เรื่อง: สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์
ภาพ : ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล
เสียงดนตรีดังลอดจากประตูสีครีมและอักษรสีทองเด่นชัดบนป้ายไม้สีน้ำตาลเหนือหัวตรงหน้าอ่านว่า “มูลนิธิดุริยประณีต” บ่งบอกให้รู้ว่าเรามาถึงบ้านดนตรีแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพูแล้ว
เดิมชุมชนบางลำพูมีบ้านดนตรีไทยกว่า 20 หลังแฝงตัวอยู่ท่ามกลางโรงละคร โรงลิเก สถานีโทรทัศน์ และกรมสำคัญต่างๆ ประกอบเป็นชุมชนดนตรีไทย
หนึ่งในนั้นคือบ้านดุริยประณีตหรือบ้านบางลำพู ก่อตั้งโดยนายศุขและนางแถม ดุริยประณีต ในปี 2446
ในอดีตบ้านดุริยประณีตเคยเป็นทั้งโรงเรียนสอนดนตรีไทย ร้านผลิตเครื่องดนตรี วงแข่งขันประชัน คณะดนตรีประกอบการแสดงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโขน ลิเก หรือรายการทีวีอย่างช่อง 4 บางขุนพรหมที่จัดแสดงดนตรีไทยโดยมีคณะดุริยประณีตเป็นหนึ่งในวงหลักคอยบรรเลงให้คนทั่วไปรับชม รวมถึงเหล่าทายาทของบ้านที่รับราชการเป็นนักดนตรีในกรมประชาสัมพันธ์
ทว่าเมื่อชุมชนแปรเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมถูกยุบและย้ายออกไป และกรมประชาสัมพันธ์ถูกเผา ทำให้นักดนตรีไทยในกรมสูญเสียงาน เหล่าบ้านดนตรีจึงทยอยถูกขาย-ย้ายออกจากพื้นที่ เหลือเพียงบ้านดุริยประณีตแห่งนี้ที่ยังเปิดให้ได้เยี่ยมเยียนภายใต้การดูแลของป้าน้อย–ชยันตี ดุริยประณีต อนันตกุล ทายาทรุ่น 3 ของตระกูล ผู้รับบทบาทประธานมูลนิธิคนปัจจุบัน
“บ้านสำนักปี่พาทย์คือบ้านที่สืบเชื้อสายลูกหลานมาเป็น 100 ปี ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่ที่แล้ว ถ้าป้าน้อยไม่ยึดไว้แล้วขายบ้านเอาเงิน 20-30 ล้านมา มันไม่ได้ไง” อาจเป็นเพราะคำขอก่อนจากไปของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต คุณแม่และทายาทรุ่น 2 ของตระกูลที่กล่าวไว้ว่า “ขอให้ลูกหลานช่วยกันสืบทอดที่นี่ ห้ามทิ้งไม่ว่าจะเกิดอะไร ถ้าไม่ทำตามจะมาหักคอ”
ด้วยเหตุนี้เราจึงก้าวเท้าผ่านประตูในบ่ายวันอาทิตย์ ก่อนนั่งลงและพูดคุยกับป้าน้อยในวันแรกของการเปิดห้องเรียนรำไทยหลังหยุดพักจากโควิดไปเกือบ 2 ปี เพื่อทำความเข้าใจ
เพราะเหตุใด…บ้านหลังนี้จึงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
เสียงแห่งความตั้งใจ
ก่อนจะเข้ามาดูแลมูลนิธิ วัยเด็กของป้าน้อยเริ่มต้นที่บ้านหลังนี้ในวัย 15 ปี หลังพี่น้องของคุณแม่สุดจิตต์เสียชีวิตจนหมด ส่งผลให้ต้องเข้ามารับช่วงดูแลและย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่เต็มตัว จึงได้โอกาสซึมซับเสียงดนตรีในทุกๆ วัน
“พอย้ายมาก็ได้ยินดนตรีไทยมาตลอด เขามีการซ้อมร้องเพลงกัน เชื่อไหมว่าป้าน้อยเสียงเพี้ยนออกมาคนเดียว (หัวเราะ) มันไม่ตรงเครื่อง ตั้งแต่นั้นอับอายมาก จะไม่ร้องเพลงแล้วทั้งที่ก็ชอบนะ ไม่ใช่ไม่ชอบ” ป้าน้อยเล่าย้อนถึงบ้านในความทรงจำสมัยวัยรุ่น ก่อนตัดสินใจเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการหลังจบการศึกษา
แม้จะไม่ได้ทำงานตรงสายศิลปะใดๆ แต่เพราะต้องช่วยเหลือคุณแม่บันทึกรายละเอียดการจัดแสดงละครตลอดหลายปี เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541 จนธนาคารปิดตัวลง ประกอบกับการจากไปของคุณแม่ จึงได้เวลาเปลี่ยนแผนชีวิตขึ้นมาดูแลมูลนิธิเต็มตัวในฐานะประธานมูลนิธิ ภายใต้โจทย์สำคัญของครอบครัว จะทำอย่างไรให้มูลนิธิไปต่อได้
ด้วยความตั้งใจที่จะสืบสาน จึงจัดการแบ่งบทบาทมูลนิธิเป็นสองส่วน
ส่วนแรกคืองานเบื้องหลังทั้งหมด ตั้งแต่จัดแสดงละคร หานักดนตรี หาทุนและรายได้อยู่ภายใต้ความดูแลของป้าน้อย ส่วนงานที่ 2 คือโรงเรียนสอนดนตรี ครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต พี่ชายของป้าน้อยมาดูแลและออกแบบห้องเรียน เกิดเป็นชั้นเรียนดนตรีไทย ทั้งเครื่องสาย ปี่พาทย์ (ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้อง) และรำไทยในทุกเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00-20.00 น. ผ่านฝีมือของอดีตลูกศิษย์และทายาทในตระกูลที่แวะเวียนมาสอนด้วยความตั้งใจ
“ตอนนั้นคิดว่าไม่มีแม่ คนเขาคงทิ้งบ้านเราไปหมดแล้ว แต่เขาเห็นว่าเรารับผิดชอบ ตั้งใจ และทุกคนก็รักบ้านหลังนี้ เพราะรุ่นครูสุดจิตต์เอง ลูกศิษย์แกก็มาช่วยสอนต่อ ทำงานทำการอยู่แล้วก็ยังกลับมาช่วยสอน”
เพราะได้ทั้งลูกศิษย์และลูกหลานมาช่วยสอนวิชาต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย ห้องเรียนแห่งนี้จึงมีเสียงเพลงหลากหลายตลอดทั้งวันให้เด็กๆ ได้เลือกเรียน
“บางคนสนใจเรียนระนาด พอรำตอน 09.00-10.30 น. เสร็จก็ต่อตอน 10.30-12.30 น. เลย อย่างเด็กผู้หญิงบางคนพอบ่าย 2 บ้านป้าน้อยสอนโขนก็เรียนโขนต่ออีก เขาอยู่กันทั้งวันเลยนะ อยู่กันแบบพี่น้องลูกหลาน บ้านเรามันไม่ใช่บ้านธุรกิจอะไรหรอก”
เพราะที่นี่… เสียงดนตรีไม่ใช่ธุรกิจ
“สมัยคุณตาคุณยายไม่ได้เก็บเงิน ได้เป็นข้าวสารอาหารแห้ง พอถึงรุ่นคุณแม่พี่น้อยก็เก็บบ้าง แล้ว 500 บาทนี่ก็อยู่มาสัก 20-30 ปี พอครั้งนี้น้ำมันแพง ป้าน้อยก็ขอขึ้นเป็น 700 ให้เป็นน้ำมันครู ทุกคนก็ยอม ไม่มีปัญหา” ป้าน้อยอธิบายค่าตอบแทนที่เหล่าคุณครูได้รับต่อเดือน
แน่นอนว่ารายได้จากการสอนนั้นไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงทั้งมูลนิธิ ดังนั้นเมื่อมีการจัดแสดงละครตามงานละครใดๆ รวมถึงงานแสดง ณ โรงละครแห่งชาติที่จัดขึ้นทุกปี ป้าน้อยก็ไม่พลาดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เหล่านักเรียนตัวน้อยแสดงฝีมือเต็มที่เพื่อหารายได้สำหรับการดูแลมูลนิธิให้มั่นคง
“ปรกติที่นี่จะมีจัดแสดงดนตรีปีละครั้ง เราก็จะเตรียมตัว เด็กทุกคนได้แสดง แต่เราจะเลือกเพลงให้เหมาะกับอายุ ให้เขาทำได้ เด็กโตที่เก่งแล้วก็จะเป็นเพลงที่ยากขึ้น ส่วนเด็กเล็กจะเป็นเพลงง่ายๆ เน้นความพร้อมเพียง” ครูรัชนี รุ่งเรือง ทายาทรุ่น 4 ผู้รับบทบาทครูสอนรำไทย ผู้ปลุกปั้นเหล่านักเรียนขึ้นเวทีอธิบายให้เราฟังก่อนหันกลับไปบอกเด็กหญิงตัวน้อยเจ็ดคนในชั้นเรียนรำให้ฝึกจังหวะเท้าให้แม่นก่อนค่อยๆ จัดแถวเป็นตัววี
“ทุกคนฟังเพลง ย่ำเท้า นับจังหวะ ไม่ต้องมองใคร”
ด้วยแนวคิดที่ไม่พึ่งพารายได้จากค่าเล่าเรียน ทำให้เมื่อวิกฤตโควิดเดินทางมาถึง บ้านดุริยประณีตจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถึงกระนั้นเราก็อดสงสัยไม่ได้ เหตุผลใดโรงเรียนแห่งนี้ถึงยังเปิดสอนราคาเดิม ทั้งที่มีโอกาสพัฒนาเป็นธุรกิจให้อยู่สบายขึ้นได้
“ที่นี่เป็นบ้านที่เราไม่ต้องไปเช่าเขา ใครเปิดโรงเรียนสอนดนตรีในห้าง มันมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่ามันแพง อีกอย่างหนึ่งคุณแม่ป้าน้อยสั่งไว้ว่า เราต้องไม่เอาดนตรีไทยไปหากิน ถึงได้เป็นมูลนิธิดุริยประณีตเพื่อต้องการถ่ายทอดสืบสานดนตรีให้คงอยู่ต่อไป มันไม่ใช่ธุรกิจ ขอให้อยู่ได้ เราก็ไปหาเงินทางอื่นเอา” ป้าน้อยยืนยันอย่างหนักแน่น
คงเป็นเพราะความมุ่งมั่นสืบสานและความร่วมมือของทายาท-ศิษย์เก่า-คุณครูที่เห็นความสำคัญของดนตรีไทย เราจึงได้เห็นเหล่านักเรียนหลายวัยตั้งแถวจัดท่ารำไทยอย่างตั้งใจประกอบเสียงเพลงที่ลอดออกไปข้างบ้านชวนเสนาะหู
“มาฝึกรำด้วยกันก็ได้นะ” และแล้วครูรัชนีก็กล่าวเชิญชวนเราให้เข้าร่วมชั้นเรียนเสียเลย
แม้ไม่ได้ตอบรับคำชวนเนื่องจากรู้สึกเขินอายเกินกว่าจะร่วมวงกับเหล่านักเรียนตัวน้อย แต่ความทรงจำสมัยมัธยมฯ ปลายที่ได้เรียนวิชาดนตรีไทยในหลักสูตรทำให้เราอดหวนคิดไม่ได้ หากได้กลับมาเรียนดนตรีไทยจริงๆ จังๆ ในวัยนี้ ก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว
ภารกิจส่งต่อเสียง
“เตรง เตร่ง เตรง”
บทเพลงระนาดทุ้มตรงหน้าเริ่มดังขึ้นจากสองมือของอาร์ม–ภาคภูมิ รุ่งเรือง หนึ่งในทายาทรุ่น 5 ผู้จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่กระชับไม้ระนาดในมือจนมั่น ก่อนเริ่มบรรเลงจังหวะรัวช้าเร็วให้เราได้ฟังตามคำชักชวนของป้าน้อย
แม้ปัจจุบันบ้านดนตรีไทยแห่งนี้จะกลายเป็นกิจการหลักของตระกูล ที่มีป้าน้อยในวัย 66 เป็นหัวหน้าวงคอยบรรเลงและดูแลทิศทางของมูลนิธิ แต่ในอนาคตย่อมต้องส่งต่อให้ทายาทรุ่นใหม่ขึ้นมาดูแล
“โชคดีที่ลูกหลานคุณแม่เล่นดนตรีไทยเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ กลายมาเป็นกำลังสำคัญให้ที่บ้าน เป็นลูกหลานของบ้านเราจริงๆ ก็เลยไม่ทิ้งกัน” ตัวเลข 80 เปอร์เซ็นต์ทำให้เราทึ่งในใจ เพราะการมีลูกหลานรับต่อมากกว่าบ้านดนตรีอื่นที่ไร้ทายาท หากลูกศิษย์ไม่รับต่อก็คงจบลง แต่คงเรียกว่าโชคดีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากไร้การวางแผน ก็คงไม่มีดุริยประณีตมาจนถึงรุ่น 5 อย่างปัจจุบัน
ไม่ใช่การวางแผนหาผู้สืบทอด แต่เป็นการสร้างรากฐานความชอบด้วยเสียงดนตรีในบ้านตั้งแต่เด็ก ที่ทำให้ลูกหลานรุ่นหลังยังกลับมาดูแลสืบต่อและไม่ทอดทิ้ง
“ผมเริ่มจริงๆ ก็เล่นตั้งแต่เด็ก เพราะว่าโตที่บ้านนี้ครับ เกิดที่นี่ แต่เริ่มเรียนจริงๆ จังๆ น่าจะประมาณ 7-8 ขวบ ก็ชอบครับ เพราะว่าเราเล่นเองตั้งแต่เด็ก เขาไม่ได้บังคับให้เรียน” อาร์มเสริมหลังเพลงระนาดจบลง
ปัจจุบันหากมีเวลาว่าง อาร์มยังกลับมาช่วยสอนดนตรีที่บ้านเป็นครั้งคราว เป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการพาบ้านหลังนี้เดินต่อไป
ปรับเสียงตามจังหวะชุมชน
ถึงแม้มูลนิธิจะเริ่มเข้าที่ โรงเรียนอยู่ได้ด้วยตัวเอง อนาคตดูไม่น่าห่วง ทว่าโจทย์ท้าทายที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาคือพื้นที่ชุมชนบางลำพูที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเมื่อบ้านเรือนที่พักอาศัยกลายเป็นเกสต์เฮาส์รองรับนักท่องเที่ยว ซอยชุมชนกลายเป็นซอยธุรกิจ คนในพื้นที่ย้ายออก คนนอกสนใจดนตรีไทยน้อยลง ป้าน้อยจึงตัดสินใจเปิดบ้านสอนชาวต่างชาติเพื่อขยายดนตรีไทยให้ไปไกลกว่าเดิม ไม่จำกัดแค่นักเรียนชาวไทย
“เราพยายามเปิดบ้านให้คนเขาขึ้นมาชม เปิดกว้างให้ชาวต่างชาติมาแล้วให้เขาแต่งตัวชุดไทยเหมือนเราไปเกาหลี เรียนสั้นๆ สัก 20-30 นาที อย่างเพลงง่ายๆ เขาก็ชอบ แฮปปี้ แล้วเขาจะได้เผยแพร่บ้านเราออกไป ป้าน้อยพยายามแบบนี้ค่ะ”
หากแวะมาดูช่วงก่อนโควิดมาเยือน เราอาจได้เห็นบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่พร้อมไกด์และคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะนอกจากจะเปิดรับชาวต่างชาติแล้ว ปัจจุบันยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจดนตรีไทยได้แวะมาเรียนรู้ เหมือนกับแขกแปลกหน้าอย่างเราที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
ดนตรีที่ไม่เคยเงียบเสียง
“มีแผนจะเกษียณไหมหรืออยากทำไปจนถึงเมื่อไรคะ”
“ก็จนตาย” ป้าน้อยตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะ “เท่าที่มีกำลังจะทำไหว ถ้าไม่มีลูกหลานของเราเองก็ต้องไปพึ่งคนอื่น เราก็ไม่รู้อะไรจะเกิด จะอยู่ได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่พอเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเราแล้ว เราเลี้ยงเขามาเลยรู้ว่าอยู่ได้ นี่ตอนนี้ป้าน้อยอายุ 66 แม่ป้าน้อยทำงานจนถึงอายุ 84 นะถึงได้เสียชีวิต เขาทำจนถึงวาระสุดท้าย เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่เบื้องหลังแล้วทำไหว มีคนสนับสนุน ป้าน้อยก็อยู่ได้”
ในวันที่พื้นที่ย่านบางลำพูมีมูลค่าสูงพอหากต้องการขายหรือย้ายออกไปขยับขยายให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใหญ่กว่าเดิมได้
“มันเหมือนไม่มีตัวตนถ้าป้าน้อยไปซื้อที่อื่น ให้เล็กยังไง มันก็คือบ้านคุณตาคุณยาย ถ้าพี่ไปอยู่พุทธมณฑล พื้นที่ 3 ไร่ 5 ไร่ แล้วเอาเด็กไปเรียนที่นั่น มันก็ไม่ใช่ตรงนี้ ไม่คิดจะขาย จะให้เท่าไรก็ไม่ขาย ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่”
อาจเป็นเพราะคำตอบทิ้งท้ายเช่นนี้ที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าหากมีโอกาสเดินผ่านย่านนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์หลังจากนี้ เราคงได้ยินเสียงขิม ระนาด หรือจะเข้บรรเลงผ่านประตูสีครีมให้ผู้สัญจรผ่านได้รับฟังอย่างแน่นอน