ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

  • mintee prtr01
  • mintee prtr02
  • mintee prtr04
  • mintee ptrt03

เหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก สร้างความเสียหายต่อชุมชนโดยรอบอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากภายในโรงงานมีสารเคมีอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารเคมีที่อยู่ในโรงงานได้ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยสถิติว่าระหว่างปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ มีอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล ระเบิด ไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่กักเก็บวัตถุอันตราย สารเคมี รวมกันมากถึงประมาณ ๑๘๐ ครั้ง แบ่งออกเป็นอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม ๙๓ ครั้ง การขนส่งสารเคมี ๔๑ ครั้ง ไฟไหม้บ่อขยะ ๒๕ ครั้ง โกดังเก็บสารเคมี ๑๕ ครั้งตลอดระยะเวลา ๔ ปี

เหตุไฟไหม้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานรีไซเคิล และร้านรับซื้อของเก่า โดยเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ครั้ง นอกจากสร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน ผู้ที่รอดชีวิตก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ และประสบปัญหาเรื้อรังด้านสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัย

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้บ้านเรือนรอบโรงงานเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระยะรัศมี ๕ กิโลเมตรต้องอพยพออกจากพื้นที่ การควบคุมเพลิงใช้เวลานานมากกว่า ๒๔ ชั่วโมง

หรือเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี แม้ว่าจะเคยเกิดไฟไหม้โรงงานแห่งนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาตลอดระยะเวลายี่สิบปี จนโรงงานถูกสั่งปิด และถูกตัดสินให้แพ้คดีเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๔ แต่ก็ยังสร้างผลกระทบซ้ำเติมต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาการรั่วไหลของสารมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาแทบทั้งหมดเป็นการแก้ที่ “ปลายเหตุ” เช่น สั่งปิดโรงงาน โดยที่เราไม่เคยมีโอกาสรับรู้ข้อมูล “ต้นทาง” เกี่ยวกับการกักเก็บสารมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

เพื่อพัฒนาระบบการรายงานมลพิษที่ประชาชนเข้าถึงได้ วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยมูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดเสวนา ให้ความรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลมลพิษสู่สาธารณะ พร้อมกับเปิดตัว ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ฉบับประชาชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน งานเสวนาจัดขึ้น ณ บริเวณมุมสามเหลี่ยม ชั้น ๑ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

PRTR ย่อมาจาก Pollutant Release and Transfer Registersเป็นคำที่สื่อความหมายถึง “การปลดปล่อย” และ “เคลื่อนย้าย” สารมลพิษ เป็นกฎหมายหรือระเบียบที่ประกาศใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ มีข้อมูลว่าภายในขอบเขตประเทศของตนมีแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือมีแหล่งกักเก็บสารมลพิษอยู่ที่ใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ มีการใช้งานหรือเคลื่อนย้ายอย่างไร โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีการใช้สารเคมีอะไรบ้างในกระบวนการผลิต

ในประเทศไทย ข้อมูลต่างๆ ข้างต้นไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ ไม่ได้ประกาศเป็นกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดหรือไฟไหม้ ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงงานไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีสารเคมีอันตรายอะไรบ้างที่กำลังถูกไฟลุกไหม้อยู่ จะต้องระแวดระวังป้องกันการสูดดมสารพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างไร

แตกต่างจากต่างประเทศ ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ผลักดันกฎหมาย PRTR “เปิดเผย” ข้อมูลมลพิษในชุมชน
กรณีน้ำมันดิบรั่วลงสู่อ่าวไทย พัดขึ้นสู่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เมื่อต้นปี ๒๕๖๕ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการรายงานปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
mintee prtr07
mintee prtr06
ภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย PRTR ณ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้เลิก “ปกปิด” หันมา “เปิดเผย” ข้อมูลมลพิษเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ลดการปลดปล่อยมลพิษในระยะยาว อันเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย (ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ให้รายละเอียดว่าทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามลพิษอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ฝุ่น PM2.5 การลักลอบทิ้งของเสียอันตราย กฎหมาย PRTR จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขหรือลดปัญหาเหล่านี้ โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลปริมาณสารเคมีในสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะการปลดปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารเคมีของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่ทันสมัย หน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ฐานข้อมูลจะมีทั้งปริมาณ ลักษณะเฉพาะ พิษภัยของสารนั้นๆ รวมถึงการป้องกันอันตรายจากสารดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน ประเทศที่ตรากฎหมาย PRTR สำเร็จแล้วพบว่าเป็นประโยชน์ สามารถลดปัญหามลภาวะได้อย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป

เนื้อหาของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลมลพิษแก่สาธารณชน กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันจัดงานเสวนา และผลักดันให้มีการ ร่างพระราชบัญญัติร่วมกับภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องให้ความเห็นว่า กฎหมาย PRTR จะทำให้ประชาชนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการสร้างระบบนิติรัฐและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน สอดคล้องกับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย ชี้ว่ากฎหมาย PRTR จะช่วยสร้างความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประเทศไทยถึงจุดที่ต้องมีกฏหมาย PRTR เป็นกฏหมายพื้นฐาน หากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน ช่วยพัฒนาฐานข้อมูลมลพิษซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษ รวมถึงออกนโยบายต่างๆ การขับเคลื่อนกฎหมายนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติรับรอง

ทางด้าน ภิญโญ ศรีสุทธิ ชาวตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลมลพิษเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาชุมชนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและพื้นที่ทำกิน หากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนการที่เชื่องช้าของระบบราชการ ก็น่าจะสามารถเฝ้าระวังปัญหาและปกป้องตัวเองได้มากขึ้น การดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรมก็น่าจะควบคุมการปล่อยมลพิษได้ดีขึ้นด้วย

หลังงานเสวนาหนึ่งวัน คือวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. เครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน รวมถึงตัวแทนองค์กรทั้งสามได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน ทางรัฐสภารับไปพิจารณาซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๑๕ วัน หากพิจารณาว่าตัวร่างมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๔ ทางเครือข่ายจะนำร่างกฎหมาย PRTR ไปเผยแพร่ และเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนต่อไป