ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
สมาคมรักษ์ทะเลไทย : ภาพ

รณรงค์ไม่จับตัวอ่อนสัตว์ทะเล ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

รณรงค์ไม่จับตัวอ่อนสัตว์ทะเล ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

ปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ​ออกเดินทางจากทะเลอันดามัน ทะเลอ่าวไทยภาคใต้ตอนล่าง และทะเลอ่าวไทยภาคตะวันออก มุ่งหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร กำหนดถึงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ และจะเดินทางต่อไปยังรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างเป็นรูปธรรม

พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๕๗ กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง”หากแต่ในโลกแห่งความจริงนั้นยังไม่มีการนำข้อกฎหมายมาปฏิบัติบังคับใช้

จากสถิติการทำประมงปี ๒๕๖๓ มีการจับลูกปลาขนาดเล็กที่ไม่นิยมบริโภคโดยตรง แต่จะถูกส่งไปบดเพื่อป้อนอุตสาหรรมอาหารสัตว์ ที่เรียกว่า “ปลาเป็ด” สะท้อนให้เห็นความหย่อนยาน ไม่เคร่งครัด ไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ปลาเป็ดส่วนใหญ่จะถูกจับโดยเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเรือมากกว่า ๑๐ ตันกลอส

tuaorn01
การเดินทางวันที่ ๒ ขบวนเรือ ๗ ลำแล่นผ่านบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ปลายทางคือรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ข้อมูลว่าตลอดปี ๒๕๖๓ ประมงพาณิชย์จับปลาเป็ดได้ประมาณ ๔๑๐,๒๓๖ ตัน เฉพาะเครื่องมือประมงอวนลาก แผ่นตะเฆ่ จับปลาเป็ดได้ราว ๑๐๐,๐๐๐ ตัน แต่จับปลาขนาดใหญ่ที่นำมาบริโภคโดยตรง หรือที่เรียกว่า “ปลาเลย” ประมาณ ๒๓,๐๐๐ ตันเท่านั้น แม้เรือประมงพาณิชย์ในทะเลไทยจะมีจำนวนราวหนึ่งหมื่นลำ น้อยกว่าเรือประมงไทยพื้นบ้านแต่กลับทำลายระบบนิเวศด้วยการจับปลาเป็ดจำนวนมหาศาล

การจับลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนนอกจากจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร นับเป็นการ “ฆ่าตัดตอน” ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำลายวงจรชีวิตสัตว์ทะเล ในเชิงเศรษฐกิจแล้วก็ไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากเป็นการเร่งจับสัตว์น้ำที่ยังตัวเล็กๆ น้ำหนักไม่มาก แทนที่จะดูแลรักษาให้โตเต็มวัยจนมีมูลค่าสูงขึ้น

นอกจากเรียกร้องด้วยการออกเดินทางจากแผ่นดิน “สามทะเล” ทั้งภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคตะวันออกมุ่งหน้าสู่มหานคร กลุ่มประพื้นบ้านเครือข่ายสมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยังเชิญชวนคนไทยหยุดซื้อ หยุดจับ หยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน ผ่านการลงชื่อในแคมเปญ “ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” บนเว็บไซด์ change.org

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งทำงานกับกลุ่มชาวประมงขนาดเล็ก​เพื่อฟื้นฟู​ทะเลไทย​มาร่วมสามสิบปี​​ หนึ่งในผู้สร้างแคมเปญนี้ ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนสูญสิ้นไปจากท้องทะเลว่า

“เมื่ออยู่ใกล้ทะเล สิ่งที่เราเห็นคือวิกฤตอาหารทะเลที่นับวันจะรุนแรงขึ้น สะท้อนจากการที่ปริมาณอาหารทะเลไทยที่ลดลงเรื่อยๆ ชาวประมงและคนอนุรักษ์บางส่วนจึงได้แต่ก้มหน้าก้มตา​ทำงานฟื้นฟูสัตว์น้ำ​ ฟื้นฟูลูกปลาไปเรื่อยๆ”

ช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้านทำงานรณรงค์กับผู้บริโภคและห้างสรรพสินค้า แต่กลับพบว่าภาครัฐซึ่งมีส่วนสำคัญในการควบคุมดูแลกฎหมายยังไม่มีมาตรการในการควบคุมและกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำทะเลอย่างจริงจัง

“บอกตามตรงว่าผมรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็น​เพื่อนพี่น้องผู้ชื่นชอบอาหารทะเลต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินนับพันบาทเพื่อ​ซื้อปูม้านึ่งแค่สิบตัว​ให้ครอบครัวได้ทาน จะกินอาหารทะเลสดทุกสัปดาห์ก็ยังคิดหนัก ครอบครัวรายได้ปานกลางขึ้นไปมีโอกาสได้กินอาหารทะเล​ที่ราคาสูงระยับ​ได้แค่บางมื้อ บางเดือน ใครจะจัดงานเลี้ยงงานปาร์ตี้​ซีฟู้ดส์​คุณภาพดีๆ ก็ต้องควักทุนมากกว่า​ปาร์ตี้ไก่ทอดหลายร้อยเท่า​​ เด็กไทยไม่มีโอกาสได้กิน​ ‘ปลาโรงเรียน​’ เหมือน ‘นมโรงเรียน’ ​เพราะมันแพงเกินไป”

วิโชคศักดิ์ถ่ายทอดความรู้สึกจากใจ “ทุกวันมีกลุ่มนักลงทุนใน​อุตสาหกรรม​ประมง​ฉวยโอกาสกวาดโกยฝูงสัตว์ทะเลวัยอ่อนเป็นตันๆ ​ด้วยเท้าและพลั่วเข้าเครื่องป่นเครื่องโม่ในโรงงานอย่างไร้คุณค่า เดือนละหลายหมื่น ปีละหลายแสนตัน ขายเป็นอาหารสัตว์เอาเงินเข้ากระเป๋าได้แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา  อย่าลืมว่าอาหารทะเลไม่ได้เป็นของคนเท่านั้น ลองคิดดูว่าการจับแบบสัตว์ทะเลวัยอ่อนแบบล้างผลาญย่อมทำให้สัตว์ทะเลไม่ทันโต ไม่ได้วางไข่ เมื่อถูกตัดตอนอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ สัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอาหารในระบบนิเวศ ทั้งเต่า ทั้งโลมา วาฬ และอื่นๆ ก็จะต้องตายตามไปด้วย ย้ำอีกครั้งว่าคนได้ประโยชน์จากการจับสัตว์ทะเลวัยอ่อนไม่กี่คน แต่ผลกระทบคือความเป็นความตายของหลายชีวิตในระบบนิเวศ

“นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่​พวกเราคนไทยจะ​ทวงคืน​น้ำพริกปลาทูกลับคืนมา​ ก่อนจะหายไปตลอดกาล”

  • tuaorn02
  • tuaorn03

ตลอดเส้นทางจากจังหวัดชายทะเลภาคใต้ตอนล่างสู่แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดแวะพักทำกิจกรรมกับชุมชนตามรายทางเป็นระยะ

tuaorn04
วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมคือเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๕๗ อย่างเคร่งครัด อันจะนำไปสู่การหยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อความยั่งยืนสถาพรของท้องทะเล

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เข้าสู่วันที่สามของการรอนแรม ขบวนรณรงค์ออกเดินทางจากจังหวัดสตูล ผ่านจังหวัดตรัง สงขลา แล้วล่องเรือตามแนวชายฝั่งผ่านมายังชุมชนประมงพื้นบ้าน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอปากผนัง เข้าสู่ชุมชนประมงบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา

เจริญ โต๊ะอิแต ประธานสมาคมประมงท้องถิ่นประมงบ้านในถุ้ง และชาวประมงท้องถิ่น ออกมารับธงรณรงค์แสดงออกถึงการร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหว เจริญเล่าว่าที่ผ่านมาทางชุมชนทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ อาทิ ธนาคารปูม้า พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ “โรงเรียนชาวเล” มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ถึงช่วงค่ำมีการจัดเสวนาหัวข้อ “สัตว์น้ำวัยอ่อน อ่าวท่าศาลา กับภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชุมชน” บริเวณชายหาดบ้านในถุ้ง

จินดา จิตตะนัง เจ้าหน้าที่สมาคมรักษ์ทะเลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ถ่ายทอดบทบาทของชุมชนในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนว่ามีการทำธนาคารสัตว์น้ำหลากหลายประเภท ไม่เพียงแค่ธนาคารปู ยังมีธนาคารกุ้งก้ามกราม ธนาคารปลาหมึก ธนาคารแมงดาทะเล ฯลฯ มีการทำแนวเขตอนุรักษ์ และเรียนรู้แนวทางอนุรักษ์ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ติดตั้งซั้งและหลำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามชายฝั่ง นอกจากนี้ยังเปิดร้านคนหาปลาเพื่อขายผลผลิตจากชาวประมงโดยตรงถึงมือผู้บริโภค

“ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” เป็นคำสำคัญที่ใช้ประกอบการรณรงค์มาตั้งแต่เริ่มแรก คำนี้มีความสำคัญ ทั้ง “น้ำพริก” และ “ปลาทู” ต่างเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน ที่มองเห็นว่าของทั้งสองอย่างต่างเคยเป็นอาหารท้องถิ่นราคาถูก ทั้งหากินง่าย แต่หลายปีแล้วที่พบว่าปลาทูในน่านน้ำไทยลดน่อยลงด้วยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมประมงแบบทำลายล้าง

สมพจน์ พวงสุวรรณ์ สมาชิกประมงพื้นบ้านหัวไทร สะท้อนว่า ตั้งแต่ทำงานอาสาที่ปากพนังมานานกว่าสี่ปี ไม่เคยเห็นปลาทูในพื้นที่ ขณะที่ชาวประมงคนอื่นๆ ในพื้นที่ก็บอกว่าไม่เห็นปลาทูมานานกว่าสิบปี จนกระทั่งปีนี้ เป็นปีแรกที่เริ่มพบปลาทูครั้งแรกในอ่าว แต่มันช่างน่าเศร้าที่เห็นว่าพวกมันติดอยู่ในเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หนึ่งในวิทยากรอธิบายว่าตามทฤษฎีแล้วเราไม่ควรจับสัตว์น้ำเกินกึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดเพื่อรักษาให้สืบพันธุ์ต่อ แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทำให้เกิดวิกฤต และการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา

ประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงอยู่แล้วดังกล่าวมา แต่ที่ผ่านมาผู้บังคับใช้กฎหมายมีทีท่าอิดออดที่จะเอาผิดกับคนที่กอบโกยผลประโยชน์โดยเจตนา แสวงหากำไรมหาศาลผ่านการทำร้ายท้องทะเล กลุ่มประมงพื้นบ้านจึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายมาตรา ๕๗ อย่างเคร่งครัด โดยออกกฎหมายลูกที่เหมาะสม เพื่อให้กฎหมายนี้เกิดการบังคับใช้ภายในปี ๒๕๖๕ 

tuaorn05
กิจกรรมวันที่ ๔ ขบวนเรือรณรงค์ ประชาชนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ ร่วมปล่อยพันธุ์ปูจากธนาคารปูบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

กรมประมงระบุ ทรัพยากร – ปากท้อง ต้องสมดุล

พ.ร.ก.การประมง ๒๕๕๘ มาตรา ๕๗ มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” โดยมิได้มีข้อยกเว้นถึงเรื่อง “จำนวน” สัตว์น้ำที่ถูกนำขึ้นเรือประมง และมิได้มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงไม่มากก็น้อย โดยมีความเสี่ยงว่าชาวประมงจะกระทำผิดทั้งด้วยเจตนาหรือไม่ได้เจตนาจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงมีข้อเสนอว่าน่าจะนำมาตรา ๗๑ (๒) ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำโดยบังเอิญ-กรณีที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายจะจับสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ-สัตว์น้ำที่ถูกจับมีปริมาณไม่มากนัก มาช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๕๙ กรมประมงเคยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยนักวิชาการจากกรมประมง อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากร มาร่วมกันหารือเพื่อพิจารณากำหนดขนาดสัตว์น้ำ ชนิดพันธุ์ เครื่องมือประมง ปริมาณการจับ คณะกรรมการพิจารณาให้ ปลาทู สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและตกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ควรเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกที่นำมากำหนดขนาด และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมาตรา ๕๗

ผลวิจัยของกรมประมงยังชี้ว่าปลาทูขนาดลำตัวอย่าง ๑๔ เซนติเมตร เป็นปลาทูขนาดแรกสืบพันธุ์ที่เริ่มวางไข่เป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรจึงไม่ควรจับปลาทูในช่วงที่ยังไม่สามารถวางไข่

อย่างไรก็ตาม มีข้อทักท้วงว่าถ้ากำหนดขนาดปลาทูเล็กที่สุดของวัยแรกสืบพันธุ์ที่ ๑๔ เซนติเมตร จะทำให้ทั้งเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านเสี่ยงที่จะกระทำความผิดได้ง่าย เพราะเครื่องมือของเรือทั้งสองประเภทต่างก็สามารถจับปลาทูขนาดต่ำกว่า ๑๔ เซนติเมตรได้ การกำหนดขนาดข้างต้นจึงน่าจะส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม

กรมประมงจัดประชุมหารือทางวิชาการเพื่อหาข้อยุติหลายครั้ง มีรายงานว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านยอมรับขนาดของปลาทูที่ห้ามทำการประมงที่ขนาดต่ำกว่า ๑๔ เซนติเมตร ขณะที่ทางประมงพาณิชย์ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมอีกก่อนหาข้อยุติ

อธิบดีกรมประมงให้ความเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรา ๕๗ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมีความเห็นร่วมกันทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับการประกอบอาชีพประมงน้อยที่สุด