชลประทาน ถ้าเกิดโครงการนี้เกิดขึ้นจริง เรื่องที่อยู่อาศัยที่ดินจะทำยังไง เขาบอกว่าจะมีกรมธนารักษ์มาประเมินเรื่องพัสดุของหลวงให้ ถ้าลักษณะนี้ก็หมายถึงชาวบ้านคงจะไม่มีสิทธิ เขาจะอ้างว่าไม่มีสัญชาติ หรือไม่มีหลักฐาน มันเหมือนว่าเขาปฏิเสธมาแล้วอย่างนี้

“มันเป็นกลยุทธของเขาที่จะไม่ให้ชาวบ้านรู้ข้อมูล มุขนี้ใช้มาตลอด ทุกเขื่อนทุกโครงการใหญ่ เห็นมั๊ยที่ชาวบ้านขอถ่ายสำเนา EIA บางคนก็เรียก EIA ถมดำ บางคนก็เรียก EIA ร้านลาบ บางส่วนที่ชาวบ้านอยากจะรู้ก็ปิด ถมดำ ทำมืดหมด ขนาดชื่อคนเด็ก ป.๑ ป.๒ ก็เขียนได้แต่เขาเขียนผิด จากนายเป็นนาง จากนางเป็นนาย แล้วที่มีสัญชาติกลับเป็นไม่มีสัญชาติอีกตั้งไม่รู้ท่าไหร่ มันมั่วไปหมด

“บ้านท่าเรือมีคนที่มีชื่ออยู่ใน EIA เยอะแต่มันไม่จริง ทั้งคนที่นี่กับเชียงใหม่ที่โดนแอบอ้างชื่อใน EIA น่าจะประมาณ ๓๐-๔๐ คนที่ได้รับผลกระทบ แต่เขาไม่ได้มาถามชาวบ้าน เขาล็อบบี้ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ นายกฯ ผู้ช่วย ซื้อตัวไปหมด ล็อคหมด เลี้ยงชากาแฟกันจบแล้ว

“รายงาน EIA ที่สรุปมา ถ้าคะแนนเต็ม ๑๐๐ ผมให้แค่ ๒๐ หรือ ๓๐ เท่านั้นแหละ เรื่องความถูกต้องไม่ถึงครึ่งหรอก เขาให้ผ่านมาได้ยังไงก็ไม่ต้องถาม เพราะว่ารองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะอนุมัติ

“ชาวบ้านทุกหมู่บ้านอนุรักษ์ตามจิตสำนึกของเขา แต่มันมีปัญหาคาบเกี่ยวระหว่างสิทธิชุมชนกับภาครัฐ เรื่องป่าอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านอนุรักษ์บ้างอุทยานก็บอกว่าไม่ได้ มีการห่วงเรื่องกรรมสิทธิ ชาวบ้านก็เลยต้องถอยออกมา จะเอาไม้มาใช้สอย ทำที่อยู่อาศัยบ้างก็เป็นธรรมชาติของเขา แต่อิทธิพลของรัฐเนี่ยเอาเลื่อยยนต์มาล้ม ทำไม้แปรรูป ทำเฟอร์นิเจอร์ ชาวบ้านได้แต่มองตาปริบๆ จะไปแจ้งความที่ไหนก็แจ้งไม่ได้ เห็นชัดๆ ว่าเลื่อยยนตร์เสียงดังทั่วไป มันมีอิทธิพลที่ลึก อุทยานนั่นแหละนำ พอมีเรื่องทำโทษกันเองก็แค่ย้าย ย้ายแล้วเปลี่ยนหัวหน้าเข้ามาใหม่ก็อย่างเดิม”